โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids/Piles)

โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids/Piles)

โรคริดสีดวงทวาร คืออะไรโรคริดสีดวงทวาร มาจากคำสองคำประสมกัน คือคำว่า "ริดสีดวง" + "ทวาร"   คำว่า "ริดสีดวง" จะหมายถึง สิ่งผิดปกติที่เป็นติ่ง หรือเนื้อยื่นออกมาจากร่างกาย ซึ่งนิยมใช้เรียกโรคริดสีดวง ที่เกิดขึ้นที่ทวารหนักเสียเป็นส่วนใหญ่ จนบางครั้งจะเรียกสั้นๆ ว่า  ริดสีดวงž ก็เป็นที่เข้าใจว่าเป็นโรคริดสีดวงของทวารหนัก

            ในอดีตมีอีกโรคหนึ่งที่ใช้คำว่าริดสีดวงเหมือนกัน คือโรคริดสีดวงของจมูก ซึ่งหมายถึง เนื้องอกผิดปกติในโพรงจมูก มักพบในผู้ป่วย โรคภูมิแพ้ชนิดเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมเรียกว่าริดสีดวงจมูกแล้ว แต่จะเรียกเนื้องอกในโพรงจมูกแทน

โรคริดสีดวงทวาร ก็คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบ และการบวมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ที่อยู่ภายในทวารหนักและรอบๆปากทวารหนัก โดยเนื้อเยื่อกลุ่มนี้มีหน้าที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อทวารหนักในช่วงมีการขับถ่ายอุจจาระ และช่วยให้ปากทวารหนักปิดสนิทช่วงไม่ปวดถ่ายอุจจาระ

โดยริดสีดวงทวารจะเกิดความผิดปกติขึ้นในส่วนของรูทวารหนัก ที่เรียกว่า หมอนรอง หรือ เบาะรอง (Cushion) หมอนรองจะอยู่ลึกเข้าไปประมาณ 3-4 ซ.ม. ลักษณะเป็นก้อนนูนออกมา ภายในประกอบด้วยเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะต่อกับกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและอยู่ใต้ต่อจากเยื่อบุทวารหนัก ริดสีดวงทวารหนักเกิดจากการเคลื่อนลงมาของหมอนรองมีการยืดตัวของกล้ามเนื้อและการโป่งพองของกลุ่มเส้นเลือดและเนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายของลำไส้ตรงในคนปกติจะมีริดสีดวง (hemorrhoid tissue) ทุกคน โดยจะอยู่บริเวณส่วนล่างของทวารหนัก เนื้อเยื่อริดสีดวงจะมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ เมื่อบวมหรืออักเสบจะมีพยาธิสภาพเป็น หัวริดสีดวง แล้วอาจเกิดการปริแตกของผนังหลอดเลือดในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว โดยมักจะมีอาการของโรคเกิดขึ้นในเวลาท้องผูกหรือเกิดท้องเดินบ่อยครั้ง ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตราย โดยอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ทำให้น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวลได้

 โรคริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) คือ ริดสีดวงที่อยู่เหนือเส้นสมมุติที่เรียกว่า dentate line (บริเวณแถวๆ รอยที่หยักๆ)เป็นกลุ่มหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ชั้นเยื่อบุลำไส้ภายในรูทวารหนักปูดพอง (ขอด) ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อใช้กล้องส่องตรวจ
  2. ริดสีดวงทวารนอก (External Hemorrhoids) คือ ริดสีดวงที่อยู่ใต้เส้น Dentate line เป็นกลุ่มหลอดเลือดดำที่ อยู่ใต้ผิดหนังบริเวณปากทวารหนักปูดพอง (ขอด) ซึ่งสามารถมองเห็นและคลำได้เพราะผิวหนังรอบๆ ทวารจะถูกดันจนโป่งออกมาผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บปวด

โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคพบได้บ่อย ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยมีอาการจากโรคนี้ได้ประมาณ 5% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบได้สูงในช่วงอายุ 45-65 ปี โดยผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกันสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร  เกิดจากกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ หรือมีการหมุนเวียนโลหิต ไม่ดีจากสาเหตุต่างๆจนก่อให้เกิดการโป่งพอง บวม อักเสบ หรือเกิดมีลิ่มเลือดในกลุ่มเนื้อเยื่อดังกล่าว ซึ่งสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ นานๆ ซึ่งเป็นผลของท้องผูก การตั้งครรภ์ พฤติกรรมการดำรงชีวิต และลักษณะของการถ่ายอุจจาระ ซึ่งการเบ่งอุจจาระบ่อยๆ นานๆ จะส่งผลเพิ่มระดับแรงดันในช่องท้อง ทำให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักไม่สะดวก เกิดการยืด ย่น คด งอ พอง และโตขึ้นเป็นติ่งเนื้อ เหมือนกับการเป่าเติมลมเข้าไปในลูกโป่ง เมื่อลูกโป่งโตขึ้น ก็จะมีความหนาของผนังลดน้อยลง เมื่อใดก็ตามที่มีของแข็งๆ มาเสียดสี เช่น อุจจาระแข็งๆ หรือเพิ่มระดับแรงดันขึ้นอีก ก็จะทำให้เกิดการปริแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดเลือดออกมาเป็นเลือดสดๆ ได้

     นอกจากการเบ่งถ่ายอุจจาระนานๆ ซึ่งเป็นสาเหตุ หลักแล้ว ยังพบว่าระดับความดันเลือดในตับที่สูง (ซึ่งเกิดได้จากความอ้วน หรือโรคตับ) อายุที่มากขึ้น อาการท้องเสียเรื้อรังยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของโรคริดสีดวงทวารได้อีกด้วย

อาการของโรคริดสีดวงทวารภายใน คือ ผู้ป่วยส่วนมากมักจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ เลือดที่ออกมานั้นจะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดงสด ออกปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลหยดลงในโถส้วม และอาจสังเกตว่ามีเลือดเปื้อนบนกระดาษชำระ เลือดจะออกมาในลักษณะอาบก้อนอุจจาระ ไม่มีมูกปน และเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ถ้ามีเลือดออกมากหรือเป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการซีดตามมาได้ ในรายที่เป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ปลิ้นโผล่ออกมา ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บที่ทวารหนักได้ ในบางรายอาจจะทำให้เกิดอาการคันและอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแบ่งความรุนแรงของโรคริดสีดวงภายใน เป็น 4 ระดับตามความรุนแรง ได้แก่

  • ระดับ 1 หลอดเลือดที่โป่งพอง ยังเกิดอยู่ภายในทวารหนักและลำไส้ตรง
  • ระดับ 2 หลอดเลือด พร้อมเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือดปลิ้นโผล่ออกมาที่ปากทวารหนักในขณะอุจจาระ แต่ก้อนเนื้อนี้สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เองหลังสิ้นสุดอุจจาระ
  • ระดับ 3 ก้อนเนื้อไม่กลับเข้าภายในทวารหนัก หลังสุดอุจจาระแล้ว แต่สามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้
  • ระดับ 4 ก้อนเนื้อกลับเข้าไปภายในทวารหนักไม่ได้ ค้างอยู่หน้าปากทวารหนัก ถึงแม้จะใช้นิ้วช่วยดันแล้วก็ตาม ซึ่งระยะนี้ผู้ป่วยจะเจ็บปวดมาก                        ที่มา : Wikipedia

และควรต้องรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน ก่อนที่ก้อนเนื้อจะเน่าตายจากการขาดเลือด

อาการของโรคริดสีดวงภายนอก คือ มีติ่งเนื้อสีชมพูคล้ำออกมาจากปากทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม เจ็บ และระคายเคือง และหากมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดที่โป่งพองจะก่อให้เกิดอาการปวด บวม เจ็บมากขึ้น แต่มักจะไม่ค่อยพบว่ามีเลือดออกจากติ่งเนื้อนี้ ซึ่งปกติแล้วมักจะหายเจ็บได้ภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม กว่าจะหายบวมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายดีแล้วอาจจะยังมีผิวหนังเป็นติ่งเหลืออยู่ และหากหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือคันบริเวณรอบปากทวารหนักได้ด้วย

แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร แพทย์จะวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวารได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก และการส่องกล้องตรวจทวารหนักและลำไส้ตรง ในบางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อต้องแยกจากโรคมะเร็ง โดยแพทย์จะวินิจฉัยในอาการสำคัญๆเหล่านี้เป็นพิเศษ เช่น

  1. มีเลือดแดงสดหยดออกมา หรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่าย หรือหลังถ่ายอุจจาระ จำนวนแต่ละครั้งไม่มากหนัก ไม่มีอาการปวดหรือแสบของทวาร
  2. มีก้อนเนื้อปลิ้นจากภายในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ และยุบกลับเข้าเมื่อหยุดเบ่ง เมื่อเป็นมากต้องดันจึงจะกลับเข้าไป และขั้นสุดท้ายอาจย้อนอยู่ภายนอกตลอดเวลา
  3. มีก้อนและปวดที่ขอบทวารเกิดขึ้นเร็วใน 24 ชั่วโมง และเจ็บมากในระยะเวลา 5-7 วันแรก

แนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่างๆ เช่น ยาทาลดอาการคัน ยาเหน็บทวารลดอาการบวม ปวด และยาแก้ปวด เป็นต้น แต่เมื่อการรักษาในลักษณะประคับประคองไม่ได้ผล การรักษาขั้นต่อไป คือ การรักษาทางศัลยกรรม ที่มีหลายรูปแบบ เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ เลเซอร์ การฉีดยาเข้าหลอดเลือด เพื่อให้หลอดเลือดยุบแฟบ การผูกหลอดเลือด หรือการผ่าตัดหลอดเลือด ทั้งนี้ ขึ้นกับความรุน แรงของโรค ข้อบ่งชี้ และดุลพินิจของแพทย์ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. การรักษาแบบประคับประคองอาการ ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งมักใช้ในกรณีที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง อาทิเช่น
    1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใส่ยาทาบริเวณหัวริดสีดวง การเหน็บยา หรือการกินยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
    2. ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ ผู้ป่วยควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ๆ ให้มาก ๆ และดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย
    3. ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระมากเกินไป
    4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด
  2. การรักษาทางศัลยกรรม (หากใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองมาแล้วแต่ไม่ได้ผล) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ข้อบ่งชี้ และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
    1. การฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงทวาร ตัวยาจะทำให้หลอดเลือดดำฝ่อและหัวริดสีดวงยุบไป มักใช้กับโรคริดสีดวงในระยะที่ 2 วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย ไม่มีความเจ็บปวด แพทย์มักจะนัดมาฉีดสัปดาห์ละครั้งประมาณ 3-5 ครั้ง สามารถช่วยให้หายขาดได้ประมาณ 60-70%
    2. การรักษาโดยวิธีใช้ยางรัด (Rubber band ligation) หรือยิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมา ซึ่งจะทำให้หัวของริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดออกไปเองภายใน 5-7 วัน วิธีจะใช้ได้ผลดีในระยะ 2 โดยเฉพาะเมื่อหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่หากรัดยางใกล้กับแนวเส้นประสาทมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงทันที
    3. การทำลายเนื้อเยื่อด้วยการเผา เป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับโรคริดสีดวงระยะที่ 2 แต่ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย โดยปกติแล้วแพทย์จะใช้เฉพาะเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การเผาเนื้อเยื่อด้วยการใช้ไฟฟ้าจี้, การฉายรังสีอินฟราเรด, การใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัด, การผ่าตัดด้วยการใช้ความเย็น เป็นต้น (การทำลายเนื้อเยื่อด้วยแสงอินฟราเรดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับกรณีที่เป็นโรคในระยะที่ 1-2 ส่วนระยะที่ 3-4 การกลับมาเป็นซ้ำจะมีอัตราที่สูง)
    4. การผ่าตัดริดสีดวงทวาร มักทำให้กรณีที่เป็นมากแล้วในระยะที่ 3-4 หรือเมื่อมีลิ่มเลือด หรือมีการขาดเลือดของริดสีดวงทวาร ความจริงแล้วการผ่าตัดริดสีดวงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และไม่เจ็บในขณะผ่าตัด เพราะแพทย์จะให้ยาสลบหรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลังก่อนเสมอ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้าง แต่ก็ไม่มากมายแต่อย่างใด และสามารถระงับได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด นอนพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วันก็กลับบ้านได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวง

  • พันธุกรรม
  • อาชีพ เช่น ผู้ที่ต้องยืนนาน ๆ
  • เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรค เช่น ตับแข็ง ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก
  • ท้องผูก ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง การขยายตัวของเส้นเลือดที่ปากทวารหนักร่วมกับท้องผูก
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเช่นเดียวกับในหญิงตั้งครรภ์
  • ท้องเสียเรื้อรัง การอุจจาระบ่อยๆจะเพิ่มความดัน และ/หรือการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด เช่นกัน
  • โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด จึงเกิดภาวะเลือดคั่งในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองง่าย
  • การนั่งแช่นานๆ รวมทั้งนั่งถ่ายอุจจาระนานๆ จะกดทับกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงเพิ่มความดัน/การบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จึงเกิดการกดเบียดทับ/บาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้เรื้อรัง จึงมีเลือดคั่งในหลอดเลือด เกิดโป่งพองได้ง่าย

การติดต่อของโรคริดสีดวงทวาร โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบ และการบวมของเนื้อเยื่อหลอดเลือดของทวารหนัก และเมื่อมีของแข็งๆมาเสียดสี หรือมีการเพิ่มระดับแรงดันในช่องท้องขึ้น จึงทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคริดสีดวงทวารขึ้น ซึ่งโรคริดสีดวงทวารนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อแต่อย่างได

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวาร

  1. ใส่ยาทาบริเวณก้น/บริเวณริดสีดวง หรือ เหน็บยาตามแพทย์แนะนำ
  2. กินยาต่างๆ รวมทั้งยาแก้ปวดตามแพทย์แนะนำ
  3. เมื่อมีก้อนเนื้อบวมออกมาบริเวณก้น อาจประคบด้วยน้ำเย็น ซึ่งอาจช่วยลดบวมได้
  4. เมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะ ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระที่แข็ง ควรชุบน้ำ หรือ ใช้กระดาษชำระชนิดเปียก (มีขายในท้องตลาดแล้ว)
  5. เมื่อเลือดออกมาก ใช้ผ้าขนหนูสะอาดกดบริเวณก้นไว้ให้แน่น ถ้าเลือดไม่หยุด ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
  6. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  7. กินผัก ผลไม้ชนิดมีกากใยสูงมากๆ เช่น ฝรั่ง แอบเปิ้ล มะละกอสุก เพื่อป้องกันท้องผูก
  8. ฝึกอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
  9. ไม่ควรนั่ง หรือ ยืนนานๆ รวมทั้งนั่งส้วมนานๆ ไม่นั่งอ่านหนังสือนานๆขณะอุจจาระ
  10. พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ

การป้องกันตนเองจากโรคริดสีดวงทวาร

  1. หลีกเลี่ยงอาการท้องผูก เพราะท้องผูกเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของริดสีดวงทวารหนัก ทั้งเป็นสาเหตุของการเบ่ง และทำให้อุจจาระแข็ง ซึ่งมีวิธีแก้ไขอาการท้องผูกด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง ดังนี้
  • กินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช เพื่อช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น
  • ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร อย่างสม่ำเสมอ
  • ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ กาแฟ ชา น้ำโคล่า เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุจจาระแข็ง และถ่ายลำบากขึ้น
  • ควรหลีกเลี่ยงกลั้นอุจจาระ
  • ไม่ควรนั่งหรือเบ่งอุจจาระโดยไม่รู้สึกปวดจะถ่าย
  1.   ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณทวารหนักอย่างรุนแรง เพราะจะยิ่งระคายเคืองริดสีดวงทวารหนัก
  2.  ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยเพิ่ม กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ง่าย
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายอย่างรุนแรง หรือการสวนทวาร
  4. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  5. หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้สบายอยู่เสมอ
  6. เมื่อมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือ มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักเพื่อลดความดันในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคริดสีดวงทวาร

เพชรสังฆาต

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cissus quadrangularis  L.

วงศ์ :   Vitaceae

สารเคมี :  เถา มีผลึก calcium oxalate รูปเข็มเป็นจำนวนมากต้นสด 100 กรัม ประกอบด้วย carotene 267 มก., ascorbic acid (Vitamin C.) 398 มก.

สรรพคุณ :  เถา – ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก

แก้ริดสีดวงทวาร  ใช้เถาสด 2-3 องคุลีต่อหนึ่งมื้อ รับประทานสดๆ ถ้าเคี้ยวจะคันปากคันคอ เพราะในสมุนไพรนี้จะมีสารเป็นผลึกรูปเข็มอยู่มาก เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในต้นบอน ต้นเผือก การรับประทานจึงใช้สอดไส้ในกล้วยสุก หรือมะขาม แล้วกลืนลงไป รับประทาน 10-15 วัน จะเห็นผล

ครอบฟันสี

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Abutilon indicum (L.) Sweet

ชื่อสามัญ :   Country mallow, Indian mallow

วงศ์ :   Malvaceae

ราก มี Asparagin

สรรพคุณ : ราก - ปวดท้อง ท้องร่วง ริดสีดวงทวาร ขับปัสสาวะ

 แก้ริดสีดวงทวาร  ใช้ราก 150 กรัม ต้มเอาน้ำข้นๆ ดื่มประมาณ 1 ถ้วยชา ที่เหลืออุ่นเอาไอรมที่ก้นพออุ่นๆ ทนได้ ใช้รมวันละ 5-6 ครั้ง เอาน้ำอุ่นๆ ชะล้างแผลริดสีดวงทวาร

ขลู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Pluchea indica  (L.) Less.

ชื่อสามัญ :  Indian Marsh Fleabane

วงศ์ :   Asteraceae (Compositae)

สรรพคุณ :

ทั้งต้นสด หรือแห้ง - ปรุงเป็นยาต้มรับประทานขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่วในไต แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวารหนัก ริดสีดวงจมูก

เปลือก ใบ เมล็ด  - แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก

ใบ - มีกลิ่นหอม แก้ริดสีดวงทวาร

ยาริดสีดวงทวาร ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำ เอาไอรมทวารหนัก และรับประทาน แก้โรคริดสีดวงทวาร หรือใช้เปลือกต้น (ขูดเอาขนออก) แบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 นำมาตากแห้ง ทำเป็นยาสูบ

ส่วนที่ 2 นำมาต้มน้ำรับประทาน

ส่วนที่ 3 ต้มน้ำเอาไปรมทวารหนัก

ว่านหางจระเข้

ชื่อวิทยาศาสตร์ :Aloe vera  (L.)  Burm.f.

ชื่อพ้อง :Aloe barbadensis  Mill

 ชื่อสามัญ :  Star cactus, Aloe, Aloin, Jafferabad, Barbados

วงศ์ :  Asphodelaceae

สารเคมี:   ใบมี Aloe-emodin, Alolin, Chrysophanic acid Barbaboin, AloctinA, Aloctin B, Brady Kininase Alosin, Anthramol Histidine, Amino acid , Alanine Glutamic acid Cystine, Glutamine, Glycine.

สรรพคุณ :

ยางในใบ - เป็นยาระบาย

เนื้อวุ้น - เหน็บทวาร รักษาริดสีดวงทวาร

เป็นยาถ่าย/ยาระบาย ใช้น้ำยางสีเหลืองที่มีรสขม คลื่นไส้ อาเจียน น้ำยางสีเหลืองที่ไหลออกมาระหว่างผิวนอกของใบกับตัววุ้น จะให้ยาที่เรียกว่า ยาดำ

สารเคมี - สารสำคัญในยาดำเป็น G-glycoside ที่มีชื่อว่า barbaloin (Aloe-emodin anthrone C-10 glycoside)

รักษาริดสีดวงทวาร นอกจากจะช่วยรักษาแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวด อาการคันได้ด้วย โดยทำความสะอาดทวารหนักให้สะอาดและแห้ง ควรปฏิบัติหลังจากการอุจจาระ หรือหลังอาบน้ำ หรือก่อนนอน เอาว่านหางจระเข้ปอกส่วนนอกของใบ แล้วเหลาให้ปลายแหลมเล็กน้อย เพื่อใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ถ้าจะให้เหน็บง่าน นำไปแช่ตู้เย็น หรือน้ำแข็งให้แข็ง จะทำให้สอดได้ง่าย ต้องหมั่นเหน็บวันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย

อัคคีทวาร

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Clerodendrum serratum  (L.) Moon. var.wallichii  C.B.Clarke

วงศ์ :   Limiaceae (Labiatae)

สรรพคุณ : ใบ, ราก, ต้น – ใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร

ใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร

1. นำรากหรือต้นยาว 1-2 องคุลี ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นๆ ทาที่ริดสีดวงทวาร เป็นยาเกลื่อนหัวริดสีดวง

2. นำใบ 10-20 ใบ มาตากแห้ง บดให้เป็นผง แล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นเม็ดขนาดเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุกๆ วันติดต่อกัน 7-10 วัน

3. ใช้ใบแห้งป่นเป็นผง โรยในถ่านไฟ เผาเอาควันรมหัวริดสีดวงงอกทวารหนัก ให้ยุบฝ่อ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด.ยารักษาโรคริดสีดวง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่337.คอลัมน์การใช้ยาพอเพียง.พฤษภาคม.2550
  2. ขลู่.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_17.htm
  3. แนะนำการปฏิบัติตัวโรคริดสีดวงทวาร.เอกสารเผยแพร่.ห้องตรวจศัลยกรรม.งานพยาบาลผู้ป่วยนอก กลุ่มภารกิจบริการวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี.
  4. Mounsey, A., Halladay, J., and Sadiq, T. (2011). Hemorrhoids. Am Fam Physician. 84, 204-210.
  5. เพชรสังฆาต.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_17_2.htm
  6. Chen, Herbert (2010). Illustrative Handbook of General Surgery. Berlin: Springer. p. 217. ISBN 1-84882-088-7.
  7. ครอบฟันสี.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_17_1.htm
  8. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 551-553.
  9. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “ผ่าตัดริดสีดวงทวารอย่างไรไม่ให้เจ็บ (หรือเจ็บน้อย)”.  (ผศ.ดร.นพ.วรุตม์ โล่ห์สิริวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [05 มี.ค. 2016].
  10. อัคคีทวาร.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_17_4.htm
  11. ธีรพล อังกูรภักดีกุล.(2546).ริดสีดวงทวาร.Healthtoday,ปีที่3(ฉบับที่25),หน้า68-73.
  12. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ท้องผูกและริดสีดวงทวาร.(พิมพ์ครั้งที่1).กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน(2546).
  13. ว่านหางจระเข้.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_17_3.htm
  14. รศ.นพ.วิรุณ บุญชู.ริดสีดวงทวาร.ภาควิชาศัลยศาสตร์.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.