โรคนิ่วในไต (Kidney Stone)

โรคนิ่วในไต (Kidney Stone)

นิ่วในไตคืออะไร ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักนิ่วในไตนั้น ก่อนอื่นต้องรู้จักโรคนิ่วกันก่อน โรคนิ่วเป็นตะกอนจากแร่ธาตุต่างๆที่รวมตัวกันเป็นก้อนแข็งๆ ที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ขาดสารอาหารต่างๆหลายชนิด โดยเฉพาะ ซิเทรต โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรืออาจเกิดจากการอักเสบ จากโรคบางชนิด เช่น โรคเก๊าท์เป็นต้น และโรคนิ่วนั้นยังสามารถแบ่งออกเป็นของชนิด คือนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และยังสามารถจำแนกนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้อีกตามตำแหน่งที่เกิดนิ่ว ได้แก่ นิ่วในไต นิ่วในทอไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในทอปัสสาวะ ซึ่งนิ่วทั้งสองประเภทนี้ มีความแตกต่างกันทั้งในส่วนประกอบ สาเหตุ รวมทั้งการดูแลรักษา แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะนิ่วในไตเท่านั้น

นิ่วในไต เป็นก้อนผลึกขนาดเล็ก ประกอบด้วยหินปูน (แคลเซียม) กับสารเคมีและแร่ธาตุ น ๆ เช่น ออกซาเลต ยูริก โปรตีน เป็นต้น หรือบางรายอาจจะมีขนาดใหญ่ที่เกิดจากสารตกค้างต่าง ๆ ทั้งจากสารอาหารที่เรากินเข้าไป หรือกรดบางชนิดที่ร่างกายขับออกไม่หมด ซึ่งก้อนนิ่วในไตนี้ ยังไปเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคไตอีก

ประเภทของนิ่วในไตก้อนนิ่วมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแร่ธาตุ (mineral composition) และส่วนที่เป็นสารอินทรีย์(organic matrix) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5-10 เป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่พบในปัสสาวะ ได้แก่ โปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรต เป็นต้นส่วนที่เป็นแร่ธาตุเกิดจากการตกผลึกของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ ได้แก่ แคลเซียมออกซาเลต ฟอสเฟต และกรดยูริค สามารถแบ่งประเภทของนิ่วในไตได้ดังนี้ นิ่วสตรูไวท์(struvite stones) พบร้อยละ 15 เกิดในผู้ป่วยที่มีทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรังนิ่วกรดยูริค (uric acid stones) พบประมาณร้อยละ 6 เกิดจากรับประทานอาหารที่มีพิวรีน (purine) สูง ได้แก่เครื่องใน สัตว์ปีก เป็นต้น นิ่วซีสตี (cystine stones) พบประมาณร้อยละ 2 เกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการดูดซึมสารซีสตีน นิ่วแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate stones) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย โดยพบร้อยละ 75-80 ซึ่งจากรายงานการศึกษาที่จังหวัดขอนแก่นพบนิ่วชนิดนี้ร้อยละ 88 และที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบอุบัติการณ์ร้อยละ 90 นิ่วแคลเซียมออกซาเลตเกิดจากแคลเซียมรวมกับกรดออกซาลิก (oxalic acid) เมื่อไปรวมกับแร่ธาตุตัวอื่นเช่น โซเดียม แมกนีเซียม แคลเซียม หรือโปแตสเซียมจะกลายเป็นผลึกออกซาเลต และกลายเป็นก้อนนิ่วในเวลาต่อมานิ่วในไตสามารถพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงกว่าในช่วงอายุ 40 - 50 ปี โดยพบในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 2 - 3 เท่า

นิ่วในไตอาจเกิดกับไตเพียงข้างเดียว โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งข้างซ้ายและขวาหรือเกิดนิ่วพร้อมกันทั้งสองข้าง แต่ความรุนแรงของนิ่วในทั้งสองไตมักไม่เท่ากันขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว ในประเทศที่เจริญแล้ว จะพบโรคนี้ได้ประมาณ 0.2% ของประชากร ส่วนในเอเชียพบได้ประมาณ 2-5%

สำหรับในประเทศไทย พบอัตราการเกิดโรคนิ่วในไตและในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยใน จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 99.25 ต่อ 100,000 ของประชากร ในปีพ.ศ. 2550 เป็น 122.46 ในปี พ.ศ. 2553 พบมากที่สุดในประชากรภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอัตรา 188.55 และ 174.67 ตามลำดับจากการศึกษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ในปีพ.ศ. 2552 จำแนกตามครอบครัว และหมู่บ้าน ในประชากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1,034 ราย (โดยรวมผู้ที่เป็นนิ่วอยู่แล้ว 135 ราย) จาก 551 ครอบครัว และ 348 หมู่บ้าน ศึกษาด้วยวิธีถ่ายภาพรังสี Kidney-Ureter Bladder (KUB) พบว่า สมาชิกในครอบครัวจำนวน 116 ครอบครัว (ร้อยละ 21.05) และใน 23 หมู่บ้าน (ร้อยละ 6.61) เป็นนิ่วในไต ตำแหน่งที่พบนิ่วมากที่สุดคือ ในไต ประมาณร้อยละ 80 สำหรับในภูมิภาคอื่นๆมีการศึกษาไม่มากนัก แต่มีรายงานการศึกษาพบว่า พบนิ่วมากที่สุดในช่วงอายุ 40-50 ปีและพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3เท่า และพบการเกิดซ้ำ ภายใน 2 ปี หลังผ่าตัดหรือสลายนิ่วสูงถึงร้อยละ 39

ในปัจจุบันโรคนิ่วในไตมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทั้งในประเทศไทยและทุกภูมิภาคทั่วโลก การมีนิ่วในไตทำ ให้การทำ งานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำ ให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้โรคนิ่วในไตมีอุบัติการณ์เกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ทำ ให้ทั้งผู้ป่วยและรัฐบาลต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นอย่างมาก ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุที่ก่อให้เกิดนิ่ว เช่น พืชที่มีออกซาเลตสูง หรือการรับประทานแคลเซียมเม็ดเสริม ควรเป็นสิ่งที่ต้องคำ นึกถึงเพื่อป้องการกันเกิดนิ่ว

สาเหตุของนิ่วในไต เกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เมตตาบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของตัวผู้ป่วยเอง แต่สาเหตุที่สำคัญของการเกิดนิ่วในไต คือ การมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่ว ร่วมกับปัจจัยเสริมคือ ปริมาตรของปัสสาวะน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ จึงเกิดผลึกที่ไม่ละลายน้ำขึ้น เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต และยูเรต ผลึกนิ่วที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เซลล์บุภายในไตถูกทำลาย ตำแหน่งถูกทำลายนี้จะเป็นพื้นที่ให้ผลึกนิ่วเกาะยึดและรวมกลุ่มกัน เกิดการทับถมของผลึกนิ่วเป็นเวลานานจนกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด ในคนปกติที่มีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะสูงเพียงพอจะสามารถยับยั้งการก่อตัวของผลึกนิ่วได้ โดยสารเหล่านี้จะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว เช่น ซิเทรตจับกับแคลเซียม หรือแมกนีเซียมจับกับออกซาเลต ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และขับออกไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ปริมาณสารก่อนิ่วในปัสสาวะลดลงและไม่สามารถรวมตัวกันเป็นผลึกนิ่วได้ นอกจากสารยับยั้งนิ่วกลุ่มนี้แล้วโปรตีนในปัสสาวะหลายชนิดยังทำหน้าที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะ และเมื่อเคลือบที่ผิวผลึกจะช่วยขับผลึกออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

                       

ปัจจุบันมีหลายงานวิจัยระบุว่า ความผิดปกติของการสังเคราะห์และการทำงานของโปรตีนยับยั้งนิ่วเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคนิ่วในไต  การเกิดนิ่วในไตยังอาจเป็นผลมาจากโรคอื่นที่เป็นอยู่ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางชนิดอย่างโรคเกาท์ ไทรอยด์ทำงานเกินปกติ เบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และการรับประทานวิตามินดี และแคลเซียมเม็ดเสริมมากเกินไป

อาการของนิ่วในไต สำหรับนิ่วในไตส่วนมาก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดง แต่จะมีอาการแสดงก็ต่อเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนและก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กมาก ๆ อาจหลุดออกไปพร้อมกับการขับปัสสาวะโดยไม่ก่อให้เกิดอาการหรือความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ อาการของนิ่วในไตอาจไม่ปรากฏให้เห็นจนกระทั่งก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวรอบ ๆ ไตหรือไปยังท่อไต ซึ่งเป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจมีอาการเหล่านี้ตามมา เช่น ปวดบริเวณหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดร้าวลงไปถึงบริเวณขาหนีบ  มีอาการปวดบีบเป็นระยะ และปวดรุนแรงเป็นช่วง ๆ ที่บริเวณดังกล่าว ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาล  ปัสสาวะแล้วเจ็บ  ปวดปัสสาวะบ่อย  ปัสสาวะน้อย  ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น เป็นไข้ และหากก้อนนิ่วมีขนาดเล็กและตกลมมาที่ท่อไต จะทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรง เรียกว่า “นิ่วในท่อไต” ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองเวลาปัสสาวะ อยากปัสสาวะ แต่ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย ในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจะมีอาการไข้ร่วมด้วย หากปล่อยให้เป็นนิ่วไปนานๆ โดยมิได้รับการรักษาจะทำให้ไตบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้ไตมีรูปร่างและทำงานผิดปกติมากขึ้นและนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด

แนวทางการรักษานิ่วในไต  แพทย์วินิจฉัยนิ่วในไตได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น

1. การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่าร่างกายมีการขับแร่ธาตุที่รวมตัวเป็นก้อนนิ่วมากเกินไป หรือมีสารป้องกันการเกิดนิ่วที่น้อยเกินไปหรือไม่ และตรวจเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ตลอดจนตรวจหาภาวะติดเชื้อ สามารถทำได้โดยเก็บปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งหมดในช่วง 24 ชั่วโมง เช่น ถ้าเริ่มนับตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ในเวลานี้ผู้ป่วยต้องปัสสาวะทิ้งไปก่อน แล้วเก็บครั้งต่อ ๆ ไปทุกครั้งจนถึง 8.00 นาฬิกาของวันต่อไป

2. การตรวจเลือด ผลการตรวจเลือดจะสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพไตของผู้ป่วย และช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้ รวมทั้งตรวจวัดระดับของสารที่อาจทำให้เกิดนิ่ว โดยผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจตรวจพบว่ามีปริมาณแคลเซียมหรือกรดยูริกในเลือดที่มากเกินไป

3. การตรวจโดยดูจากภาพถ่ายไต วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นตามทางเดินปัสสาวะ การถ่ายภาพไตมีหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ เช่น การฉายรังสีเอกซ์เรย์ในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้มองไม่เห็นก้อนนิ่วในไตขนาดเล็กหรือนิ่วบางชนิด การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ไต นอกจาก 2 วิธีนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งอาจทำให้เห็นนิ่วก้อนเล็ก ๆ ได้และ

4. การตรวจ x-rayเงาไตที่เรียก KUB (Kidney ureter and bladder) ถ้าหากเป็นนิ่วที่ทึบแสงก็สามารถเห็นนิ่วได้ หากเป็นนิ่วที่ไม่ทึบแสงก็ไม่สามารถเห็น รวมถึงการตรวจ IVP (Intravenous pyelogram) เป็นการฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำ และสีนั้นจะถูกขับออกทางไตหลังจากฉีดจะ x-ray เงาไตที่เวลาต่างๆ หลังฉีดสี เพื่อดูรูปร่าง ลักษณะของไต ว่ามีการอุดตันจากนิ่วหรือไม่ รวมถึงการทำงานของไต ว่าดีมากน้อยแค่ไหน

5. การรักษานิ่วในไต การรักษามีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลเรื่องขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของนิ่ว ความแข็งของนิ่ว ไตบวมมากหรือน้อย การอักเสบของไตเป็นต้น เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย บางท่านอาจจะเหมาะสมที่จะรักษาด้วยการสลายนิ่ว แต่บางท่านไม่เหมาะสมที่จะสลายนิ่ว อาจรักษาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อจะได้เข้าใจถึงเหตุผลที่แพทย์เลือกวิธีนั้น ๆ ในการรักษา

การรักษานิ่วในไตขนาดเล็ก  การรักษานิ่วขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจทำได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาพร้อมปัสสาวะ และควรดื่มให้มากพอ (วันละ 8 – 10 แก้ว) จนปัสสาวะเจือจางปัสสาวะเป็นสีใสๆ นิ่วอาจหลุดลงมาเป็นนิ่วในทอไต อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยด้วยนิ่วชนิดนี้มีอาการ แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกได้เช่นกัน

หากเกิดก้อนนิ่วเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แพทย์อาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อะเซตามิโนเฟ่น (Acetaminophen) หรือที่รู้จักในชื่อพาราเซตามอล และนาพรอกเซน (Naproxen)

นอกจากนี้ การใช้ยาช่วยขับก้อนนิ่วก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blocker) ซึ่งเป็นยาช่วยขับก้อนนิ่วออกมาทางปัสสาวะ ออกฤทธิ์โดยการทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้ให้ก้อนนิ่วในไตถูกขับออกมาได้เร็วและเจ็บน้อยกว่า

การรักษานิ่วในไตขนาดใหญ่ ก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรขึ้นไปสามารถทำให้มีเลือดออก และคงทำให้เกิดแผลที่ท่อไตหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จนไม่สามารถหลุดมาเองได้ แพทย์อาจต้องใช้การรักษาชนิดอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

·   การใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่ว เหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร รักษาด้วยเครื่อง Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy (ESWL) โดยใช้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงทำให้นิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนสามารถผ่านออกทางการขับปัสสาวะได้ วิธีนี้ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดระดับปานกลาง แพทย์จึงอาจใช้ยาระงับประสาทเพื่อให้ผู้ป่วยสงบหรือทำให้สลบแบบตื้น กระบวนการรักษาใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที และอาจส่งผลข้างเคียงให้ปัสสาวะเป็นเลือด มีแผลฟกช้ำด้านหลังช่องท้อง เลือดออกรอบบริเวณไตและอวัยวะรอบข้าง รวมถึงรู้สึกเจ็บเมื่อเสี้ยวก้อนนิ่วเคลื่อนผ่านทางเดินปัสสาวะออกมา การรักษาโรคนิ่ววิธีนี้ระยะเวลากว่าเศษนิ่วจะหลุดออกมาหมดนั้นไม่แน่นอน บางรายต้องสลายนิ่วซ้ำอีกหนึ่งหรือหลายครั้ง ไม่สามารถรับรองผลการรักษาได้ทุกราย โดยมีอัตราปลอดนิ่วที่ 3 เดือนประมาณร้อยละ 75

·   การผ่าตัดก้อนนิ่วออก (Percutaneous Nephrolithotomy) เหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร อาจใช้ตามหลังวิธีใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่ว (ESWL) ไม่ได้ผล แพทย์อาจเลือกใช้การผ่าตัดนิ่วด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและเครื่องมือสอดเข้าไปบริเวณหลังของผู้ป่วย โดยพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1-2 วัน และมีประสิทธิภาพถึง 72-99 เปอร์เซ็นต์

·   การส่องกล้อง สำหรับก้อนนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร แพทย์อาจใช้กล้อง Ureteroscope เพื่อฉายลำแสงแคบผ่านหลอดปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ แล้วใช้เครื่องมือชนิดพิเศษจับหรือทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กจนสามารถถูกขับออกมาทางเดินปัสสาวะได้ เพื่อลดอาการบวมหลังผ่าตัดและช่วยให้หายเร็วขึ้น จึงอาจมีการใช้ท่อเล็ก ๆ ยึดไว้ที่หลอดปัสสาวะด้วย การส่องกล้องนี้พบว่ารักษาได้ผลถึง 94 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นนิ่วเขากวางมีกิ่งก้านมากกว่า 2 กิ่ง หรือนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร แพทย์มักพิจารณาเป็นการผ่าตัดเปิดตามความเหมาะสม

·   การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานสูง เกิดการผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ขึ้นมามากผิดปกติ และเป็นสาเหตุให้เกิดก้อนนิ่วจากแคลเซียมฟอสเฟตได้ง่าย การทำงานที่ผิดปกตินี้หากมีสาเหตุมาจากเนื้องอกที่เติบโตบนต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดเอาเนื้องอกดังกล่าวออกจะเป็นช่วยลดการเกิดนิ่วในไตได้ด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดนิ่วในไต

1. กินอาหารมีสารที่ก่อการตกตะกอนเป็นนิ่วปริมาณสูงต่อเนื่องเช่น กินอาหารมีออกซาเลตสูง เช่น โยเกิร์ต ถั่วที่มีรูปทรงเหมือนไต อาทิ ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง งา ลูกนัท ผลเบอร์รีต่างๆ มะเดื่อ แครอด บีทรูท มะเขือ ผักกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลิ ผักโขม ชะพลู ผักกะเฉด และยอดผักต่างๆ หรือมีกรดยูริคสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ปลาทะเล หอยแครง น้ำเกรวี/Gravy และจากพืชบางชนิดเช่น หน่อไม่ฝรั่ง ผักขม ยอดผัก และถั่วชนิดมีรูปร่างคล้ายไต/ถั่วดำ/ถั่วแดง

2. การตีบแคบของทางเดินปัสสาวะทำ ให้มีปัสสาวะคั่งค้างภายในไต

3. ความเข้มข้นของน้ำ ปัสสาวะ เกิดเนื่องจากผู้ป่วยดื่มน้ำ น้อยกว่าปกติ หรือสูญเสียน้ำ ออกจากร่างกายมากกว่าปกติ ผู้มีอาชีพเกษตรกรทำ งานกลางแจ้งจะมีการเสียเหงื่อมากทำ ให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงโอกาสที่สารละลายในปัสสาวะจะตกผลึกจึงมีมากขึ้น และอาจเกี่ยวข้องกับเกลือแร่ที่ละลายอยู่ในน้ำที่ใช้ดื่มซึ่งขึ้นกับแต่ละท้องถิ่นทำให้เกิดเป็นนิ่วขึ้นได้ การออกกำลังกายอย่างหนัก ทำ ให้มีการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ไปกับเหงื่อ ทำให้ปัสสาวะจะมีปริมาณซิเทรตต่ำซึ่งการขาดซิเทรตทำ ให้แคลเซียมรวมกับออกซาเลตเป็นแคลเซียมออกซาเลต หรือแคลเซียมรวมกับฟอสเฟตเป็นแคลเซียมฟอสเฟต ซึ่งละลายน้ำ ได้ไม่ดี

4. ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ ปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นกรดมากอาจเกิดการตกผลึกของกรดยูริค และซีสทีน ส่วนปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นด่าง อาจเกิดการตกตะกอนของผลึกออกซาเลต ฟอสเฟส และคาบอเนต ซึ่งคนปกติในช่วง 06.00 น. ปัสสาวะจะมีความเป็นกรดที่ pH 5.2 ในช่วง 18.00 น. จะมีความเป็นกลาง pH 7.0 จึงมีโอกาสเกิดผลึกได้ทั้งผลึกกรดยูริค และผลึกแคลเซียมซึ่งการรวมตัวกันของผลึกทำ ให้เกิดเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

5. โรคเรื้อรังบางชนิดที่ส่งผลให้ในร่างกายมีสารต่างๆที่ก่อนิ่วสูงกว่าปกติเช่น โรคของ ต่อมพาราไทรอยด์(Parathyroid gland)ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กอยู่ใต้ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของแคลเซียม) ทำงานเกิน หรือโรคเกาต์ซึ่งมีกรดยูริคสูงในร่างกาย

6. อาจจากกินวิตามินซี วิตามินดี และแคลเซียมเสริมอาหารปริมาณสูงต่อเนื่อง ดังนั้นการกินวิตามินเกลือแร่เหล่านี้เสริมอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

7. ยาบางชนิดทำ ให้เกิดนิ่วได้เช่น ยาขับปัสสาวะยากลุ่ม carbonic anhydrase inhibitors ยาระบายหรือยาลดกรดที่รับประทานอยู่เป็นเวลานาน ทำ ให้เกิดนิ่วด้วยกลไกผ่านทางเมตาบอลิค

การติดต่อของนิ่วในไต  นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุต่างๆ และแคลเซียม (หินปูน) เป็นก้อนผลึกขนาดต่างๆ ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ถุงน้ำดี และ ระบบทางเดินปัสสาวะของร่างกาย ซึ่งไม่ได้มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นนิ่วในไต การดูแลตนเองเมื่อเป็นนิ่วในไตและเพื่อป้องกันนิ่วย้อนกลับเป็นซ้ำหลังรักษานิ่วหายแล้ว ได้แก่

·    ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อยวันละ 2 ลิตรหากไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำ

·   จำกัดอาหารที่มีสารออกซาเลต กรดยูริค และสารซีสตีนสูง

·   ไม่กลั้นปัสสาวะนาน และพยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ

·    ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด

·    กินยาต่างๆให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา และไม่หยุดยาเอง

·    สังเกตสีและลักษณะของปัสสาวะเสมอเพื่อรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีความผิดปกติเกิด ขึ้นเช่น ขุ่นมากหรือเป็นเลือดและเมื่อมีนิ่วหลุดออกมา ควรเก็บไว้แล้วนำไปพบแพทย์ เพื่อศึกษาทางห้องปฏิบัติการว่าเป็นนิ่วชนิดใด เพื่อการรักษาและการดูแลตนเองได้ถูกต้อง ซึ่งเมื่อแพทย์แนะนำให้เก็บนิ่วมาให้แพทย์ดู ควรปัสสาวะในกระโถนหรือปัสสาวะผ่านผ้ากรองเพื่อการเก็บนิ่วได้ง่ายขึ้น

·         หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากอาจทำให้ปริมาณของซิเทรดในปัสสาวะลดลง

การป้องกันตนเองจากนิ่วในไต ช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วสูงสุดคือ 40-60 ปี และอัตราการเกิดเป็นนิ่วซ้ำ พบสูงถึงร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี การปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วหรือการเกิดนิ่วซ้ำ ควรปฏิบัติดังนี้

1.  ควรดื่มน้ำ วันละ 6-8 แก้ว (2.5 ลิตรหรือมากกว่า) หรือให้ได้ปริมาตรของปัสสาวะมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดความอิ่มตัวของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ และลดโอกาสการก่อผลึกนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

2.  ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟที่เข้มข้นมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำ ให้ระดับแคลเซียมสูงขึ้นในปัสสาวะ

3.  ผู้ป่วยที่มีนิ่วชนิดแคลเซียม ควรงดอาหารเค็มที่มีเกลือโซเดียม เนื่องจากมีผลต่อการขับแคลเซียม

4.  ลดการดื่มเหล้า เบียร์ หรือไวน์ ซึ่งทำ ให้ขับปัสสาวะมากเกินไป และเกิดภาวะขาดน้ำ

5.  ลดอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์สัตว์ปีก ถั่ว รวมทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะโปรตีนจะเพิ่มการขับแคลเซียม กรดยูริค และออกซาเลตออกมาในปัสสาวะ

6.   หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง (ดังตาราง)

ตารางที่ 1แสดงปริมาณกรดออกซาลิคในผักต่อน้ำ หนักผัก 100 กรัม

           ชื่อผัก                    ปริมาณกรดออกซาลิค ชื่อผัก           ปริมาณกรดออกซาลิค

                                    (มิลลิกรัม)                                            (มิลลิกรัม)

ผักชีฝรั่ง (parsley)               1,700                           หัวไชเท้า                       480

มันสำปะหลัง                       1,260                           ใบกระเจี๊ยบ                   389.5

ใบชะพลู                             1,088.4                        ใบยอ                           387.6

ผักโขม (amaranth)             1,090                           ผักปัง                           385.3

ผักโขม (spinach)                 970                              ผักกระเฉด                    310

ยอดพริกชี้ฟ้า                       761.7                           ผักแพงพวย                  243.9

แครอท                               500                              กระเทียม                      360

7.  รับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ (ที่ไม่มีสารออกซาเลต , ยูริกสูง) เพราะเป็นแหล่งของสารยับยั้งการเกิดนิ่ว ช่วยให้ปริมาณซิเทรต โพแทสเซียม และ pH ของปัสสาวะเพิ่มขึ้น และลดการทำลายของเซลล์เยื่อบุหลอดไต จึงสามารถยับยั้งการเกิดนิ่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8.  รับประทานไขมันจากพืชและไขมันจากปลา เพราะไขมันเหล่านี้สามารถลดปริมาณแคลเซียมในปัสสาวะได้ดีกว่าไขมันที่ได้จากเนื้อสัตว์อื่น ๆ จึงช่วยลดโอกาสเกิดนิ่วซ้ำได้

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษานิ่วในไต

กระเจี๊ยบแดงHibiscus sabdariffa L.

·         องค์ประกอบทางเคมี:   มีสาร Anthocyanin และกรดอินทรีย์หลายตัว เช่น citric acid, mallic acid, tartaric acid, vitamin c ทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรด

·         สรรพคุณ:  ตำรายาไทย: กลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว แก้อาการขัดเบา แก้เสมหะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ ขับนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

·         การศึกษาทางคลินิก: ลดความดันโลหิต ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยโรคนิ่วในท่อไต ถ่ายปัสสาวะสะดวกขึ้น ผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะน้อยลง

ขลู่ Pluchea indica (L.) Less.

·         องค์ประกอบทางเคมี: พบสารอนุพันธ์ของ eudesmane  กลุ่ม cauhtemone และพบเกลือแร่ sodium chloride เนื่องจากชอบขึ้นที่น้ำทะเลขึ้นถึง

·         สรรพคุณ:   ตำรายาไทย: ใช้ ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม เป็นยาขับปัสสาวะ ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม ใช้ต้มกินรักษาอาการขัดเบา แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ

ตะไคร้   Cymbopogon citratus  Stapf

·         สรรพคุณ ทั้งต้น  แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว ขับปัสสาวะ ประจำเดือนมาผิดปกติ  แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้โรคหืด  ราก ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการขัดเบา

ทานตะวัน    Helianthus annuus  L.

·         สรรพคุณ แกนต้น ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต เมล็ด ขับปัสสาวะ ราก ขับปัสสาวะ

สับปะรด    Ananas comosus  (L.) Merr.

·         สรรพคุณ ราก แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ใบสด เป็นยาถ่าย ฆ่าพยาธิในท้อง ยาขับปัสสาวะ ผลสุก ขับปัสสาวะ ไส้กลางสับปะรด แก้ขัดเบา เปลือก ขับปัสสาวะ ทำให้ไตมีสุขภาพดี จุก ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แขนง แก้โรคนิ่ว ยอดอ่อนสับปะรด แก้นิ่ว

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  ผศ.วิทย์  วิเศษสินธ์.โรคนิ่ววในระบบทางเดินปัสสาวะ.หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/rmcl/?q=node/26D81

2.  Sritippayawan S, Borvornpadungkitti S, Paemanee A, et al. Evidence suggesting a genetic contribution to kidney stone in northeastern Thai population. Urol Res 2009; 37: 141 - 6.

3.  นพ.ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ.นิ่ว.วิธีการรักษาและการป้องกัน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่115.คอลัมน์โรคน่ารู้.พฤศจิกายน.2531.

4.  Matlaga BR, Shah OD, Assimos DG. Drug-induced    urinary calculi. Rev Urol 2003; 5: 227 – 31

5.  Qazi RA, Bastani B. Pathophysiology and treatment of kidney stones. In: Schmitz P, Martin KJ, editors. Internal medicine: just the facts. New York: McGrawhill; 2008; p.721 - 6.

6.  พัชรินทร์ ชนะพาห์.ปัจจัยเสี่ยงของดรคนิ่วในไต:ประเด็นของสารแคลเซียมออกซาเลต.วารสารสงขลานครินทร์เวชสาร.ปีที่29.ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2554.หน้า299-308

7.  Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.

8.  Salahuddin S, Kok DJ, Buchholz NN. Influence of body temperature on indinavir crystallization under loop of Henle conditions. J Antimicrob Chemother 2007; 59: 114 - 7.

9.  นิ่วในไต.พบแพทย์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com.

10.  Massey LK, Sutton RA. Acute caffeine effects on urine consumption and calcium kidney stone risk in calcium stone formers. J Urol 2004; 172: 555 - 8.

11.  กระเจี๊ยวแดง,ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=1

12.  Pietrow, P.’ and Karellas, M. (2006). Medical management of common urinary calculi. Am Fam Physician. 74, 86-94.

13.  หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “นิ่วไต (Renal calculus/Kidney stone)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 856-857.

14.  Portis, A., and Sundaram, C. (2001). Diagnosis and initial management of kidney stones. Am Fam Physician. 63, 1329-1338.

15.  ขลู่.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main/php?action=viewpaye&pid=35