โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

โรคกระดูกพรุนคืออะไร  โรคกระดูกพรุนโดยทั่วไปแล้ว คือภาวะที่ปริมาณแร่ธาตุ (ที่สำคัญคือแคลเซียม) ในกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกลดความหนาแน่น จึงเปราะบางแตกหักง่าย บริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อย ได้แก่ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง  ส่วนคำจำกัดความของภาวะกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกพรุน หมายถึง ภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density : BMD) ลดลงซึ่งมีผลให้กระดูกเปราะบาง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่าย โดยใช้ความหนาแน่นของมวลกระดูก เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุนที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 โดยเปรียบเทียงค่า BMD ของผู้ป่วยกับของวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีโดยใช้ค่า T-score เป็นเกณฑ์ ผู้ที่มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation : SD) ต่ำกว่า -2.5 วินิจฉัยว่ามีภาวะกระดูกพรุน ในขณะที่ค่า -1.0 ถึง -2.5 ถือว่ามีภาวะกระดูกบาง (osteopenia) และ ค่ามากกว่า -1.0 ถือว่ากระดูกปกติ

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (มักไม่ค่อยพบในเด็กและคนวัยหนุ่มสาว ยกเว้นในกรณีที่มีภาวะปัจจัยเสี่ยง) โดยผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมากถึงร้อยละ 30-40 ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสร้อยละ 13 โดย ผู้หญิงช่วงอายุ 10 ปีแรกหลังหมดระดู กระดูกจะบางลงเร็วมาก อธิบายได้ว่าเกิดจากการที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่าเอสโตรเจน นอกจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว ยังเกิดจากความเสื่อมตามวัยซึ่งพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง  และเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามเนื่องจากจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน(การหักของกระดูกต่างๆ เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง) ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจหรือรักษา อย่างทันท่วงทีจนเป็นเหตุให้เกิดการหักของกระดูกตามอวัยวะต่างๆตามที่กล่าวมา (โดยเฉพาะกระดูกสะโพก)

            จากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลก คาดว่าใน ค.ศ.2050 จะมีผู้ป่วยเนื่องจากกระดูกสะโพกหักสูงถึง 6.25 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการรายงานในปี ค.ศ. 1990 ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพียง 1.33 ล้านคน เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนมีความสัมพันธ์กับกระดูกสันหลังสถิติดังกล่าวจึงสะท้อนถึงจำนวนผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียซึ่งพบว่าในจำนวนประชากรกระดูกสะโพกหักทั่วโลกในปี ค.ศ.1990 ร้อยละ 30 เป็นชาวเอเชียและในปี 2050 คาดว่าชาวเอเชียจะประชากรผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักถึงร้อยละ 50 ของประชากรโลกทั้งหมด

สำหรับประเทศไทย (ข้อมูลเมื่อปี 2555) ยังไม่มีการศึกษาถึงสถิติโรคกระดูกพรุนเป็นรายปี แต่จากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ความชุกของโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปจะพบโรคกระดูกพรุนได้มากกว่า 50% โดยพบภาวะกระดูกพรุนบริเวณสันหลังส่วนเอว 15.7-24.7% บริเวณกระดูกสะโพก 9.5-19.3% อุบัติการณ์ของกระดูกสะโพกหักในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปได้จำนวน 289 ครั้งต่อประชากร 1 แสนรายต่อปี

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน เนื่องจากกระดูกประกอบด้วย โปรตีน คอลลาเจน และแคลเซียม โดยมีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นตัวทำให้กระดูกแข็งแรง ทนต่อแรงดึงรั้ง กระดูกมีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ขณะที่มีการสร้างกระดูกใหม่โดยใช้แคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไป ก็มีการสลายแคลเซียมในเนื้อกระดูกเก่าออกมาในเลือดและถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระ ปกติในเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโต มวลกระดูกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนมีความหนาแน่นสูงสุด เมื่ออายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปี หลังจากนั้นจะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้าง ทำให้กระดูกค่อยๆ บางตัวลงตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้หญิงช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนอย่างรวดเร็ว ฮอร์โมนชนิดนี้ช่วยการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายและชะลอการสลายของแคลเซียมในเนื้อกระดูก เมื่อพร่องฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะทำให้กระดูกบางตัวลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะกระดูกพรุน ส่วนกลไกการเกิดกระดูกพรุนที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งการมีกระดูกที่แข็งแรงต้องมีสมดุลระหว่างเซลล์ทั้งสองชนิดนี้เสมอ ซึ่งการเสียสมดุลเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ

  1. อายุ: อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมลงรวมทั้งเซลล์สร้างกระดูก การสร้างกระดูกจึงลดลง แต่เซลล์ทำลายกระดูกยังทำงานได้ตามปกติหรืออาจทำงานมากขึ้น
  2. ฮอร์โมน - การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง อย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกพรุนและเปราะบางลง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดน้อยลง
  3. กรรมพันธุ์ - ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดทางสายเลือดที่มีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมโรคดังกล่าวไปด้วย
  4. ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ - เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับทำงานผิดปกติ
  5. โรคและการเจ็บป่วย - ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนอาจเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ไต กระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน โรคความผิดปกติทางการกิน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคแพ้กลูเตน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคมะเร็งกระดูก
  6. การบริโภค - กินอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต กินอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล อย่างอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  7. การใช้ยา - ผู้ที่ป่วยและต้องรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เพราะตัวยาบางชนิดจะออกฤทธิ์ไปรบกวนกระบวนการสร้างกระดูก เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)
  8. การใช้ชีวิตประจำวัน - การนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือการขาดการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ

อาการของโรคกระดูกพรุน  ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งเกิดผิดปกติของโครงสร้างกระดูก เช่น ปวดข้อมือ สะโพก หรือหลัง (เนื่องจากกระดูกข้อมือ สะโพก หรือสันหลังแตกหัก) ส่วนสูงลดลงจากเดิม (เนื่องจากการหักและยุบตัวของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น) ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิก็อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ

อีกทั้งผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีความเสี่ยงต่อการหักของกระดูกซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยชองภาวะกระดูกพรุนโดยเฉพาะกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทั้งเศรษฐกิจของประเทศชาติและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และโดยส่วนใหญ่จะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงหรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น กระดูกหักจากการเปลี่ยนท่ายืนหรือนั่ง, กระดูกหักขณะก้มหยิบของหรือยกของหนัก, กระดูกซี่โครงหักเพียงแค่ไอหรือจาม, กระดูกข้อมือหักจากการใช้มือยันตัวเอาไว้จากการลื่นหรือหกล้ม, กระดูกสะโพกหักจากก้นกระแทกกับพื้น เป็นต้น

แนวทางการรักษาของโรคกระดูกพรุน เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนส่วนใหญ่ไม่ปรากฏอาการแสดงที่ผิดปกติจนกว่าจะเกิดการหักของกระดูก และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาการปวดเกิดขึ้น การตรวจและวินิจฉัยการสูญเสียมวลกระดูกให้ได้ก่อนจะเกิดการหักของกระดูกจึงเป็นประเด็นสำคัญ โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน จากประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการออกกำ ลังกาย อายุ การตรวจร่างกาย และจะทำการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์กระดูก ตรวจความหนาแน่นของกระดูก (bone mineral density)  แล้วนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่าปกติในเพศและอายุช่วงเดียวกัน ถ้ากระดูกมีค่ามวลกระดูกน้อยกว่า 1.00 gm/cm2 จะมีโอกาสกระดูกหักได้ง่าย ซึ่งการแบ่งกระดูกตามค่ามวลกระดูกจะแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้

  1. กระดูกปกติ (Normal bone) คือ กระดูกมีค่ามวลกระดูกอยู่ในช่วง 1 ความเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ย (-1 SD)
  2. กระดูกบาง (Osteopenia) คือ กระดูกมีค่ามวลกระดูกอยู่ระหว่างช่วง -2.5 ความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (-1 ถึง -2.5 SD )
  3. กระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ กระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกินกว่า 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ต่ำกว่า -2.5 SD)
  4. กระดูกพรุนอย่างรุนแรง (Severe or Established osteoporosis) คือ กระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานร่วมกับการมีกระดูกหัก

การตรวจด้วย dual-energy x-ray absorptiometry (DEXA) ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐาน (gold standard) มีความถูกต้องแม่นยำที่สุดในการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกแม้จะสูญเสียมวลกระดูกไปเพียงร้อยละ  1 ก็ตาม แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุนคือ เพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและหยุดหรือลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก

โดยแพทย์จะมีแนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะกระดุพรุน ดังนี้

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีกระดูกพรุน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้กินแคลเซียม เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ครั้งละ ๖๐๐-๑,๒๕๐ มก. วันละ ๒ ครั้ง และอาจให้วิตามินดีวันละ ๔๐๐-๘๐๐ มก. ร่วมด้วยในรายที่อยู่แต่ในร่ม (ไม่ได้รับแสงแดด) ตลอดเวลา
  • สำหรับหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน เช่น conjugated equine estrogen (ชื่อทางการค้า เช่น Premalin) ๐.๓-๐.๖๒๕ มก. หรือ micronized estradiol ๐.๕-๑ มก. วันละครั้ง ในรายที่มีข้อห้ามใช้หรือมีผลข้างเคียงมาก อาจให้ราล็อกซิฟิน (raloxifene) แทนในขนาดวันละ ๖๐-๑๒๐ มก. ยานี้ออกฤทธิ์คล้ายเอสโทรเจน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า
  • สำหรับผู้ชายสูงอายุที่มีภาวะฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนร่วมด้วย อาจต้องให้ฮอร์โมนชนิดนี้เสริม

นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และ/หรือยาลดการสลายกระดูกเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วยบางราย เช่น

  • ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonate) ที่นิยมใช้ได้แก่ อะเลนโดรเนต (alendronate) ๑๐ มก. ให้กินวันละ ๑ ครั้ง หรือ ๗๐ มก. สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ยานี้ช่วยลดการสลายกระดูก และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ป้องกันการแตกหักของกระดูกสันหลังและสะโพก เหมาะสำหรับผู้ป่วยชาย ผู้ป่วยหญิงที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน และใช้ป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้ที่ต้องกินยาสตีรอยด์นานๆ
  • แคลซิโทนิน (calcitonin) มีทั้งชนิดพ่นจมูกและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ยานี้ช่วยลดการสลายกระดูก และมีประโยชน์ในการใช้ลดอาการปวด เนื่องจากการแตกหักและยุบตัวของกระดูกสันหลังอีกด้วย

ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำ แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ อาจต้องทำการตรวจกรองมะเร็งเต้านมและปากมดลูก (สำหรับผู้ที่กินเอสโทรเจน) ปีละ ๑ ครั้ง ตรวจความหนาแน่นของกระดูกทุก ๒-๓ ปี เอกซเรย์ในรายที่สงสัยมีกระดูกหัก เป็นต้น ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกหัก ก็ให้การรักษา เช่น การเข้าเฝือก การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น ในรายที่มีโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ ก็ให้การรักษาไปพร้อมๆ กัน

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนนั้น ปัจจัยเสี่ยงอยู่ 2 ประเภท คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ และ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ (ตารางที่ 1) ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และจะมีโอกาสสูงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน

ปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้

ปัจจัยที่แก้ไขได้

  • อายุ(ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป)
  • เพศ (หญิง)
  • เชื้อชาติ (ชาวผิวขาวหรือชาวเอเชีย)
  • พันธุกรรม (ประวัติคนในครอบคัวโดยเฉพาะมารดา)
  • รูปร่างเล็ก ผอม บาง
  • หมดประจำเดือน ก่อนอายุ 45
  • มีพยาธิสภาพที่ต้องผ่าตัดเอารับไขทั้ง 2 ข้างออกก่อนหมดประจำเดือน
  • เคยกระดูกหักจากภาวะกระดูกเปราะบาง
  • ขาดฮอร์โมนเพศ : estrogen
  • หมดประจำเดือน
  • รับประทานแคลเซียมน้อย บริโภคเกลือแกงและเนื้อสัตว์สูง
  • สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ได้รับยาบางชนิด เช่น glucocorticosteroids และ thyroid hormone เป็นต้น
  • เป็นโรคบางชนิด เช่น chronic illness, kidney disease , hyperthyroidism , และ Cushing’s syndrome เป็นต้น
  • มี BMI (ดัชนีมวลกาย)ต่ำกว่า 19 กิโลกรัม/ตารางเมตร
 
  • ขาดฮอร์โมนเพศ : estrogen
  • หมดประจำเดือน
  • รับประทานแคลเซียมน้อย บริโภคเกลือแกงและเนื้อสัตว์สูง
  • สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ได้รับยาบางชนิด เช่น glucocorticosteroids และ thyroid hormone เป็นต้น
  • เป็นโรคบางชนิด เช่น chronic illness, kidney disease , hyperthyroidism , และ Cushing’s syndrome เป็นต้น
มี BMI (ดัชนีมวลกาย)ต่ำกว่า 19 กิโลกรัม/ตารางเมตร

การติดต่อของโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ร่างกายมีภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากกลไกการเสื่อมสภาพของเซลล์สร้างกระดูก ส่งผลให้ความสมดุลของเซลล์สร้างกระดูกและเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูกสูญเสียไป ซึ่งมีมากมายหลายสาเหตุ แต่โรคกระดูกพรุนนี้ไม่ใช่โรคติดต่อเพราะไม่มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน

  1. กินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร หรือยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ
  2. การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบถ้วนทุกวันในปริมาณพอเหมาะที่
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  4. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้
  5. ไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดเป็นประจำ
  6. หมั่นดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้าน รวมถึงไม่วางของเกะกะตามทางเดินที่อาจทำให้ลื่นล้มหรือเกิดการกระแทกจนทำให้กระดูกหักได้

การป้องกันตนเองจากโรคกระดูกพรุน

  1. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนตามที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจกรองโรคกระดูกพรุน เช่น หญิงวัยหมดประจำเดือน, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ, ผู้ที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น
  2. กินแคลเซียมให้พอเพียงทุกวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย(ดังตารางดังกล่าว)

  

 

อายุ

ปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ (mg/day)

แรกเกิด – 6 เดือน

6 เดือน – 1 ปี

1 ปี – 5 ปี

6 ปี – 10 ปี

11 ปี – 24 ปี

เพศชาย

25 ปี – 65 ปี

มากกว่า 65 ปี

เพศหญิง

25 ปี – 50 ปี

มากกว่า 50 ปี (หลังวัยหมดประจำเดือน)

 

อายุ

400

600

800

800-1200

1200-1500

 

1000

1500

 

 

1000

 

 

ปริมาณแคลเซียมที่ต้องการ (mg/day)

  -ได้รับการรักษาด้วย estrogen

  - ไม่ได้รับการรักษาด้วย estrogen

อายุมากกว่า 65 ปี

ระหว่าตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

1000

1500

1500

1200-1500

 

 

โดยอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนยแข็ง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาไส้ตัน) กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักสีเขียวเข้ม (เช่น คะน้า ใบชะพู) งาดำคั่ว แนวทางปฏิบัติ สำหรับเด็กและวัยรุ่นควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุดื่มนมวันละ 1-2 แก้วเป็นประจำ จะทำให้ได้รับแคลเซียมร้อยละ 50 ของปริมาณที่ต้องการ ส่วนแคลเซียมที่ยังขาดให้กินจากอาหารแหล่งอื่นๆ ประกอบ ผู้ใหญ่บางคนที่มีข้อจำกัดในการดื่มนม (เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด) ให้เลือกกินเนยแข็ง นมเปรี้ยว นมพร่องมันเนย แทน หรือบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงในแต่ละมื้อให้มากขึ้น

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังที่มีการถ่วงหรือต้านน้ำหนัก (weight bearing) เช่น การเดิน การวิ่ง เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น ร่วมกับการยกน้ำหนัก จะช่วยให้มีมวลกระดูกมากขึ้น และกระดูกมีความแข็งแรง ทั้งแขน ขา และกระดูกสันหลัง
  2. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอมเกินไป) เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกน้อย เสี่ยงต่อกระดูกพรุนได้
  3. รับแสงแดด ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร็โมนกระตุ้นการสร้างกระดูก ในบ้านเราคนส่วนใหญ่จะได้รับแสงแดดเพียงพออยู่แล้ว นอกจากในรายที่อยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ก็ควรจะออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือยามเย็น วันละ 10-15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ถ้าอยู่แต่ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดด อาจต้องกินวิตามินดีเสริมวันละ 400-800 มก.
  4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น
  • ไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาหารพวกนี้จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ
  • ไม่กินอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และเพิ่มการขับแคลเซียมทางไตมากขึ้น
  • ไม่ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เพราะกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก (กาแฟไม่ควรดื่มเกินวันละ ๓ แก้ว แอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ ๒ หน่วยดื่ม ซึ่งเทียบเท่าแอลกอฮอล์สุทธิ ๓๐ มล.)
  • งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น (เนื่องจากลดระดับเอสโทรเจนในเลือด)
  • ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งจะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
  1. รักษาโรคหรือภาวะที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน / รักษาโรคกระดูกพรุน

เพชรสังฆาต ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus guadrangu laris L. วงศ์ Vitaceae "เพชรสังฆาต" เป็นสมุนไพรที่ใช้บำรุงกระดูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในพระคัมภีร์สรรพลักษณะ กล่าวถึงสรรพคุณของ "เพชรสังฆาต" ไว้ว่า "เพชรสังฆาต แก้จุกเสียด แก้บิด แก้ปวดในข้อในกระดูก ชอบแก้ลมทั้งปวงแล"ในตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "เพชรสังฆาต" มีสรรพคุณ แก้กระดูกแตก หัก ซ้น ขับลมในลำไส้ แก้ริดสีดวงทวารหนัก ส่วนหมอพื้นบ้านนั้นใช้เถาตำละเอียดเป็นยาพอกบริเวณกระดูกหักช่วยลดอาการบวม อักเสบได้ ปัจจุบันได้มีงานวิจัยพบว่า "เพชรสังฆาต" มีวิตามินซีสูงมากซึ่งยืนยันสรรพคุณรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน อุดมด้วยแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่สำคัญมีองค์ประกอบของแคลเซียมสูงมาก รวมทั้งสารอนาโบลิก สเตียรอยด์ (Anabolic  Steroids) มีฤทธิ์เร่งปฏิกิริยาการสมานกระดูกที่แตกหักโดยกระตุ้นการสร้างเซลล์ออสเตโอบลาสต์ (Osteoblast) ซึ่งทำหน้าที่สร้างกระดูกและยังช่วยให้มีการสร้างสารมิวโคโพลีแซกคาไรด์ (Mucopolysaccharides) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสมานกระดูก ยิ่งกว่านั้นสารคอลลาเจน (Collagen) ในเพชรสังฆาตยังเป็นสารอินทรีย์โปรตีนที่มาจับตัวกับผลึกแคลเซียมฟอสเฟตจนกลายเป็นกระดูกแข็งที่สามารถรับน้ำหนักและมีความยืดหยุ่นในตัวเอง ผลการทดลองใช้เถาเพชรสังฆาตในสตรีวัยทองซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุน พบว่าช่วยเพิ่มมวลกระดูกและรักษากระดูกแตก กระดูกหักได้

ฝอยทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuscuta chinensis Lam. วงศ์ Convlvulaceae ในประเทศจีนและบางประเทศในแถบเอเชีย ได้มีการใช้เมล็ดฝอยทองในการรักษาโรคกระดูกพรุน จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า สารประกอบที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลเป็นสารในกลุ่ม astragalin, flavonoids, quercetin, hyperoside isorhamnetin และ kaempferol เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์พบว่าสาร kaempferol และ hyperoside สามารถเพิ่มฤทธิ์ของ alkaline phosphatase (ALP) ในเซลล์ osteoblast-like UMR-106 โดยที่ ALP เป็นตัวบ่งชี้ในการเพิ่มการสร้างเซลล์กระดูกของเซลล์ตั้งต้น และสาร astragalin ยังกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ UMR-106 ด้วย ส่วนสารอื่น ๆ ไม่พบว่ามีฤทธิ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าสารที่แยกได้มีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยสาร quercetin, kaempferol และ isorhamnetin ออกฤทธิ์กระตุ้น ERβ (estrogen receptor agonist) แต่เมื่อเปรียบเทียบกันในแง่ของการกระตุ้น ER จะมีเพียงสาร quercetin และ kaempferol ที่ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งตัวรับ estrogen ชนิด ERα/β โดยที่กลไกดังกล่าวคาดว่าจะเทียบเคียงกับยา raloxifene ที่ออกฤทธิ์กระตุ้น ER ที่บริเวณกระดูก ไขมัน หัวใจและหลอดเลือด แต่ออกฤทธิ์ยับยั้ง ER ที่บริเวณเต้านมและมดลูก

นอกจากนี้สาร quercetin และ kaempferol ยังกระตุ้นการแสดงออกของ ERα/β-mediated AP-1 reporter (activator protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก เช่นเดียวกับยา raloxifene จากการทดลองทั้งหมดทำให้สรุปได้ว่าเมล็ดฝอยทองมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคกระดูกพรุน และสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการสร้างเซลล์กระดูกคือ kaempferol และ hyperoside

เอกสารอ้างอิง

  1. สุภาพ อารีเอื้อ,สินจง โปธิบาล .ภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ : ทำไมต้องรอจนกระดูกหัก? .รามาธิบดีพยาบาลสาร.ปีที่7.ฉบับที่3.กันยายน-ธันวาคม.2544 หน้า 208-218
  2. Liscum B. Osteoprosis : The silent disease. Orthopaedic Nursing 1992; 11:21-5.
  3. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  4. Gaisworthy TD & Wilson PL. Osteoporosis it steais more than bone, AJN 1996;96: 27-33.
  5. นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคกระดูกพรุน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 396.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.เมษายน.2555
  6. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
  7. Khosla, S., and Melton III., L. (2007). Osteopiania. New Engl J Med, 356, 2293-2300.
  8. รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์.แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่1.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กระดูกพรุน (Osteoporosis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 830-834.
  10. Jun ST & Lee JV. Epidemiology of osteoporosis in urbanized Asian population. Osteoporosis intemational 1997;7 (suppl.3): s68-s72.
  11. โรคกระดูกพรุน-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pobpad.com
  12. Leslie M. lssues in the nursing management of osteoporosis Nursing Clinics of North America 2000; 35: 189-197.
  13. Duque, G., and Troen, B. (2008). Understanding the mechanisms of senile osteoporosis: new facts for major geriatric syndrome. J Am Geriatr Soc, 56, 935-941.
  14. Kanis J et al. The diagnosis of osteoporosis. Journal of Bone Mineral Research 1994; 9:1137-41.
  15. Woodhead GA & Moss MM. Osteoporosis : Diagnosis and prevention. The Nurse Practitioner 1998;23: 18-35.
  16. ฤทธิ์ต้านกระดูกพรุนจากเมล็ดของพืชฝอยทอง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id?=721