รากสามสิบ
รากสามสิบ งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ
ชื่อสมุนไพร รากสามสิบ
ชื่ออื่นๆ จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ), ผักชีช้าง (หนองคาย), สามร้อยราก (กาญจนบุรี), ผักหนาม (โคราช), เตอสีบอ (กะเหรี่ยง), ม้าสามต๋อน, สามร้อยผัว, สาวร้อยผัว, ศตาวรี
ชื่อวิทยาศาสตร์ Asparagus racemosus Willd.
วงศ์ Asparagaceae
ถิ่นกำเนิดรากสามสิบ
รากสามสิบ เป็นพืชที่เจริญได้ดีในเขตร้อน มีต้นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และมีการกระจายพันธุ์ออกกไปในบริเวณประเทศต่างๆเหล่านี้ เช่น จีน อินเดีย รวมถึงทางเหนือของออสเตรเลีย มักรากสามสิบ จะพบมากในเขตป่าร้อนชื้น ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง เขาหินปูน ป่าผลัดใบ และป่าโปร่ง เป็นต้น
ประโยชน์สรรพคุณรากสามสิบ
- แก้ริดสีดวงทวาร
- ช่วยขับลม
- แก้ขัดเบา
- ขับปัสสาวะ
- ขับเสมหะ
- บำรุงเด็กในครรภ์
- บำรุงตับปอด
- แก้ตับปอดพิการ
- บำรุงกำลัง
- บำรุงสำหรับเพศชาย
- แก้กษัย
- แก้ตกเลือด
- แก้พิษร้อนในกระหายน้ำ
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้พิษแมลงป่องกัดต่อย
- แก้ปวดฝี
- แก้วิงเวียน
- ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง
- ช่วยแก้อาการปวดข้อ และคอ
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยลดไขมันในเลือด
- รักษาโรคคอพอก
- แก้อาการท้องเสีย
- แก้บิด
- กระตุ้นประสาท
คนทางภาคเหนือบ้านเราจะใช้รากสามสิบ ทำเป็นยาดอง ใช้กินเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย กินแล้วคึกคักเหมือนม้า 3 ตัว จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ม้าสามต๋อน” ส่วนหมอยาโบราณจะใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “สาวร้อยผัว” หรือ “สามร้อยผัว” กล่าว คือ ไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังสามารถมีลูกมีผัวได้ อายุเท่าไรก็ยังดูสาวเสมอ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ลดการอักเสบ แก้อาการปวด คลายกล้ามเนื้อของมดลูก บำรุงหัวใจ ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ขับน้ำนม มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเบาหวาน ลดระดับไขมันในเลือด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ยับยั้งพิษต่อตับ ช่วยลดความดันโลหิต
ต้นรากสามสิบ มีสรรพคุณในเรื่องการฟื้นฟูความสาว เป็นสมุนไพรที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์พระเวท ของประเทศอินเดีย มีชื่อเป็นภาษาบาลีสันสกฤตว่า ศตาวรี (Shatawari) หมายความว่า ต้นไม้ที่มีรากเป็นร้อยๆ หรือ บางตำราหมายถึงผู้หญิงที่มีสามีเป็นคนร้อยคน เรียกได้ว่ามีการใช้สมุนไพรชนิดนี้มานานเป็นพันๆ ปี
ในอินเดียนิยมรับประทานน้ำคั้นสดกับนม ต้มน้ำคั้นสดกับนม หรือ ผงแห้งกับเนย และยังใช้เป็นยาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น แก้ไอ รักษาโรคแผลในกระเพาะ แก้บิด แก้ไข้ แก้อักเสบ แก้ท้องอืด บำรุงน้ำนม ขับปัสสาวะ ส่วนการใช้ประโยชน์รากสามสิบ ในด้านอื่นๆ ก็มีอีกเช่น ในอินโดนีเซียนำรากที่มีลักษณะเป็นหัวใบเคลือบน้ำตาลใช้เป็นของหวาน ในอินโดนีเซียใช้หัวเคลือบน้ำตาลรับประทานเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ ใช้กระตุ้นน้ำนมในวัวนม และใช้เป็นไม้ประดับ ในไทยนำรากไปเชื่อมหรือแช่อิ่มรับประทาน ทางภาคใต้นำส่วนเหนือดินมาใส่ในแกงส้มและแกงเลียง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
รากใช้ผสมกับเหง้าขิงป่า และต้นจันทน์แดง ผสมกับเหล้าโรงใช้เป็นยาแก้วิงเวียน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันโลหิตและลดไขมันในเลือด ทั้งต้น หรือ รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคคอพอก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย แก้บิด ใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ตำรับยาบำรุงครรภ์ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ ประกอบไปด้วยสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ รากสามสิบ กฤษณา แก่นสน กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปลือกสมุลแว้ง เทียนทั้ง 5 บัวน้ำทั้ง 5 โกฐทั้ง 5 จันทน์ทั้ง 4 และเทพทาโร (ใช้อย่างละเท่ากัน) นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อเคลือบ หรือ หม้อดิน เติมน้ำลงไปให้ท่วมยาสูงราว 6-7 เซนติเมตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วนำขึ้นตั้งด้วยไฟอ่อนๆ ต้มเคี่ยวประมาณ 30 นาที น้ำยาเดือด และมีกลิ่นหอมจึงยกลงจากเตา ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น วันละ 2 เวลา เป็นยาบำรุงครรภ์อย่างดี แก้กษัย กระตุ้นประสาท ให้ใช้รากประมาณ 90-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละครั้งในตอนเช้า
- ตำรับรักษาอาการเจ็บคอ คออักเสบ (ตำรับของอินเดีย) >> ใช้ผงรากสามสิบ แห้ง 1 ช้อนชา รับประทานกับน้ำผึ้ง วันละ 2-3 เวลา หลังอาหาร
- ตำรับรักษาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ (ตำรับของอินเดีย) >> น้ำคั้นรากสด ปริมาณ 4 ช้อนชา กินกับน้ำผึ้ง วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร ครึ่งชั่วโมง
- ตำรับรักษาอาการตกขาว (ตำรับของอินเดีย) >> น้ำคั้นรากสด 6 ช้อนชา กินวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ท้องว่าง ต่อเนื่อง 10 วัน
ลักษณะทั่วไปของรากสามสิบ
ไม้เลื้อย เนื้อแข็ง ลำต้น สีเขียว มีหนามแหลม มักเลื้อยพันตันไม้อื่น เลื้อยยาว 1.5-4 เมตร เถากลมเรียบ เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม
เหง้า และรากใต้ดินออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวยออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย อวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว โตกว่าเถามาก ลำต้นมีหนาม เถาเล็กเรียว กลม สีเขียว
ใบเดี่ยวรากสามสิบ แข็ง ออกรอบข้อ เป็นฝอยเล็กๆ คล้ายหางกระรอก สีเขียวดก หรือ เป็นกระจุก 3-4 ใบ เรียงแบบสลับ ใบรูปเข็ม กว้าง 0.5-1 มิลลิเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร แผ่นใบมักโค้ง สันเป็นสามเหลี่ยม มี 3 สัน ปลายใบแหลม เป็นรูปเคียว โคนใบแหลม มีหนามที่ซอกกระจุกใบ ก้านใบยาว 13-20 ซม.
ดอกรากสามสิบ เป็นช่อดอก ออกที่ปลายกิ่ง หรือ ซอกใบ แบบช่อกระจะ ยาว 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อย สีขาว ขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม มี 12-17 ดอก ก้านดอกย่อย ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร กลีบรวม มี 6 กลีบ เชื่อมกันเป็นหลอดรูปดอกเข็ม ปลายแยกเป็นแฉก ส่วนหลอดยาว 2-3 มิลลิเมตร ส่วนแฉกรูปช้อน ยาว 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกบางและย่น เกสรเพศผู้ เชื่อม และอยู่ตรงข้ามกลีบรวม ขนาดเล็กมี 6 อัน ก้านชูอับเรณูสีขาว อับเรณูสีน้ำตาลเข้ม รังไข่รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร อยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด หรือมากกว่า ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นสามแฉกขนาดเล็ก
ผลรากสามสิบ ผลสด ค่อนข้างกลม หรือ เป็น 3 พู ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกสีแดง หรือ ม่วงแดง เมล็ดสีดำ มี 2-6 เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน พบตามป่าโปร่ง หรือเขาหินปูน
การขยายพันธุ์รากสามสิบ
การขยายพันธุ์รากสามสิบ ขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เหง้า หรือ ใช้หน่อ รวมถึงใช้เมล็ดในการปลูกก็ได้ แต่การปลูกในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ส่วนการปลูกหากจะปลูกไว้เป็นไม้ประดับก็ควรปลูกลงกระถางขนาดกลางแล้วใส่ดินมากๆ แต่หากจะปลูกเพื่อนำรากไปใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรก็ควรปลูกลงดินเพราะจะทำให้ดอกรากได้มาก เพื่อพอต่อการนำไปใช้ ส่วนการดูแลรักษาต้นรากสามสิบ นั้น เพียงแต่ให้น้ำอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว และเมื่อต้องการนำรากสามสิบไปใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรก็เพียงแค่รอให้ต้นรากสามสิบ เฉาและยุบลงไป (เช่นเดียวกับพืชหัวทุกชนิด) ก็สามารถนำรากสามสิบมาใช้ได้แล้วเพราะได้สะสมอาหารและสารออกฤทธิ์ต่างๆ ไว้อย่างเต็มที่แล้วนั่นเอง
องค์ประกอบทางเคมี
ได้แก่ asparagamine, cetanoate, daucostirol, sarsasapogenin, shatavarin, racemosol, rutin, alkaloid, steroidal saponins
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของรากสามสิบ
ที่มา Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของรากสามสิบ
จากผลการวิจัยที่ผ่านมา พบว่าสารสกัดจากรากสามสิบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา แก้อาการท้องเสีย แก้ไอ ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์คลายเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของรากสามสิบ คือ มีการศึกษาในหนูแรทของสารสกัดรากด้วยเอทานอลต้นรากสามสิบ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉียบพลัน และช่วงยาวต่อเนื่อง โดยการศึกษาในระยะเฉียบพลันป้อนสารสกัดเอทานอลต้นรากสามสิบขนาด 1.25 กรัม/กก. ให้กับหนูแรทที่ไม่เป็นเบาหวาน และหนูแรทที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ ชนิดที่ 2 พบว่าไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ช่วยให้ทนต่อการเพิ่มขึ้นของกลูโคส (glucose tolerance) ในนาทีที่ 30 ดีขึ้น และการศึกษาช่วงยาวต่อเนื่องโดยป้อนสารสกัดเอทานอลรากสามสิบขนาด 1.25 กรัม/กก. วันละ 2 ครั้ง นาน 28 วัน ให้กับหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในขณะที่หนูเบาหวานกลุ่มควบคุมได้รับน้ำในขนาดที่เท่ากัน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเพิ่มระดับของอินซูลิน 30% เมื่อเทียบกับกลุ่มเบาหวานควบคุม นอกจากนี้ยังเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระดับอินซูลินในตับอ่อน และเพิ่มกลัยโคเจนที่ตับเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเบาหวานควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดรากสามสิบน่าจะเป็นผลมาจากการยับยั้งการย่อย การดูดซึมสาคาร์โบไฮเดรต และการเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ซึ่งต้นรากสามสิบน่าจะมีประโยชน์ในการนำมารักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
ในด้านการมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน (phytoestrogenic effect) ได้แก่ ผลการวิจัยของ Rao (ในปี 1981) พบว่าสารสกัดจากรากสามสิบ สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งเต้านมในหนูขาว การให้สารสกัดรากสามสิบในปริมาณ 30 mg/100 g body weight ในหนูตั้งครรภ์ พบว่าขนาดของเต้านมมีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เกิดการขยายของปากช่องคลอด และมดลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีผลลดการหดตัวของมดลูก โดยไปยับยั้งฮอร์โมน oxytocin
เมื่อปี ค.ศ.1997 ที่ประเทศอินเดียได้ ทำการทดลองใช้รากสามสิบกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิด mild hypertension โดยทำการทดลองเปรียบเทียบกับยาลดความดัน (Propranolol) ใช้ระยะเวลาทำการทดลองนาน 3 เดือน ผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลง < 90 mm.Hg. และลดไขมันได้ผลดี ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับผู้ป่วยอายุ 59 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จาก 270-280 mg,/dL. ลดลงเหลือ 120-130 mg./dL. และ HbAic จาก 9 ลดลงเหลือ 5.8
การศึกษาทางพิษวิทยาของรากสามสิบ
การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในหนูแรท โดยป้อนส่วนรากขนาด 2 ก./กก.น้ำหนักตัว ไม่พบความเป็นพิษ อย่างไรก็ตามมีรายงานความเป็นพิษ จากการกินน้ำต้มรากสามสิบ ร่วมกับการใช้ผงรากสวนเข้าทางช่องคลอดเพื่อหวังผลให้แท้งบุตร ทำให้เกิดพิษจนถึงแก่ชีวิตได้ และยังไม่พบการศึกษาความเป็นพิษเมื่อรับประทานเป็นระยะเวลานาน จึงไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีที่กำลังรับประทานยาคุมกำเนิดก็ไม่ควรรับประทานรากสามสิบ ควบคู่กันไปด้วย เพราะจะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป โดยอาการไม่พึงประสงค์ของการได้รับเอสโตรเจนมากเกิน อาจทำให้เกิดเนื้องอก หรือ มะเร็งเต้านม มดลูกมีการบีบตัวมากเกินจนประจำเดือนผิดปกติ เนื้องอกหรือมะเร็งของมดลูกหรือรังไข่ หรือเป็นพิษต่อตับหรือถุงน้ำดีได้
เอกสารอ้างอิง รากสามสิบ
- รากสามสิบ.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardan.com/main.php?action=viewpage&pid=101
- ผศ.ดร.อรระวี คงสมบัติ และคณะ การศึกษาผลของสารสกัดรากสามสิบต่อการสูญเสียการเรียนรู้และความจำของหนูขาวที่ถูกตัดรังไข่. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยนเรศวร.พฤศจิกายน 2555
- หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 465, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2552. (ไพบูลย์ แพงเงิน). “สาวร้อยผัว…ผักพื้นบ้านและสมุนไพรที่น่าสนใจ”.
- นันทวัน บุญยะประภัศร (2542) สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (3) บริษัทประชาชนจํากัด กรุงเทพฯ.
- อรทัย เนียมสุวรรณ, นฤมล เล้งนนท์, กรกนก ยิ่งเจริญ, พัชรินทร์ สิงห์ดำ. 2555. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981-991
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “รากสามสิบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.
- Mandal SC, Nandy A, Pal M, Saha BP. Evaluation of antibacterial activity of Asparagus racemosus Willd. root. Phytotherapy Research 14 (2000a); 118-119.
- สมุนไพรต้นรากสามสิบ สรรพคุณสำหรับผู้หญิง
- Rao. Inhibitory action of Asparagus racemosus on DMBA-induced mammary carcinogenesis in rats. International Journal of Cancer 28 (1981); 607-610.
- เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. รากสามสิบ.หนังสือสมุนไพร ลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.หน้า 157
- Singh GK, Garabadu K, Muruganandam AV, Joshi VK, Krishnamurthy S. Antidepressant activity of Asparagus racemusus in rodent models. Pharmacol. Biochem. Behav. 91 (2008); 283-290.
- Gaitonde BB, Jetmalani MH. Antioxycytocic action of saponin isolated from Asparagus racemosus Willd. (Shatavari) on uterine muscle. Archives Internationales de Pharmacodynamie et de Therapie 179 (1969) ; 121–129.
- Venkatesan N, Thiyagarajan V, Narayanan S, Arul A, Raja S, Kumar SGV, Rajarajan T, Perianayagam JB. Anti-diarrhoeal potential of Asparagus racemosus wild root extracts in laboratory animals. Journal of Pharmacology and Pharmaceutical Sciences 8 (2005); 39-45.
- “รากสามสิบ Asparagus racemosus willd. ASPARAGACEAE”. รายงานการศึกษาพันธุ์ไม้ประจำปีงบประมาณ พศ.2553. ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (สุราษฎร์ธานี) กรมป่าไม้
- รากสามสิบ. กระดานถามตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6500
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. สามสิบ (Sam Sib). หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 298
- ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของรากสามสิบในการยับยั้งการย่อย การดูดซึมคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มการทำงานของอินซูลิน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จากจาก http://medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=833
- Sairam K, Priyambada S, Aryya NC, Goel RK. Gastroduodenal ulcer protective activity of Asparagus racemusus: an experimental, biochemical and histological study. J. Ethnopharmacol. 86 (2003); 1-10.
- กนกพร อะทะวงษา. สมุนไพรวัยทอง (รากสามสิบ). สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 26-30
- Gautam M, Diwanay S, Gairola S, Shinde Y, Patki P, Patwardhan B. Immunoadjuvant potential of Asparagus racemusus aqueous extract in experimental system. Journal of Ethnopharmacology 91 (2004); 251-255
- Bopana N, Saxena S. Asparagus racemosus-Ethnopharmacological evaluation and conservation needs. J Ethonopharmacol. 110 (2007) ; 1-15.