โรคหวัด

โรคหวัด (Common cold)

โรคหวัดคืออะไรโรคหวัด หรือไข้หวัด ในที่นี้ หมายถึง โรคไข้หวัดธรรมดา (Common cold) ไม่ใช่โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ ฟลู (Influenza หรือ Flu)   โรคหวัด เป็น โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมักเป็นเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง และสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โรคหวัดเป็นโรคติดเชื้อยอดฮิตพบบ่อยมาก ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กในปฐมวัย ซึ่งมักพบเป็นหวัดได้บ่อยถึงปีละ 6-8 ครั้ง เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่มาก และโรคหวัดยังเป็นโรคเกิดได้ตลอดปี แต่พบบ่อยในหน้าฝนและหน้าหนาว โรคหวัดนับว่าเป็นโรคที่เป็นแล้วสามารถหายเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอะไรพิเศษ ซึ่งยาที่จำเป็นมีเพียงพาราเซตามอล ที่ใช้สำหรับลดไข้ แก้ปวด เฉพาะเมื่อมีไข้สูงหรือปวดศีรษะ

ข้อผิดพลาดในปัจจุบันคือ มีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้มีส่วนฆ่าเชื้อไวรัสหวัดที่เป็นสาเหตุยังอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาง่าย แพ้ยาง่าย และทำให้ร่างกายอ่อนแอตามมาได้  ดังนั้น จึงควรเรียนรู้วิธีดูแลไข้หวัดด้วยตัวเองและปลอดภัย

สาเหตุของโรคหวัด สาเหตุส่วนใหญ่ของการเป็นโรคหวัดเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสก่อโรค ร่วมกับสภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่วนเชื้อที่เป็นสาเหตุ : เกิดจาก เชื้อโรคหวัดที่มีอยู่มากกว่า 200 ชนิดจากกลุ่มไวรัสจำนวน 8 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไวรัสไรโน (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด พบได้มากที่สุดประมาณ 30-50% นอกนั้นก็มีกลุ่มไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ที่พบได้ประมาณ 10-15%,และกลุ่มไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นต้น

            ซึ่งการเกิดโรคขึ้นแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหวัดชนิดนั้น ในการเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ที่ร่างกายยังไม่เคยติดเข้ามา หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น คนเราจึงเป็นไข้หวัดได้บ่อย เด็กเล็กที่ยังไม่ค่อยได้ติดเชื้อหวัดมาก่อน ก็อาจเป็นไข้หวัดซ้ำซากได้ และอาจเป็นไข้หวัดได้บ่อยถึงเดือนละ 1-2 ครั้ง หรือทุกสัปดาห์

อาการของโรคหวัด โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง มีไข้ไม่สูง ครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นพักๆ ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย อ่อนเพลียเล็กน้อย อาจมีอาการคอแห้ง แสบคอหรือเจ็บคอเล็กน้อยนำมาก่อน ต่อมาจะมีน้ำมูกไหลใสๆ คัดจมูก ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะใสหรือขาวๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เดินเหิน ทำงานได้ และจะกินอาหารได้ ในเด็กเล็ก อาจมีไข้สูงฉับพลัน ตัวร้อนเป็นพักๆ เวลาไข้ขึ้นอาจซึมเล็กน้อย เวลาไข้ลง (ตัวเย็น) ก็จะวิ่งเล่นหรือหน้าตาแจ่มใสเหมือนปกติ ต่อมาจะมีน้ำมูกใส ไอเล็กน้อย ในผู้ใหญ่ อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการเจ็บคอเล็กน้อย น้ำมูกใส ไอเล็กน้อย ในทารกอาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดิน ร่วมด้วย อาการไข้มักเป็นอยู่นาน 48-96 ชั่วโมง (2-4 วันเต็มๆ) แล้วก็ทุเลาไปได้เอง

            อาการน้ำมูกไหลจะเป็นมากอยู่ 2-3 วัน ส่วนอาการไอ อาจไอนานเป็นสัปดาห์ หรือบางรายอาจไอนานเป็นแรมเดือน หลังจากอาการอื่นๆ หายดีแล้ว

ในรายที่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียวทุกครั้ง

ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ จะค่อนข้างคล้ายกัน อาจสับสนได้ แต่ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถสังเกตความแตกต่างได้ตามตารางนี้

อาการ

ไข้หวัดธรรมดา

ไข้หวัดใหญ่

โรคภูมแพ้

ไข้

ไข้ต่ำๆหรือไม่มี

มักมีไข้สูง อาจสูงถึง 40

องศาเซลเซียส

ไม่มีไข้

ปวดหัว

ไม่ค่อยพบ

พบได้ปกติ

ไม่พบ

ปวดเมื่อย

กล้ามเนื้อ

อ่อนเพลีย

อาจมีอาการเล็กน้อย

พบได้บ่อยและอาการรุนแรง

ไม่พบ (อาจอ่อนเพลียหากพักผ่อนน้อย)

น้ำมูกไหล คัดจมูก

พบได้บ่อย

ไม่ค่อยพบ

พบได้บ่อย

จาม

พบได้บ่อย

ไม่ค่อยพบ

พบได้บ่อย

เจ็บคอ

พบได้บ่อย

อาจพบได้บางครั้ง

อาจพบได้บางครั้ง

ไอ

พบได้บ่อย

พบได้บ่อย และมีความรุนแรงมากกว่า

อาจพบได้บางครั้ง

เจ็บหน้าอก

อาบพบได้แต่อาการไม่รุนแรง

พบได้บ่อย

ไม่ค่อยพบ(ยกเว้นเป็นโรคหอบหืด)

อาการ

ไข้หวัดธรรมดา

ไข้หวัดใหญ่

โรคภูมิแพ้

สาเหตุการเกิด

เกิดจากไวรัส

(Rhinoviruses เป็นสาเหตุหลักประมาณ 30-50%)

เกิดจากไวรัส (influenza virus type A and B)

เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น อากาศเย็น/ร้อน ละอองเกสร

การดูและการรักษา

-พักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ

-ใช้ยาบรรเทาอากาต่างๆ เช่น ยาแก้คัดจมูก หรือยาลดไข้

-มักดีขึ้นและหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

-พักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ

-ใช้ยาบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอบ (แต่ไม่ควรใช้ยากลุ่ม NSAIDs กรณีสงสัยไข้เลือดออกด้วย)

-หากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และอาจต้องได้รับยาต้านไวรัสตลอดจนการรักษาให้ถูกต้อง

-หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ เช่นหลีกเลี่ยงฝุ่นอากาศเย็น

-ใช้ยาบรรเทาอาการเช่นยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก

-หากรุนแรงควรพบแพทยืเพื่อพิจารณาใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก

การป้องกัน

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

-ใส่หน้ากากอนามัย

-ไม่มีวัคซีนป้องกัน

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

-ใส่หน้ากากอนามัย

-ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

และในระหว่างที่ป่วยเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล (ในเด็กเล็ก) ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

ผู้ใหญ่

  • ไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 5 วันขึ้นไป
  • กลับมามีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายแล้ว
  • หายใจหอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บคออย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หรือมีอาการปวดบริเวณไซนัส

เด็ก

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในเด็กแรกเกิด-12 สัปดาห์
  • มีอาการไข้สูงต่อเนื่องกันมากกว่า 2 วัน
  • อาการต่าง ๆ ของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เด็กมีอาการงอแงอย่างรุนแรง
  • ง่วงนอนมากผิดปกติ
  • ความอยากอาหารลดลง ไม่ยอมรับประทานอาหาร

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหวัดผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ มักเป็นไข้หวัดได้ง่ายกว่าคนปกติ ได้แก่

1.   อายุ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี มีความเสี่ยงป่วยด้วยไข้หวัดสูง โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเนอสเซอรี่

2.   ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเรื้อรัง หรือมีภาวะสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่ายกว่าปกติ

3.   ช่วงเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่มักจะเป็นไข้หวัดได้ง่ายในช่วงฤดูฝน และหรือฤดูหนาว

4.   สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มจะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่าย และหากเป็นก็จะอาการรุนแรงกว่าปกติอีกด้วย

5.   อยู่ในที่ที่ผู้คนพลุกพล่านแออัด สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดได้ง่าย

6.   ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคหวัด ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยทั้งน้ำลาย น้ำมูก หรือละอองน้ำมูก น้ำลาย จากลมหายใจของผู้ป่วย

แนวทางการรักษาโรคหวัด โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วย (ผู้ใหญ่) สามารถวินิจฉัยโรคหวัดเองได้ จากอาการที่แสดง แต่หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยโรคหวัดได้จากอาการที่แสดง ประวัติการระบาดของโรค ฤดูกาล และจากการตรวจร่างกาย เช่น อาการไข้ มีน้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ส่วนในเด็กอาจพบทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก และไม่มีหนอง แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง แพทย์อาจมีการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูค่าเกล็ดเลือดเพื่อแยกจากโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

            เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นแพทย์จะจ่ายยาที่เป็น ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการก่อน เช่นพาราเซตามอล (paracetamol) สำหรับลดไข้ คลอเฟนนิรามีน (chlorpheniramine) สำหรับลดน้ำมูก รวมทั้งจะแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นเพื่อละลายเสมหะ การดื่มน้ำมากๆ และการเช็ดตัวจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้

            โดยทั่วไปยาที่ใช้เมื่อเป็นหวัดจะเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มีการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสก่อโรคโดยตรง และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็สามารถหยุดใช้ยาได้ ยาที่นิยมใช้ทั่วไปเมื่อเป็นหวัดมีดังนี้

1.  ยาลดไข้ โดยทั่วไปยาที่นิยมสำหรับลดไข้ คือ paracetamol สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 500 mg ต่อเม็ด จำนวน 1-2 เม็ด สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ใช้ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ สำหรับเด็กจะต้องมีการปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัว ดังนั้นควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์หรือเภสัชกร ยาอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมในการใช้ลดไข้ คือ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti Inflammatory Drugs:-NSAIDs) ได้แก่แอสไพริน (aspirin), ibuprofen ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มหลังนี้ให้ผลในการลดไข้ได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อควรระวังในการใช้สำหรับลดไข้ในกรณีของโรคไข้เลือดออก แต่ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี องค์กรอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ให้ใช้ยาแอสไพริน

2.  ยาลดน้ำมูกแก้คัดจมูก ในกลุ่มของยาลดน้ำมูกนั้น สามารถแบ่ง ได้เป็น 2 กลุ่ม คือยาแก้คัดจมูก ออกฤทธิ์โดยการหดหลอดเลือด ทำให้อาการคัดจมูกลดลง แบ่งเป็น

·         สำหรับรับประทาน ได้แก่ phenylephrine, pseudoephedrine (pseudoephedrine รับได้จากสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านยา)

·         สำหรับหยดหรือพ่นรูจมูก ได้แก่ oxymetazoline ซึ่งก่อนใช้ต้องสั่งน้ำมูกออกก่อน

ยาลดน้ำมูก ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งผลของฮีสตามีน (histamine) ซึ่งมีผลทำให้การหลั่งน้ำมูกลดลง แต่จะได้ผลน้อยกับอาการคัดจมูก สามารถแบ่งย่อย เป็น 2 กลุ่มคือ

·         ยาลดน้ำมูกกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ chlorpheniramine, brompheniramine, hydroxyzine, cyproheptadine เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะลดปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก เสมหะ แต่จะทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ เนื่องจากมีฤทธิ์กดระบบประสาท อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้สามารถคุมอาการได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับยาในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม หากผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร และก็อาจถือเป็นโอกาสที่ดีในการพักผ่อน

·         ยาลดน้ำมูกกลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ cetirizine, loratadine, desloratadine, fexofenadine เป็นต้น ซึ่งข้อดีของยาในกลุ่มนี้ก็คือ ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม หรืออาจมีอาการง่วงซึมได้บ้างเล็กน้อย ดังนั้นจึงนิยมใช้ยาในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ด้วย 

3.  ยาบรรเทาอาการไอ ในกลุ่มของยาบรรเทาอาการไอ ก็สามารถแบ่ง ได้เป็น 2 กลุ่มเช่นกัน คือ

·         ยาสำหรับอาการไอมีเสมหะ โดยสาเหตุของอาการไอประเภทนี้ เนื่องจากมีเสมหะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการไอ ดังนั้นต้องใช้ยารักษาที่ต้นเหตุซึ่งก็คือ การทำให้เสมหะเหลวหรือขับออกได้ง่ายขึ้น ยาละลายเสมหะ ได้แก่ acetylcysteine, carbocysteine, bromhexine, ambroxol เป็นต้น ยาขับเสมหะ ได้แก่ glyceryl guaiacolate (guaifenesin) เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอมากขึ้นในช่วงแรก เพื่อนำเสมหะออกจากทางเดินหายใจ แต่ภายหลังจากนั้นอาการไอจะลดลงตามลำดับ

·         ยาสำหรับอาการไอที่ไม่มีเสมหะ หรือ ไอแห้ง ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนที่ทำให้เกิดการไอ ซึ่งการกดระบบประสาทนั้นอาจทำให้ตัวผู้ป่วยง่วงซึมได้ หากผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอได้แก่ dextromethorphan, codeine, brown mixture เป็นต้น

ดังนั้นจึงต้องหาสาเหตุของการไอ และแก้ไขให้ตรงจุด หากผู้ป่วยใช้ยาแก้ไอไม่ถูกกับสาเหตุของอาการไอที่เป็นอยู่ เช่น ใช้ยากดการไอในกรณีที่การไอเกิดจากเสมหะ นอกจากเสมหะจะขัดขวางทางเดินหายใจแล้ว ร่างกายก็ยังไม่สามารถขับเสมหะออกโดยการไอได้อีกด้วย

4.  ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้เบื้องต้น (ในกรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น มีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 4 ชั่วโมง

·         ยากลุ่มแพนิซิลิน (penicillins) ได้แก่ amoxicillin ซึ่งโครงสร้างของยาตัวนี้ทนต่อกรดในทางเดินอาหาร สามารถรับประทานหลังอาหารได้

·         ยากลุ่มแมคโครไลด์ (macrolides) ได้แก่ erythromycin, roxithromycin เนื่องจากโครงสร้างของยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ทนต่อกรดในทางเดินอาหาร จำเป็นที่จะต้องรับประทานก่อนอาหาร ยกเว้น erythromycin estolate และ erythromycin ethylsuccinate ที่มีการดัดแปลงโครงสร้างของยาแล้ว ทำให้สามารถรับประทานหลังอาหารได้

แต่การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด นอกจากผู้ป่วยจะไม่หายจากอาการที่เป็นอยู่ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา และอาจไม่มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยในอนาคต

การติดต่อของโรคหวัด โรคหวัดเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด ภายในระยะไม่เกิน 1 เมตร

นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจติดที่มือของผู้ป่วย สิ่งของ เครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของคนคนนั้น และเมื่อเผลอใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้  ส่วนระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งแสดงอาการ) : ประมาณ 1-3 วัน โดยเฉลี่ย และมักมีอาการรุนแรงที่สุดในช่วง 2-3 วันหลังเริ่มมีอาการ

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคหวัด ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยมีดังนี้

·         พักผ่อนมากๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป

·         สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น

·         ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง

·         ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อนๆ

·         ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง

·         ถ้ามีไข้สูง ให้พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้) ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีไข้สูง ถ้ามีไข้ต่ำๆ  หรือไข้พอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกิน

·         ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใน 2-3 วันแรก เมื่อทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้

·         ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอมากลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะควร ให้ยาแก้ไอ

·         ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ (เด็กอายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ขวบหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ขวบหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที) หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจเป็นปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่นๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น

·         ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก ไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหารมาก ปวดเมื่อยมาก ปวดหู หูอื้อ หรือสงสัยไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดนก (มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน) หรือมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

การป้องกันตนเองจากโรคหวัดรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ทุกวัน เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละอย่างน้อย 6-8 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม พักผ่อนให้เพียงพอเป็นประจำ ไม่ไปในที่แออัด เช่น ศูนย์การค้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหวัดรู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในย่านที่มีคนพลุพล่านหรือไปโรงพยาบาล  รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น  อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่  อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคหวัด

·         ฟ้าทะลายโจร สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ Andrographolide  มีฤทธิ์รักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด จากการศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการไข้และเจ็บคอเปรียบเทียบกับยาลดไข้พาราเซตามอล พบว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัมต่อวัน จะมีอาการไข้และการเจ็บคอลดลงในวันที่ 3 ซึ่งดีกว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจร 3 กรัม/วัน หรือได้รับพาราเซตามอล  ในการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันหวัด ซึ่งทำในช่วงฤดูหนาว โดยให้นักเรียนรับประทานยาเม็ดฟ้าทะลายโจรแห้ง ขนาด 200 มิลลิกรัม/วัน หลังจาก 3 เดือนของการทดลองพบว่าอุบัติการณ์การเป็นหวัดในกลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยอัตราการเป็นหวัดในกลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเท่ากับร้อยละ 20 ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีอัตราการเป็นหวัดเท่ากับร้อยละ 62  อาจสรุปได้ว่าฟ้าทะลายโจรให้ผลป้องกันของยา เท่ากับร้อยละ 33

ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาแคปซูล ยาเม็ด ที่มีผงฟ้าทะลายโจรแห้ง 250 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม

o   บรรเทาอาการเจ็บคอ รับประทานวันละ 36 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

o   บรรเทาอาการหวัด รับประทานวันละ 1.5 3 กรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

         กระเทียม มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส เชื้อรา ลดอาการภูมิแพ้ มีฤทธิ์เหมือนแอสไพริน จึงทำให้ไข้ลด และยังป้องกันการเป็นไข้หวัดได้

         ใบกระเพรา ใบกระเพราช่วยขับเสมหะ ทำให้จมูกโล่ง ฆ่าเชื้อในทางเดินหายใจ

         ชา ใบชามีสารโพลีฟีนนอล เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการติดเชื้อ ทำใหเยื้อบุโพรงจมูกชุ่มชื้น หายใจสะดวก

        ขิง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถช่วยลดอาการหวัด แก้ไอ ทำให้หายใจโล่งขึ้น ขับเหงื่อ

         กระเจี๊ยบ อุดมไปด้วยวิตามินซีสูง พบสารแอนโธไซยานินในกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ลดการติดเชื้อ 

 

เอกสารอ้างอิง

1.      รับมือโรคหวัดอย่างไรให้เหมาะสม.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาสรีรวิทยา.คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.

2.      หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URI)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 389-392.

3.      ฟ้าทะลายโจร.(ฉบับประชาชน).หน่วยปริการฐานข้อมูลสมุนไพร.สำนักงานสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

4.      Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001). Harrrison’s:Principles of internal medicine. New York. McGraw-Hill.

5.      ผศ.ภก.ธีรวิชญ์ อัชฌาศัย.ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือแพ้อากาศ เป็นอะไรกันแน่? .บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

6.      ไข้หวัด-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com

7.      นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ไข้หวัด.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่389.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กันยายน.2554

 

8.      Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook, 20th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2011.