ตังกุย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตังกุย งานวิจัยสรรพคุณ 20ข้อ
ชื่อสมุนไพร
ชื่ออื่นๆ โกฐเชียง โสมตังกุย
ชื่อสามัญ Dong quai , Chinensis Angelica , Eemale ginseng
ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis (Oliv.) Diels
ชื่อพ้องทางวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis var. sinensis , Angelica polymorpha var , sinensis Oliv.
ชื่อวงศ์ APIACEAE
ถิ่นกำเนิดตังกุย
ตังกุยมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน โดยเฉพาะมณฑล ส่านซี มณฑลยูนาน และใต้หวัน เหมาะกับสภาพอากาศชื้น เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุยืนยาว รากของตังกุยคือส่วนที่จะนำเอาไปใช้เป็นยา ดังนั้นหากจะได้รากตังกุยที่ดี ก็จำเป็นต้องปลูกในสภาพอากาศที่มีความชื้นเหมาะสม มีดินที่อุ้มน้ำ และได้รับแสงรำไร มักจะพบตังกุยได้จากป่าดิบเขา และแหล่งเพาะปลูกตามภูเขาสูง
ประโยชน์และสรรพคุณตังกุย
- เป็นยาขับระดู
- แก้รกตีขึ้น
- ขับรกและแก้ไข้ในเรือนไฟ
- แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
- แก้ตกมูกเลือด
- แก้สตรีประจำเดือนมาไม่ปกติ
- แก้สะอึก
- ช่วยเจริญอาหาร
- กระตุ้นให้อยากอาหาร
- แก้ไอ
- ช่วยรักษาสมดุลของการไหลเวียนโลหิตในผู้หญิง
- ช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
- แก้ปวดประจำเดือน
- ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- เป็นยาระบายท้องอ่อนๆ
- ลดความเสี่ยงระบบหลอดเลือดและหัวใจ
- ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต
- แก้หืดไอ แก้หอบ
- แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา
- ยับยั้งเนื้องอกในมดลูก รังไข่
- รักษาอาการวูบวาบใน "ผู้หญิง"
ในตำรับยาจีนมักผสมตังกุยกับหัวแห้วหมู (cyperusrotundas), โกฐจุฬาลำเภาจีน (Artemisiaargyi), เปลือกลูกพรุน ( Prunes persica) และดอกคำฝอย (carthamus tinctorius) เพื่อใช้รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ในสตรีหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น โกฐเชียงเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้ปลูกมากในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลไต้หวัน มณฑลส่านซี และมณฑลยูนนาน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐเชียงจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
ลักษณะทั่วไปตังกุย
ต้นตังกุย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีร่องเล็กน้อย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ส่วนของเหง้าหรือรากที่อยู่ใต้ดินนั้นมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบหนาเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก ผิวเปลือกรากภายนอกเป็นสีน้ำตาล เนื้อในนิ่ม
ใบตังกุย ใบเป็นใบเดี่ยว หยักลึกแบบขนนก 2-3 ชั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แฉกใบมีก้านเห็นได้ชัดเจน มักแยกเป็นแฉกย่อย 2-3 แฉก ส่วนขอบใบหนักเป็นฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอ มีก้านใบยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร โคนแผ่เป็นครีบแคบ ๆ สีเขียวอมม่วง
ดอกตังกุย ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดของลำต้นหรือตามง่ามใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ มีช่อย่อยขนาดไม่เท่ากันประมาณ 10-30 ช่อย่อย ก้านช่อดอกนั้นยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ใบประดับมีไม่เกิน 2 ใบ ดอกเป็นสีขาวหรือเป็นสีแดงอมม่วง ในแต่ละก้านจะมีดอกย่อยประมาณ 13-15 ดอก ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
ผลตังกุย ผลเป็นแบบผลแห้งแยก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร สันด้านล่างหนาแคบ ด้านข้างมีปีกบาง ขนาดกว้างเท่ากับความกว้างของผล และมีท่อน้ำมันตามร่อง ติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
รากตังกุย รากสดมีลักษณะอวบเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก โดยรากนั้นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนราก และส่วนรากแขนง ส่วนของรากแห้งเป็นรูปแกมทรงกระบอก ปลายแยกออกเป็นแขนง 3-5 แขนง หรือมากกว่านั้น โดยมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวด้านนอกนั้นเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาล รากมีรอยย่นเป็นแนวตามยาว รอยช่องอากาศตามแนวขวาง ผิวไม่เรียบ และมีรอยควั่นเป็นวง ๆ มีขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และมีรอยแผลเป็นของใบปรากฏอยู่ตอนบน ซึ่งโกฐเชียงในตำรายาไทยนั้นจะหมายถึง ส่วนของรากแขนง โดยรากแขนงแห้งนั้นจะเป็นสีน้ำตาล แกมเทาจาง ๆ มีลักษณะเป็นเส้นยาว มีรอยควั่นเป็นวง ๆ รากแขนงนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ตอนบนหนา ส่วนตอนล่างเรียวเล็ก ส่วนมากจะบิด เนื้อจะเหนียว รอยหักสั้นและนิ่ม รอยหักของเหง้าแสดงว่ามีผิวหนามากเกือบถึงครึ่งเหง้า มีต่อมน้ำยางสีน้ำตาลหรือสีเหลืองแกมแดงออกเป็นแนวรัศมีจากกลางเหง้า ส่วนที่เป็นเนื้อสีเหลืองนั้นจะมีรูพรุน แกนเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะ ฉุน มีรสหวานอมขม และเผ็ดเล็กน้อย
การขยายพันธุ์ตังกุย
การขยายพันธุ์ตังกุยโดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณส่วนของโลกที่อยู่ในระหว่างเขตหนาวกับเขตร้อน ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี และมีความชื้นสูง ต้องการที่ร่มรำไร ชอบอากาศเย็นชื้น โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใกล้ทางน้ำไหล ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000-9,000 เมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2-3 ปี พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางของประเทศจีน มักขึ้นตามป่าดิบเขา ในปัจจุบันนิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลเสฉวน ไต้หวัน ส่านซี กุ้ยโจว เหอเป่ย และมณฑลยูนนาน
องค์ประกอบทางเคมี
ในเหง้าและรากของตังกุยมีน้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ 0.4-0.7 สารหลักคือ alkylphthalides ในน้ำมันระเหยง่ายมีสารแซฟโรล(safrole) สารไอโซแซฟโรล (isosalfrole) สารคาร์วาครอล (carvacrol) เป็นต้น นอกจากน้ำมันระเหยง่ายแล้วยังมีสารอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น สารไลกัสติไลด์ (ligustilide) กรดเฟรูลิก (ferulic acid) กรดเอ็น-วาเลอโรฟีโนน-โอ-คาร์บอกซิลิก (n-valerophenone-o-carboxylic acid) นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ฟีนิลโพรพานอยด์ คูมาริน โพลีอะเซทิลีน
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตังกุย
butylidenephthalide |
อนึ่งตังกุย จะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ของจีน (Angelica sinensis (Oliv.) Diels), ของญี่ปุ่น เรียก ตังกุยญี่ปุ่น หรือ โกฐเชียงญี่ปุ่น (Angelica acutiloba (Siebold & Zucc.) Kitag.) มีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าของจีน คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคต้นสด, ของอินเดีย (Angelica glauca Edgew.) ที่ชาวอินเดียนิยมใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีที่เรียกว่า “โจรากา” (Choraka), ของยุโรป (Levisticum officinale W.D.J.Koch) ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เพียงแต่ตังกุยของทางยุโรปนั้นจะมีสารสำคัญบางตัวน้อยกว่าตังกุยของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตังกุย
กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และมดลูก ปกป้องตับ ปกป้องสมองและไขสันหลัง เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ป้องกันการแข็งตัวของเลือด กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ต้านเนื้องอกและยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ลดความกังวล กระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก ป้องกันการถูกทำลายโดยรังสี มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน
มีรายงานจาการทดลองพบว่า สารสกัดจากตังกุย จะมีคุณสมบัติ ทำให้กล้ามเนื้อของมดลูกคลายตัวได้ แต่สำหรับในเชิงเภสัชวิทยาจะเกิดผลใน 2 กรณี คือ
ประการแรก คือเมื่ออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ มดลูกจะมีความไวต่อภาวะความกดดันในโพรงมดลูกสูง สารสกัดจากรากตังกุยจะมีผลลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้การตอบสนองต่อความกดดันในโพรงมดลูกน้อยลง (Decreasing the myometrial sensitivity) และมีผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณมดลูกมากขึ้นโดยการขยายหลอดเลือดผลก็คือลดโอกาสในการแท้งบุตรได้
ประการที่สอง คือสำหรับสตรีทั่วไปและสตรีภายหลังการคลอดบุตร ตังกุยจะมีผลต่อระบบประจำเดือน คือช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้ปวดประจำเดือน มีรายงานว่าในสารสกัดของตังกุย มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้ดี (คือเพิ่มการบีบตัวของมดลูก) จึงนิยมใช้ตังกุยเป็นยาช่วยในการขับน้ำคาวปลา และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น สำหรับการรักษาอาการหลังหมดประจำเดือน มีการทดลองใช้ตังกุยร่วมกับตัวยาอื่นอีก 5 ชนิด พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นคือ อาการร้อนวูบ มึนงง ตาพร่า และอาการไม่สบายในช่องท้องจะลดลงประมาณ 70%
เมื่อให้สารสกัดตังกุยครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 1 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับประจำเดือน มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก ลดความหนืดของเลือดในสตรี และพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลอดเลือดดำในผู้ป่วยจำนวน 40 ราย ในขนาด 240 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน ก็ไม่ผลอาการผิดปกติใด ๆ
การศึกษาทางพิษวิทยาของตังกุย
โดยทั่วไปแล้ว ตังกุยก็เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ถ้าใช้ในปริมาณที่ปกติก็ไม่พบอันตรายอย่างไร แม้ในบางคน ที่ได้รับตังกุยแล้วเกิดอาการผิดปกติ เมื่อหยุดยาอาการดังกล่าวก็มักจะหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยเสียเลยทีเดียว ถ้าร่างกายได้รับสารมาก ส่วนจะมากเท่าใดนั้นคงยากที่จะตอบ แต่จากการทดลองในสัตว์ โดยใช้สารสกัดน้ำปริมาณ 0.3-0.9 กรัมต่อน้ำหนักตัว 10 กรัม ฉีดเข้าสู่กระเพาะ จะมีผลให้การเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดลง และกดการหายใจ และเมื่อได้รับสารมากขึ้นก็จะแสดงอาการมากขึ้น แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีผู้ใดได้รับอันตรายร้ายแรง จากการรับประทานตังกุยเลย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องเสียบ่อย ร้อนใน หรือเคยอาเจียนเป็นเลือด และไม่ควรรับประทานหากมีประจำเดือนมามาก นอกจากจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานจากแพทย์แผนตะวันออกที่มีความรู้ในด้านโภชนาการ
เอกสารอ้างอิง ตังกุย
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐเชียง”. หน้า 106.
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐเชียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 มิ.ย. 2015].
3. คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. (อาจารย์โสรัจ นิโรธสมาบัติ แพทย์แผนจีน). “ตังกุย สุดยอดสมุนไพรบำรุงเลือด”.
4. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐเชียง”. หน้า 47-50.
5. ตังกุย.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://wikipeddia.org/wiki
6. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
7. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
8. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
9. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
10. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด. มหัศจรรย์สมุนไพรจีน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด มหาชน, 2550.
11. Foster S, Yue CX. Herbal Emissaries. Rochester, VT: Healing Arts Press, 1992, 65-72.
12. ตังกุย สมุนไพรสำหรับ.สตรี.สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.university.buu.ac.th/forum2/topic.asp?topic_ID=1467
13. ตังกุยไทยกับจีนต่างกันอย่างไร.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.answers.yahoo.com/question/indew?qid=20090822205140AAAS2Tzs
14. กรีนคลินิก. (พญ.สุภาณี ศุกระฤกษ์ อายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง). “ตังกุย”, “ตังกุย (Dong quai)“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [10 มิ.ย. 2015].
15. ตังกุยหรือโกฐเชียง.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)