โรคคางทูม (Mumps)

โรคคางทูม (Mumps)

โรคคางทูมคืออะไร  โรคคางทูม (mumps) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งถือว่าเป็นโรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบหายใจ อีกโรคหนึ่ง มักพบในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการบวมและกดเจ็บบริเวณต่อมน้ำลาย เนื่องจากเกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณแก้มหน้าหู เหนือขากรรไกร ที่เรียกว่า ต่อมพาโรติด (Parotid glands) ซึ่งเป็นต่อมคู่ มีทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ซึ่งโรคอาจเกิดกับต่อมน้ำลายเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ นอกจากนั้นอาจเกิดกับต่อมน้ำ ลายอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร หรือต่อมน้ำลายใต้คาง ซึ่งมักต้องเกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมพาโรติดด้วยเสมอ เป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ คางทูมเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กอายุ 6-10 ปี พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน  แต่ในเด็กโต วัยเจริญพันธุ์และผู้ใหญ่มักจะพบความรุนแรงของโรคคางทูมมากกว่าและเกิดอาการนอกต่อมน้ำลายมากกว่าวัยเด็ก มักไม่ค่อยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โรคนี้มีอุบัติการณ์การเกิดสูงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน และอาจพบการระบาดได้เป็นครั้งคราว ในสมัยก่อนจัดว่าเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้กันมากขึ้น

ประวัติและความเป็นมาของโรคคางทูม ศตวรรษที่ห้าก่อนคริสต์ศักราช  Hippocrates ได้อธิบายโรคคางทูมว่าเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ ต่อมาปลายคริสต์ศักราชที่ 1700  Hamilton เน้นว่าการเกิดอัณฑะอักเสบเป็นอาการสำคัญของโรคคางทูม ในปี ค.ศ.1934 Johnson และ Goodpasture สามารถทดลองเลียนแบบการเกิดโรคคางทูมในลิงได้สำเร็จ เป็นหลักฐานแสดงการพบเชื้อไวรัสคางทูมผ่านมาสู่น้ำลายของผู้ป่วยโรคคางทูมได้ ในปี ค.ศ.1945 Habel รายงานการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสคางทูมในตัวอ่อนลูกไก่ได้สำเร็จ Enders และคณะ อธิบายการทดสอบทางผิวหนังและการพัฒนาการของการเสริมตรึงแอนติบอดี  (complement-fixing antibodies) ตามหลังโรคคางทูมในมนุษย์ได้สำเร็จ รากศัพท์คำว่า  mumps มาจากภาษาใดไม่ทราบแน่ชัด อาจมาจากคำนามในภาษาอังกฤษ  mump ที่แปลว่าก้อนเนื้อ หรือมาจากคำกิริยาในภาษาอังกฤษ  to mump ที่แปลว่า อารมณ์บูด ซึ่งเป็นลักษณะการแสดงออกทางสีหน้า  mumps ยังมีความหมายถึงลักษณะการพูดอู้อี้ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโรคคางทูม ในรายงานสมัยก่อนโรคคางทูมมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า  epidemic parotitis

สาเหตุของโรคคางทูม สาเหตุของโรคคางทูมเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า มัมส์ (mumps Virus) เป็นไวรัสที่อยู่ในอากาศสามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม เช่นเดียวกับโรคหวัด ซึ่งไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสในกลุ่มพารามิกโซไวรัส  (paramyxovirus) (ประกอบด้วย mumps virus, New Castle disease virus, human parainfluenza virus types 2, 4a, and 4b) เชื้อไวรัสคางทูมเป็น enveloped negative singlestranded RNA มีลักษณะรูปร่างทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 90-300 นาโนเมตร ขนาดเฉลี่ยประมาณ 200 นาโนเมตร nucelocapsid ถูกหุ้มด้วย envelope 3 ชั้น

อาการของโรคคางทูม อาการของโรคคางทูม เกิดหลังสัมผัสโรค ซึ่งระยะฟักตัวทั่วไปประมาณ 14 - 18 วัน แต่อาจเร็วได้ถึง 7 วันหรือนานได้ถึง 25 วัน โดยจะก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายพาโรติด อาการ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร  บางคนอาจมีอาการปวดในช่องหูหรือหลังหูขณะเคี้ยวหรือกลืน ๑-๓ วันต่อมา พบว่าบริเวณข้าง หรือขากรรไกร มีอาการบวมและปวด  อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อกินของเปรี้ยว น้ำส้มคั้น น้ำมะนาว ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดร้าวไปที่หู ขณะอ้าปากเคี้ยวหรือกลืนอาหาร บางคนอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย (ถ้ามีการอักเสบของต่อมน้ำลายใต้คาง)ประมาณ ๒ ใน ๓ ของผู้ที่เป็นคางทูม จะเกิดอาการคางบวมทั้ง ๒ ข้าง โดยเริ่มขึ้นข้างหนึ่งก่อนแล้วอีก ๔-๕ วัน ต่อมาค่อยขึ้นตามมาอีกข้างอาการคางบวมจะเป็นมากในช่วง ๓ วันแรกแล้วจะค่อยๆ ยุบหายไปใน ๔-๘ วัน ในช่วงที่บวมมาก ผู้ป่วยจะมีอาการพูดและกลืนลำบากบางคนอาจมีอาการคางบวม โดยไม่มีอาการอื่นๆ นำมาก่อน หรือมีเพียงอาการไข้ โดยไม่มีอาการคางบวมให้เห็นก็ได้นอกจากนี้ พบว่าประมาณร้อยละ ๓๐ ของผู้ที่ติดเชื้อคางทูม อาจไม่มีอาการแสดงของโรคคางทูมก็ได้ส่วนภาวะแทรกซ้อน) ของโรคคางทูม มักจะพบได้สูงขึ้นเมื่อเกิดโรคในเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยและมักมีอาการไม่รุนแรง
  • โรคสมองอักเสบ พบได้แต่น้อยมาก แต่ถ้ารุนแรงอาจทำให้เสียชีวิต ได้ พบได้ประมาณ 1% และพบเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ในผู้ชาย อาจพบการอักเสบของอัณฑะ โดยโอกาสเกิดสูงขึ้นถ้าคางทูมเกิดในวัยรุ่นหรือวัยผู้ ใหญ่พบได้ 20 - 30% ของผู้ป่วย อาการอัณฑะอักเสบมักเกิดประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำลายอักเสบ โดยอัณฑะจะบวม เจ็บ และอาจกลับมามีไข้ได้อีก อาการต่างๆจะเป็นอยู่ประมาณ 3 - 4 วัน หรืออาจนานได้ถึง 2 - 3 สัปดาห์ อัณฑะจะยุบบวม และขนาดอัณฑะจะเล็กลง ทั่วไปการอักเสบมักเกิดกับอัณฑะข้างเดียว ซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน แต่พบเกิด 2 ข้างได้ 10 - 30% หลังเกิดอัณฑะอักเสบประมาณ 13% ของผู้มีอัณฑะอักเสบข้างเดียว และ 30 - 87% ของผู้มีอัณฑะอักเสบ 2 ข้างจะมีบุตรยาก (Impaired fertility) บางคนอาจเป็นหมันได้
  • ในผู้หญิง อาจมีการอักเสบของรังไข่ได้ประมาณ 5% แต่มักไม่มีผลให้มีบุตรยาก หรือเป็นหมัน
  • อื่นๆที่อาจพบได้บ้างแต่น้อย คือ ข้ออักเสบ ตับอ่อนอักเสบ และ หูอักเสบ

แนวทางการรักษาโรคคางทูม  แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคคางทูมได้จากประวัติอาการและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยดังต่อไปนี้

  • ตรวจเช็คประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย
  • ตรวจการบวมของต่อมน้ำลายที่ข้างหู และต่อมทอนซิลในปาก
  • ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ในเลือด
  • แต่เมื่อทำการสอบประวัติแล้วพบว่ามีประวัตสัมผัสกับผู้ป่วยโรคคางทูมภายใน 2-3 สัปดาห์ ร่วมกันมีอาการต่อมพาโรติดอักเสบก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ทันที

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสคางทูมนั้น มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัยในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีต่อมน้ำลายพาโรติดอักเสบ ต่อมน้ำลายพาโรติดอักเสบเป็นซ้ำหลายครั้ง หรือเพื่อยืนยันการสอบสวนการระบาดของโรคคางทูม การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคคางทูม โดยการตรวจทางภูมิคุ้นกันวิทยา (serologic studies) มีหลายวิธี เช่น

  1. ตรวจเลือดหาแทนติบอดีต่อเชื้อไวรัสคางทูม lgM โดยวิธี enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA)
  2. การตรวจหาเชื้อไวรัสคางทูมจากน้ำลาย ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง เลือด และสมอง โดยวิธี Reverse transcriptase(RT)–PCR assays และ
  3. วิธีการแยกเชื้อไวรัสคางทูมในเซลล์เพาะเลี้ยง

เนื่องจากโรคคางทูมเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส การรักษาโรคคางทูมจึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถทำได้โดยบรรเทาอาการและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีอาการปวดก็จะให้กินพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาปวด นอกจากนั้นก็จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตนและให้พักฟื้นที่บ้าน

การดำเนินโรค  ทั้งนี้ส่วนใหญ่โรคคางทูมจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนและสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ และอาการไข้จะเป็นอยู่เพียง ๑-๖ วัน ส่วนอาการคางทูมจะยุบได้เองใน ๔-๘ วัน (ไม่เกิน ๑๐ วัน) และอาการโดยรวมจะหายสนิทภายใน ๒ สัปดาห์ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะหายได้เป็นปกติส่วนน้อยมากที่อาจมีภาวะเป็นหมัน (จากรังไข่อักเสบและอัณฑะอักเสบ) หูหนวก (จากประสาทหูอักเสบ)

การติดต่อของโรคคางทูม  เชื้อไวรัสคางทูมสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรง (direct contact) กับสารคัดหลั่งของทางเดินหายใจ (droplet nuclei) หรือ fomites ผ่านทางจมูกหรือปาก เช่นการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด การสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม เป็นต้น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่แปดเปื้อนเชื้อ ซึ่งต้องใช้การสัมผัสที่ใกล้ชิดในการแพร่เชื้อไวรัสคางทูมมากกว่าเชื้อหัด หรือเชื้ออีสุกอีใส ระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุด คือ 1-2 วันก่อนเริ่มมีอาการต่อมน้ำลายพาโรติดบวม จนถึง 5 วันหลังจากต่อมน้ำลายพาโรติดเริ่มบวม (แต่มีรายงานว่าสามารถแยกเชื้อไวรัสคางทูมจากน้ำลายของผู้ป่วยตั้งแต่ 7 วันก่อนมีอาการจนถึง 9 วันหลังจากเริ่มมีอาการต่อมน้ำลายพาโรติดบวม) ส่วนระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสคางทูมส่วนใหญ่ 16-18 วัน (พิสัย 12-25 วัน)

การแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคางบวมคล้ายกับโรคคางทูม  การแยกโรค อาการคางบวม อาจเกิดจากโรคและสาเหตุอื่น ได้อีกเช่น

  • การบาดเจ็บ  เช่น ถูกต่อย
  • ต่อมทอนซิลอักเสบ  ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ ต่อมทอนซิลบวมแดง และอาจพบมีต่อมน้ำเหลืองใต้คางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
  • เหงือกอักเสบหรือรากฟันอักเสบ  ผู้ป่วยจะมีอาการปวดฟัน  หรือเหงือกบวม  และอาจมีอาการคางบวมร่วมด้วยข้างหนึ่ง
  • ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ  ผู้ป่วยจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอหรือใต้คางบวมและปวด และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • เนื้องอกต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลายอุดตัน (จากการตีบหรือมีก้อนนิ่วน้ำลาย) ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมที่คางข้างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นเรื้อรัง
  • ต่อมน้ำลายอักเสบเป็นหนอง จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคางทูม แต่ผิวหนังบริเวณคางทูมจะมีลักษณะแดงและเจ็บมาก
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (อาจเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองโดยตรง หรือลุกลามจากกล่องเสียงหรือโพรงหลังจมูก) ผู้ป่วยจะมีก้อนบวมที่ข้างคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๑ เซนติเมตร และไม่มีอาการเจ็บปวด อาจมีอาการเสียงแหบ (ถ้าเป็นมะเร็งกล่องเสียง) หรือคัดจมูกหรือเลือดกำเดาไหล (ถ้าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก)

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคคางทูม   เมื่อป่วยเป็นโรคคางทูมแพทย์มักจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อบรรเทาอาการของโรคมากกว่าการให้ยา ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำดังนี้

  1. เช็ดตัวเวลามีไข้และให้ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) และให้ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมงเฉพาะเวลามีไข้สูงห้ามใช้แอสไพริน  สำหรับคนอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งมีการอักเสบของสมองและตับอย่างรุนแรง เป็นอันตรายได้
  2. ใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบตรงบริเวณที่เป็นคางทูมวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าปวด ให้ใช้ความเย็น (เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง) ประคบบรรเทาปวด
  3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เคี้ยวยาก ในระยะแรกๆ ควรกินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ซุป
  4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเปรี้ยว น้ำส้มคั้น น้ำมะนาวคั้น เพราะอาจทำให้ปวดมากขึ้น
  5. ควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน พักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่น
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ดื่มน้ำมากๆ เมื่อไม่ได้เป็นโรคที่ต้องจำกัดน้ำ
  8. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ
  9. ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

o   ไข้สูง ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และไข้ไม่ลงภายใน 2-3 วันหลังดูแลตนเองในเบื้อง ต้น

o   ปวดต่อมน้ำลายมาก และอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังกินยาบรรเทาอาการ

o   กินอาหาร และ/หรือดื่มน้ำได้น้อยหรือกินไม่ได้เลย

o   ไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะมาก คอแข็ง หรือปวดท้องมาก เพราะเป็นอาการเกิดจาผลข้างเคียง แทรกซ้อนดังกล่าว

การป้องกันตนเองจากโรคคางทูม

  1. วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคคางทูมนั้นในชุมชนและในโรงพยาบาล ได้แก่ การส่งเสริมให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสคางทูมสูงโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม (MMR) เด็กทุกคนต้องได้รับวัคซีน 2 โด๊ส โด๊สแรกที่อายุ 9-12 เดือน และโด๊สที่สองอายุ 4-6 ปี หากไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนมาก่อนในกลุ่มเด็กโต นักศึกษา นักท่องเที่ยว บุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับวัคซีน 2 โด๊ส ในผู้ใหญ่ควรได้รับวัคซีนมาก่อน ควรได้รับวัคซีน 1 โด๊ส
  2. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคคางทูม ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัส และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก
  3. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ จานชาม ของเล่น ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคคางทูม
  4. ไม่เข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคคางทูม แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดก็ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
  5. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสคางทูม

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคคางทูม

  • พิษนาศน์   ชื่ออื่น  แผ่นดินเย็น นมราชสีห์ น้ำนมราชสีห์ ปันสะเมา พิษหนาด สิบสองราศี  ชื่อวิทยาศาสตร์Sophora exigua Craib ,Fabaceae  สรรพคุณ: ตำรายาไทย ราก รสจืดเฝื่อนซ่า ต้มเอาน้ำดื่ม ขับพิษภายใน ขับน้ำ แก้คางทูม
  • ตะลิงปลิง  ชื่อวิทยาศาสตร์ : Averrhoa bilimbi L.ชื่อสามัญ : Bilimbing  วงศ์ : OXALIDACEAEสรรพคุณ : ยารักษาคางทูมวิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย พอกบริเวณที่บวม พอกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปลี่ยนยาใหม่ทุกครั้ง ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้ยานี้มาก

เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.นพ.สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ.คางทูม.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 321.คอลัมน์ สารานุภาพทันโรค.มกราคม .2549
  2. Enders JF, Cohen S, Kane LW. Immunity in mumps. The development of complement fixing antibody and dermal hypersensitivity in human beings following mumps. J Exp Med. 1945;81:119-35.
  3. พญ.ฐิติอร ฤาชาฤทธิ์.พอ.วีระชัย วัฒนวีราเดช.วัคซีนป้องกันโรคางทุม.ตำราวัคซีน.สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศทไย.หน้า173-183
  4. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ปี พ.ศ.2552.นนทบุรี:สำนักฯ;2552.
  5. Kleiman MB. Mumps virus. In: Lennette EH, editor. Laboratory Diagnosis of Viral Infections, 2nd ed. New York: Marcel Dekker;1992. p. 549-66.
  6. นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ “คางทูม (Mumps/Epidemic parotitis)”.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.หน้า 407-410.
  7. American Academy of Pediatrics. Mumps. In: Pickering LK, Baker CJ, Kimberlin DW, Long SS, editors. Red book.2009 Report of the Committee on Infectious Diseases. 28th ed. Elk Grove Village, IL: American Acedemy of Pediatric; 2009. p. 468-472.
  8. Centers for Disease Control and Prevention(CDC). Updated recommendations for isolation of persons with mumps. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2008;57:1103-5.
  9. Johnson CD, Goodpasture EW. An investigation of the etiology of mumps. J Exp Med. 1934;59:1-19.
  10. คางทูม-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้              

http://www.pobpad.com

  1. กลุ่มเฝ้าระวังสอบสวนทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.สรุปสถานการณ์และองค์ความรู้จากการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค MMR ปี พ.ศ.2552. นนทบุรี : สำนักฯ ; 2552.
  2. พิษนาศน์.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก.http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpaqe&pid=157
  3. Habel K. Cultivation of mumps virus in the developing chick embryo and its application to the studies of immunity to mumps in man. Public Health Rep. 1945;60:201-12.
  4. Baum SG, Litman N. Mumps virus. In Mandell GL. Bennett JE, Dolin R, editors. Mandell, Douglas and Bennett’s principles and practice of infectious disease. 7th ed. New York: Churchill Livingstone; 2010. p. 2201-6.
  5. ตะลิงปลิง.กลุ่มยารักษาตา คางทูม แก้ปวดหู.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_29_1.htm
  6. Travis LW, Hecht DW. Acute and chronic inflammatory diseases of the salivary glands, diagnosis and management. Otolaryng Clin North Am. 1977;10:329-88.
  7. Gershon, A. (2001). Mumps. In Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D.,andJamesson, J. Harrrison’s: Principles of internal medicine. (p 1147-1148). New York. McGraw-Hill.