โรคเอดส์

โรคเอดส์ (Acquired immunodeficiency syndrome. AIDS)

1.  โรคเอดส์คืออะไร โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ เพิ่งจะมีการค้นพบมา 30 กว่าปี และทั่วโลกต่างหวาดกลัว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ 
ประวัติของโรค ภูมิคุ้มกันบกพร่อง/AIDS ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ Carlos Ribeiro Justiniano Chagas แพทย์ชาวบราซิล ค้นพบเชื้อที่ตอนนั้นคิดว่าเป็นโปรโตซัวชื่อ Pneumocystis carinii ซึ่งก่อโรคปอดบวม(Pneumonia) ในหนูและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) โรคปอดบวมนี้เรียกว่า Pneumocystis carinii Pneumonia (PCP) ต่อมา Otto Jirovec นักปรสิตวิทยาชาวเช็ก เสนอว่าเชื้อนี้ที่ก่อโรคในคนกับสัตว์เป็นคนละชนิดกัน แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่นอน
พ.ศ. ๒๕๒๔ Michael Gottlieb แพทย์ชาวอเมริกันรายงานว่าพบผู้ป่วยที่เป็นชายรักร่วมเพศ ๕ คนป่วยเป็นโรค PCP และอีก ๕ เดือนต่อมาทั้งหมดก็ติดเชื้อไวรัส CMV ซึ่งมักจะเป็นในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่หาสาเหตุไม่พบว่าภูมิคุ้มกันของคนเหล่านี้บกพร่องจากอะไร จึงเชื่อว่าเป็นโรคใหม่ เนื่องจาก ๔ ใน ๕ คนนี้ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วยซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงคาดว่าโรคที่พบใหม่นี้น่าจะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (CDC) ตั้งชื่อโรคนี้ว่า Acquired Immunodeficiency Syndrome หรือโรคเอดส์ (AIDS) นั่นเอง
พ.ศ. ๒๕๒๖Luc Montagnier และทีมวิจัยจากสถาบัน Pasteur ใน Paris ค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้โดยใช้ชื่อว่า Lymphadenopathy Associated Virus (LAV)

 อีกหนึ่งปีต่อมา Robert Gallo และทีมวิจัยจากสถาบันไวรัสวิทยาใน Baltimore ก็ค้นพบเชื้อไวรัสนี้เช่นกันโดยเรียกว่า Human T-cell Lymphotrophic Virus-III (HTLV-III) แต่ Gallo อ้างว่าตนเป็นผู้ค้นพบเชื้อนี้เป็นคนแรกทำให้เกิดการถกเถียงกัน ท้ายที่สุดพิสูจน์ได้ว่าทั้งสองเป็นเชื้อเดียวกันจึงให้ใช้ชื่อเดียวกันว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV) และถือว่าทั้งสองเป็นผู้ค้นพบร่วมกัน โรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) มีความหมายกว้างๆว่า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิดแต่โรคเอดส์ (AIDS) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Human immunodeficiency virus จัดเป็นไวรัสในกลุ่มรีโทรไวรัส (Retro virus)โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้อีก โรคต่าง ๆ  จึงเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาเอดส์ให้หายขาด มีเพียงแต่ยาที่ช่วยชะลอการพัฒนาของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ หากผู้ติดเชื้อรู้ตัวและได้รับการรักษาแต่แรกเริ่ม ก็อาจช่วยไม่ให้การติดเชื้อเอชไอวีลุกลามไปสู่ระยะที่เป็นเอดส์เต็มตัวได้โดยจะถือว่าเมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่สามของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะเรียกว่าเป็นโรคเอดส์โดยสมบูรณ์แล้ว

2.  สาเหตุของโรคเอดส์  เอดส์เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficieney Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเม็ดเลือดขาวทำงานบกพร่อง โดยเชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่ม Lentivirus ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มไวรัส Retrovirus ไวรัสกลุ่มนี้ขึ้นชื่อในด้านการมีระยะแฝงนาน การทำให้มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดนาน การติดเชื้อในระบบประสาท และการทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลง เชื้อเอชไอวีมีความจำเพาะต่อเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 T lymphocyte และ Monocyte สูงมาก โดยจะจับกับเซลล์ CD4 และฝังตัวเข้าไปภายใน  นอกจากนี้ไวรัสตัวนี้ยังสามารถเข้าไปอยู่ในเซลล์ชนิดอื่นๆของร่างกายได้อีก เช่น เซลล์ มาโครฟาจ (Macro phage) เดนไดรติคเซลล์ (Dendritic cell) ไมโครเกลียของสมอง (Microglia)เป็นต้น เชื้อเอชไอวีจะเพิ่มจำนวนโดยสร้างสายดีเอ็นเอโดยเอนไซม์ reverse transcryptase หลังจากนั้นสายดีเอ็นเอของไวรัสจะแทรกเข้าไปในสายดีเอ็นเอของผู้ติดเชื้ออย่างถาวร และสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้  นอกจากนี้เชื้อเอชไอวี  สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ HIV-1 และ HIV-2 การระบาดทั่วโลกส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยเกิดจาก HIV-1 ซึ่งยังแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีกหลายชนิด ส่วน HIV-2 พบระบาดในแอฟริกา) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ ที่มีการเพาะเลี้ยงแยกเชื้อได้ในปี พ.ศ.2526 เชื้อนี้มีมากในเลือด น้ำอสุจิ และน้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ

ในปัจจุบันทั่วโลกพบสายพันธุ์เชื้อเอชไอวี มากกว่า 10 สายพันธุ์ ที่มีการกลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์เดิม กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยพบมากที่สุดที่ทวีปแอฟริกามีมากกว่า 10 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในโลก คือสายพันธุ์ซี มากถึง 40% พบในทวีปแอฟริกา อินเดีย จีน รวมทั้งพม่า ส่วนในประเทศไทยพบเชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เอ-อี (A/E) หรืออี (E) พบมากกว่า 95% แพร่ระบาดระหว่างคนที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง กับสายพันธุ์บี (B) ที่แพร่ระบาดกันในกลุ่มรักร่วมเพศ และผ่านการใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ตั้งแต่พบการระบาดของโรคเอดส์ครั้งแรกจนถึงปี พ.ศ.2558 มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 35 ล้านคน

ขณะที่รายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวี 1 ล้านคน

ในส่วนของประเทศไทยนั้น โดยจากรายงานในปีล่าสุดของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ปี 2557) พบว่าตั้งแต่ปี 2527-2557 ตลอด 30 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเอดส์เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งสิ้น 388,621 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 100,617 ราย โดยในปีถัดมา (ปี 2558) มีการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยเอดส์และติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,500,000 คน

3.  อาการของโรคเอดส์
เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกัน (จำนวน CD4) ของร่างกาย ดังนั้นโรคเอดส์ จึงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกันดังนี้

·         ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอยู่ชั่วขณะดังกล่าวมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier)

ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติ (คือ 600-1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมากๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4 จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2-3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป

·         ระยะติดเชื้อที่มีอาการ เดิมเรียกว่า ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (AIDS related complex/ARC) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้

มีอาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้

* ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย

* โรคเชื้อราที่เล็บ

* แผลแอฟทัส

* ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก

* ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก

* โรคโซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) ที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

มีอาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ ก. หรือไม่ก็ได้ อาการที่อาจพบได้มีดังนี้

* เริมที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง

* งูสวัด ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง

* โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด

* ท้องเดินบ่อย หรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน

* ไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส แบบเป็นๆ หายๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน

* ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน

* น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ

* ปวดกล้ามเนื้อและข้อ

* ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

* ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย

 

·         ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic  infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียวหรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน

ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้

* เหงื่อออกมากตอนกลางคืน

* ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน

* ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ

* ท้องเดินเรื้อรัง จากเชื้อราหรือโปรตัวซัว

* น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง

* ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง

* ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

* กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา

* สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ

* ตกขาวบ่อย

* มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruritic eruption)

* ซีด

* มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

* สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง

* อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi's sarcoma (KS) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

ในเด็ก ที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

4.  ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเอดส์  

·         เพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันระหว่างคู่นอนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อเอชไอวี

·         การสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ ผู้ปฏิบัติงานทางสาธารณสุขสัมผัสเชื้อเอชไอวีได้โดยปฏิบัติงานหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อ

·         การติดต่อจากแม่สู่ลูก มารดาที่มีเชื้อเอชไอวีให้นมบุตรหรือการคลอดลูกขณะติดเชื้อ

·         การใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยาในผู้ที่ติดสารเสพติด

·         ผู้ที่ได้รับการถ่ายเลือดจากการบริจาคแต่ในกรณีนี้พบได้น้อยมาก

5.  แนวทางการรักษาโรคเอดส์

การวินิจฉัยโรคเอดส์ ขั้นแรกสุดคือ การซักประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย ซึ่งมัก จะมีประวัติการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมาก่อนแล้ว ซึ่งแพทย์สามารถทราบจากการตรวจเลือดว่า มีผลบวกต่อเอชไอวีหรือไม่ นอกจากนั้นการตรวจร่างกายมักจะพบอาการแสดงที่บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะของการเป็นโรคเอดส์แล้ว

ตรวจหาสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อเอชไอวี โดยวิธีอีไลซ่า (ELISA) จะตรวจพบสารภูมิต้านทานหลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 6 เดือน) วิธีนี้เป็นการตรวจยืนยันด้วยการตรวจกรองขั้นต้น ถ้าพบเลือดบวก ต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไลซ่าที่ผลิตโดยอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับวิธีตรวจครั้งแรก หรือทำการตรวจด้วยวิธี particle agglutination test (PA) ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลลบก็ต้องตรวจยืนยันโดยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) อีกครั้ง ซึ่งให้ผลบวก 100% หลังติดเชื้อ 2 สัปดาห์

การเจาะเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด ทีลิมโฟซัยท์ที่มีซีดี 4 เป็นบวก (CD 4-positive T cell) จะพบว่าจำนวนลดลงมาก เพราะเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ชนิดนี้ และจะทำลายเซลล์ชนิดนี้ไปเรื่อยๆ โดยมากถ้ามีปริมาณของทีลิมโฟซัยท์ที่มีซีดี 4 เป็นบวกลดลงต่ำกว่า 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตรในผู้ใหญ่ (ค่าปกติ 600 - 1,200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิ เมตร) ระดับของ CD4+ T cell ที่ใช้ในการวินิจฉัย ถ้าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือนจะมี CD4+น้อยกว่า 30% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด เด็กอายุ12 - 35 เดือนจะมี CD4+ น้อยกว่า 25% และเด็กอายุ 36 - 59 เดือนจะมี CD4+ น้อยกว่า 20%

โรคจากติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถควบคุมโรคและทำให้มีชีวิตอยู่ได้นานอย่างคนปกติได้ โดยแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อ เอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ได้แก่

การใช้ยายับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสหรือยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิต เรียกว่า Antiretroviral therapy ซึ่งเราสามารถติดตามผลการรักษาได้จากการเจาะเลือดดูปริมาณเม็ดเลือดขาว CD 4 positive T cell ว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ และนับปริมาณไวรัสในเลือดได้โดยตรง (Viral load) ปัจจุบันยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมีหลายชนิดได้แก่

ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิสทรานสคริปเตส (Nucleoside analogues Reverse transcriptase inhibitors) เช่น ยาชื่อ Zidovudine (AZT), Didanosine (ddI), Zalcitabine (ddC), Stavudine (d4T), Lamivudine (3TC)

ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รีเวิสทรานสคริปเตสที่ไม่ใช่นิวคลีโอไซด์ (Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors) เช่น ยาชื่อ Delavirdine, Loviride, Nevirapine

ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease inhibitors) เช่น ยาชื่อ Nelfinavir, Indinavir, Ritonavir, Saquinavir

อนึ่ง หลักการให้ยาต้านไวรัสในปัจจุบันคือ ต้องให้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดโดยใช้ยาในกลุ่ม Nucleoside analogue 2 ตัว ร่วมกับยาในกลุ่ม Non-nucleoside หรือ Protease inhibitor อีก 1 ตัวรวมเป็น 3 ตัว โดยต้องใช้ยาทุกวันและตรงตามเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด

โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

เมื่อมีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง การให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่เป็นระยะแรกเริ่ม (primary HIV infection) สามารถชะลอการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้

เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่มีค่า CD4 อยู่ที่ 200-350 เซลล์/ลบ.มม. อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเป็นรายๆ ไป เช่น ในรายที่ปริมาณเชื้อไวรัสสูง มีอัตราการลดลงของ CD4 อย่างรวดเร็ว ความพร้อมของผู้ป่วย เป็นต้น ในการให้ยาควรติดตามดูผลข้างเคียง ซึ่งอาจมีอันตรายต่อผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมกินยาอย่างต่อเนื่อง

การใช้ยารักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องหรือเชื้อฉวยโอ กาส ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยติดเชื้อชนิดใด เช่น ติดเชื้อวัณโรคก็ให้ยารักษาวัณโรค ติดเชื้อราก็ให้ยารักษาเชื้อรา หรือถ้าเป็นโรคมะเร็งก็รักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

6.  การติดต่อของโรคเอดส์สามารถติดต่อได้โดย  การได้รับเลือด และ/หรือสารคัดหลั่ง (Secretion) จากผู้ที่ติดเชื้อซึ่งมีหลายวิธี ดังต่อไปนี้

·         ทางการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันระหว่างชายรักร่วมเพศ หญิงรักร่วมเพศ และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง การติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้คิดเป็นอัตราประ มาณ 78% ของการติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด

·         การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น (หลอดเลือด) โดยใช้เข็มฉีดร่วมกับคนอื่น ผู้ที่ติดเชื้อโดยวิธีนี้มีประมาณ 20%

·         ทางการรับเลือดจากผู้อื่นที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ผู้ที่มีความเสี่ยงในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเลือดเรื้อรังที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ เช่น โรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) หรือผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อโดยวิธีนี้มีประมาณ 1.5%

·         ติดต่อจากแม่ที่ติดเชื้อสู่ลูก ซึ่งอาจติดต่อได้ทางเลือดจากแม่สู่ลูกโดยตรงผ่านทางรก หรือจากการที่ทารกกลืนเลือดของแม่ระหว่างการคลอด หรือได้รับเชื้อที่อยู่ในน้ำนมแม่ก็ได้

·         การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์จากอุบัติเหตุทางการแพทย์ เช่น ถูกเข็มฉีดยา หรือเข็มเจาะเลือดผู้ป่วยตำนิ้วโดยบังเอิญ ซึ่งเคยมีรายงานว่าทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อได้ ถึงแม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม

จากการศึกษาในประเทศต่างๆ เท่าที่ผ่านมาไม่พบว่ามีการติดต่อโดยวิธีต่อไปนี้

* การหายใจ ไอ จามรดกัน

* การกินอาหาร และดื่มน้ำร่วมกัน

* การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน

* การใช้ห้องน้ำร่วมกัน

* การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

* การสัมผัส โอบกอด

* การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน

* การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน

* การถูกยุงหรือแมลงกัด

7.  การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคเอดส์

            - ไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะๆ ตามที่แพทย์แนะนำ และกินยาต้านไวรัสเมื่อมีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. การกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องมักจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน ส่วนใหญ่มักจะนานกว่า 10 ปีขึ้นไป

- ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่นและปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกันหรือหายใจรดผู้อื่น

 

- หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน

- เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจโรคนี้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นอาวุธอันทรงพลังในการบำรุงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป

- ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย (ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริมราคาแพง) งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

- เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ

- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดย

ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และงดการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก

  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

  • งดการบริจาคเลือดหรืออวัยวะต่างๆ เช่น ดวงตา ไต เป็นต้น

  • เมื่อร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วนำไปแยกซักให้สะอาดและตากให้แห้ง ควรระวังอย่าให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของตัวเอง

  • ไม่ใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น

- หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยการคุมกำเนิด เพราะเด็กอาจมีโอกาสรับเชื้อจากมารดาได้

- มารดาที่มีการติดเชื้อ ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง

                        - เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้เชื้อโรคต่างๆ แพร่ให้ผู้อื่น เช่น

  •ใช้กระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม

ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ควรล้างให้สะอาด ด้วยน้ำยาล้างจานหรือลวกด้วยน้ำร้อน แล้วทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้ใหม่

ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่างๆ ไปเปรอะเปื้อนถูกผู้อื่น

การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ควรมีภาชนะใส่ให้เป็นที่เป็นทาง และสามารถนำไปทิ้งหรือทำความสะอาดได้สะดวก

8.  การป้องกันตนเองจากโรคเอดส์

·         หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง (รักเดียวใจเดียว)

·         ถ้ายังนิยมมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะหญิงบริการ หรือบุคคลที่มีเพศสัมพันธ์เสรีหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรจะใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง

·         หลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ควรใส่ถุงมือยางหรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น ป้องกันอย่าสัมผัสถูกเลือดโดยตรง

·         หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

·         หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม (เช่น ใบมีดโกน) ร่วมกับผู้อื่น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนใช้ควรทำลายเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โพวิโดนไอโอดีน 2.5% ทิงเจอร์ไอโอดีน, ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% (หรือน้ำยาคลอรอกซ์ 1ส่วนผสมน้ำ 9 ส่วนก็ได้) เป็นต้น นาน 10-20 นาที

·         ก่อนแต่งงาน ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ ถ้าพบว่าคนใดคนหนึ่งมีเลือดบวกควรพิจารณาหาทางป้องกันมิให้ติดอีกคนหนึ่ง

·         คู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ควรคุมกำเนิด และป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

·         หญิงตั้งครรภ์ ที่คิดว่าตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดการติดเชื้อของทารกในครรภ์ (จากการวิจัยพบว่า สามารถลดการติดเชื้อได้ถึงประมาณ 2 ใน 3)

·         บุคคลากรทางการแพทย์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเข็มตำ ต้องรีบแจ้งหน่วยที่ดูแลทางการติดเชื้อเพื่อรับยาต้านไวรัสอย่างทันท่วงที วิธีนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มาก

·         ต้องเตือนตนเองไว้เสมอว่า เราไม่สามารถรู้ว่าใครติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจากการดูลักษณะภายนอก คนที่ดูภายนอกสวยงามหรือหล่อเหลาสะอาดสะอ้านเพียงใดก็ไม่สามารถไว้ใจได้ว่า เขาหรือเธอจะไม่ใช่พาหะนำโรคมาสู่เรา ต้องป้องกันไว้เสมอ

9.  สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคเอดส์   

กระเทียม(หัว) ประโยชน์ทางยา (ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

·         ลด Cholesterol + ไขมันในเลือด             จากสาร Allicin

·         ลดความดันโลหิต

·         ลดน้ำตาลในเลือด                             จากสาร Allicin

·         ฤทธิ์ยับยังเชื้อ Bacteria + รา              จากสารจำพวก Sulfide

·         ฤทธิ์ในการเสริมภูมิคุ้มกัน

·         ฤทธิ์ในการต้านเชื้อ HIV                      จากสาร Ajoene ซึ่งสามารถป้องกัน   

CD4 cell

     จากการติดเชื้อ HIV ในหลอดทดลองและสามารถสร้าง Virus ตัวใหม่ใน cell ที่ติดเชื้อแล้ว

            ขมิ้นชัน ประโยชน์ทางยา (ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

·         ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์                        ยับยั้ง Bacteria และ gm เชื้อราและ

ยีส

·         ฤทธิ์ลดการอักเสบ                             จาก Curcumin

·         ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร        ยับยั้งการหลั่งของสารจาก กระเพาะ

อาหาร

·         ฤทธิ์เป็น Antioidant                         จากสารจำพวก Curcuminoid

·         ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV                              จากสาร Curcumin ยับยั้งเอนไซม์

protease ของ HIV – 1 + HIV – 2

            พลูคาว ประโยชน์ทางยา (ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

·         ฤทธิ์ต้าน Bacteria เช่น Bacillus aureus , B.subtilis , Cholera ในหลอดทดลอง

·         ฤทธิ์ต้าน Virus                                ยับยั้ง Virus 3 ชนิด

ไวรัส ไข้หวัดใหญ่

Hespes simplex virus

Virus type 1 (HSV-1) และ HIV-1 ซึ่งเป็นสาเหตุโรคเอดส์

·         ฤทธิ์ขับปัสสาวะ                               จากสารจำพวก ฟลาโวนอยด์

มังคุด ประโยชน์ทางยา (ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

·         ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์

o   Xanthone ในยางสีเหลืองจากเปลือกผลมังคุดดิบยับยั้ง Bacteria เกิดหนอง

o   Mangoslin ฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphglocoecus aureus และเชื้อรา

·         ฤทธิ์ต้าน HIV— มีฤทธิ์แรงในการยังยั้ง Bnzyme Protease ของ HIV-1

ลูกใต้ใบ (ทั้งต้น และใบ) ประโยชน์ทางยา (ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

·         ฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อตับ

·         ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

·         ยับยั้ง HIV-1 reverse transcriptase ได้ถึง 95%

เห็ดหลินจือ มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดน้ำตาลในเลือด ต้านมะเร็ง

 

 เอกสารอ้างอิง

1.   นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์.ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS).นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่320.คอลัมน์เล่าสู่กันฟัง.ธันวาคม.2548

2.   พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.การดูแลสุขภาพผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์(AIDS)ตอนที่1 สมุนไพรกับโรคเอดส์.จัดพิมพ์โดย กองโรคเอดส์กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข.กันยายน.2545 55 หน้า

3.   เอดส์-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com

4.   robbins and Cotran Pathologic Basis of Diseases, Eighth edition 2010

5.   รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.เอดส์ กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่368.คอลัมน์สารานุกรมทันโลก.ธันวาคม2552

6.   Johnson AM, Laga M (1988). "Heterosexual transmission of HIV". AIDS 2 (suppl. 1): S49–S56. PMC 2545554. PMID 3130121. doi:10.1097/00002030-198800001-00008

7.   ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.พนัส เฉลิมแสนยากร.เอดส์(AIDS).หาหมอ.com(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.haamar.com/th

8.   N'Galy B, Ryder RW (1988). "Epidemiology of HIV infection in Africa". Journal of Acquired Immune Deficiency Syndromes 1 (6): 551–558. PMID 3225742.

9.   มัทนา หาญวนิชย์และคณะ. (2535). เอดส์ การดูแลรักษา

10.  Deschamps MM, Pape JW, Hafner A, Johnson WD Jr. (1996). "Heterosexual transmission of HIV in Haiti". Annals of Internal Medicine 125 (4): 324–330. PMID 8678397.

11.  "Recommendations for prevention of HIV transmission in health-care settings". MMWR 36 (Suppl 2): 1S–18S. August 1987. PMID.