โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

โรคไส้ติ่งอักเสบคืออะไร  ไส้ติ่ง (Vermiform appendix) เป็นส่วนขยายของลำไส้ที่ยื่นออกมาจากกระพุ้งไส้ใหญ่ (Cecum)ไส้ติ่งมีรูปร่างเหมือนถุงยาวๆขนาดเท่านิ้วก้อย ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่อยู่ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา โดยมีลักษณะเป็นถุงแคบและยาว มีขนาดกว้างเพียง 5-8 มิลลิเมตร และมีความยาวหรือก้นถุงลึกโดยเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร (ในผู้ใหญ่) ภายในมีรูติดต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ผนังด้านในของไส้ติ่งมีเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองกระจายอยู่ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกิดการอักเสบได้ง่าย โดยเนื้อเยื่อนี้จะมีการเพิ่มปริมาณมากช่วงวัยรุ่น จึงพบไส้ติ่งอักเสบเกิดได้บ่อยในวัย รุ่น ไส้ติ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ที่ฝ่อตัวลงและไม่ได้ทำหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหาร เนื่องจากเป็นท่อขนาดเล็กปลายตัน เมื่อเกิดการอักเสบจึงทำให้เนื้อผนังไส้ติ่งเน่าตายและเป็นรูทะลุในเวลาอันรวดเร็วได้

ไส้ติ่งอักเสบคือ อาการบวมและติดเชื้อของไส้ติ่งนับเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่ง ด่วน เพราะถ้าหากทิ้งไว้นาน ไส้ติ่งที่อักเสบมักแตกกระจายเชื้อโรคสู่ช่องท้อง และอาจเป็นสา เหตุรุนแรงจนติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของโรคไส้ติ่งอักเสบเกิดจากภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบและภาวะช็อค โรคไส้ติ่งอักเสบได้รับการอธิบายเป็นครั้งแรกโดย Reginald Fitz ในปี พ.ศ. 2429 ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดท้องรุนแรงเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลกและ โรคไส้ติ่งอักเสบยังพบเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของโรคปวดท้อง ที่ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเร่งด่วน บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยปล่อยให้มีอาการปวดท้องนานหลายวันแล้วค่อยมาโรงพยาบาล  ซึ่งมักจะพบว่าเป็นถึงขั้นไส้ติ่งแตกแล้ว ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขวบไปจนถึงผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ แต่จะพบได้มากในช่วงอายุ 10-30 ปี (พบได้น้อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากไส้ติ่งตีบแฟบมีเนื้อเยื่อหลงเหลือน้อย และในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากโคนไส้ติ่งยังค่อนข้างกว้าง) ในผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่า ๆ กัน และมีการคาดประมาณว่าในชั่วชีวิตของคนเราจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ประมาณ 7% ในปี ๆ หนึ่งจะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน

สาเหตุของโรคไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากมีภาวะอุดกั้นของรูไส้ติ่ง ส่วนการอุดกั้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นการเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากมีเศษอุจจาระแข็งๆ เรียกว่า "นิ่วอุจจาระ" (fecalith) ชิ้นเล็กๆ ตกลงไปอุดกั้นอยู่ภายในรูของไส้ติ่ง แล้วทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในรูไส้ติ่งจำนวนน้อยเกิดการเจริญแพร่พันธุ์และรุกล้ำเข้าไปในผนังไส้ติ่ง จนเกิดการอักเสบตามมา หากปล่อยไว้เพียงไม่กี่วัน ผนังไส้ติ่งก็เกิดการเน่าตายและแตกทะลุได้ และสาเหตุที่พบได้รองลงมาคือ เกิดจากเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง (Lymphoid tissue) ที่ผนังไส้ติ่งที่หนาตัวขึ้นตามการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย นอกจากนี้อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้), หนอนพยาธิ (ที่สำคัญคือ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิตืดหมู) หรือก้อนเนื้องอก หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในไส้ติ่งเกิดการปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการขยายตัวขึ้นจนไปปิดกั้นไส้ติ่ง และทำให้ไส้ติ่งที่อาจมีเชื้อโรคอาศัยอยู่เกิดอาการอักเสบในที่สุด ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (Cytomegalovirus)  ซึ่งมักจะพบได้ในผู้ป่วยเอดส์ และบางรายอาจเป็นไส้ติ่งอักเสบโดยที่แพทย์ไม่ทราบสาเหตุเลยก็ได้

อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ อาการสำคัญของโรคไส้ติ่งอักเสบนั้นคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องที่มีลักษณะต่อเนื่องและปวดแรงขึ้นนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็มักจะปวดอยู่นานหลายวัน จนผู้ป่วยทนปวดไม่ไหวต้องพาส่งโรงพยาบาล ซึ่งอาการของไส้ติ่งอักเสบนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองชนิด คือชนิดตรงไปตรงมาและชนิดไม่ตรงไปตรงมาดังนี้ ชนิดตรงไปตรงมาแรกเริ่มอาจปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะ บางคนอาจปวดบิดเป็นพักๆ รอบๆ สะดือ คล้ายอาการปวดแบบท้องเสีย อาจเข้าส้วมบ่อย แต่ถ่ายไม่ออก (แต่บางคนอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือ ถ่ายเหลวร่วมด้วย)ต่อมาจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารร่วมด้วย อาการปวดท้องมักจะไม่ทุเลา แม้ว่าจะกินยาแก้ปวดอะไรก็ตาม ต่อมาอีก 3-4 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้างขวา มีลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อมีการขยับเขยื้อนตัว หรือเวลาเดินหรือไอจาม ผู้ป่วยจะนอนนิ่งๆ ถ้าเป็นมากผู้ป่วยจะนอนงอขา ตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเดินตัวงอ เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น  เมื่อถึงขั้นที่มีอาการอักเสบของไส้ติ่งชัดเจน มีวิธีตรวจอย่างง่ายๆ คือ ให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วใช้มือกดลงลึกๆ หรือใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงบริเวณไส้ติ่ง (ท้องน้อยข้างขวา)ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมาก (เรียกว่า อาการกดเจ็บ) ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ (อุณหภูมิ 37.7-38.3 องศาเซลเซียส) ส่วนชนิดไม่ตรงไปตรงมานั้นอาจเริ่มจากมีอาการปวดเริ่มที่หน้าท้องด้านล่างขวาตั้งแต่ต้น ท้องเสีย และมีการดำเนินโรคที่ยาวนานค่อยเป็นค่อยไปกว่าชนิดตรงไปตรงมา หากไส้ติ่งที่อักเสบสัมผัสกับกระเพาะปัสสาวะอาจทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หากไส้ติ่งที่อักเสบอยู่ด้านหลังลำไส้เล็กตอนปลายอาจมีอาการคลื่นไส้รุนแรงได้ บางรายอาจรู้สึกปวดเบ่ง

ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นเด็ก หรือสตรีมีครรภ์ อาจมีอาการบางอย่างที่แตกต่างจากคนโดยปกติทั่วไป ดังนี้

  • ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก เด็กที่มีอายุต่ำว่า 2 ปี ลงไป จะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ อาเจียนมาก ท้องอืด หากใช้มือกดบริเวณหน้าท้องจะรู้สึกเจ็บ ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปจะเริ่มบ่งบอกอาการได้ ซึ่งอาการก็จะไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
  • ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นสตรีมีครรภ์ เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ที่ถูกดันให้สูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของมดลูก ไส้ติ่งของสตรีมีครรภ์จะเคลื่อนไปอยู่ที่บริเวณหน้าท้องส่วนบน ซึ่งถ้ามีอาการไส้ติ่งอักเสบจะทำให้ปวดบริเวณหน้าท้องส่วนบนด้านขวาแทน นอกจากนี้อาจมีอาการปวดบีบที่ท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรืออาการแสบร้อนที่กลางอก บางรายอาจพบอาการท้องเสีย หรือท้องผูกควบคู่กัน

ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบหากไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดภายใน 24-36 ชั่วโมงหลังมีการอักเสบ ไส้ติ่งจะขาดเลือดกลายเป็นเนื้อเน่าและตาย สุดท้ายผนังของไส้ติ่งที่เปื่อยยุ่ยจะแตกทะลุ หนองและสิ่งสกปรกภายในลำไส้จะไหลออกมาในช่องท้อง ทำให้กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) และหากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดก็จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

แนวทางการรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่มีปัญหาในการวินิจฉัยให้ที่ถูกต้องค่อนข้างมาก ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ แต่เมื่อผ่าตัดเข้าไปก็พบว่าไส้ติ่งไม่มีการอักเสบ ผู้ป่วยบางรายแม้จะไปพบแพทย์แต่ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น จนกระทั่งไส้ติ่งแตกแล้วจึงได้รับการรักษาวินิจฉัยที่ถูกต้อง เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบเกือบทุกรายมักจะวินิจฉัยโรคนี้ได้หลังจากการแตกของไส้ติ่งแล้ว ในเด็กเล็กและผู้ป่วยสูงอายุพบว่าอาจเกิดปัญหารุนแรง ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคล่าช้าเนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ

            การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบ การวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยลักษณะทางคลินิก (clinical menifestation) คืออาการและการตรวจพบเป็นหลัก ส่วนการตรวจทางห้องปฎิบัติการและการสืบค้นทางรังสีวิทยา (radiologic investigation) หรือการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ มีความจำเป็นน้อย มีประโยชน์เฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่ชัดเจนเท่านั้นโดยมีวิธีการวินิจฉัยดังนี้

  1. การวินิจฉัยอาการของไส้ติ่งอักเสบ คือ
    1. อาการปวดท้อง เป็นอาการที่สำคัญที่สุด ตอนแรกมักจะปวดรอบๆ สะดือ หรือบอก ไม่ได้แน่ชัดว่าปวดที่บริเวณใดแต่ระยะต่อมาอาการปวดจะชัดเจนที่ท้องน้อยด้านขวา (right lower quadrant-RLQ)
    2. อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยคือ

                          - คลื่นไส้ อาเจียน อาการนี้พบได้ในผู้ป่วยเกือบทุกราย

                          - ไข้ มักจะเกิดหลังจากเริ่มอาการปวดท้องแล้วระยะหนึ่ง

                          - เบื่ออาหาร

                          - ท้องเสีย พบอาการในผู้ป่วยบางราย มักจะเกิดหลังจากไส้ติ่งแตกทะลุ หรือ อธิบาย ได้จากไส้ติ่งอักเสบที่อยู่ตำแหน่งใกล้กับลำไส้ใหญ่ส่วน sigmoid หรือ rectum

  1. ในเด็กที่มีไส้ติ่งแตกทะลุอาจมาด้วยอาการของลำไส้อุดตันได้
  1. การตรวจร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรค
    1. การกดเจ็บเฉพาะที่ (local tenderness) เกือบทั้งหมดจะมี maximal tenderness ที่ RLQ และอาจมี guarding และ rebound tenderness ด้วย ในผู้ป่วยไส้ติ่งแตกทะลุ tenderness และ guarding มักตรวจพบบริเวณกว้างขึ้นหรือพบทั่วบริเวณท้องน้อยส่วนล่างทั้ง 2 ข้าง จากการมี pelvic peritonitis ในรายที่เป็นก้อนไส้ติ่งอักเสบ (appendiceal mass) จาก phlegmon หรือ abscess มักคลำได้ก้อนที่ RLQ
    2. การตรวจทางทวารหนัก (rectal examination) นับว่าเป็นประโยชน์มาก จะพบว่ากดเจ็บที่ด้านขวาของ cul-de-sac แต่ไม่นิยมทำในเด็กเล็กเพราะแปลผลได้ลำบาก ในเด็กผู้หญิงอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคจาก twisted ovarian cyst เพราะอาจคลำได้ก่อน ส่วนในรายที่สงสัยว่าอาจเกิดจาก pelvic inflammatory disease นอกจากจะได้ประวัติการมีเพศสัมพันธ์แล้วการตรวจภายใน (per vagina examination - PV) จะให้ประโยชน์มาก
    3. การตรวจอื่นๆ อาจให้ผลบวกในการตรวจ เช่น

                          - Rovsing sign

                          - Obturator sign

                          - Psoas sign

       3. การตรวจทางห้องปฎิบัติการ ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อการตรวจร่างกายสามารถให้การวินิจฉัยได้อยู่แล้ว แต่จะทำเป็นพื้นฐานเพื่อการดูแลระหว่างการรักษาต่อไป ได้แก่

  1. complete blood count มักพบว่า เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติและมี shift to the left
  2. การตรวจปัสสาวะ ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักในการวินิจฉัยแยกโรค แต่ช่วยแยกโรคอื่น เช่น มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะอาจต้องนึกถึงนิ่วในท่อไต
  3. การตรวจพิเศษ ในรายที่ลักษณะทางคลินิกบ่งชัดเจนว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน การตรวจพิเศษเพิ่มเติมก็ไม่มีความจำเป็น แต่ในรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่ชัดเจนนั้น การตรวจพิเศษอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น
    1. การถ่ายภาพรังสีของช่องท้อง อาจพบเงาของ fecalith หรือ localized ileus ที่ RLQ
    2. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonography) ของช่องท้อง หรือ barium enema ไม่มีความจำเป็นในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่อาจช่วยในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาในการวินิจฉัยโรค

ไส้ติ่งอักเสบสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น เพราะจะช่วยรักษาอาการและช่วยกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไส้ติ่งแตก โดยการผ่าตัดที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เพราะเป็นการผ่าตัดเล็กสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันที เหมาะกับกรณีไส้ติ่งที่อักเสบยังอยู่ในระยะไม่ร้ายแรงนัก หากรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตก ก็จะต้องใช้การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) ซึ่งเป็นผ่าตัดแบบมาตรฐาน เพราะนอกจากจะต้องนำไส้ติ่งที่แตกออกแล้ว ยังต้องทำความสะอาดภายในช่องท้อง และใส่ท่อเพื่อระบายหนองจากฝีที่เกิดขึ้นอีกด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดรักษาดังนี้

  1. ในรายที่ลักษณะทางคลินิกบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ แนะนำให้การรักษาด้วยการ ผ่าตัดโดยด่วน หลังจากการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมและเหมาะสมต่อการให้ยาสลบและการผ่าตัด 
  2. ในรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่ชัดเจนว่าจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่มีสิ่งที่ทำให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคนี้ ควรรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาล เพื่อติดตามประเมินลักษณะทางคลินิกต่อเป็นระยะๆ โดยงดน้ำและอาหาร และไม่ให้ยาปฎิชีวนะ เมื่อลักษณะทางคลินิกบ่งชี้ชัดเจนขึ้นว่าน่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน จะได้นำผู้ป่วยไปทำการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงที 
  3. ในรายที่ลักษณะทางคลินิกบ่งชัดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ไม่แตกทะลุ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทั้งก่อนและหลังผ่าตัด แต่แพทย์ผู้ดูแลอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดก็ได้ เมื่อผ่าตัดพบว่าไส้ติ่งอักเสบไม่แตกทะลุ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยาต่อ 
  4. ในรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่สามารถแยกได้ว่าไส้ติ่งแตกทะลุชัดเจน นิยมให้ยาปฏิชีวนะ โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ถ้าผ่าตัดแล้วพบว่าไส้ติ่งไม่แตกทะลุ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะต่อหลังผ่าตัด แต่ถ้าพบว่าไส้ติ่งแตกทะลุก็ให้ยาปฏิชีวนะต่อ 
  5. ในรายที่การตรวจร่างกายบ่งชี้ว่ามี peritonitis ซึ่งเกิดจากการแตกของไส้ติ่งอักเสบ ในเด็กมักมีลักษณะ generalized peritonitis ส่วนผู้ใหญ่จะเป็น pelvic peritonitis ก่อนนำผู้ป่วยไปทำการผ่าตัดควรใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมในการให้ยาสลบและการผ่าตัด เช่นการให้ intravenous fluid ที่เหมาะสมให้เพียงพอซึ่งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง ดูว่าผู้ป่วยมีปัสสาวะออกดีแล้ว ให้ยาปฎิชีวนะที่เหมาะสม ให้ยาลดไข้หรือเช็ดตัวให้อุณหภูมิร่างกายลดลงถ้ามีไข้สูง ถ้าท้องอืดมากควรใส่ nasogastric tube ต่อ suction อาจใช้เวลาในการเตรียมผู้ป่วย 3-4 ชั่วโมงก่อนนำผู้ป่วยไปผ่าตัด 
  6. กรณีที่ไส้ติ่งแตกทะลุระหว่างการผ่าตัด หรือไส้ติ่งไม่แตกทะลุ แต่รุนแรงถึงขั้น gangrenous appendicitis แนะนำให้ยาปฏิชีวนะระหว่างการผ่าตัด และต่อเนื่อง 1-3 วันแล้วแต่พยาธิสภาพ 
  7. ในรายที่มีอาการมาหลายวันและการตรวจร่างกายพบว่ามีก้อนที่ RLQ ที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น appendiceal phlegmon หรือ abscess ควรจะรักษาโดยวิธีประคับประคองโดยให้ยาปฎิชีวนะที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมกว้างขวาง ถ้าผู้ป่วยตอบสนองดีต่อการรักษา เช่น อาการปวดท้องดีขึ้น ก้อนเล็กลง ให้รักษาต่อโดยวิธีประคับประคอง และนำผู้ป่วยไปทำ elective appendectomy หลังจากนั้น 6 สัปดาห์ - 3 เดือน แต่ถ้าการรักษาด้วยยาปฎิชีวนะดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเลย ถ้าพยาธิสภาพรุนแรงมาก อาจทำเพียงระบายหนอง แต่ถ้าพยาธิสภาพไม่รุนแรง และสามารถตัดไส้ติ่งออกได้เลย ก็แนะนำให้ทำ

กลุ่มอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบมีอาการปวดท้องที่มีลักษณะไม่เหมือนอาการปวดโรคกระเพาะ ท้องเดิน หรือปวดประจำเดือน ก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบได้ ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ปวดรุนแรง หรือปวดติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป
  2. กดหรือเคาะเจ็บตรงบริเวณที่ปวด
  3. อาเจียนบ่อย กินอะไรก็ออกหมด
  4. มีอาการหน้ามืด เป็นลม ใจหวิว ใจสั่น
  5. มีไข้สูง หรือหนาวสั่น
  6. หน้าตาซีดเหลือง
  7. กินยาบรรเทาปวดแล้วอาการไม่ทุเลาหรือกลับรุนแรงขึ้น
  8. ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย ถ้าพบว่ามีอาการปวดท้องรุนแรงกว่าปกติ ก็ห้ามกินยาถ่าย หรือทำการสวนทวาร

การติดต่อของโรคไส้ติ่งอักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการอุดตันของรูไส้ติ่ง จากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ทำให้ไส้ติ่งเกิดการอักเสบติดเชื้อและแตกในที่สุด ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ป่วยแต่ละคน และไม่ได้เป็นโรคติดต่อที่แพร่ให้คนข้างเคียงแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ  เนื่องจากโรคไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคเร่งด่วน ต้องไปพบแพทย์ทันที ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดและไม่ควรกินยาระบายหรือสวนอุจจาระ เมื่อมีอาการท้องผูกร่วมด้วย เพราะอาจทำให้ไส้ติ่งอักเสบนั้นแตกเร็วขึ้น

  • การปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัดไส้ติ่ง ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

o   เมื่อมีอาการของไส้ติ่งอักเสบ ก่อนไปพบแพทย์ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและน้ำดื่มไว้ด้วยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน

o   ในกรณีที่มีอาการปวดท้องแต่ผู้ป่วยยังไม่ทราบสาเหตุ ห้ามกินยาแก้ปวด แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน เพราะยาแก้ปวดจะไปบดบังอาการปวดทำให้แพทย์แยกโรคได้ลำบาก

o   งดการใช้ครีมและเครื่องสำอางทุกชนิด และทำร่างกายให้สะอาด อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ เพื่อให้แพทย์สังเกตอาการผิดปกติจากการขาดออกซิเจนได้

  • การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง หลังการผ่าตัดไส้ติ่ง 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องทำการลุกจากเตียง เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเร็วขึ้น งดอาหารและน้ำหลังผ่าตัดวันแรก ส่วนการดูแลแผลผ่าตัด ห้ามให้ผ้าปิดแผลเปียกน้ำ ห้ามให้แผลโดนน้ำ ห้ามเกา และเวลาไอหรือจามให้ใช้มือประคองแผลไว้ด้วยเพื่อป้องกันแผลที่เย็บแยกออก หากถ้าแผลยังไม่แห้งดีอย่าเพิ่งอาบน้ำ แต่ให้ใช้วิธีการเช็ดตัวแทน นอกจากนั้นคือการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เน้นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะจะช่วยให้แผลติดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นคือ การขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ

การป้องกันตนเองจากโรคไส้ติ่งอักเสบ ในปัจจุบันนี้ยังไม่ทีการค้นพบวิธีป้องกันอาการไส้ติ่งอักเสบ เนื่องจากไส้ติ่งอักเสบเป็นอาการเฉียบพลันที่ไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่มีข้อสังเกตว่า ประชากรที่นิยมกินอาหารพวกผักผลไม้มาก (เช่น ชาวแอฟริกา) จะมีอัตราการเป็นไส้ติ่งอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่กินผักผลไม้น้อย (เช่น ชาวตะวันตก) จึงมีการแนะนำให้พยายามกินผักผลไม้ให้มากๆ ทุกวัน ซึ่งมีผลดีต่อการป้องกันโรคท้องผูก ริดสีดวงทวาร โรคอ้วน และยังเชื่อว่าอาจป้องกันไส้ติ่งอักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้มีการศึกษาที่พบว่า ภาวะท้องผูกมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดไส้ติ่งอักเสบ โดยพบว่าผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจะมีจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระต่อสัปดาห์น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งลำไส้ตรงมักจะเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบนำมาก่อน อีกทั้งยังมีผลการศึกษาหลายงานที่พบว่า การรับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำจะมีส่วนในการทำให้เกิดโรคไส้ติ่งอักเสบอีกด้วย

สมุนไพรที่ช่วยป้องงกัน/บรรเทาโรคไส้ติ่งอักเสบ เนื่องด้วยการรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้นและในปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันว่าสมุนไพรชนิดไหนที่จะช่วยป้องกันหรือ บรรเทา/รักษา โรคไส้ติ่งอักเสบได้ รวมถึงยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยชิ้นไหนที่รายงานว่าสมุนไพรชนิดไหนสามารถช่วยป้องกันหรือ / รักษาโรคไส้ติ่งอักเสบได้

เอกสารอ้างอิง

  1. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  “ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)”.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.    หน้า 525-527.
  2. Fitz RH (1886). "Perforating inflammation of the vermiform appendix with special reference to its early diagnosis and treatment". Am J Med Sci (92): 321–46.(อังกฤษ)
  3. ไส้ติ่งอักเสบ-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  4. Adamis D, Roma-Giannikou E, Karamolegou K (2000). "Fiber intake and childhood appendicitis". Int J Food Sci Nutr 51: 153–7. (อังกฤษ)
  5. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ไส้ติ่งอักเสบ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่301.คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค.พฤษภาคม.2547
  6. SCHWARTZ, Principle of Surgery , McGRAW HILL
  7. Wangensteen OH, Bowers WF (1937). "Significance of the obstructive factor in the genesis of acute appendicitis". Arch Surg 34: 496–526. (อังกฤษ)
  8. โรคไส้ติ่งอักเสบ(APPENDICITIS).แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรม.ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย.