เถาวัลย์เปรียง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เถาวัลย์เปรียง งานวิจัยและสรรพคุณ 17ข้อ


ชื่อสมุนไพร เถาวัลย์เปรียง
ชื่ออื่นๆ เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง (ภาคกลาง) , เครือตาปลา , เครือไหล (เชียงใหม่) , เครือตับปลา (เลย) , เถาตาปลา , เครือเขาหนัง , ย่านเหมาะ (นครราชสีมา) , พานไสน (ชุมพร) , เครือตาป่า , เครือตาปลาโคก , เครือตาปลาน้ำ (ภาคอีสาน) ย่านเหมาะ ,ย่านเบราะ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Derris scandens (Roxb.) Benth
ชื่อสามัญ Jewel Vine
วงศ์ Papilionaceae

เถาวัลย์เปรียง

 

 

ถิ่นกำเนิดเถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียงเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นของประเทศไทย พบได้ทุกภาคของประเทศไทย พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นเองตามชายป่าและที่โล่งทั่วไป เป็นพรรณไม้ที่มีมากที่สุดในประเทศไทยและใช้กันทุกจังหวัด
 

ประโยชน์และสรรพคุณเถาวัลย์เปรียง

  1. แก้เส้นเอ็นพิการ
  2. แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว
  3. ขับปัสสาวะ
  4. แก้บิด
  5. แก้หวัดแก้เมื่อยขบในร่างกาย
  6. แก้กระษัยเหน็บชา
  7. แก้เส้นเอ็นขอด
  8. ถ่ายเสมหะ
  9. แก้ปวด แก้ไข้
  10. แก้ปัสสาวะพิการ
  11. ช่วยทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย
  12. บรรเทาโรคต่อมลูกหมากโต
  13. รักษาอาการตกขาวของสตรี
  14. ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
  15. รักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก
  16. เถาใช้ดองกับเหล้าเป็นยาขับระดูของสตรี
  17. ใช้เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้เถาวัลย์เปรียง

บัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชียาจากสมุนไพร 2556 ยาพัฒนาจากสมุนไพร กลุ่มยารักษากลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ระบุรูปแบบและขนาดวิธีใช้ยาดังนี้
1. ขับโลหิตเสียของสตรี ด้วยการใช้เถาวัลย์เปรียงทั้งห้าแบบสด ๆ นำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ดื่มต่างน้ำ (ทั้งห้า)
2. ทำให้มดลูกเข้าอู่ ด้วยการใช้เถาสดนำมาทุบให้ยุ่ย แล้ววางทาบลงบนหน้าท้อง แล้วนำหม้อเกลือที่ร้อนมานาบลงไปบนเถาวัลย์เปรียง จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น 
3. ใช้เถานำมาหั่นตากแห้งคั่วชงน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาทำให้เส้นหย่อน แก้อาการเมื่อยขบตามร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้เหน็บชา (เถา)
4. ใช้เถาเพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก โดยการนำเถามาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหัวครำ แล้วใช้เป็นยาทานวดบริเวณที่เป็นทุกวันจนหาย (เถา)
ยาเถาวัลย์เปรียง ยาแคปซูล (รพ.)
ข้อบ่งใช้ : บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ขนาดและวิธีใช้ : รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
ยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง ยาแคปซูล
ข้อบ่งใช้ : บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) และอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)
ขนาดและวิธีใช้ : รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารทันที
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์
ยาเถาวัลย์เปรียง(แคปซูล) 400 mg (บัญชีร่วม รพสต.)
ข้อบ่งใช้ : แก้ข้ออักเสบ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง OA
ขนาดและวิธีใช้ : รับประทานครั้งละ 2*3PC (500Mg.– 1g.) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารทันที
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ 


ลักษณะทั่วไปเถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียงเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ เถามักจะบิดเนื้อไม้สีมีวงเข้ม ซึ่งมี 2 ชนิด คือชนิดแดง (เนื้อสีแดงวงสีแดงเข้ม) และชนิดขาว (เนื้อออกสีนํ้าตาลอ่อนๆ วงสีนํ้าตาลไหม้)
ต้นเถาวัลย์เปรียง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร มีกิ่งเหนียวและทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้เป็นสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้ คล้ายกับเถาต้นแดงและเถาเอ็นอ่อน (เนื้อไม้มีรสเฝื่อนและเอียน) ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม
ใบเถาวัลย์เปรียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 4-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ
ดอกเถาวัลย์เปรียง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาวห้อยลง ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วงอ่อนคล้ายกับดอกถั่ว กลีบดอกมี 4 กลีบ และมีขนาดไม่เท่ากัน สวนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สีม่วงแดง
ผลเถาวัลย์เปรียง ออกผลเป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน ฝักเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด

เถาวัลย์เปรียง

การขยายพันธุ์เถาวัลย์เปรียง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ชอบดินเหนียวไม่ชอบดินทราย ชอบสภาพชื้นแต่ไม่แฉะ

การปลูกและการดูแลรักษา
• ใช้เมล็ดแก่ที่มีสีนํ้าตาล (เมล็ดแก่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) แกะเปลือกนอกของเมล็ดออก นำ ไปเพาะในถุงชำ ถุงละ 2-3 เมล็ด รดนํ้าให้ชุ่ม
• เมื่อตัดต้นสูงประมาณ 1 คืบ นำ ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ถ้าหากไม่เพาะลงถุงจะปลูกตรงจุดที่ต้องการเลยก็ได้ พร้อมทำ ซุ้มบริเวณที่ปลูก เถาวัลย์เปรียงได้เลื้อยเกาะด้วย

การเก็บเกี่ยวเถาวัลย์เปรียง

• เริ่มเก็บเกี่ยวได้ เมื่ออายุ 3-5 ปี
• เลือกเถาแก่ซึ่งจะมีสีเทา และมีจุดคล้ายเกล็ดสีขาวๆ เถามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ขึ้นไป
• ตัดให้เหลือเถาไว้ 1-2 ศอก เพื่อให้แตกขึ้นใหม่ ตัดได้ประมาณ 2 ปีต่อครั้ง
• นำ เถามาสับเป็นแว่นๆ หนาประมาณ 1 เซนติเมตร ตากแดด 3-5 วัน หรืออบให้แห้ง


องค์ประกอบทางเคมีเถาวัลย์เปรียง

ที่พบในเถาและรากเถาวัลย์เปรียง ได้แก่ chandalone, etunaagarone, nalanin, lonchocarpenin, osajin, robustic acid, scandenin, scandione, , scandinone, waragalone, wighteone
สารกลุ่ม isoflavone glycoside ได้แก่ eturunagarone, 4,4’-di-O-methylscandenin, lupinisol A, 5,7,4’-trihydroxy-6,8-diprenylisoflavone, 5,7,4’-trihydroxy-6,3’-diprenylisoflavone, erysenegalensein E, derrisisoflavone A-F, scandinone, lupiniisoflavone G, lupalbigenin, derrisscandenoside A-E, 7,8-dihydroxy-4’-methoxy isoflavone, 8-hydroxy-4’,7-dimethoxy isoflavone-8-O-b-glucopyranoside, 7-hydroxy-4’,8-dimethoxy isoflavone-7-O-beta-glucopyranoside, formononetin-7-O-beta-glucopyranoside, diadzein-7-O-[α-rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside, formononetin-7-O-α- rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside, derrisscanosides A-B, genistein-7-O-[α- rhamnopyranosyl-(1,6)]-beta-glucopyranoside
สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ 3-aryl-4-hydroxycoumarins สารกลุ่มสเตียรอยด์ได้แก่ lupeol, taraxerol, b-sitosterol สารอื่นๆ เช่น 4-hydroxy-3-methoxy benzoic acid, 4-hydroxy-3,5-dimethoxy benzoic acid

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเถาวัลย์เปรียง 

โครงสร้างเถาวัลย์เปรียง

Chandalone

โครงสร้างเถาวัลย์เปรียง

robustic acid

โครงสร้างเถาวัลย์เปรียง

scandenone   

ฤทธิ์ทางเภสัชเถาวัลย์เปรียง

สารสกัดน้ำจากเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ยับยั้งการสร้าง leukotriene B, ลดการหลั่ง myeloperoxide, ลดการสร้าง eicosanoid), ลดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนู, สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ,สารสกัดบิวทานอล และสารประกอบประเภท rhamnosyl-(1,6)-glucosylisoflavone มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต, สารสกัดด้วย 50% เอทานอล มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน, ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์, ฤทธิ์ต้านเชื้อรา

 เถาวัลย์เปรียง


การศึกษาทางคลินิกเถาวัลย์เปรียง

บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง การเปรียบเทียบสรรพคุณของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงกับยาไดโคลฟีแนค ในการเป็นยาบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง พบว่าเมื่อให้ผู้ป่วย รับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงบรรจุแคปซูลขนาด 200 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานยาไดโคลฟีแนคขนาด 25 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ผลพบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงสามารถลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้ไม่แตกต่างจากการใช้ยาไดโคลฟีแนค
กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย การศึกษาประสิทธิผลของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครสุขภาพดี เมื่อได้รับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียงทีสกัดด้วย 50% เอทานอล ขนาดวันละ 400 มก. นาน 2 เดือน ไม่พบความผิดปกติของระบบต่างๆของร่างกาย และพบว่าสารสกัดเพิ่มการหลั่งของ IL-2 และ gamma–IFN แสดงว่าสารสกัดมีฤทธิ์เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
การศึกษาประสิทธิผล และความปลอดภัยของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในการรักษาอาการอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมการวิจัยทางคลินิกกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเข้าร่วมโครงการจำนวน 125 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแผนปัจจุบันนาโพรเซน (Naproxen) ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสารสกัดเถาวัลย์เปรียงขนาด 400 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ยาแผนปัจจุบันนาโพรเซนและสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิผลและความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน และผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้ง 2 กลุ่มมีความพึงพอใจต่อการรักษาร้อยละ 80
การศึกษาความปลอดภัยของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครสถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษาความปลอดภัยของสสารสกัดเอทานอล 50 % ของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 12 ราย โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียงขนาด 200 มิลลิกรัม/แคปซูล ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และเจาะเลือดทุก 2 สัปดาห์ พบว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ระหว่างรับประทานสารสกัดเถาวัลย์เปรียง และเมื่อเทียบกับก่อนได้รับสารสกัด ค่าทางโลหิตวิทยาบางค่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น ค่าร้อยละของเม็ดเลือดขาวชนิด basophil เพิ่มขึ้น ค่า hemoglobin และค่าร้อยละของ hematocrit ลดลงในบางสัปดาห์
 

การศึกษาทางพิษวิทยาเถาวัลย์เปรียง

สำหรับด้านความเป็นพิษของสารสสกัดเถาวัลย์เปรียงนั้นจากการศึกษาสารสกัดเอธานอล 50% โดยป้องให้หนูขาวในขนาดสูงถึงวันละ 600 มิลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับ 75 – 100 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน ไม่พบอาการแสดงความเป็นพิษต่ออวัยวะและการทำงานผิดปกติของระบบต่างๆ ของหนูขาวเลย
การทดสอบพิษเฉียบพลัน ของสารสกัดลำต้นด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 6,250 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
มีรายงานการศึกษาพิษเรื้อรัง ( 6 เดือน ) ของสารสกัด 50 % เอทานอลของเถาวัลย์เปรียงในหนูขาว 4 กลุ่มๆ ละ 20 ตัว/เพศ กลุ่มควบคุมได้รับน้ำ 10 มิลลิลิตร / กิโลกรัม / วัน กลุ่มทดลองได้รับสารสกัดขนาด 6 , 60 และ 600 มิลลิกรัม / กิโลกรัม / วัน หรือ เทียบเท่าผงเถาวัลย์เปรียง 0.03 , 0.3 และ 3 กรัม / กิโลกรัม / วัน หรือ 1 , 10 และ 100 เท่าของขนาดใช้ในคนต่อวัน พบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยา ชีวเคมีของเซรั่ม หรือจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายใน ที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัด และไม่พบความผิดปกติใดๆ
 

รับผลิตเถาวัลย์เปรียง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

1. เถามีสารที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิง จึงควรระวังถ้าจะรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
2. ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์
3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเปปติก เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงออกฤทธิ์คล้ายยาแก้ปวดกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-lnflammatory Drugs, NSAIDs)
4. อาการไม่พึงประสงค์ ปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง ใจสั่น
5. อาการไม่พึงประสงค์ของการใช้สารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงที่สกัดด้วย 50 % เอทิลแอลกอฮอล์ คือ มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และอุจจาระเหลว

เอกสารอ้างอิง

1. เถาวัลย์เปรียง.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=vieqpage&pid=63
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เถาวัลย์เปรียง (Thao Wan Priang)“. หน้า 139.
3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.(พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).“เถาวัลย์เปรียง“. หน้า 119.
4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.(คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เถาวัลย์เปรียง“. หน้า 101.
5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เถาวัลย์เปรียง“. หน้า 349-350.
6. นิตยสารมติชนเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 534 เดือนกันยายน 2555 หน้าที่ 66. “เถาวัลย์เปรียง…สมุนไพรแก้เส้นเอ็นขอด“.อ้างอิงใน: หนังสือเภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ (จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์).
7. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม. ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2544. “เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรทางเลือกสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย การอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อเข่าเสื่อม“. (ภก.ดร.สัญญา หกพุดซา).
8. NLEM บัญชียาหลักแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. “ยาเถาวัลย์เปรียง
9. สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง.สมุนไพรไทย สมุนไพรพื้นบ้าน วิธีการปลูก สรรพคุณ การดูแลรักษา.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://herbmedicinehealth.blogspot.com/2012/06/blog-post_11.htm/
10. จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์.เภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ.กรุงเทพฯ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกษา 2544
11. วุฒิ วุฒิธรรมเวช สารานุกรมสมุนไพร ร่วมหลักเภสัชกรรมไทย กรุงเทพฯ โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ 2540
12. พิสมัย เหล่าภัทราเกษม Houghton PJ, Hoult JR , อรุณพร อิฐรัตน์ , An evaluation of the acclivity related to inflammation of four plants used in Thailand to treat arthritis , J Ethnophamacol 2003;85:207-15.
13. พิสมัย เหล่าภัทรเกษม Houghton PJ and Hoult JR Anti-inflammatory isoflavonoids from the stems of Derris scandens . Planta Med 2004;70:496-501
14. ปราณี ชวลิตธำรง , ทรงพล ชีวะพัฒน์ , อัญชลี จูฑะพุทธิ , สดุดี รัตนจรัสโรจน์ . สมเกียรติ ปัญญามัง , Chronic toxicity study of crude extract of Derris scandens Benth . Songklanakarin J Sci Technol 1999;21:425-33.
15. ปราณี ชวลิตธำรง , บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ , ศิริมา ปัทมดิลก , สดุดี รัตนจรัสโรจน์ ,ปราณี จันทเพ็ชร์ , ไพจิตร์ วราชิต . Safety of Derris scandens hydroalcoholic in healthy volunteers. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2548;3:17-26.
16. เถาวัลย์เปรียง รักษาอาการปวด . นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 370.กุมภาพันธ์ 2553. คอลัมภ์เก็บข่าวมาฝาก
17. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ , กฤติยา ไชยนอก . เถาวัลย์เปรียง . คู่มือการใช้สมุนไพรสำหรับประชาชน.กรุงเทพฯ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,2555 หน้า 38-40
18. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . บัญชียาหลักแห่งชาติ(รายการยาจากสมุนไพร)กรุงเทพมหานคร:สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา,2554
19. ไพจิตร วราชิต ปราณี ชวลิตธำรง บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ ศิริมา ปัทมดิลก สดุดี รัตนจรัสโรจน์. รายงานวิจัย “การศึกษาความปลอดภัยของเถาวัลย์เปรียงในอาสาสมัคร” 12 หน้า
20. ยุทธพงษ์ ศรีมงคล ไพจิตร์ วราชิต ปราณี ชวลิตธำรง และคณะ การเปรียบเทียบสรรพคุณของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงกับไดโคลฟิแนคเป็นยาบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง .วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2550:5(1):17-23.
21. Chavalittumrong P. Chivapat S, Chuthaputti A, Rattanajarasoj S, Punyamong S, Chronic toxicity stidy of crude extract of Derris scandens Benth. Songklanakarin J Sci Technol 1999;21(4):425-33.