โสมคน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โสมคน (โสมเกาหลี) งานวิจัยและสรรพคุณ 14ข้อ

ชื่อสมุนไพร โสมคน (โสมเกาหลี)
ชื่ออื่นๆ โสมจีน, โสมคน , โสมเกาหลี , เซียมเซ่า , หยิ่งเซียม (จีนแต้จิ๋ว) , เหยินเซิน (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Panax ginseng C.A.Mey
ชื่อสามัญ  Ginseng , Asian ginseng
ชื่อวงศ์  ARALIACEAE
วงศ์ย่อย  ARAILOIDEAE

 

ถิ่นกำเนิดโสมคน

โสมเป็นสมุนไพรที่จัดว่าเป็นราชาแห่งสมุนไพร ใช้รักษาโรคมานานกว่า 2,000 ปี โสม นิยมใช้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันโดยประเทศทางตะวันออกเชื่อว่าเป็นยาครอบจักรวาล คำว่า Gingseng มาจากภาษาจีนว่า เรนเซ็น (Ren Shen) แปลว่า โสมคน เนื่องจากมีรากอ้วนคล้ายลำตัว มีกิ่งรากแตกแขนงคล้ายแขนขาของคน เดิมโสมมีถิ่นกำเนิดแถบจีนตอนเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งในเกาหลีด้วย โสมได้รับการจัดเข้าเป็นพืชตระกูล Panax ginseng CA Meyer โดยนักพฤกษาศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อว่า CA Meyer ในปี 2385 คำว่า Panax มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกแปลว่า "รักษาได้สารพัดโรค" ต่อมาในปี 2503 ได้นำมาตรวจสอบอย่างเป็นระบบโดยบริษัทฟาร์มาตอน เอสเอ จำกัด ในเมืองลูกาโน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 

ประโยชน์และสรรพคุณโสมคน

  1. เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงอวัยวะภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายชุ่มชื่น
  2. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย
  3. ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ปรับการทำงานของต่อมไร้ท่อต่าง ๆ
  4. ช่วยแก้อาการหน้ามืดเป็นลม
  5. ช่วยแก้อาการเหงื่อออกไม่รู้ตัว กระหายน้ำ
  6. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร
  7. ช่วยแก้หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหายใจผิดปกติ
  8. เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ป้องกันภาวะเส้นเลือดอุดตัน
  9. ป้องกันโรคผนังเส้นเลือดแดงใหญ่หนาและแข็ง
  10. ช่วยทำให้คอเลสเตอรอลที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดลดน้อยลง
  11. มีฤทธิ์ต้านการจับตัวกันของเกล็ดเลือด อันเป็นสาเหตุสำคัญของการอุดตันของหลอดเลือด
  12. มีฤทธิ์สร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่มีเลือดน้อยหรือผู้ที่โลหิตจางและความดันต่ำได้ และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในกระดูกได้อีกด้วย
  13. ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
  14. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน

รูปแบบวิธีการใช้

 ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานอย่างแน่ชัดถึง ขนาดรับประทานที่แน่นอน แต่มีงานวิจัยบางตัวบ่งชี้ว่า ควรใช้ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน แม้ว่าโสมจะมีความปลอดภัยต่อร่างกายสูง แต่หากทานโสมแล้วเกิดอาการผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีผื่นแดง หรืออาการอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

ลักษณะทั่วไปโสมคน

โสมคน จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี โสมเป็นพืชตระกลูผีกชี ลำต้นฉ่ำน้ำ ลำต้นมีขนาดประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและตั้งตรง มีรากเก็บอาการลักษณะพองโต แยกเป็นง่าม นิยมเก็บรากมาใช้เป็นยาเมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี มักขึ้นใต้ร่มเงาไม้อื่น ลำต้นจะแห้งไปในช่วงฤดูหนาว 

ต้นโสม โสมเป็นพืชโตช้า ถ้าเพาะจากเมล็ดจะต้องใช้เวลาถึง 5-6 ปี จึงจะเก็บมาใช้ได้ โดยในปีแรกจะมีความสูงเพียง 1 ฟุต มีใบ 1 ใบ ประกอบด้วยใบย่อย 3-5 ใบ และใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ เมื่อถึงปีที่ 3 ก็จะเริ่มออกดอก เมื่ออายุ 4-5 ปี ต้นจะสูงประมาณ 2 ฟุต โสมเกาหลีเป็นพืชที่ปลูกยาก ต้องการภูมิอากาศเฉพาะ การเพาะปลูกจะต้องปลูกในที่ที่ไม่เคยปลูกโสมมาก่อนในช่วงระยะเวลา 10-15 ปี ต้องปลูกในที่ที่มีแสงไม่มาก และต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดจากต้นแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป แล้วต้องนำเมล็ดที่ได้ไปปลูกทันที เพราะหากทิ้งไว้ให้แห้งจะไม่ขึ้นทันที จะงอกใน 8 เดือน แต่ถ้าทิ้งเมล็ดไว้ 4 เดือนแล้วจึงนำมาปลูกในที่ชื้น จะใช้เวลา 9 เดือนจึงจะงอก โสมเป็นพืชที่ชอบดินเหนียว มีค่า pH ประมาณ 5.5-6.0 อุณหภูมิที่ปลูกประมาณ 0-15 องศาเซลเซียส ไม่ชอบแสงแดด จึงต้องทำร่มบังให้ ภูมิอากาศในประเทศไทยจึงไม่เหมาะสำหรับการปลูกโสมและยังไม่สามารถปลูกโสมได้ ในปัจจุบันปลูกกันมากในประเทศเกาหลี จีน รัสเซีย และญี่ปุ่นอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าโสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะเรียกว่า “โสมป่า” ส่วนโสมที่มีคนนำมาเพาะปลูกจะเรียกว่า “โสมสวน” โดยโสมป่าจะมีรากขนาดเล็กและยาวกว่าโสมส่วน บริเวณส่วนหัวของรากจะยาวและมีการแตกรากมาก รากฝอยจะยาวและเหนียวกว่าโสมสวน และมีคุณภาพที่ดีกว่าอีกด้วย
รากโสมเกาหลี รากมีขนาดใหญ่อ้วนกลม มีลักษณะอวบแตกเป็นแขนง 2 อัน ลักษณะคล้ายกับขาคน หากดูทั้งรากจะมีลักษณะคล้ายกับคน บางครั้งจึงเรียกว่า “โสมคน” โดยรากแก่ยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร โดยคำว่า “Ginseng” นั้นเป็นภาษาจีน ที่แปลว่า man-root ซึ่งหมายถึง รากไม้ที่มีลักษณะคล้ายคน มองดูคล้ายมีหัวแขนและขา (บางตำรากล่าวว่ารากโสมยิ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าโสมนั้นมีคุณค่าและมีราคาแพง) เปลือกรากเป็นสีเหลือง มีเนื้อนิ่ม เนื้อในรากเป็นสีขาว แตกรากฝอยมาก การจะเก็บรากโสมจะต้องเก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนการออกดอก ซึ่งจะเป็นช่วงที่โสมที่สารสำคัญอยู่มากที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วก็ต้องทำให้แห้งโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เอนไซม์ในรากโสมออกมาทำลาย saponin
ใบโสมเกาหลี ใบเป็นใบประกอบคล้ายรูปฝ่ามือ ลักษณะของใบคล้ายกับใบหนุมานประสานกายหรือใบต้นนิ้วมือพระนารายณ์ แต่มีขนาดบางกว่า โดยจะมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ออกเรียงตัวเป็นวงรอบลำต้น โดยสมที่มีอายุประมาณ 2-5 ปี จะมีใบย่อยประมาณ 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมรี ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ใบย่อยสามใบด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยสองใบที่อยู่ด้านล่าง เส้นหน้าใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนหลังใบไม่มีขน ใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ
ดอกโสมเกาหลี ออกดอกเป็นช่อสีขาวที่ยอดต้น มีก้านดอกยาวชูออกมาจากยอด แบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4-40 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองอ่อนอมสีเขียว ในหนึ่งดอกจะมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ หุ้มอยู่ ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน แบบสั้น โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผลโสมเกาหลี ผลมีลักษณะกลมแบนเล็กน้อย เป็นผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

การขยายพันธุ์โสมคน

1. การเพาะปลูกโสมมีกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อน โสมสามารถขยายพันธุ์ได้เฉพาะจากเมล็ดเท่านั้น ต้นโสมต้องการอุณหภูมิต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์ การปลูกโสมใช้เวลายาวนานนับจากการเพาะเมล็ด ซึ่งจะต้องเป็นเมล็ดสุกและแก่เต็มที่จากต้นโสมที่มีอายุประมาณ 5 ปีเท่านั้น โสมที่จะเก็บเกี่ยวเป็นผลผลิตได้จะต้องมีอายุประมาณ 4-6 ปี ฤดูกาลที่เหมาะสมของการเก็บเกี่ยวโสมที่มีคุณภาพดีที่สุดคือระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมในแต่ละปี
2. วิธีการปลูกคร่าว ๆ ดังนี้
• ปีที่หนึ่ง ราวกลางเดือนกรกฎาคมเป็นการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ ปลายกรกฎาคม–ต้นสิงหาคม เป็นช่วงคัดเมล็ดพันธุ์ ปลายตุลาคม-ต้นพฤศจิกายน เริ่มหว่านเมล็ด จนผ่านหน้าหนาวไปจนถึงกลางเดือนเมษายน
• ปีที่สอง เมล็ดเริ่มเพาะตัว ในกลางเดือนเมษายนทำหลังคาคลุมด้วยฟาง ตุลาคมจนผ่านหน้าหนาวไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม
• ปีที่สาม ย้ายต้นอ่อนมาไว้ที่เรือนปลูก ปลายมีนาคม–ต้นเมษายน คลุมด้วยฟาง ตุลาคมจนผ่านหน้าหนาวไปจนถึงเดือนมีนาคม
• ปีที่สี่ เอาฟางที่คลุมออก มีนาคมเริ่มพรวนดินใหม่ พฤษภาคม–กันยายน คลุมด้วยฟาง ตุลาคมจนผ่านหน้าหนาว
• ตั้งแต่ปีที่สี่ จะวนซ้ำตามขั้นตอนนี้ จนกระทั่งครบ 6 ปี

องค์ประกอบทางเคมีของโสมคน

เรานิยมนำโสมมาใช้เฉพาะส่วนของรากที่อยู่ลงไปใต้ดิน โสมที่ขุดนำมาใช้ได้นั้นจะมีอายุตั้งแต่ 3 - 6 ปี ซึ่งโสมอายุ 6 ปีจะเป็นโสมที่ถือว่ามีตัวยาสำคัญมากที่สุด โดยโสมแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
 โสมขาว (White Ginseng) คือ การนำรากโสมที่ล้างสะอาดแล้วมาตากแดดหรืออบให้แห้งทันที
 โสมแดง (Red Ginseng) คือ การนำรากโสมที่ตัดเฉพาะส่วนที่ดี ๆ มาล้างให้สะอาด เป็นโสมที่ผ่านกรรมวิธีการอบและฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง โดยการนำมาอบด้วยไอน้ำประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2-4 ชั่วโมง จนเป็นสีน้ำตาลแดง แล้วจึงนำไปอบให้แห้ง จะได้เป็นสีน้ำตาลแดง (ใส) โดยจะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นอีก 4 ชนิด จึงมีราคาแพงกว่าโสมขาว ขายได้ราคาดี
สารเคมีสำคัญที่พบในรากโสมเกาหลี มีหลายชนิด แต่ที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือสารกลุ่มไทรเทอร์ปีนอยด์ซาโปนิน (triterpenoid saponin) ชนิด dammarane type ซึ่งรวมเรียกว่ามี จินเซโนไซด์ (ginsenoside) ซึ่งมีนิวเคลียส 2 ชนิดคือ protopanaxadiol และ protopanaxatrial นิวเคลียสทั้ง 2 ชนิดจะจับกับน้ำตาล ชนิด และจำนวนต่างๆกัน ซึ่งปัจจุบันค้นพบจินเซโนไซด์ ประมาณมากกว่า 30 ชนิด โดยพบว่ามีจินเซโนไซด์ จำนวน 8 ชนิด ที่มีความสำคัญคือ จินเซโนไซด์ Rb1, Rb2, Rc, Rd, Re, Rf, Rg1และ Rg2 โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือ Rb1, Rb2, Re และ Rg1
สามารถแบ่งประเภทของ ginsenosides ตามตำแหน่งของหมู่น้ำตาลที่อยู่บน triterpene dammarane ring ได้เป็น 20(S)-protopanaxadiol และ 20(S)-protopanaxatriol โดย 20(S)-protopanaxadiol มีหมู่น้ำตาลที่ตำแหน่งที่ 3 ของ triterpene dammarane ring ส่วน 20(S)-protopanaxatriol มีหมู่น้ำตาลที่ตำแหน่งที่ 6 ของ triterpene dammarane ring (รูปที่ 1) นอกจากนี้ยังแบ่ง ginsenosides ตามชนิด ตำแหน่งและจำนวนของหมู่น้ำตาล ซึ่งการวิเคราะห์แยก ginsenosides ด้วยวิธี thin-layer chromatography ทำให้แยกชนิดของ ginsenosides จาก Ra ถึง Rh ตามการมีขั้วที่ลดลง

 

โครงสร้างโสมคน
สูตรโครงสร้างทางเคมีของ ginsenosides

 

ผลต่อความเครียด

สารสกัดจากโสมมีคุณสมบัติต้านความเครียด โดยฮอร์โมน ACTH จากต่อมใต้สมองจะเป็นตัวควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านความเครียด โดยเร่งกระบวนการเมตาบอลิสซึมต่างๆ เพื่อปลดปล่อยพลังงานและสารออกมาต้านความเครียด

ผลต่อสมรรถภาพทางเพศ

• เชื่อกันว่าโสมมีฤทธิ์เป็นตัวกระตุ้นกำหนัดทางเพศ แต่การวิจัยค้นความด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่พิสูจน์ว่าโสมไม่ได้มีฤทธิ์ต่อฮอร์โมนเพศ หากการบำรุงด้วยโสมทำให้สมรรถภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรง จึงส่งผลให้สมรรถภาพทางเพศมีความสมบูรณ์ขึ้นไปด้วย
• เสริมประสิทธิภาพทางเพศในชาย มีงานวิจัยในผู้ป่วยที่มีปัญหาองคชาติไม่แข็งตัว ( Erectile dysfunction ) 45 รายโดยรับประทานโสมเกาหลี ปริมาณ 900 มก. 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลาสองเดือน พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการประเมินอย่างละเอียดทุกด้าน โสมจึงช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย

ผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

สารสกัดจากโสมทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดอาการชาตามนิ้วมือและปลายเท้า การเกิดแผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้สารจินซีโนไซด์ Rb1 และ Re ยังมีฤทธิ์คล้ายอินซูลิน ช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานได้

ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง

• ในขนาดต่ำจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ตื่นไม่ง่วง ในขนาดสูงออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้หลับสนิท ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ สารจินซีโนไซด์ Rg1 จากโสมหรือในสารสกัดโสมจะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางให้ตื่นตัว แต่จะเป็นการออกฤทธิ์ที่แตกต่างจากยากระตุ้นประสาทจำพวกแอมเฟตามีนหรือโคเคน จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อการนอนหลับตามปกติ ส่วนจินซีโนไซด์ Rb และ Rc จะออกฤทธิ์ระงับประสาท ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด สารสกัดจากโสมจึงมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยเป็นทั้งตัวช่วยให้ประสาทตื่นตัวและระงับผ่อนคลายประสาท

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโสมคน

• สารต้านอนุมูลอิสระในโสมช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ชะลอความชราภาพของเซลล์และอวัยวะต่างๆ
ผลต่อมะเร็ง
• การรับประทานโสมเกาหลีเป็นเวลานานสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งตับลงได้ ด้วยฤทธิ์ต้านสารอัลฟาท็อกซินบีและยูรีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในโรคมะเร็งตับ แต่ก็ยังไม่สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับจากการดื่มสุราหรือสาเหตุอื่นได้

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโสมคน

รายงานการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่า การได้รับสารสกัดจากโสมเกาหลีขนาด 1 หรือ 2 กรัม/วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถลดระดับอนุมูลอิสระและ MDA ซึ่งแสดงถึงการเกิด lipid peroxidation ได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับ GSH และเพิ่มการทำงานของ glutathione reductase ในเลือด แสดงถึงคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดโสม จากรายงานของ Kennedy และ Wightman ซึ่งรวบรวมผลการศึกษาของการให้สารสกัดมาตรฐานโสม G115 ในอาสาสมัครสุขภาพดี พบว่าสารสกัดมาตรฐานโสม G115 เพิ่ม cognitive performance ของ อาสาสมัครในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านความจำ สมาธิ ลดความเหนื่อยล้า และทำให้อารมณ์สงบขึ้น การศึกษาในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดจากโสมเกาหลีขนาด 4.5 กรัม/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีคะแนนทดสอบ mini-mental state examination (MMSE) และ Alzheimer disease assessment scale (ADAS) สูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ใน การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็น mild cognitive impairment พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับอาหารเสริมที่ ประกอบด้วยสารสกัดจากโสมเกาหลีและ Ginkgo biloba เป็นเวลา 4 สัปดาห์มีคะแนน MMSE สูงกว่ากลุ่มควบคุม
           การทดสอบฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดในคน เมื่อให้คนไข้เบาหวานจำนวน 21 คน รับประทานโสมในขนาด 2.7 กรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน และทดลองให้พยาบาลที่อยู่เวรดึกรับประทานโสมในขนาด 1.2 กรัม เป็นระยะเวลา 3 วัน ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนอีกการทดลองที่ใช้โสมร่วมกับอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าจะทำให้ผลการรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของโสมคน

จากการศึกษาทางพิษวิทยาทั้งในสัตว์ทดลองและในทางคลินิก พบว่าสารสกัดจากโสมมี ความปลอดภัยสูง การศึกษาในหนูเม้าส์พบว่าสารสกัดจากโสมมี LD₅₀ เท่ากับ 10-30 กรัม/กิโลกรัม และ ginsenosides มี lethal dose เท่ากับ 5 กรัม/กิโลกรัม จากการศึกษาในมนุษย์ พบว่าการรับประทานโสมวันละ 3 กรัม เป็นเวลา 2 ปี พบผลข้างเคียง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้อง และนอนไม่หลับ ส่วนการรับประทานโสมขนาดสูงมากกว่าวันละ 15 กรัม ทำให้เกิดอาการสับสนและซึมเศร้า

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

• ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ท้องเดิน ผื่นคันและบวม ประจำเดือนขาด หรือเจ็บเต้านม หากเกิดอาการดังกล่าวควรหยุดรับประทานให้ปรึกษาแพทย์ทันที
• ผู้ที่รับประทานโสมมานานและปริมาณมากอาจจะเกิดกลุ่มอาการที่ประกอบไปด้วยความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ มีผื่นและท้องร่วงที่เรียกว่า ginseng abuse syndrome
• ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ ควรใช้เป็นช่วงๆ คือนาน 1-2 เดือน แล้วหยุด 1-2 เดือน แล้วเริ่มใหม่
• ควรทานโสมก่อนอาหาร 3 ชั่วโมง และไม่ควรทานพร้อมวิตามินซี หรือผลไม้รสเปรี้ยว
• ระวังการใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
• ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป เนื่องจากโสมมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวาน ควรกินโสมพร้อมอาหาร แต่ควรปรึกษาแพทย์ของท่านก่อนการใช้โสม
• ยาที่ไม่ควรทานร่วมกับโสม ได้แก่ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชื่อ warfarin ยากระตุ้นหัวใจชื่อ digoxin ยาต้านซึมเศร้าชื่อ phenelzine และสุรา อาจมีการรบกวนประจำเดือน อาการเจ็บหน้าอกขณะมีประจำเดือน
• ไม่ควรทานโสมกับยาแอสไพริน รวมถึงไม่ควรทานอย่างยิ่งในสตรีตั้งครรภ์และเด็ก คนที่ตับอักเสบพบเอนไซม์ของตับสูงแล้ว หรือตับอักเสบจนตัวเหลืองตาเหลือง หรือตับโต ไม่ควรทานโสม

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โสมเกาหลี” หน้า 187-188.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โสมคน”. หน้า 566.
3. งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป, โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่. “สมุนไพรน่ารู้ เรื่อง โสม”. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: www.med.cmu.ac.th. [11 ก.ย.2014].
4. นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ. โสม.ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพฯ.ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพฯ.รพ.กรุงเทพฯ
5. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “กาแฟ”. หน้า 147-149.
6. FARR, E. R. & ZIJLSTRA, G. eds. (1996-) Index Nominum Genericorum (Plantarum). 2009 Dec 23 [1].
7. โสม.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki
8. Christensen LP. Chapter 1 Ginsenosides: Chemistry, Biosynthesis, Analysis and Potential Health effects. Advances in Food and Nutrition Research 2008, 55, 1-99.
9. Vuksan V, Sung M-K, Sievenpiper JL, et al. Korean and red ginseng (Panax ginseng) improves glucose and insulin regulation in well control, type 2 diabetes: results of a randomized, double-blind, placebo-controlled study of efficacy and safety. Nutrition, Metabolism and Cardiovascular Diseases, 2008, 18(1), 46-56.
10. รัชนี รอดสิริ . ฤทธิ์ปกป้องประสาทของสารสกัดจากโสม.Thai J Pharmacol;Vol.37:No.1,2015.หน้า 37-47
11. ดร.สุดารัตน์ หอมนวล .ความจิรงของโสมกับความเชื่อเรื่องอายุวัฒนะ.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://oknation.nationtv/blog/Thai-Herbal/2008/10/24/entry-1
12. โอเคเนชั่น, โดย BangkokHospital. “โสม… ราชาแห่งสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [11 ก.ย. 2014].
13. Kim HG, Yoo SR, Park HJ, Lee NH, Shin JW, Sathyanath R et al. Antioxidant effects of Panax ginseng C.A. Meyer in healthy subjects: a randomized, placebo-controlled clinical trial. Food Chem Toxicol. 2011;49(9):2229-35.
14. Kennedy DO, Wightman EL. Herbal extracts and phytochemicals: plant secondary metabolites and the enhancement of human brain function. Adv Nutr. 2011;2(1):32-50.
15. Lee ST, Chu K, Sim JY, Heo JH. Kim,M. Panax ginseng enhances cognitive performance in Alzheimer’s disease. Alzheimer Dis Assoc Disord. 2008;22:222-26.
16. . Yakoot M, Salem A, Helmy S. Effect of Memo®, a natural formula combination, on Mini-Mental State Examination scores in patients with mild cognitive impairment. Clin Interv Aging. 2013;8:975-81.
17. Kitts DD, Hu C. Efficacy and safety of ginseng. Public Health Nutr. 2000;3:473-75.
18. O'Hara M, Kiefer D, Farrell K, Kemper K. A review of 12 commonly used medicinal herbs. Arch Fam Med. 1998;7:523-36
19. Siegel RK. Ginseng abuse syndrome: problems with the panacea. JAMA. 1979;241: 1614-15.
20. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยา ของยา และอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ. ไทยมิตรการพิมพ์, กรุงเทพมหานคร, 2540