โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox , Varicella)

โรคอีสุกอีใส คืออะไรอีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยทั่วไปจะพบอัตราการป่วยได้สูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปีรองลงมาคือ 0-4 ปี, 10-14 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนในคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปอาจพบได้บ้าง 

             มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2552  มีผู้ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสจำนวน 89,246 รายทั่วประเทศและเสียชีวิต 4 ราย และในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตปีละ 1-3 ราย เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุพบว่ากลุ่มอายุ 5-9 ปี มีอัตราป่วยสูงสุดเท่ากับ 578.95 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี, 10-14 ปีและกลุ่มอายุมากกว่า 15 ปี โดยมีอัตราป่วยเท่ากับ 487.13, 338.45 และ 58.81 ตามลำดับจากข้อมูล 10 ปีย้อนหลังพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสมีแนวโน้มสูงขึ้น และในปี พ.ศ. 2557-2559 มีอัตราการป่วย 129.57 ต่อแสนประชากร 79.82 ต่อแสนประชากร และ 66.57 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ

สาเหตุของโรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus)(VZV) หรือ  human herpes virus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัดที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคโดยตรง หรือทางน้ำลาย ไอ จาม หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสในผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเป็นครั้งแรกและโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท และมีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลัง

อาการของโรคอีสุกอีใส เด็กจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อมๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ ๑ วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน และมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น ๒-๔ วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นเต็มที่ ภายใน ๔ วัน บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางรายอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส) แต่ผู้ป่วยบางรายอาจนานกว่านั้นเป็น 2-3 สัปดาห์ โดยไม่เป็นแผลเป็น (นอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนกลายเป็นตุ่มหนองและกลายเป็นแผลเป็น)

            เนื่องจากโรคอีสุกอีใสยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อีกเช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดปอดอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนทางสมอง

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ หญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้รับประทานยากดภูมิต้านทานต่างๆ

หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์อาจท่าให้เด็กในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้แต่พบไม่บ่อย(น้อยกว่าร้อยละ 2) หากเป็นช่วงที่ครรภ์มารดาอาจมีอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ร่วมด้วย และหากมารดาเป็นโรคในช่วงใกล้คลอด (5 วันก่อนคลอดจนถึง 2 วันหลังคลอด) ทารกแรกเกิดอาจรับเชื้ออีสุกอีใสและมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสจะไปหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาท และท่าให้เกิดโรคงูสวัดได้เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายลดลง

แนวทางการรักษาโรคอีสุกอีใส แพทย์จะวินิจฉัยโรคอีสุกอีใสจากการดูลักษณะของผื่น ตุ่มน้ำ หรือตุ่มพองบนผิวหนังเป็นหลัก ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไปและอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น มีไข้ขึ้น ไม่อยากอาหาร ปวดศีรษะ แต่ในบางกรณีที่บอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่รวมถึงในผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน หรือในกรณีจำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด แพทย์จะทำการทดสอบน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสอีสุกอีใส หรือตรวจหาเชื้อจากตุ่มน้ำ เนื่องจากโรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสการรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

            ซึ่งโรคนี้สามารถหายเองได้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอาจท่าให้ระยะการเป็นโรคสั้นลง หากผู้ป่วยได้รับภายใน 24 ชั่วโมงหลังผื่นขึ้น ผู้ป่วยไม่จ่าเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย แพทย์จะพิจารณาให้ในรายที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเท่านั้น เช่น

·         ถ้าพบว่าตุ่มมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (กลายเป็นตุ่มหนอง ฝี แผลพุพอง) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม ถ้าเป็นเพียงไม่กี่จุดก็อาจให้ชนิดทา แต่ถ้าเป็นมากก็จะให้ชนิดกิน

·         ถ้ามีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมาก เช่น ปอดอักเสบ (ไข้สูง หอบ) สมองอักเสบ (ไข้สูง ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึม ชัก ไม่ค่อยรู้ตัว) ตับอักเสบ (ดีซ่าน) หรือมีภาวะเลือดออกง่ายก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

·         ในรายที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น  เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เอดส์ กินยาสตีรอยด์อยู่นานๆ เป็นต้น) หรือเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคผื่นแพ้ประจำ โรคปอดเรื้อรัง สูดพ่นยาสตีรอยด์ (สำหรับคนที่เป็นหืด) หรือกินยาแอสไพรินอยู่ นอกจากให้การรักษาตามอาการแล้ว แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส ที่มีชื่อว่า อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) เพื่อฆ่าเชื้ออีสุกอีใส ป้องกันมิให้โรคลุกลามรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น ควรให้ยานี้รักษาภายใน 24 ชั่วโมง หลังแสดงอาการจะได้ผลดีกว่าให้ช่วงหลังๆของโรค

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส เนื่องจากโรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่มีการติดต่อจากเชื้อไวรัสโดยการสัมผัสตุ่มหรือแผลของผู้ป่วย รวมถึงติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ทั้งการสัมผัสหรือการหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส คือ การคลุกคลีกับผู้ป่วย การสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยโดยไม่ได้มีการป้องกันตนเองที่ดี รวมถึงการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจนครบ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสได้เช่นกัน

การติดต่อของโรคอีสุกอีใสโรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อได้อย่างรวดเร็วมาก โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 10 - 21 วัน และผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วงประมาณ 5 วันก่อนขึ้นผื่น ไปจนถึงเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว ดังนั้นระยะแพร่เชื้อในโรคอีสุกอีใสจึงนานได้ถึง 7 - 10 วันหรือนานกว่านี้ในผู้ใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้เป็นโรคติดต่อที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

            ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอยู่ในตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นอีสุกอีใส ในน้ำลายและเสมหะของผู้ที่เป็นอีสุกอีใสสำหรับการติดต่อสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้า เช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน ที่เปื้อน ถูกตุ่มน้ำของผู้ที่เป็นอีสุกอีใส หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ หรือฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไป

ดังนั้นอีสุกอีใสจึงเป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอุบัติการณ์เกิดสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส

·         ถ้ามีไข้สูง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ ห้ามอาบน้ำเย็น นอนพักให้มากๆ และให้ยาพาราเซตามอลบรรเทาไข้ ไม่ควรให้ยาแอสไพรินลดไข้ เพราะยานี้   อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye's syndrome) ซึ่งจะมีภาวะสมองอักเสบร่วมกับตับอักเสบ จัดว่าเป็นโรคอันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่ง

·         ถ้ามีอาการคัน ให้ทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น) ถ้าคันมากให้รับประทานยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีนบรรเทา ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าแกะหรือเกาตุ่มคัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองและเป็นแผลเป็นได้

·         ถ้าปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย ให้ใช้น้ำเกลือกลั้ว พยายามกินอาหารที่เป็นของเหลวหรือเป็นน้ำแทนอาหารแข็ง

·         สำหรับอาหาร ไม่มีของแสลงต่อโรคนี้ ให้กินอาหารได้ตามปกติ โดยเฉพาะบำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ) ให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย

·         ควรหยุดเรียน หรือหยุดงาน พักผ่อนอยู่บ้าน เพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อให้คนอื่น ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่น คือ ตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมง ก่อนมีตุ่มขึ้นจนกระทั่ง 6 วัน หลังตุ่มขึ้น

·         ควรเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยทั่วไปอาการ จะค่อยทุเลาได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่ถ้าพบว่ามีอาการหายใจหอบ ซึม ชัก เดินเซ ตากระตุก ดีซ่าน (ตาเหลือง) มีเลือดออก ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก  เจ็บหน้าอก หรือตุ่มกลายเป็นหนอง ฝี หรือพุพอง ควรไปพบ แพทย์โดยเร็ว

·         ผู้ป่วยควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

·         ผู้ป่วยควรแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากจนพ้นระยะติดต่อ รวมทั้งแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับยาเขียวที่ทำจากสมุนไพร (เช่น ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖) ไม่ถือเป็นข้อห้ามหรือทำให้เกิดผลเสียต่อการรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยสามารถใช้ร่วมกับการรักษาปกติได้ แถมยาเขียวยังช่วยให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นอีกด้วย

·         รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค

การป้องกันตนเองจากโรคอีสุกอีใส

·         เนื่องจากโรคอีสุกใสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายโดยทางการหายใจ จึงควรแยกผู้ป่วยออกจากเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

·         ควรให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดงาน พักผ่อนอยู่บ้านเพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อให้คนอื่น

·         ไม่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส หากจำเป็นต้องมีการป้องกันตนเองอย่างดี เช่น สวมถุงมือ สวมหน้ากากอนามัยและควรรีบล้างมือหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วย เป็นต้น

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งราคาค่อนข้างแพง (ประมาณเข็มละ 800-1200 บาท) ควรฉีดในเด็กอายุ 12-18 เดือน ฉีดเพียง 1 เข็ม จะป้องกันโรคได้ตลอดไป ถ้าฉีดตอนโต หากอายุต่ำกว่า 13 ปี ก็ฉีดเพียงเข็มเดียว แต่ถ้าอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ควรฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4-8 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินนาน 6 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม วัคซีนชนิดนี้ห้ามฉีดในหญิงตั้งครรภ์ คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ใช้ยาแอสไพรินอยู่ประจำ หรือใช้ยาสตีรอยด์ขนาดสูงมานาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ (15-45 ปี) หากไม่แน่ใจว่าเคยเป็นโรคนี้หรือยัง ควรปรึกษาแพทย์ ตรวจดูว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้หรือยัง ถ้ายัง แพทย์อาจแนะนำให้วัคซีนป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ขณะตั้งครรภ์ และหลังฉีดวัคซีนชนิดนี้ ควรคุมกำเนิดนาน 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

·         ในเด็กที่ไม่มีข้อบ่งห้าม สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12-15 เดือน ขึ้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 4-6 ปีหรืออาจฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งภูมิต้านทานจะขึ้นดีกว่าการฉีด 1 เข็ม

·          จากการศึกษาในเด็กอายุ 1-12 ปี หลังได้รับวัคซีนครั้งแรก จะมีภูมิคุ้มกันในระดับที่ป้องกันโรคได้ร้อยละ 85และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 99.6 หลังได้รับวัคซีนครั้งที่ 2

·         สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ การฉีดวัคซีนอาจไม่ทันกาล ถ้าจำเป็นแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดเซรุ่ม ที่มีชื่อว่า varicella-zoster immune globulin (VZIG) เป็นการฉีดภูมิคุ้มกันเข้าไปโดยตรง มักจะฉีดให้กับผู้ที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และทารกที่มีแม่เป็นอีสุกอีใสช่วง 5 วันก่อนคลอดถึง 2 วันหลังคลอด

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ที่ใช้ในปัจจุบันทำมาจากเชื้ออีสุกอีใสที่มีชีวิตแล้วนำมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ในประเทศไทยมีจำหน่าย 3 ชนิด คือ Varilrix ในวัคซีน 1 เข็มมีเชื้อไม่ต่ำกว่า 2,000 PFU, OKAVAX ในวัคซีน 1 เข็มมีเชื้อไม่ต่ำกว่า 1,000 PFU, และ Varicella Vaccine-GCC ในวัคซีน 1 เข็มมีเชื้อไม่ต่ำกว่า 1,400 PFUอีกทั้งปัจจุบันยังมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสให้อยู่ในรูปวัคซีนรวม ได้แก่ วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) ซึ่งจะรวมอยู่ในเข็มเดียวกันทำให้สะดวก และไม่ต้องเจ็บตัวมากขึ้น

สมุนไพรที่ช่วยรักษา/บรรเทา อาการของโรคอีสุกอีใส

·         เสลดพังพอนตัวเมีย    Clinacanthus nutans (Burm.f)มีอีกชื่อหนึ่งคือ พญายอ ซึ่งเสลดพังพอนตัวเมียต่างจากตัวผู้ คือ ตัวเมียไม่มีหนาม ใบตัวผู้มีสีเข้มกว่า ดอกตัวเมียมีสีแดง ดอกตัวผู้มีสีส้นสด วิธีการให้เด็ดใบเสลดพังพอนตัวเมียมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาโขลกหรือปั่นให้ละเอียดผสมกับน้ำดินสอพอง ทาที่ตุ่มสุกใสบ่อยๆ จะช่วยบรรเทาอาการคัน และทำให้ตุ่มแผลแห้งเร็ว ลดอาการบวมแดงของตุ่มได้

·         ผักชี Coriandrum sativumการอาบน้ำต้มผักชีจะช่วยให้อีสุกอีใสหายไวขึ้น ซึ่งตามตำรายาแผนโบราณกล่าวว่า สรรพคุณของผักชีคือเป็นพืชธาตุเย็นที่ช่วยลดอาการผื่นแดง

·         สะเดา Azadiracta indicaมีการศึกษาพบว่าสารเกดูนิน (Gedunin) และ นิมโบลิดี (Nimbolide) ในใบและเมล็ดสะเดามีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อไวรัสสูง ดังนั้น จึงสามารถบรรเทาอาการของโรคที่เกิดจาก ไวรัส  อย่างอีสุกอีใสได้

·         ใบมะยม Phyllanthus acidusใช้ใบมะยมไม่อ่อนหรือแก่เกินไป 2-3 กำมือ ใส่น้ำ 2-3 ลิตร ต้มให้เดือดประมาณ 20 นาที แล้วยกลงผสมน้ำเย็นให้อุ่นพออาบได้ อาบวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น หลังอาบน้ำอาการจะค่อยๆ ทุเลา

·         ย่านาง Tiliacora triandraเอาราก ย่านางแบบสดประมาณขยุ้มมือต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มขณะอุ่นวันละครั้ง ครั้งละ 3 ส่วน 4 แก้ว ต้มดื่มเรื่อยๆ ติดต่อกัน 3-5 วัน อาการที่เป็นจะทุเลาลง

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.อีสุกอีใส.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่296.คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค.ธันวาคม.2546

2.  อีสุกอีใส เป็นได้ก็หายได้.เกร็ดความรู้สู่ประชาชน.หน่วยข้อมูลคลังยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

3.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)”. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.   หน้า 404-407.

4.  Kuter B, Matthews H, Shinefield H, Black S, Dennehy P, Watson B, et al. Ten year follow-up of healthychildren who received one or two injections of varicellavaccine. Pediatr Infect Dis J. 2004; 23:132-7.

5.  อ.พญ.เลลานี ไพฑูรย์พงษ์.สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.โรคอีสุกอีใส.สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย.

6.  Centers for Disease Control and Prevention (CDC)..Prevention of Varicella Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMVR 2007; 56:1-40.

7.  อีสุกอีใส.อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pobpad.com

8.  Heininger U, Seward JF. Varicella. Lancet. 2006; 368:1365-76.

9.  Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.

10.  อ.พญ.จรัสศรี ฟี้ยาพรรณ,นางรษิกา ฤทธิ์เรืองเดช,พญ.พิชญา มณีประสพโชคและคณะ.โรคสุกใส(Chicken pox).ภาควิชาตจวิทยาคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล.

11.  สำนักระบาดวิทยา. โรคอีสุกอีใส. สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค 2552. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์. 2553; 55-6.

12.  Krause PR, Klinman DM. Efficacy,immunogenicity,safety, and use of live attenuated chickenpox vaccine. J Pediatr. 1995; 127:518-25.

13.  พญ.อารีย์ โอบอ้อมรัก.หนังสือเลี้ยงลูกด้วยสมุนไพร.หน้า 56.สำนักพิมพ์เอเชียบูรพา.