โรคต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
โรคต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
โรคต่อมทอนซิลอักเสบคืออะไร ต่อมทอนซิล เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในลำคอ ซึ่งเป็นต่อมคู่ซ้ายขวาใกล้กับโคนลิ้น โดยเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอมจากอาหาร , น้ำดื่มและการหายใจ เช่น แบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายคล้ายกองทหารด่านหน้า และบ่อยครั้งที่ต่อมทอนซิลมักเกิดการอักเสบขึ้น
ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมทอนซิลซึ่งเป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็ก และไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โอกาสเกิดโรคเท่ากันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ต่อมทอนซิลอักเสบพบได้ทั้งการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันซึ่งเมื่อเกิดมักมีอาการรุนแรงกว่า แต่รักษาหายได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์ และอักเสบเรื้อรังที่มักจะเป็นๆหายๆ อาการแต่ละครั้งรุนแรงน้อยกว่าชนิดเฉียบพลัน แต่มีอาการอักเสบเฉียบพลันซ้อนได้เป็นระยะๆ ซึ่งนิยามของต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังได้แก่ มีต่อมทอนซิลอักเสบเกิดขึ้นอย่างน้อย 7 ครั้งใน 1 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อย 5 ครั้งทุกปีติดต่อกันใน 2 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อย 3 ครั้งทุกปีติดต่อกันใน 3 ปีที่ผ่านมา
อีกทั้งโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นเกิดจากกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการอักเสบจากโรคติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ” (Group A beta-hemolytic streptococcus) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีเนส” (Streptococcus pyogenes) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้
สาเหตุของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ การติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ผ่านเข้าทางปาก โดยต่อมทอนซิลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อด้วยการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค และเนื่องจากเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรก ต่อมทอนซิลจึงเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อมาก โดยต่อมทอนซิลอักเสบส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้สูงกว่าการติดเชื้ออื่นๆประมาณ 70 - 80% ของต่อมทอนซิลอักเสบทั้งหมด ซึ่งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคต่อมทอนซิลอักเสบมีหลายชนิดเช่น
- ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดทั่วไป
- ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่
- ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) ทำให้เกิดโรคกล่องเสียงอักเสบและกลุ่มอาการครู้ป
- ไวรัสเอนเทอร์โร (Enteroviruses) ต้นเหตุของโรคมือเท้าปาก
- ไวรัสรูบิโอลา (Rubeola) ทำให้เกิดโรคหัด
- ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ไวรัสที่มักเป็นสาเหตุ ของอาการท้องเสีย
- ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ (Epstein-Barr) ที่สามารถก่อให้เกิดโรคโมโนนิวคลีโอซิส แต่ทอนซิลอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดนี้จะพบได้ไม่บ่อย
- และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 15 - 20 %
สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดจากการเชื้อสเต็ปโตคอคคัสกลุ่ม ที่ทำให้เกิดทอนซิลอักเสบแบบเป็นหนอง (exudative tonsil litis)
อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ โดยทั่วไปแล้วโรคต่อมทอนซิลอักเสบมักเกิดร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของลำคอเสมอ อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บมากขึ้นตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย การตรวจดูคอจะพบผนังคอหอยแดงเพียงเล็กน้อย ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อย
- กลุ่มที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่หู บางคนอาจมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนและมีกลิ่นปากร่วมด้วย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดง แบบการติดเชื้อจากไวรัส
นอกจากนี้จะพบผนังคอหอยและเพดานอ่อน มีลักษณะแดงจัดและบวม ทอนซิลบวมโตสีแดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองสีขาวๆเหลืองๆติดอยู่บนทอนซิล นอกจากนี้ ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
แนวทางการรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
การวินิจฉัยโรคทอนซิลอักเสบแพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยอาการแสดงและการตรวจลำคอโดยอาจใช้วิธีการต่อไปนี้
- ใช้ไฟฉายส่องดูบริเวณลำคอ รวมทั้งอาจดูบริเวณหูและจมูกร่วมด้วย เนื่องจากเป็นบริเวณที่แสดงอาการติดเชื้อได้เช่นกัน
- ตรวจดูผื่นแดงที่เป็นอาการของโรคไข้อีดำอีแดงซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกับกับโรคคออักเสบ
- ตรวจด้วยการคลำสัมผัสเบา ๆ ที่ลำคอเพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไม่
- ใช้เครื่องสเต็ทโทสโคปฟังเสียงจังหวะการหายใจของผู้ป่วย
ถ้าหากพบผนังคอหอยและทอนซิลมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ก็มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ถ้าทอนซิลบวมโต แดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองติดอยู่บนทอนซิล ก็มักจะมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อบีตาฮีโมโลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ในรายที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอยและทอนซิล โดยใช้วิธีที่เรียกว่า "rapid strep test" ซึ่งสามารถทราบผลได้ในไม่กี่นาที ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน ก็อาจต้องทำการเพาะเชื้อซึ่งจะทราบผลใน 1-2 วัน
การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ คือ
- เกิดจากเชื้อไวรัส ก็จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ แก้หวัด ไม่มีการให้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ซึ่งอาการของโรคมักจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากให้ยาบรรเทาตามอาการแล้ว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาด้วย เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) อีริโทรไมซิน (Erythromyin) อาการมักทุเลาหลังกินยาปฏิชีวนะ 48-72 ชั่วโมง โดยแพทย์จะให้กินยาต่อเนื่องจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา
ทั้งนี้การรับประทานยาปฏิชีวนะควรต้องรับประทานให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่กำจัดไม่หมดอาจส่งผลให้การติดเชื้อแย่ลงหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย นอกจากนี้ในเด็กยังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ไต และไข้รูมาติกซึ่งเป็นการติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจร่วมกับมีไข้ตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก (tonsillectomy) ซึ่งเป็นวิธีรักษาทอนซิลอักเสบที่เป็นซ้ำหลายครั้ง หรือทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเท่านั้น โดยสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- ทอนซิลอักเสบมากกว่า 7 ครั้งในรอบหนึ่งปี
- ทอนซิลอักเสบมากกว่า 4-5 ครั้งในรอบหนึ่งปีเป็นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
- ทอนซิลอักเสบมากกว่า 3 ครั้งในรอบหนึ่งปีเป็นระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้การผ่าตัดทอนซิลในกรณีที่ต่อมทอนซิลอักเสบทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ยากจะรักษาตามมา เช่น
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (ก่อให้เกิดอาการนอนกรมเพราะต่อมทอนซิลโต)
- หายใจลำบาก (เนื่องจากต่อมทอนซิลโตมากจนอุดกั้นทางเดินหายใจ)
- กลืนลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลืนเนื้อหรืออาหารชิ้นหนา ๆ
- เป็นฝีที่ใช้ยาปฏิชีวนะแล้วยังไม่ดีขึ้น
- มีต่อมทอนซิลโตข้างเดียว ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ต่อมทอนซิล)
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ การบวมอักเสบของต่อมทอนซิลบ่อยครั้งหรือเรื้อรังอาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หายใจลำบาก การติดเชื้อที่แพร่ลึกลงไปสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น ในกลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่อาการของโรคร่วมกับเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น และในกลุ่มที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้
- เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล
- เชื้ออาจเข้ากระแสเลือดแพร่กระจายไปยังที่ต่างๆ ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmun reaction) กล่าวคือหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อขึ้นมา แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ไข้รูมาติก (มีการอักเสบของข้อและหัวใจ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการ หัวใจวายได้) และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ บวม ปัสสาวะสีแดง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้) โรคแทรกเหล่านี้มักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์
สำหรับไข้รูมาติก มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง แต่ทั้งนี้การป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกินยาปฏิชีวนะให้ครบ 10 วัน (แม้ว่าอาการจะทุเลาหลังกินยาได้ 2-3 วันไปแล้วก็ตาม)
การติดต่อของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบติดต่อได้เช่นเดียวกับในโรคหวัดทั่วไปและในโรคไข้หวัดใหญ่คือ เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของดรคอยู่ในน้ำลายและเสมหะ (รวมถึงสารคัดหลั่งอื่นๆ) ของผู้ป่วย และจะติดต่อจากการสัมผัสเชื้อโรคดังกล่าวจากผู้ป่วย จากการไอ จาม หายใจ หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูกและช่องปากเช่น น้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย และจากใช้ของใช้ส่วนตัวที่สัมผัสสารคัดหลั่งดังกล่าวของผู้ป่วยร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า และเมื่อเชื้อโรคเข้าไปสู่ร่างกายที่คอหอย และทอนซิลหากเป็นเชื้อไวรัสก็จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-4 วัน และหากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น
การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
- หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการ และสั่งยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น เพนิซิลิน อีริโทรมัยซิน คลาริโทรไมซิน ให้แล้ว ข้อสำคัญ คือ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 7 - 10 วันจนครบ แม้อาการจะทุเลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไข้รูมาติก หรือไตอักเสบแทรกซ้อน
- ถ้ามีไข้สูงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น กินยาลดไข้-พาราเซตามอลเป็นครั้งคราว
- ถ้าเจ็บคอมาก ควรกินอาหารอ่อน เช่น น้ำหวาน นม ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
- กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ สามารถทำได้เองที่บ้าน ใช้เกลือ 1 ช้อนชาผสมน้ำเปล่าประมาณ 250 มิลลิลิตร กลั้วลำคอแล้วบ้วนทิ้ง จะช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บคอลงได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- รักษาความชุ่มชื้นของบ้าน หลีกเลี่ยงอากาศแห้งเนื่องจากจะส่งผลให้ระคายเคืองที่คอและเจ็บคอยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงสารที่ก่อความระคายเคืองที่คอ เช่น ควันบุหรี่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งหลาย
- หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้ลงอย่างน้อย 1 วัน เพื่อการพักผ่อนเต็มที่และป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
การป้องกันตนเองจากโรคต่อมทอนซิลอักเสบทำได้โดย
- รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมจานหรือดื่มน้ำร่วมแก้วกับผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อยวันละ 7 - 8 ชั่วโมง
สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
ฟ้าทะลายโจร ชื่อวิทยาศาสตร์ Andropraphis paniculata (Burm.f.) Wall. EX Nees ชื่อพ้อง Justicia paniculata Burm.f. ชื่อวงศ์ Acanthaceae สรรพคุณ: ตำรายาไทย: มีการใช้ส่วนเหนือดินเก็บก่อนที่จะมีดอก เพื่อรักษาไข้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ดับพิษร้อน ระงับอักเสบในอาการไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ขับเสมหะ ลดบวม แก้ติดเชื้อ รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:.บรรเทาอาการเจ็บคอ รับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน บรรเทาอาการหวัด รับประทานครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน องค์ประกอบทางเคมี: สารประเภทแลคโตน andrographolide,neoandrographolide,deoxyandrographolide, deoxy-didehydroandrographolide สารกลุ่มฟลาโวน เช่น aroxylin, wagonin, andrographidine A จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่รุนแรง 223 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร 200 มิลลิกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกเป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งจะวัดผลด้วยการประเมินอาการจากตัวผู้ป่วยเองในด้านต่าง ๆ ได้แก่ อาการไอ เสมหะ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ อาการเหนื่อยง่าย และปัญหาในการนอน ผลพบว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีอาการดีตั้งแต่เริ่มจนจบการทดลอง แต่กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรเห็นผลได้อย่างชัดเจนในช่วงวันที่ 3-5 มากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก อย่างไรก็ตาม ยังพบผลข้างเคียงเล็กน้อยในทั้ง 2 กลุ่ม จากการทดลองจึงเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรอาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจตอนต้น
โทงเทง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Physalis angulata L. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Physalis minima ชื่อสามัญ : Hogweed, Ground Cherry ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE สรรพคุณโทงเทง :ตำรายาไทย ผลรสเปรี้ยวเย็น แก้ต่อมน้ำลายอักเสบต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ แก้อักเสบในคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ตำพอกแก้ปวดบวม ส่วนประโยชน์ที่สำคัญของโทงเทงที่ ใช้รักษาอาการทอนซิลอักเสบ โดยหมอพื้นบ้านนั้นจะใช้ทั้งต้นตำให้แหลกละลายกับสุรา เอาสำลีชุบเอาน้ำยาใช้อมไว้ข้างแก้ม กลืนน้ำผ่านลำคอทีละนิด แก้ทอนซิลอักเสบ หรือที่เรียกว่าต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ฝีในคอ ใช้แก้อาการอักเสบในลำคอได้ดี หรือคนที่แพ้แอลกอฮอล์ก็ใช้ละลายกับน้ำส้มสายชูแทน ใช้ภายในแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ภายนอกแก้ฟกบวมอักเสบทำให้เย็น และอีกตำรายาหนึ่งระบุว่าแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ให้ใช้ต้นนี้สดๆ (หรืออย่างแห้งก็ใช้ได้) 3 หัว แผ่น ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานครั้งเดียวหมด เด็กก็รับประทานลดลงตามส่วน จากการรักษาคนไข้ร้อยกว่าราย บางคนรับประทาน 4-10 ครั้งก็หาย บางคนรับประทานติดต่อกันถึง 2 เดือนจึงหาย
ปลาไหลเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ : EURYCOMA LONGIFOLIA Jack. วงศ์ : SIMAROUBACEAE สรรพคุณทางยา : ราก ต้านโรคมะเร็ง รักษาโรคอัมพาต ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง ขับพยาธิ แก้อาการท้องผูก แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ วิธีการใช้ตามตำราไทย : ต้านโรคมะเร็ง ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง ขับพยาธิ แก้อาการท้องผูก แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ นำรากแห้งประมาณ 8-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาหารทุกเช้าและเย็น (2 เวลา)
เอกสารอ้างอิง
- พรพิมล พฤกษ์ประเสริฐ.(2550). การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน. ใน ประยงค์ เวชวนิชสนอง และวนพร อนันตเสรี. กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป (หน้า214-216).หน่วยผลิตตำราคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ทอนซิลอักเสบ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่324.คอลัมน์สารานุภาพทันโรค.เมษายน.2549
- ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฎสุนทร.คออักเสบและตอ่มทอนซิลอกัเสบปัญหาของหนูน้อย.ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
- ทอนซิลอักเสบ-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 410-413.
- วิทยา บุญวรพัฒน์.”โทงเทง” หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า284.
- ฟ้าทะลายโจร.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=97
- โทงเทง สมุนไพรหยุดการอักเสบในลำคอ.ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร.สถาบันวิจัยสมุนไพร.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.