โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

โรคสะเก็ดเงินคืออะไรโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

โรคเกล็ดเงิน หรือโรคเรื้อนกวาง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ รอยโรคมีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นแดง หนา เจ็บ คัน และตกสะเก็ดเป็นเกล็ดสีเงินปกคลุม จึงได้ชื่อว่าโรคสะเก็ดเงิน โดยเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วกว่าปกติโดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหรือปื้นหนาขนาดใหญ่ และโรคสะเก็ดเงินนี้สามารถเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ที่พบได้บ่อยคือ ผิวหนังส่วนข้อศอก (ด้านนอก) เข่า (ด้านนอก) ผิวหนังส่วนด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก(ประมาณ 3% ของคนทั่วไปเกิดได้ในทุกอายุตั้ง แต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป เพราะปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคในเด็กยังมีไม่มาก เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ส่วนโอกาสที่พบในผู้หญิงและในผู้ชายมีใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-40 ปี ผู้ป่วยประมาณ 30% พบว่ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ในปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่นๆได้แก่  โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และกลุ่ม metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันเช่น อาจเกิดมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ จึงได้ทำลายเซลล์ผิวหนังแทนสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม คือ โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่มีแบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไม่ชัดเจน โดยพบว่าถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคนี้ บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 65-83% ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือ 28-50% หรือถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็นโรค บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เป็นโรคนี้เลย บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปเหลือเพียง 4%  และยังพบว่ายังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น ความผิดปกติใน metabolism ของ Arachidonic acid และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง บริเวณรอยโรคของ Psoriasis เซลล์ผิวหนังในชั้น epidermis มีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติหลายเท่า และเคลื่อนตัวมาที่ผิวนอกภายในเวลา 4วัน (ปกติใช้เวลา 28วัน) ทำให้ผิวหนังหนาเป็นปื้น แต่เซลล์ผิวหนังขาดแรงยึดเหนี่ยวกันตามปกติ ทำให้ keratin หลุดลอกออกเป็นแผ่นๆได้ง่าย มักพบมีอาการกำเริบเวลามีภาวะเครียดทางกาย และจิตใจที่มากเกินไป การติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ การขูดข่วนผิวหนัง การแพ้แดด การแพ้ยา (เช่น Chloroquin, Beta-Blocker, Contraceptive, NSAIDs)

อาการของโรคสะเก็ดเงิน 

อาการของโรคสะเก็ดเงินนี้มีหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยอาจเป็นชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ โดยโรคสะเก็ดเงินจำแนกเป็นชนิดต่างๆตามลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้

  1. ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด (ประมาณ 80%) รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า”โรคสะเก็ดเงิน” พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่าซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสี
  2. ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) พบได้ประมาณ 10% มีรอยโรคเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน
  3. ชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบมากตามแขนขา อาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ไม่อยากอาหาร
  4. ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงพบได้น้อย (ประมาณ 3%) โดนผิวหนังมีลักษณะแดงและมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยกระตุ้น
  5. สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคในบริเวณซอกพับของร่างกาย ได้แก่ รักแร้ ขาหนีบ และใต้ราวนม รอบอวัยวะเพศ เป็นต้น ลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรังและมักไม่ค่อยมีขุย
  6. สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นโรคสะเก็ดเงินบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้
  7. เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม, เล็บร่อน, เล็บหนาตัวขึ้นและเล็บผิดรูป
  8. ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบมีความผิดปกติการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือ หลายข้อ  ส่วนใหญ่การอักเสบของมือจะเกิดที่ข้อนิ้วมือซึ่งหากเป็นเรื้อรังและทำให้เกิดการผิดรูปได้

แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

การวินิจฉัย อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก คือ

  1. ลักษณะทางคลินิก
  2. ซักประวัติอาการ

oเป็นผื่นเรื้อรัง

oมีหรือไม่มีอาการคัน

oมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือไม่

oผื่นกำเริบภายหลังภาวะติดเชื้อ ความเครียด หรือหลังได้รับยาบางชนิด เช่น lithium, antimalarial, beta-blocker, NSAID และ alcohol

  • การตรวจร่างกาย

o   ผิวหนัง มีผื่นหนาสีแดง ขอบชัดเจนคลุมด้วยขุยหนาขาวคล้ายสีเงิน ซึ่งสามารถขูดออกได้ง่าย และเมื่อขูดขุยหมาดจะมีจุดเลือดออกบนรอยผื่น (Auspitz’s sign) บนรอยแผลถลอกหรือรอยแผลผ่าตัด  (Koebnerphenomenon)

โดยผื่นผิวหนังพบได้หลายลักษณะ เช่น ผื่นหนาเฉพาะที่  (Chronicplaque type) ผื่นขนาดหยดน้ำ (Guttatepsoriasis)  ผิวหนังแดงลอกทั่วตัว (Erythroderma) ตุ่มหนอง (Pustularpsoriasis)

o   เล็บ พบมีหลุม (pitting) เล็บร่อน (onycholysis) ปลายเล็บหนามีขุยใต้เล็บ (subungual hyperkeratosis) หรือจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ (oil spot)

o   ข้อ มีการอักเสบของข้อซึ่งอาจเป็นได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก เป็นข้อเดียว หรือหลายข้อ และอาจจะมีข้อพิการตามหลังการอักเสบเรื้อรัง

  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

o   การตรวจทางพยาธิ พยาธิสภาพของผื่นสะเก็ดเงินจะมีลักษณะเฉพาะ แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกราย อาจทำเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและช่วยวินิจฉัยโรคในกรณีที่มีปัญหา เช่น  การตรวจ KOH เพื่อแยกโรคเชื้อรา และการทำ Patch Test เพื่อแยกโรค Contact dermatitis เป็นต้น

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี

โดยแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

ขึ้นกับความรุนแรงของโรคดังนี้

     - สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก

     - สะเก็ดเงินความรุนแรงมากหมายถึง ผื่นมากกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียมและยาทารวมถึงอาจต้องพิจารณาใช้ยาฉีด

การรักษาโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบันมีการรักษาอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

ยาทาภายนอก ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ได้แก่

     1.ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) ส่วนใหญ่นิยมใช้เนื่องจากเป็นครีมขาวใช้ง่าย และตอบสนองต่อการรักษาดีแต่หากใช้ยาที่แรงเกินไปร่วมกับทาเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบางและเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยาและอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้

     2. น้ำมันดิน (tar)มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น เวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าอาจพบผลข้างเคียงคือเกิดรูขุมขนอักเสบ หรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้

     3. แอนทราลิน (anthralin, dithranol)มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ แต่อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนังรวมถึงผิวหนังบริเวณที่ทายามีสีคล้ำขึ้นได้

     4. อนุพันธ์วิตามิน ดี (calipotriol)มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลผิวหนังกลับสู่ปกติข้อเสียของยานี้คือหากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้ และยามีราคาแพงปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามิน ดี และยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง

     5. ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor (tacrolimus,pimecrolimus) เป็นยากลุ่มใหม่แพทย์บางรายนำมาใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณหน้าหรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์แต่ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากยามีราคาแพง

ยารับประทานรักษาโรคสะเก็ดเงิน

พิจารณาให้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก ที่ใช้บ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด

     1. เมทโทเทรกเสท (methotrexate) เป็นยาที่ได้ผลดีกับสะเก็ดเงินเกือบทุกชนิด ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ รวมถึงมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลข้างเคียงของเมทโทเทรกเสทที่อาจพบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานยาติดต่อกันนานหลายปีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งได้ แพทย์จึงต้องทำการตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อดูการทำงานของเม็ดเลือด ตับละไตเป็นระยะ

    2. อาซิเทรติน (acitretin) เป็นยารับประทานในกลุ่ม vitamin A ได้ผลดีมากสำหรับสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง ผลข้างเคียงที่อาจพบ ได้แก่ ปากแห้งลอก ผิวแห้ง มือเท้าตึงลอก รอบเล็บอักเสบ ระดับไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้  ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้คือ ห้ามตั้งครรภ์เนื่องจากทารกในครรภ์อาจพิการได้ โดยต้องคุมกำเนิดขณะรับประทานและต้องคุมกำเนิดต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปีหลังหยุดยา

    3. ไซโคลสปอริน (cyclosporin) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกาย ประสิทธิภาพในการรักษาดีใช้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก ผลข้างเคียง ได้แก่ ขนยาว เหงือกบวม เป็นพิษต่อไต และความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงต้องเจาะเลือดติดตามการทำงานของไตและวัดความดันโลหิตเป็นระยะ

การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy)

     เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงิน โดยจะใช้รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รังสีอัลตราไวโอเลต A (320-400nm) และรังสีอัลตราไวโอเลต B (290-320nm) ซึ่งผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 - 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา ข้อดีคือส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน

ยาฉีดกลุ่มชีวภาพ (Biological agents)

     เป็นยาใหม่ที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อยู่ในรูปยาฉีดเข้าเส้นหรือเข้าใต้ชั้นไขมัน ซึ่งยาบางชนิดฉีดสัปดาห์ละ  2 ครั้ง บางชนิดอาจฉีดห่างกันทุก 3 เดือนซึ่งยาฉีดประเภทที่กล่าวมานี้ เช่น อะเลฟเซ็บ (Alefacept) อีทาเนอร์เซ็บ (Etanercept) อีฟาลิซูแม็บ (Efalizumab) อินฟลิกซิแมบ (Infliximab)  ข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากยาในกลุ่มนี้เป็นยาใหม่ จึงต้องติดตามผลข้างเคียงระยะยาว นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน

  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • อาจติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดบ่อยๆเช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อ สเตร็ปโตคอกคัส
  • ภาวะมีความเครียด เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือ ผิดปกติได้
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติหรือบกพร่อง เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนกลุ่มนี้เช่น ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์
  • กินยาบางชนิดเช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด หรือยาทางด้านจิตเวชบางชนิด หรือ ยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์
  • ในคนสูบบุหรี่ ซึ่งอาจจากสารพิษต่างๆในควันบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ เพราะมีความเครียดจึงสูบบุหรี่
  • ในคนอ้วนหรือโรคอ้วน

การติดต่อของโรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนแต่เชื่อกันว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น พันธุกรรม ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน ที่ผิดปกติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินขึ้นมาและโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นคนที่สัมผัสคนเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือผิวหนังส่วนเกิดโรคหรือแม้แต่สะเก็ดของผิวหนังส่วนเกิดโรคจึงไม่เกิดเป็นโรคสะเก็ดเงินแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีรายงานว่าโรคสะเก็ดเงินมีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คน

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน

  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • ทายา กินยาตามแพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง อย่าขาดยา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยต่อความรุนแรงของโรคดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาบน้ำโดยใช้สบู่เด็กอ่อน อาจใช้สบู่สำหรับผิวแห้งมาก (สบู่ผสมน้ำมัน) ในบริเวณผิว หนังส่วนเกิดโรค
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็ง แรงลดโอกาสติดเชื้อ
  • ตากแดดอ่อนๆทุกวันตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • หลีกเลี่ยงภาวะที่จะทำให้เครียดเพราะความเครียดเป็นตัวเร็งให้อาการของโรคกำเริบ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลกับอาการ

การป้องกันตนเองจากโรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัดดังนั้น การป้องกันโรคจึงยังไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค คือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นของการเกิดโรค เช่น พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด การรับประทานยาบางชนิดควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เช่น ยาลิเทียม ยาต่อต้านมาลาเรีย (Chlroquine)  ยาลดความดันโลหิต (Bota-Blocker) ยาในกลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs) พยายามดูแลผิวหนังไม่ให้บาดเจ็บจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หากเกิดอาการผิดปกติบริเวณผิวหนังควรมีการพบแพทย์โดยด่วน

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคสะเก็ดเงิน

มีรายงานการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในคนยังมีการศึกษาไม่มาก สมุนไพรที่มีการวิจัยในคนของโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่ ว่านหางจระเข้ โดยทดสอบในผู้ที่เป็นโรคเรื้อนกวาง 60 คน ใช้สารสกัดว่านหางจระเข้ (0.5%) ในรูปครีมทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้ง นาน 16 สัปดาห์ และติดตามผลทุกเดือนอีก 12 เดือน พบว่าสารสกัดว่านหางจระเข้สามารถรักษาโรคเรื้อนกวางได้ 83.3% เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกที่รักษาได้เพียง 6.6% นอกจากนี้มีตำรับยาทาที่มีส่วนประกอบคือ dimethicone 6 ออนซ์ cyclomethicone 2 ออนซ์ mineral oil 7.5 ซีซี. เจลว่านหางจระเข้ 7.5 ซีซี. วิตามินอี 7.5 ซีซี. วิตามินเอ 3.75 ซีซี. สังกะสี 3.75 ซีซี. และน้ำ 0.625 ซีซี. ว่าสามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินได้  และสารสกัดน้ำจากบัวบก สามารถต้านการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชั้น keratin ที่ทดสอบในหลอดทดลองซึ่งในโรคเรื้อนกวางเป็นโรคที่มีการแบ่งตัวของผิวหนังชั้น keratin ที่เร็วกว่าปกติ ซึ่งผู้วิจัยคิดว่าบัวบกมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นยาทาภายนอก

ว่านหางจระเข้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe vera (L.) Burm.f. จัดอยู่ในวงศ์ XANTHORRHOEACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย ASPHODELOIDEAE

สรรพคุณของว่านหางจระเข้

  • วุ้นว่านหางจระเข้มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันและลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ
  • ใช้เป็นถ่าย ยาระบาย ที่เปลือกของว่านหางจระเข้จะมีน้ำยางสีเหลือง ในน้ำยางจะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากนำน้ำยางไปเคี่ยวให้น้ำระเหยออกแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะได้สารสีน้ำตาลเกือบดำ หรือเรียกว่า “ยาดำ” ซึ่งยาดำนี้เองใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณที่ต้องการให้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอยู่หลายตำรับ
  • ช่วยรักษาแผลสด แผลจากของมีคม แผลที่ริมฝีปาก แก้ฝี แก้ตะมอย ด้วยการใช้วุ้นจากใบนำมาแปะบริเวณแผลให้มิดชิดและใช้ผ้าปิดไว้ แล้วหยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้ชุ่มอยู่เสมอ หรือจะเตรียมเป็นขี้ผึ้งก็ได้
  • ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยดับพิษร้อนบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากแผล ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดที่ล้างน้ำสะอาด แล้วฝานบาง ๆ นำมาทาหรือแปะไว้บริเวณแผลตลอดเวลา จะช่วยทำให้แผลหายเร็วมากขึ้นและอาจไม่เกิดรอยแผลเป็นด้วย
  • ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน ช่วยลดการตกสะเก็ดและลดอาการคันของโรคเรื้อนกวาง ทำให้แผลดูดีขึ้น

บัวบก ชื่อสามัญ Gotu kola ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.) Urb. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)

สรรพคุณของใบบัวบก

  • ช่วยรักษาอาการมีหนองออกจากปัสสาวะ
  • ช่วยแก้อาการน้ำดีในร่างกายมากเกินไป
  • ช่วยแก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบบัวบกมาทุบให้แหลกแล้วนำมาโปะบริเวณที่ฟกช้ำ หรือจะใช้ใบบัวบกประมาณ 40 กรัม ต้มกับเหล้าแดงประมาณ 250 cc. ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วนำมาดื่ม
  • ใช้บัวบกตำนำมาพอกรักษาความร้อนบวมของโรคไฟลามทุ่ง หรือใช้รักษาอาการด้วยการใช้น้ำคั้นบัวบกนำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียวทำเป็นแป้งเหลว พอกบริเวณที่เป็น
  • ช่วยรักษาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อน โรคสะเก็ดเงิน หิด หัด เป็นต้น
  • บัวบกมีการนำมาผลิตเป็นแคปซูลวางจำหน่าย มีสรรพคุณในการช่วยบำรุงสมองเป็นหลัก (Brain tonic)
  • น้ำใบบัวบกเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับหน้าร้อนเป็นอย่างมาก เพราะมีฤทธิ์เป็นยาเย็นดับร้อนในร่างกายได้สารพัด

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ผศ.พญ.ชนิษฏา  วงษ์ประภารัตน์.โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) .ภาควิชาอาจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
  2. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. สิงหาคม 2544 . Psoriasis. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน กรุงเทพฯ 10400. พิมพ์ดี กรุงเทพฯ. หน้า 664-666
  3. แนวทางเวชปฏิบัติโรคสะเก็ดเงิน Psoriasis . สถาบันโรคผิวหนัง.กรมการแพทย์.กระทรวงสาธารณสุข.หน้า14-26
  4. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โซริอาซิส/โรคเกล็ดเงิน (Psoriasis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1019-1024.
  5. โรคสะเก็ดเงิน-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://wwwpobpad.com
  6. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  7. Roger C. Cornell, M.D.,Richard B. Stoughton, M.D. Topical Corticosteroid. 1985 Hoechst Aktiengesellscsast. West Germany. Page 17,28-31
  8. Luba, K., and Stulberg, D. (2006). Chronic plaque psoriasis. Am Fam Physician, 73, 636-644.
  9. อภิชาติ ศิวยาธร. กรกฎาคม 2547. Psoriasis. คลินิกโรคผิวหนังต้องรู้. ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน กรุงเทพฯ 10400. พิมพ์ดี กรุงเทพฯ. หน้า 102-108
  10. สมุนไพรรักษาโรคสะเก็ดเงิน.หัวข้อถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://medplant.mahidol.ac.th2user2reply.asp?id=6709