ดอกดาวเรือง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ดอกดาวเรือง งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ดาวเรือง
ชื่ออื่นๆ คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง), ดาวเรืองใหญ่ (ทั่วไป), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), หมอกส่างกาน (ไทยใหญ่), ว่านโซว่จี้ (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. 
ชื่อสามัญ Marigold
วงศ์ COMPOSITAE 


ถิ่นกำเนิดดาวเรือง

ดอกดาวเรือง นั้นมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยดาวเรือง มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก ต่อมามีคนนำเข้าไปปลูกในแถบประเทศยุโรป และเอเชียใต้รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ อาทิ อียิปต์ ฮังการี สเปน ฝรั่งเศส และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เป็นต้น โดยคนในเอเชียใต้จะใช้ดอกดาวเรืองสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้บูชา ทางศาสนาพุทธ และพิธีมงคลต่างๆ แต่ในเม็กซิโกดอกดาวเรืองนั้นจะใช้ในเทศกาลวันแห่งความตาย คนนิยมใช้ดอกดาวเรืองบูชาแท่นพระแม่มารี ดอกไม้ชนิดนี้จึงถูกขนานนามว่า Mary's gold ตามสีนั่นเอง ต่อมาจึงเรียกกันเพี้ยนไปเป็น Marigolds ดาวเรือง ไม่ใช่มีประโยชน์แค่การบูชาเท่านั้น มันยังถูกนำไปใช้ ปลูกเป็นไม้ประดับอีกด้วย สำหรับการปลูกในประเทศไทยในอดีตนั้นยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน แต่พบว่ามีหลักเริ่มมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์มาปลูกครั้งแรก ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ.2510 จากประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น


ประโยชน์และสรรพคุณดาวเรือง
            
 

  1. ใช้ละลายเสมหะ
  2. แก้เวียนหัว
  3. ใช้รักษาโรคตาแดง
  4. เป็นยาลดไข้
  5. ช่วยบำรุงตับ
  6. แก้ร้อนใน
  7. แก้ไอหวัด ไอกรน
  8. รักษาอาการเต้านมอักเสบ
  9. แก้เต้านมเป็นฝี
  10. แก้เป็นแผลมีหนอง
  11. ใช้แก้ฝีหนอง
  12. แก้อาการบวมโดยไม่รู้สาเหตุ
  13. ช่วยลดการติดเชื้อ 
  14. ใช้ป้องกันผิวแห้ง ผิวแตกลาย
  15. บำรุงผิว
  16. บำรุงเส้นผม
  17. ใช้เป็นยาระบาย
  18. แก้อาการหูเจ็บ ปวดหู
  19. ช่วยแก้อาการปวดฟัน
  20. ช่วยรักษาปากเปื่อย
  21. ช่วยแก้อาการปวดท้อง
  22. แก้อาการปวดตามข้อ
  23. เป็นยาฟอกเลือด
  24. ช่วยแก้อาการเวียนศีรษะ
  25. แก้เด็กเป็นตานขโมย
  26. แก้หลอดลมอักเสบ
  27. ใช้เป็นยาฟอกเลือด
  28. ช่วยบำรุงสาย และถนอมสายตาได้ดี
  29. ใช้รักษาคางทูม
  30. แก้ริดสีดวงทวาร
  31. ใช้แก้พิษ และดับพิษร้อนในตับ
  32. รักษาโรคไส้ตันอักเสบ หรือ มีอาการปวดท้องขนาดหนักคล้ายกับไส้ติ่ง

ดาวเรือง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้ไอกรน ใช้ดอกสด 15 ดอก ต้มเอาน้ำมาผสมน้ำตาลแดงกิน แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ดอกสด 30 กรัม กับจุยเฉี่ยวเอี้ยง (Inula helianthus-aquatilis C.Y.Wu ex Ling) 10 กรัม และจี๋อ้วง (Aster tataricus L.f.) 7 กรัม ต้มน้ำกิน แก้เต้านมอักเสบ ใช้ดอกแห้ง, เต่งเล้า (Paris pelolata Bak.ex Forb.) และดอกสายน้ำผึ้ง (Lonice ra japonica Thunb) อย่างละเท่าๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำส้มสายชูทาบริเวณที่เป็น แก้ปวดฟัน, ตาเจ็บ ใช้ดอกแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน

  • ผลดาวเรือง ผลเป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกจะแห้งติดกับผล โคนกว้างเรียวสอบไปยังปลายซึ่งปลายผลนั้นจะมน

  • ดอก และรากมีรสขมเผ็ดเล็กน้อย มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาฟอกเลือด ในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกเป็นยาฟอกเลือด ช่วยแก้อาการเวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงสาย และถนอมสายตาได้ดี ในตำรายาจีนจะนำดอกมาปรุงกับตับไก่ใช้กินเป็นยาบำรุงสายตาได้ดี ช่วยแก้ตาเจ็บ ตาบวม ตาแดง ปวดตา ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยแก้อาการเวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาคางทูม ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ส่วนตำรายาจีนจะใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง เต่งเล้า อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผง ผสมกับน้ำส้มสายชูคนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น ใช้เป็นยาแก้ไข้สูงในเด็กที่มีอาการชัก ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยแก้อาการไอหวัด ไอกรน ไอเรื้อรัง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน ช่วยขับและละลายเสมหะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยรักษาปากเปื่อย ช่วยแก้คอ และปากอักเสบ ใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ หรือ ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ โดยใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกสด 30 ดอก ผสมกับจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม, จุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝี โดยใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb), เต่งเล้า (paris petiolata Bak. EX. Forb.) อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู คนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น ดอกและทั้งต้นเป็นยาขับลม ทำให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี ส่วนตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกจะใช้ช่อดอกและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม ช่วยแก้อาการจุกเสียด เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร โดยในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกดาวเรือง เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ใช้เป็นยากล่อมตับ ดับพิษร้อนในตับ ด้วยการใช้ดอก 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม ดอกมีสรรพคุณเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็ว ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นแผล

  • ใบ แก้เด็กเป็นตานขโมย ใช้ใบแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม น้ำคั้นจากใบใช้แก้อาการหูเจ็บ ปวดหู ใบและช่อดอกนำมาชงกับน้ำ ใช้เป็นยาขับพยาธิ ใบมีรสชุ่มเย็นและมีกลิ่นฉุน น้ำคั้นจากใบสามารถนำมาใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อย หรือ นำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้ บ้างก็ใช้น้ำคั้นจากใบนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว เคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อยและฝีต่างๆ

  • รากใช้เป็นยาระบาย ช่วยแก้อาการปวดท้อง ต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคไส้ตันอักเสบ หรือ มีอาการปวดท้องขนาดหนักคล้ายกับไส้ติ่ง ใช้เป็นยาแก้พิษ แก้อาการบวมอักเสบ 


ลักษณะทั่วไปของดาวเรือง

ต้นดาวเรือง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่อง ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวนและจัดเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง

           ใบดาวเรือง มีลักษณะเป็นใบประกอบคล้ายขนนก ปลายคี่ (odd-pinnate) เรียงตัวตรงกันข้าม มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ใบยาว 4-11 ซม. กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ใบมีรอยเว้าลึกถึงก้านใบ ใบย่อยดาวเรือง มีลักษณะเรียวยาวเป็นรูปหอก ปลายแหลม

           ดอกดาวเรือง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสด หรือ สีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้น หรือ เป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออกปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมาก และเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว

           เมล็ดดาวเรือง เมล็ดมีลักษณะเรียวยาว และมีหางเมล็ดมีขนาด เมล็ดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับเมล็ดไม้ดอกชนิดอื่น 

ดอกดาวเรือง

การขยายพันธุ์ดาวเรือง

  • ดาวเรือง สามารถเจริญเติบโตได้ทุกในสภาพดิน แต่เป็นพืชที่ต้องการดินร่วน หน้าดินไม่แน่น มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำท่วมขังสภาพดินมีความชุ่มชื้นพอเหมาะ ไม่แห้งแล้ง
  • การขยายพันธุ์ จะใช้วิธีการเพาะหรือปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์เป็นหลัก ซึ่งอาจเพาะในกระบะ หรือ แปลงเพาะ ด้วยการผสมดินกับวัสดุเพาะ เช่น ปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1: 2
  • การเพาะในแปลงเพาะ ควรทำเป็นร่องห่างกันประมาณ 3-5 ซม. แล้วหยอดเมล็ดห่างกันในระยะเดียวกัน แล้วกลบร่องด้วยวัสดุเพาะ เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเมื่อเพาะเมล็ด 5-10 วัน
  • การปลูก จะใช้กล้าที่มีใบแท้ 2-4 ใบ การปลูกในแปลงสำหรับพันธุ์สูงที่ระยะ 45-60 ซม. พันธุ์เตี้ย 30-40 ซม. ทั้งในระยะระหว่างแถว และระหว่างต้น ทั้งนี้ ควรทำการไถยกร่องแปลง และตากดิน พร้อมกำจัดวัชพืชก่อน แปลงปลูกอาจยกร่องเป็นการปลูกแบบแถวเดียวกว้าง 40-50 ซม. หรือ ปลูกแบบแถวคู่กว้าง 100-120 ซม.
  • การให้น้ำ อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ตามลักษณะสภาพอากาศ และความชุ่มชื้นของดิน การให้น้ำมาก จะให้หลังจากการเพาะเมล็ด หรือ ย้ายกล้าใหม่เท่านั้น
  • การใส่ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ตั้งแต่ช่วงหลังเมล็ดงอก 1-2 สัปดาห์ หรือ มีใบแท้ 2-3 ใบ และหลังการย้ายกล้าปลูก 1-2 อาทิตย์
  • การเด็ดยอด ควรเด็ดเมื่อดาวเรือง อายุ 23-25 วัน นับหลังการเพาะเมล็ด หรือ มีใบจริง 5-7 คู่ เพื่อให้ดาวเรืองแตกกิ่งออกเป็นทรงพุ่มกว้าง
  • การเก็บดอก การเก็บดอกจะเริมเก็บได้ประมาณ 60-70 วัน หลังการปลูกตามฤดู โดยเลือกเก็บดอกที่บานยังไม่เต็มที่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อตัดก้านดอกให้รีดใบล่างออก และเหลือใบบนประมาณ 1-2 ใบ
    โดยดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta), ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula), ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold), ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia) 


องค์ประกอบทางเคมี

ดอก หรือ ช่อดอกดาวเรือง มีสาร Flavonoid glycosides, Tagetiin 0.1% และมีสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของดอกสด Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin และสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่สำคัญ ได้แก่ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ในใบดาวเรืองมีสารคาเอมพ์เฟอริตริน (Kaempferitrin) ซึ่งมีฤทธิ์แก้อาการอักเสบนอกจากนี้ยังมีวิตามินพี (Vitamin P) ค่อนข้างสูงและ ทั้งต้นพบน้ำมันระเหย เช่น Carotent, d-limonene, Flavoxanthin, Helenienm Nonanal, Ocimene, Tagetiin, Tagetone d-Terehienyl เป็นต้น พบว่าในดอกมีสารฆ่าแมลงที่ชื่อว่า Pyrethrin และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งแสดงฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อในราในหลอดทดลองด้วย

โครงสร้างดาวเรือง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของดาวเรือง

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุและพบได้บ่อย คือ Staphylococcus aureus มีการทดสอบสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของดาวเรือง เพื่อต้านแบคทีเรียชนิดนี้อยู่หลายการทดลอง ดังนี้ มีการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน ความเข้มข้น 5 มก./มล. กับ S. aureus ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อได้ 

           นอกจากนี้มีการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากพืช 24 ชนิดในการต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้วิธี disc diffusion assay ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดจากดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ต้าน S. aureus จริง และการทดสอบน้ำสกัดและสารสกัดจากเอทานอล (95%) ซึ่งใช้วิธีการสกัดแบบแช่ของสมุนไพรแห้ง 6 ชนิด ทำการทดสอบแบบ disc diffusion method ในจานเพาะเชื้อ จากผลการทดสอบพบว่า น้ำสกัดจากใบและสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอกดาวเรือง ที่ความเข้มข้น 1:1 มีฤทธิ์ต้าน S. aureus 

           สารคาเอมพ์เฟอริตริน (Kaempteritrin) ในใบของดาวเรือง มีฤทธิ์แก้อักเสบ โดยมีการทดลองให้หนูตะเภากินขนาด 50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตัน ทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น มีฤทธิ์แรงกว่ารูติน (Rutin) และมีปริมาณวิตามิน พี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ สารนี้ยังสามารถลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กของกระต่ายที่แยกจากตัว ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง 

           สารสกัดจากดอกดาวเรือง มีผลเช่นเดียวกับต้น Tagetes minuta L. หรือ Tagetes glandif lora ที่มีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ในการสงบประสาท ช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือดและหลอดลม และช่วยแก้อาการอักเสบ 
  

การศึกษาทางพิษวิทยาของดาวเรือง        

 การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดเมทานอลจากดอกหรือรากสด เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร พบว่า LD50 มากกว่า 2 ก./กก. และเมื่อใช้สารสกัดเอทานอล (50%) จากทั้งต้นของดาวเรือง แทน พบว่า LD50 มากกว่า 1 ก./กก.  พิษต่อเซลล์ มีการทดลองใช้ผงจากดอกและใบของดาวเรือง โดยใช้ภายนอกในการรักษาหูดที่ฝ่าเท้าในผู้ใหญ่ จำนวน 31 ราย โดยทำการทดลองแบบสุ่มเทียบกับยาหลอก จากผลการศึกษาพบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีพิษต่อเซลล์ และเมื่อทำการทดสอบน้ำมันหอมระเหยจากใบสดกับเอมบริโอของไก่ (ไม่ทราบความเข้มข้น) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบสดมีพิษต่อเซลล์ของสัตว์ทดลอง  

รับผลิตสมุนไพร

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ในการบริโภคดอกดาวเรืองเพื่อให้ได้สารต่างๆ ที่มีสรรพคุณทางยานั้น จะเป็นการบริโภคดอกดาวเรืองที่ตากแห้งเท่านั้น ไม่ควรนำดอกดาวเรืองสดๆ มาบริโภคเนื่องจากยังไม่พบว่ายังไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้ดอกดาวเรือง สามารถบริโภค เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ อีกทั้งในการบริโภคในปัจจุบันอาจยังไม่มีการกำหนดตายตัวว่าควรบริโภคดอกดาวเรืองแห้งจำนวนเท่าใดต่อวัน ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคมากจนเกินไป และไม่ควรบริโภคต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกินไป และผู้ที่มีอาการของโรคตับ โรคไต ไม่ควรบริโภคเพราะอาจทำให้ตับ และไตทำงานหนักเกินไป นอกจากนี้ สตรีที่ให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเช่นกันเพราะอาจส่งผลกระทบไปถึงบุตรได้

เอกสารอ้างอิง ดาวเรือง
  1. ประวัติดอกดาวเรือง สำนักวิทยาศาสตร์.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://marigoid-th.blogspot.com/2516/06/blog-post_91.html
  2. ดาวเรือง.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  3.  มาลัย วรจิตร. แบคทีเรียก่อโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวี. ใน: พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ, บรรณาธิการ. เอชไอวีและจุลชีพฉวยโอกาส. กรุงเทพฯ:อักษรสมัย, 2541:12.1-12.6.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ดาวเรือง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 222.
  5. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ดาวเรือง African marigold”. หน้า 197.
  6. Lopez A, Hudson JB, Towers GHN. Antiviral and antimicrobial activities of Colombian medicinal plants. J Ethnopharmacol 2001;77:189-96.
  7. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [10 มี.ค. 2014].
  8. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ดาวเรืองและเทียน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 13. คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้. พฤษภาคม 2523
  9. Penna CA, Radice M, Gutkind GO, et al. Antibacterial and antifungal activities of some Argentinean plants. Fitoterapia 1994;65(2):172-4.
  10. Meckes-Lozoy M, Gaspar L. Phototoxic effect of methanolic extracts from Porophyllum macrocephalum and Tagetes erecta. Fitoterapia 1993;64(1):35-41. 
  11. เอกสารเผยแพร่ของ ศ.สมเพียร เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โดยศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. เรื่อง “ดาวเรือง”.
  12. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ดาวเรืองใหญ่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 288-289.
  13. สุมาลี เหลืองสกุล. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนองของสารสกัดจาก สมุนไพร 6 ชนิด. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3, สงขลา, 20-23 ต.ค. 2530:522-3.  
  14. Bhakuni OS, Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN. Screening of Indian plants for biological activity. Part II. Indian J Exp Biol 1969;7:250-62.  
  15. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ดาวเรืองใหญ่ (Dao Rueang Yai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 113.
  16. ดาวเรือง. พืชเกษตร. ดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  17. Khan MT, Potter M, Birch L. Pediatric treatment of hyperkeratotic plantar lesions with marigold Tagetes erecta. Phytother Res 1996;10(3):211-4.
  18. El-Tantawy ME, Hamauda MSM, Azzam AS. Chemical composition and biological activity of the essential oil of Tagets erecta L. cultivated in Egypt. Bull Fac Pharm Cairo Univ 1994;32(1):113-8.