โรคบาดทะยัก
โรคบาดทะยัก (Tetanus)
1. โรคบาดทะยักคืออะไร โรคบาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีอันตรายร้ายแรง สามารถพบได้ในคนทุกวัย ส่วนมากผู้ป่วยจะมีประวัติมีบาดแผลตามร่างกาย ที่มีบาดแผลสกปรก หรือขาดการดูแลแผลอย่างถูกต้อง ซึ่งความสำคัญของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิต ส่วนคนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้วก็ยังสามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่ปัจจุบันโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
โรคบาดทะยัก (Tetanus) คำว่า Tetanus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ Teinein ซึ่งแปลว่า ‘ยืดออก’ ที่เรียกเช่นนี้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีการหดตัวและแข็งเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นทั่วตัว โดยที่ทำให้แผ่นหลังมีการยืดตัวออก ซึ่งเป็นท่าทางที่เป็นรูปแบบเฉพาะโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นคืออาการกล้ามเนื้อเกร็ง ส่วนใหญ่การเกร็งจะเริ่มต้นที่กล้ามเนื้อกราม และลุกลามไปยังกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ การเกร็งแต่ละครั้งมักเป็นอยู่ไม่กี่นาที และเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ รวมถึงอาจมีอาการอื่นที่อาจพบร่วม เช่น ไข้ เหงื่อออก ปวดศีรษะ กลืนลำบาก ความดันเลือดสูง และหัวใจเต้นเร็ว บาดทะยักเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก แต่มักพบบ่อยในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งมีดินและสารอินทรีย์อยู่มากในปี พ.ศ. 2558 มีรายงานว่ามีผู้ป่วยบาดทะยักประมาณ 209,000 คนและเสียชีวิตประมาณ 59,000 คนทั่วโลก การบรรยายถึงโรคนี้เอาไว้เก่าแก่ตั้งแต่สมัยแพทย์กรีกชื่อฮิปโปกราเตสเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล สาเหตุของโรคถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2427 โดย Antonio Carle และ Giorgio Rattone แห่งมหาวิทยาลัยทูริน ส่วนวัคซีนถูกผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2467
2. สาเหตุของโรคบาดทะยัก เกิดจากเชื้อ Clostridium tetani ตัวเชื้อมีลักษณะเป็นรูปแท่งที่ปลายมีสปอร์ (Spore) ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติที่จะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ (spore) ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่างสามารถสามารถสร้าง exotoxin ที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้โรคนี้จึงมีชื่อเรียกหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว และมีอาการชักได้ เชื้อนี้จะอยู่ตามดินทรายและมูลสัตว์ สามารถมีชีวิตอยู่นานเป็นปีๆ และเจริญได้ดีในที่ที่ไม่มีออกซิเจนโดยจะสร้างสปอร์หุ้มตัวเอง มีความคงทนต่อน้ำเดือด 100 องศา ได้นานถึง 1 ชั่วโมง อยู่ในสภาพที่ไร้แสงได้นานถึง 10 ปี เมื่อคนเราเกิดบาดแผลที่แปดเปื้อนถูกเชื้อโรคนี้ เช่น เปื้อนถูกดินทรายหรือมูลสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาดแผลที่ปากแผลแคบแต่ลึก เช่น ตะปูตำ ลวดหรือหนามตำเกี่ยว ไม้เสียบแทง เป็นต้น (ซึ่งมีออกซิเจนน้อย เหมาะสำหรับการเจริญของเชื้อบากทะยัก) เชื้อโรคก็จะกระจายเข้าสู่ร่างกายแล้วปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า เตตาโนสปาสมิน (Tetanospasmin) ออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการของโรคที่กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
3. อาการของโรคบาดทะยัก หลังจากได้รับเชื้อ Clostridium tetani สปอร์ที่เข้าไปตามบาดแผลจะแตกตัวออกเป็น vegetative form ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิต exotoxin ซึ่งจะกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่แผ่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระยะจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการเริ่มแรก คือ มีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-28 วันแต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 8 วัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
· บาดทะยักในทารกแรกเกิดอาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 3-10 วัน อาการแรกที่จะสังเกตได้คือ เด็กดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ต่อมาเด็กจะดูดไม่ได้เลย หน้ายิ้มแสยะ (Risus sardonicus หรือ Sardonic grin) เด็กอาจร้องครางต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระดุกและหน้าเขียวอาการเกร็งหลังแข็งและหลังแอ่นนี้จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวเด็ก อาการเกร็งชักกระดุกถ้าเป็นถี่ๆ มากขึ้น จะทำให้เด็กหน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน
· บาดทะยักในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะมีอาการประมาณ 5-14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นได้ จนบางครั้งบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้อบาดทะยักหายไปแล้ว อาการเริ่มแรกที่จะสังเกตพบคือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ มีคอแข็ง หลังจากนี้ 1-2 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเกร็งแข็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคือ หลัง แขน ขา เด็กจะยืนและเดินหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็งให้ก้มหลังจะทำไม่ได้ หน้าจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายยิ้มแสยะและระยะต่อไปก็อาจจะมีอาการกระตุกเช่นเดียวกับในทารกแรกคลอด ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัวจะเกร็ง และกระดุกมากขึ้น มีหลังแอ่น และหน้าเขียว บางครั้งมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้มีการหายใจลำบากถึงตายได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคบาดทะยัก อาการชักกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงของโรคบาดทะยักที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อไปนี้ตามมา
· จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
· สมองเสียหายจากการขาดออกซิเจน
· กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่น ๆ หักจากกล้ามเนื้อที่เกร็งมากผิดปกติ
· เกิดการติดเชื้อที่ปอดจนเกิดปอดบวม
· ไม่สามารถหายใจได้ เนื่องจากการชักเกร็งของเส้นเสียงและกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ
· การติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพักฟื้นหรือรักษาตัวจากโรคบาดทะยักในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน
การติดเชื้อโรคบาดทะยักอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหายใจล้มเหลว ส่วนสาเหตุอื่นที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน เช่น ภาวะปอดบวม การขาดออกซิเจน และภาวะหัวใจหยุดเต้น
4. ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคบาดทะยัก โรคบาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปสู่บาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่ไม่สะอาดหรือบาดแผลที่ขาดการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งบาดแผลที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อโรคบาดทะยักได้ เช่น แผลถลอก รอยครูด หรือแผลจากการโดนบาด แผลจากการถูกสัตว์กัด เช่น สุนัข เป็นต้น แผลที่มีการฉีกขาดของผิวหนังเกิดขึ้น แผลไฟไหม้ แผลถูกทิ่มจากตะปูหรือสิ่งของอื่น ๆ แผลจากการเจาะร่างกาย การสัก หรือการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก แผลจากกระสุนปืน กระดูกหักที่ทิ่มแทงผิวหนังออกมาภายนอก แผลติดเชื้อที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน แผลบาดเจ็บที่ดวงตา แผลจากการผ่าตัดที่ปนเปื้อนเชื้อ การติดเชื้อที่ฟัน การติดเชื้อทางสายสะดือในทารก เนื่องจากการทำคลอดที่ใช้ของมีคมที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือ และยิ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อมารดาไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างครบถ้วน แผลเรื้อรัง เช่น แผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี แผลจาการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ
5. แนวทางการรักษาโรคบาดทะยัก แพทย์จะวินิจฉัยโรคบาดทะยักได้จากอาการเป็นหลัก รวมทั้งประวัติการมีบาดแผลตามร่าง กาย การตรวจร่างกาย และประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยัก ซึ่งในบุคคลที่เคยได้รับวัคซีนครบและได้รับวัคซีนกระตุ้นตามกำหนด ก็จะไม่มีโอกาสเป็นโรคบาดทะยักสำหรับการตรวจทางห้อง ปฏิบัติการ ไม่มีการตรวจที่จำเพาะกับโรคนี้ การตรวจจะเป็นเพียงเพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจมีอา การคล้ายกัน เท่านั้น เช่น การตรวจหาสารพิษสตริกนีน (Strychnine)ผู้ป่วยที่ได้รับพิษ Strychnine ซึ่งอยู่ในยาฆ่าแมลง จะมีอาการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยัก ถ้าประวัติการได้รับสารพิษของผู้ป่วยไม่ชัดเจน ก็ต้องเจาะตรวจหาสารพิษชนิดนี้ด้วย การตรวจเม็ดเลือดขาวจากเลือด (การตรวจCBC) ส่วนใหญ่จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆที่มักมีปริมาณเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง การตรวจน้ำไขสันหลังจะพบว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆที่ทำให้มีไขสันหลังและสมองอักเสบ ที่ทำให้มีอาการชักเกร็งคล้ายคลึงกัน
หลังการตรวจวินิจฉัย หากแพทย์พิจารณาว่ามีความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะติดเชื้อบาดทะยักแต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏให้เห็น กรณีนี้จะรักษาโดยทำความสะอาดแผลและฉีด Tetanus Immunoglobulin ซึ่งเป็นยาที่ประกอบด้วยแอนติบอดี้ ช่วยฆ่าแบคทีเรียจากโรคบาดทะยักและสามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ในช่วงระยะสั้น ๆ ถึงปานกลาง นอกจากนี้อาจฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักร่วมด้วยหากผู้ป่วยยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ครบกำหนดสำหรับผู้ป่วยที่เริ่มแสดงอาการของโรคบาดทะยักแล้ว แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลโดยมักจะรับไว้ในห้องบำบัดพิเศษหรือไอซียู เพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด และคนไข้มักจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ๆหรือเป็นแรมเดือน ซึ่งหลักของการรักษาผู้ป่วยโรคบาดทะยักที่ปรากฏอาการของโรคแล้ว คือ เพื่อกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ เพื่อทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว และการรักษาประคับประคองตามอาการ รวมทั้งการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคอีกโดยมีรายละเอียดดังนี้
· การกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังงอก เช่น เพนิซิลิน ยาต้านพิษบาดทะยัก (human tetanus immune globulin ) ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี ก็จะเปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล
· การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายได้มาก โดยการให้สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) ไปทำลายสารพิษ ซึ่งสารภูมิต้านทาน อาจได้จากน้ำเหลืองของม้าหรือของคน (Equine tetanus antitoxin หรือ Human tetanus immunoglobulin) ซึ่งแอนติบอดีที่ไปทำลายสารพิษนี้จะทำลายเฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น ไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทไปแล้วได้
· การรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่ การให้ยาเพื่อลดการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมียาอยู่หลายกลุ่ม ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว อาจจะพิจารณาให้ยาที่ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจไว้หายใจแทน
· ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิต ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้าหรือหยุดเต้นก็อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
· การให้วัคซีน ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคแล้ว ต้องให้วัคซีนตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยักไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
6. การติดต่อของโรคบาดทะยัก โรคบาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณบาดแผลต่างๆ โดยเฉพาะบาดแผลที่แคบและลึกที่ไม่สามารถล้างทำความสะอาดบาดแผลได้หรือเป็นบาดแผลที่ไม่สะอาด ดังนั้นโรคบาดทะยักนี้จึงไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด
7. การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคบาดทะยัก หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะติดเชื้อบาดทะยักแต่ยังไม่มีอาการปรากฏ แพทย์จะทำการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักให้ แล้วให้กลับบ้าน ดังนั้นข้อควรปฏิบัติตนเมื่ออยู่ที่บ้านคือ
· รักษาความสะอาดของบาดแผล
· รักษาสุขอนามัยของร่างกายตามสุขบัญญัติ
· รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่
· รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
· มาตรวจตามที่แพทย์นัด
ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการของโรคปรากฏแล้วนั้น แพทย์ก็จะรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลห้องไอซียู เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
8. การป้องกันตนเองจากโรคบาดทะยัก บาดทะยักเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง และอาจถึงแก่ชีวิตภายในไม่กี่วันแต่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นหัวใจของการรักษาโรคบาดทะยัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ โรคบาดทะยักมีวัคซีนป้องกัน วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่สงครามโรคครั้งที่ 2 ต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (DTP) และอาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่นๆ การฉีดวัคซีน วัคซีนป้องกันบาดทะยักมักนิยมให้ดังนี้
เข็มแรก อายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน เข็มที่ 4 อายุ 1 ปี 6 เดือน
เข็มที่ 5 อายุ 4-6 ปีอีกครั้งหนึ่ง ต่อไปควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ในกรณีที่มีบาดแผลเกิดขึ้น ถ้าหากเคยฉีดวัคซีนครบ 3 ครั้ง มาภายใน 5 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น แต่ถ้าเกินกว่า 5 ปี ต้องฉีดกระตุ้น 1 ครั้ง หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้รวม 3 ครั้ง โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน (ถ้าฉีดไม่ทันขณะตั้งครรภ์ ก็ฉีดหลังคลอด) ถ้าหญิงตั้งครรภ์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้มาแล้ว 1 ครั้ง ควรให้อีก 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ในระหว่างตั้งครรภ์ ถ้าหญิงตั้งครรภ์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ครบชุด (3 ครั้ง) มาแล้วเกิน 5 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีกเพียง 1 ครั้ง แต่ถ้าเคยฉีดครบชุดมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่ต้องฉีดกระตุ้น สำหรับในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนในวัยเด็กไม่ครบ หรือได้รับมาเกิน 10 ปีแล้ว ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก - คอตีบ 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ เข็มที่ 3 ให้ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 -12 เดือน และฉีดกระตุ้นๆทุกๆ 10 ปีตลอดไป
เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อถ้าแผลลึกต้องใส่ drain ด้วย
ใช้ผ้าปิดบาดแผลเพื่อให้แผลสะอาดและป้องกันจากการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียของแผล โดยเฉพาะแผลพุพองที่กำลังแห้งจะยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงควรปิดแผลไว้จนกว่าแผลเริ่มก่อตัวเป็นสะเก็ด นอกจากนี้ควรเปลี่ยนผ้าทำแผลทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งหรือเมื่อใดก็ตามที่ผ้าปิดแผลเปียกน้ำหรือเริ่มสกปรก เพื่อหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อ
9. สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคบาดทะยัก เนื่องจากโรคบาดทะยักเป็นโรคที่เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ร้ายแรงและมีระยะฟักตัวของโรคที่ค่อนข้างสั้น แต่มีอาการแสดงของโรคที่รุนแรงและมีความอันตรายถึงชีวิต ซึ่งหลักการใช้สมุนไพรนั้นได้กล่าวเอาไว้ดังนี้
· ถ้าเป็นโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ผลดี ก็ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพร เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด โรคบาดทะยัก กระดูกหัก เป็นต้น
· กลุ่มอาการบางอย่างที่บ่งชี้ว่า อาจจะเป็นโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องรักษาอย่างรีบด่วนเช่น ไข้สูง ซึม ไม่รู้สึกตัว ปวดอย่างรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ตกเลือดจากช่องคลอด ท้องเดินอย่างรุนแรง หรือคนไข้เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ ควรรีบนำปรึกษาแพทย์ แทนที่จะรักษาด้วยสมุนไพร
· การใช้ยาสมุนไพรนั้น ควรค้นคว้าจากตำรา หรือปรึกษาท่านผู้รู้ โดยใช้ให้ถูกส่วน ใช้ให้ถูกวิธี ใช้ให้ถูกโรค ใช้ให้ถูกคน
· ไม่ควรใช้สมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพราะพิษอาจจะสะสมได้
เอกสารอ้างอิง
1. โรคบาดทะยัก (Tetanus). สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www’boe.moph.go.th/fact/Tetanus.htm
2. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.บาดทะยัก.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 294.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.ตุลาคม.2547
3. บุญเยี่ยม เกียรติวุฒิ และคณะ. (2527). โรคบาดทะยัก.ใน บุญเยี่ยม เกียรติวุฒิ และคนอื่นๆ (บรรณาธิการ), โรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ (หน้า 80-82). บัณฑิตการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร.
4. พญ.สลิล ศิริอุดมภาส.บาดทะยัก (Tetanus).หาหมอ.com.( ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.haamor.com/th
5. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.”บาดทะยัก (Tetanus).(นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).หน้า 590-593.
6. Elias Abrutyn, tetanus, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
7. "Tetanus Symptoms and Complications". cdc.gov. January 9, 2013.
8. สมจิต หนุเจริญกุล. (2535). การพยาบาลผู้ป่วยบาดทะยัก.ในการพยาบาลอายุรศาสตร์ เล่ม 1 (หน้า 57-59). วี.เจ.พริ้นติ้ง : กรุงเทพมหานคร.
9. Atkinson, William (May 2012). Tetanus Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases (12 ed.). Public Health Foundation. pp. 291–300. ISBN 9780983263135. สืบค้นเมื่อ 12 February 2015.
10. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. บาดทะยัก หมอชาวบ้าน ปีที่ 17 ฉบับที่ 194 มิถุนายน 2538. หน้า 25-27
11. บาดทะยัก-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.com(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
12. สมุนไพร.ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี.คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.มหาวิทยาลัยมหิดล.