ตรีผลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตรีผลา งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
ชื่อยา ตรีผลา (Triphala)
ประวัติความเป็นมาของตำรับยา
ตำรับยาตรีผลา นั้นเป็นตำรับยาที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อายุรเวชของอินเดียโดยออกเสียงเรียกว่า ตรีผลา หรือ ตรีผลากะ ซึ่งคำว่าตรีนั้นมีความหมายว่าสาม ซึ่งเป็นจำนวนของสมุนไพรที่นำมาใช้ประกอบเป็นยา ส่วนคำว่าผลา นั้นหมายถึงผล ดังนั้นคำว่า ตรีผลา หมายถึงผลไม้ 3 อย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ลูกสมอพิเภก (Terminalia belerica (Gaertn.) Roxb.) 2. ลูกสมอไทย (Terminalia chebula Retz.) 3. ลูกมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) สรุปก็ คือ ตรีผลาเป็นยาสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมของสมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม ก็จะมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยควบคุม กำจัดสารพิษในร่างกาย และใช้รักษาสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย ซึ่งจะส่งเสริมสรรพคุณซึ่งกัน และกันเป็นอย่างดี ซึ่งตัวยาทั้งสามจะช่วยควบคุมพิษข้างเคียงของกัน และกัน เช่น รสเปรี้ยวของลูกสมอพิเภก มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จึงต้องใช้ ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม ซึ่งมีรสฝาด ขมไปช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง และลดอาการท้องมวน เป็นต้น โดยในตำรายาไทยก็เรียกยาที่ได้จากการรวมสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด นี้ตาม ชื่อของอินเดียว่า พิกัดตรีผลา
ประโยชน์และสรรพคุณตรีผลา
- แก้ไข้เพื่อขับเสมหะ
- แก้ไข้เจือลม
- เป็นยาระบาย ยาถ่าย
- แก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ
- แก้โรคตา
- แก้ธาตุกำเริบ
- บำรุงธาตุ
- แก้ไข้
- แก้ริดสีดวง
- แก้ท้องร่วง ท้องเดิน
- รักษาโรคท้องมาน
- รักษาอาการไอ
- รักษาโรคตา
- เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ชีวิตยืนยาว
- กระตุ้นระบบการทำงานของร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน
- มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
- รักษาโรคติดเชื้อ
- รักษาโรคอ้วน
- รักษาโรคโลหิตจาง
- รักษาวัณโรค
- รักษาอาการปอดบวม
- รักษาโรคเอดส์
- แก้ท้องผูก
- ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง
- แก้อาการที่เกี่ยวกับความดันโลหิต
- ช้แก้อาการผิดปกติจากระบบเลือด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ตามตำรายาไทย ระบุว่า ตรีผลา ใช้รักษาอาการที่เกี่ยวกับเสมหะ มีสัดส่วนตัวยาดังนี้ ลูกสมอไทย 4 ส่วน ลูกสมอพิเภก 8 ส่วน ลูกมะขามป้อม 12 ส่วน ใช้แก้อาการที่เกี่ยวกับความดันโลหิต มีสัดส่วนตัวยาดังนี้ ลูกสมอไทย 12 ส่วน ลูกสมอพิเภก 4 ส่วน ลูกมะขามป้อม 8 ส่วน ใช้แก้อาการผิดปกติจากระบบเลือด มีสัดส่วนตัวยาดังนี้ ลูกสมอไทย 8 ส่วน ลูกสมอพิเภก 12 ส่วน ลูกมะขามป้อม 4 ส่วน ใช้แก้อาการที่เกิดจากอาหาร เช่น ท้องร่วง มีสัดส่วนดังนี้ ลูกสมอไทย 8 ส่วน ลูกสมอพิเภก 8 ส่วน ลูกมะขามป้อม 8 ส่วน และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำว่า น้ำตรีผลาสามารถทำเองได้โดยตวงสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด คือ สมอพิเภก 100 กรัม สมอไทย 200 กรัม มะขามป้อม 400 กรัม นำมาใส่หม้อต้มกับน้ำ 6 ลิตร ตั้งไฟต้มจนเดือดประมาณ 30 นาที เติมน้ำตาลทรายแดง 600 กรัม และเกลือ 1 ข้อนชา เคี่ยวจนเข้ากันแล้วจึงยกออกจากเตา กรองเอาแต่น้ำมาใส่ขวดแช่เย็นไว้ดื่มได้ทั้งร้อน และเย็น ทุกเวลา เช้า กลางวัน เย็น โดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554 “ยาตรีผลา” จัดอยู่ในยารักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ กลุ่มยาบรรเทาอาการไอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สูตรตำรับ ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอพิเภก เนื้อลูกมะขามป้อม หนักสิ่งละ 30 กรัม ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ขนาด และวิธีใช้ ชนิดชง รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ชงน้ำร้อน ประมาณ 120-200 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 3-5 นาที ดื่มในขณะยังอุ่น เมื่อมีอาการไอ ทุก 4 ชั่วโมง ชนิดเม็ด ชนิดลูกกลอน และชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 300-600 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการไอ วันละ 3-4 ครั้ง อาการข้างเคียง อาจทำให้มีอาการท้องเสียได้
ส่วนประกอบของยา
ตรีผลา แปลตามรากศัพท์จะได้ คำว่า “ตรี” แปลว่า “สาม” คำว่า “ผลา (ผล)” คือ ผลไม้ 3 อย่าง ได้แก่ ผลสมอพิเภก ผลสมอไทย และผลมะขามป้อม
1. สมอพิเภก
ชื่อ สมอพิเภก
ชื่ออื่น ลัน, สมอแหน, แหน, แหนขาว, แหนต้น, สะคู้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.
ชื่อวงศ์ Combretaceae
- ลักษณะภายนอก
ผลรูปกลม หรือ รี แข็ง กว้างประมาณ 1.5-2 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. มีสัน 5 สัน ผิวนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมล็ดเดี่ยว แข็ง ผลอ่อนรสเปรี้ยว ผลแก่รสเปรี้ยวฝาดหวาน (ฝาดสุขุม) เมล็ดในรสฝาด
- องค์ประกอบทางเคมี
พบสาร chebulagic acid, ellagic acid, gallic acid
2. สมอไทย
ชื่อ สมอไทย
ชื่ออื่น กกส้มมอ, สมอ, มาแน่, สมออัพยา, หมากแน่ะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula Retz. Var chebula
ชื่อพ้อง Myrobalan chebula Gaertn
ชื่อวงศ์ Combretaceae
- ลักษณะภายนอก
ผลรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 2-4 ซม. ผลสดสีเขียวอมเหลือง หรือ บางครั้งมีสีแดงปน ผิวเรียบ มีสัน 5 สัน เมล็ดเดี่ยว แข็ง รูปรี ขนาดใหญ่ ผลแห้งสีดำเข้ม ผิวย่น ผลอ่อน รสเปรี้ยว ผลแก่มีรสฝาดติดเปรี้ยว ขม ไม่มีกลิ่น เนื้อผลรสฝาดเปรี้ยว เมื่อชิมจะมีรสชาติขมเล็กน้อยในช่วงแรก และจะมีรสหวานตามมา เมล็ดมีรสขม
- องค์ประกอบทางเคมี
gallic acid, chebulic acid, chebulinc acid, chebulagic acid, corilagin, terchebin, glucogallin, ellagic acid, sennoside A, chebulin, catechol, tannic acid
ชื่อ มะขามป้อม
ชื่ออื่น กันโตด (เขมร), กำทวด (ราชบุรี), มั่งลู่, สันยาส่า (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica Linn.
ชื่อพ้อง Emblica offcinalis Gaertn.
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae
- ลักษณะภายนอก
ผลสดกลม มีเนื้อ ผิวเรียบ ใส ฉ่ำน้ำ เมื่อดิบสีเขียวออกเหลือง ผลสุกสีเหลืองออกน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร มีเส้นพาดตามความยาวของลูก 6 เส้น เมล็ดกลมแข็งมี 1 เมล็ด เนื้อผลมีรสฝาด เปรี้ยว ขม หวาน รับประทานเป็นอาหารได้ ทำให้ชุ่มคอ รับประทานน้ำตามไป ทำให้มีรสหวานดีขึ้น
- องค์ประกอบทางเคมี
มีวิตามินซีสูง (ในผลมะขามป้อม 1 ผล มีปริมาณวิตามินซี เทียบเท่ากับส้ม 2 ลูก) นอกจากนี้ยังพบ rutin, mucic acid, gallic acid, phyllemblic acid สารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ คูมาริน เป็นต้น
องค์ประกอบทางเคมี
จะมีสารพวกแทนนินชนิดไม่ละลายน้ำ (Condensed tannins) หรือ โพลีฟีนอล ตัวอย่างเช่น กรดแกลลิก (gallic acid) กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) และเอลลาจิแทนนิน (Ellagitannin) ซึ่งเป็นสารที่พบมากในตรีผลา และทับทิม และยังมี Vitamin C, chebulinic acid, bellericanin, β-sitosterol และ flavanoids เป็นส่วนประกอบอีกด้วย และในอินเดียได้นำตรีผลา มาวิจัยและพบว่า มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็งเต้านมได้ดี มีความสามารถในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ และไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติด้วย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตรีผลา
ปัจจุบันนี้การศึกษาในมนุษย์พบว่าตรีผลา สามารถใช้รักษาสมดุลของการย่อยอาหาร และกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ใช้เป็นยาระบาย ส่วนงานวิจัยในหลอดทดลอง และสัตว์ทอลองที่น่าสนใจ คือ ฤทธิ์ในการลดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุสืบเนื่องไปยังโรคเรื้อรังหลายชนิด
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ยืนยันถึงฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ฤทธิ์ในการต่อต้านการอักเสบ (anti-infammatory) ฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (anti-bacterial) ฤทธิ์ต่อต้านการกลายพันธุ์ (anti-mutagenic) ฤทธิ์ต้าน และยังยั้งเซลมะเร็ง (anti-cancerctivity) ฤทธิ์ในการลดระดับไขมันในเลือด ฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ในการปกป้องการเกิดแผลในเยื้อบุกระเพาะอาหารและฤทธิ์ในการปกป้องตับปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจตามอีกด้วย และในอินเดียได้นำตรีผลามาวิจัยและพบว่า มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร้งเต้านมได้ดี มีความสามารถในการป้องการการเกิดอนุมูลอิสระ และไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของตรีผลา
จากการทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์โดยการป้อนสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 0.36, 2.88 และ 23.04 ก./กก./วัน เป็นระยะเวลา 10 วัน หรือ คิดเป็น 1,8 และ 64 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนพบว่าสารสกัดยาแผนโบราณตรีผลา ตำรับแก้วาตะและเสมหะสมุฏฐาน ทำให้หนูเกือบทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวในวันสุดท้าย และการกินอาหารน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ขณะที่ยาแผนโบราณตรีผลาตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานขนาดสูงทำให้หนูเพศผู้มีน้ำหนักตัวในวันสุดท้ายน้อยกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งอาจเป็นผลจากปริมาณสารแทนนิน ซึ่งมีอยู่มากในสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ที่เป็นองค์ประกอบของยาตรีผลา การตรวจค่าทางโลหิตวิทยาของหนูขาวพบว่าสารสกัดตำรับแก้วาตะสมุฏฐานทุกขนาดทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวในหนูเพศเมียลดลง แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารสกัดที่ให้ ส่วนสารสกัดยาตรีผลาตำรับแก้ปิตตะ และเสมหะสมุฏฐาน ไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยาของหนูขาว ผลการตรวจซีรั่มทางชีวเคมีพบว่าสารสกัดทุกตำรับในขนาดสูงทำให้ระดับโปรตีน รวม และ BUN ของหนูเพศผู้มีค่าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ในหนูเพศเมียสารสกัดตำรับแก้ปิตตุสมุฏฐานในขนาดสูงก็มีผลลดระดับโปรตีนรวม และ BUN เช่นกัน ซึ่งผลต่างค่าโปรตีนรวม และ BUN นั้นอาจเนื่องมาจากสารแทนนินในสารสกัด นอกจากนี้สารสกัดตรีผลาตำรับแก้ปิตตะ และวาตะสมุฏฐานทุกขนาด ทำให้ซีรั่มกลอบูลิน ในหนูเพศผู้ลดลงอย่างมีความสัมพันธ์กับขนาดที่ให้ส่วนสารสกัดตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานในขนาด 2.88 และ 23.04 ก./กก./วัน ก็มีผลลดระดับซีรั่มกลอบูลินในหนูเพศผู้ และสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาดเดียวกันมีผลละรับซีรั่มกลอบูลินในหนูเพศเมียเช่นกัน หนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดตรีผลาตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานขนาด 23.04 ก./กก./วัน มีค่าซีรั่มครีอาตินินต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ แต่หนูทั้งสองเพศ ที่ได้รับสารสกัดตรีผลาตำรับแก้วาตะสมุฏฐานขนาดเดียวกัน มีค่าครีอาตินินสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาแสดงให้เห็นว่าตับ และไตของหนูเพศเมียมีความไวต่อพิษของสารสกัดมากกว่าหนูเพศผู้ โดยหนูเพศเมียที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้ปิตตะสมุฏฐานในขนาด 23.04 ก./กก./วัน มีอัตราการเกิด fatty change ของตับ และ nephrocalcinosis มากกว่าหนูกลุ่มควบคุม และหนูเพศเมียที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้วาตะสมุฏฐานทุกขนาดมีอัตราการเกิด nepheocinosis และ hydrocalyx สูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม ส่วนหนูทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดตำรับแก้เสมหะสมุฏฐานพบว่าอัตราการเกิดพยาธิสภาพต่างๆ ของตับ และไตไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ซึ่งพิษต่อตับ หรือ ไตของสารสกัดตรีผลา นั้นอาจเนื่องมาจากสารแทนนิน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ควรระวังในการใช้สมุนไพรตรีผลา คือ การเลือกซื้อวัตถุดิบจะต้องสด ไม่มีเชื้อรา เพราะอายุของวัตถุดิบมักจะสั้นประมาณครึ่งปีเท่านั้น และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ตรีผลามีอยู่หลายรูปแบบ วิธีการเลือกซื้อสำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไปนั้นแนะนำให้สังเกตจากทะเบียนยา วันที่ผลิต วันหมดอายุ ลักษณะบรรจุต้องอยู่ในสภาพที่ดี มีแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และส่วนสตรีในช่วงมีประจำเดือนควรงดการรับประทานตรีผลาเพราะอาจจะทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติและสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรรับประทานรวมถึงผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
อาการข้างเคียง
ที่อาจพบหลังการใช้ตรีผลา เนื่องจากตรีผลาเป็นสมุนไพรที่ใช้ล้างพิษออกจากระบบต่างๆ ของร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ซักระยะหนึ่งแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น โดยอาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้น และมีอาการท้องเสีย แต่หากมีอาการข้างเคียงตามที่กล่าวมารุนแรง และมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง ตรีผลา
- ผศ.ดร.สุดารัตน์ หอมหวน. ตำรับยา “ตรีผลา” ผลไม้ไทยไม่ถูกลืม. ฐานข้อมูลเครื่องยาไทย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก www.thaicrudedruy.com
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก.บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2554 ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักงานกิจการโร พิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์:กรุงเทพมหานคร, 2524.
- ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว. เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พร้อมจิต ศรลัมพ์. ประโยชน์ของสมุนไพรตำรับตรีผลาต่อสุขภาพ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 25(2) : 2551 (ฉบับที่ 02).
- Jagetia G, Baliga S, Malagi K, et al. The evaluation of the radioprotective effect of Triphala (an ayurvedic rejuvenating drug) in the mice exposed to γ-radiation. Phytomedicine. 2002; 9, 99–108.
- Kaur S, Arora S, Kaur K, Kumar S(2002). The in vitro antimutagenic activity of Triphala an Indian herbal drug. Food Chem Toxic Res. Apr;40(4):527-3
- Maruthappan V, Shree KS. (2010). Hypolipidemic activity of haritaki (Terminalia chebula) in atherogenic diet induced hyperlipidemic rats. Advanced PharmacoTechnol Research. Apr ;1(2):229-35
- Sandhyaa T, Lathikaa, K, Pandeyb, et al. Potential of traditional ayurvedic formulation, Triphala, as a novel anticancer drug. Cancer Lett. 2006; 231 (2), 206-214.
- ปราณี ชวลิตธำรง, พัชรักษษมั่น, เอมมนัส อัตตวิชญ์, ปราณีจันทเพ็ชร.พิษกึ่งเฉียบพลันของยาแผนโบราณตรีผลา, วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.ปีที่ 38.ฉบับที่ 3. กรกฎาคม-กันยายน. 2539. หน้า 169-191
- Rajan SS, Antony S(2008). Hypoglycemic effect of Triphala on selected non insulin dependent Diabetes mellitus subjects. Anc Sci Life. Jan;27(3):45-9.
- Mukherjee P, Rai, Sujay, et al. Clinical study of Triphala-A well known phytomedicine from India. Iranian J. Pharmacol. Ther. 2006; 5, 51–54.
- Naik GH, Priyadarsini KI, Bhagirathi RG, Mishra B, Mishra KP, Banavalikar MM, Mohan H(2005). In vitro antioxidant studies and free radical reactions of triphala, an ayurvedic formulation and its constituents. Phytother Research. Jul;19(7):582-6.
- Madani A, Jain SK (2008). Anti-Salmonella activity of Terminalia belerica: in vitro and in vivo studies. Indian Journal Exp Biology. Dec;46(12):817-21
- Rasool M, Sabina EP (2007). Anti inflammatory effect of the Indian Ayurvedic herbal formulation Triphala on adjuvant-induced arthritis in mice. EP.Phytother Res. Sep;21(9):889-94.
- ดร.เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์. หนังสือคู่มืออาหารเสริม. ฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์ เอ็มไอเอส. กรุงเทพฯ 2556. หน้า 256-261