หมามุ่ย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หมามุ่ย งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร หมามุ่ย
ชื่ออื่นๆ บะเหยือง, หม่าเหยือง (ภาคเหนือ), ตำแย (ภาคกลาง), โพล่ยู (กะเหรี่ยงกาญจนบุรี), กลออือแซ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mucuna pruriens (Linn.) DC.
ชื่อสามัญ/ชื่ออังกฤษ Cowitch
วงศ์ LEGUMINOIDEAE
ถิ่นกำเนิดหมามุ่ย
หมามุ่ย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตโซนร้อน (tropical) ต่างๆ ของโลกในทวีปแอฟริกา และเอเชีย โดยในเอเชียสามารถพบหมามุ่ย ได้ในประเทศ ไทย อินเดีย จีน พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ และมักจะมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งหมามุ่ย ในโลกนี้ มีมากมายนับร้อยสายพันธุ์ แต่ก็ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน
ประโยชน์และสรรพคุณหมามุ่ย
- เป็นยาแก้ไข้
- ช่วยขับปัสสาวะ
- บำรุงประสาท
- รักษาโรคบุรุษ
- กระตุ้นกำหนัด
- กระตุ้นเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย
- ขับปัสสาวะ
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย
- ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
- ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง
- ช่วยทำให้นอนหลับสบาย
- ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำอสุจิ
- ช่วยปรับคุณภาพของน้ำเชื้อให้ดีมากยิ่งขึ้น
- ช่วยผ่อนคลายความเครียด
- ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ และมวลของกล้ามเนื้อ
- รักษาอาการไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- รักษาโรคพาร์กินสัน
- แก้พิษแมงป่องกัด
- แก้ไอ
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช้ำใน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้พิษแมงป่องกัด โดยตำเมล็ดหมามุ่ย ให้เป็นผงแล้วผสมน้ำเล็กน้อยใช้พอกบริเวณที่ถูกกัด
- แก้ไอโดยใช้รากหมามุ่ยผสมกับรากมะเขือขื่นแช่น้ำกิน หรือ นำรากหมามุ่ยมาต้มกับน้ำแล้วกินน้ำก็จะแก้อาการไอได้
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช้ำใน ด้วยการใช้รากหมามุ่ย 1 กิโลกรัม เมล็ดผักกาด 5 ขีด และเมล็ดผักชี 3 ขีด นำมาตำรวมกันจนเป็นผงแล้วผสมน้ำผึ้งป่าหมักทิ้งไว้ 3 เดือน แล้วนำมาใช้กินก่อนนอน (ขนาดเท่าผลมะพวง) โดยที่กล่าวมานี้เป็นรูปแบบ และวิธีการใช้ในตำราโบราณเท่านั้น
- สำหรับการควบคุมผลิตภัณฑ์จากเมล็ดหมามุ่ยตามกฎหมายในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยังไม่มีการอนุญาตเมล็ดหมามุ่ยเป็นเสริมอาหารแต่มีการอนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณในสูตรผสมประกอบด้วยเมล็ดหมามุ่ย และสมุนไพรอื่นๆ สำหรับสรรพคุณบำรุงร่างกายเท่านั้น
ลักษณะทั่วไปของหมามุ่ย
หมามุ่ย จัดเป็น ไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีเถาเลื้อย ยาว 2-10 เมตร มีขนหนาแน่น
ใบหมามุ่ย เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยมี 3 ใบ ที่ปลาย รูปไข่ หรือ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใบกลางมักมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านมีขนสีเทาปกคลุม ฐานใบเบี้ยว ปลายใบมน หรือ มีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ เส้นกลางใบมี 3 เส้น
ดอกหมามุ่ย ออกเป็นช่อกระจะที่ซอกใบ ห้อยลงมา ยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกสีม่วงคล้ำ มีกลิ่นเหม็นเอียน รูปดอกถั่ว ดอกย่อยมีจำนวนมาก ขนาดกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร กลีบกลางรูปไข่ ปลายกลีบเว้า กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูป ปลายแยกเป็น 5 กลีบ สีน้ำตาลอ่อน มีขนคล้ายเส้นไหมปกคลุม เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรเชื่อมกันเป็น 2 กลุ่ม อับเรณูมีสองแบบ เกสรเพศเมียมีรังไข่รูปแถบ มีขนยาวสีเทา รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ผลหมามุ่ย เป็นฝักโค้งรูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร หนาประมาณ 5 มิลลิเมตร มีลักษณะม้วนงอที่ปลายฝัก ตามผิวมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น เป็นขนแข็ง และสั้น พอฝักแห้งขนจะหลุดร่วงปลิวตามลมได้ง่าย เมื่อโดนผิวหนัง จะทำให้คัน ปวดแสบปวดร้อน เมล็ดมี 4-7 เมล็ด สีดำเป็นมัน พบตามชายป่า ป่าไผ่ และที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอก และติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ความแตกต่างของหมามุ่ยไทย และหมามุ่ยอินเดีย หมามุ่ยไทย และหมามุ่ยอินเดียนั้นดูผิวเผินแล้วอาจจะคล้ายกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันที่ฝักและเมล็ด โดยสามารถสังเกตได้ว่าหมามุ่ยอินเดียจะมีขนฝักสั้น เมื่อสัมผัสแล้วจะไม่มีอาการคัน และเมื่อแกะฝักออกมาแล้วเมล็ดที่อยู่ภายในจะมีสองสีสลับกัน ดำบ้างขาวบ้าง ในขณะที่หมามุ่ยไทยนั้นจะมีขนฝักยาวและหากสัมผัสก็จะทำให้เกิดอาการคัน อาจเกิดอาการแพ้ได้ ทั้งนี้ขนาดฝักก็ยังเล็กกว่าหมามุ่ยอินเดีย ส่วนสีของเมล็ดจะเป็นสีดำสนิทขนาดคละกันไป
การขยายพันธุ์หมามุ่ย
หมามุ่ยสามารถปลูก และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่โดยทั่วไปแล้วหมามุ่ยสามารถพบได้ในป่าตามธรรมชาติ ทั้งป่ารกร้างแถบชานเมือง หรือ ป่าเบญจพรรณ และมักแพร่กระจายเป็นหย่อมทั่วบริเวณที่พบ หมามุ่ย เป็นพืชเถาที่เติบโตได้ดีในทุกดิน มีความทนต่อสภาพแห้งแล้ง แต่ไม่ชอบพื้นที่ดินชุ่ม และมีน้ำขัง การปลูกจะใช้วิธีการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อน 1-2 เดือน แล้วนำลงแปลงปลูกในระยะระหว่างต้น 2x2 เมตร หลังปลูกเสร็จต้องทำค้างด้วยไม้ไผ่รอบหลุมปลูก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เมตร สูงประมาณ 1.5 เมตร ส่วนของหมามุ่ยที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ เมล็ดแก่ ซึ่งต้องเก็บเมล็ดในระยะฝักแก่ ซึ่งระยะนี้เถาจะมีใบเหลือง ฝักมีสีน้ำตาลอมแดง ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งฝักดิบแก่และฝักแก่แห้ง สำหรับในประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบจะเป็นกลุ่มไม้ป่า Mucuna pruriens (L.) DC. (Cultivar group Pruriens) ซึ่งจะมีขนพิษปกคลุมที่ฝัก ทำให้เกิดอาการคันเมื่อสัมผัส ส่วนกลุ่มที่เป็นไม้ปลูก Mucuna pruriens (L.) DC. (Cultivar group Utillis) จะไม่มีขนพิษที่ฝักและไม่มีการปลูกในประเทศไทย
องค์ประกอบทางเคมี
พบสาร L-dopa หรือ L-3,4- dihydroxyphenylalanine สารกลุ่มอัลคาลอยด์ เช่น prurienine, prurienidine, nicotine, leeihun, gallic acid, tryptamine ขนพบสาร serotonin และเอนไซม์ที่ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง เช่น proteinase, mucanain
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหมามุ่ย
L-dopa gallic acid
Tryptamine Lecithin
ที่มา Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหมามุ่ย
หมามุ่ยที่มีการนำมาศึกษาวิจัยในปัจจุบัน และมีผลการศึกษาวิจัยที่ออกมานั้น เป็นหมามุ่ยสารพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์จีน ส่วนสายพันธุ์ของไทยนั้น ยังไม่มีการนำมาศึกษาวิจัยแต่อย่างใด โดยการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของหมามุ่ยต่อสมรรถภาพทางเพศในสัตว์ทดลองพบว่า การป้อนหนูแรทเพศผู้ด้วยสารสกัดเอทานอลเมล็ดหมามุ่ย ที่ความเข้มข้น 200 มก./กก.ของน้ำหนักตัว วันละครั้ง เป็นเวลา 21-45 วัน สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหนูได้ กล่าว คือ มีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของหนูเปลี่ยนไป โดยมีพฤติกรรมการจับคู่และการขึ้นคร่อมตัวเมียถี่ขึ้น และมีระยะเวลาในการเริ่มสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรกจนหลั่งน้ำเชื้อ (ejaculation latency, EL) นานขึ้น นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิกในประเทศอินเดียกับอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะจำนวนสเปิร์มน้อย และสเปิร์มมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยให้อาสาสมัครดื่มนมที่ผสมกับผงบดเมล็ดหมามุ่ยขนาด 5 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือนพบว่า ค่าความเข้มข้นของสเปิร์ม การเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีค่าเกือบเทียบเท่ากับอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมล็ดหมามุ่ยมีประสิทธิภาพในการช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำเชื้อให้ดีขึ้นได้ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อนำผงบดของเมล็ดหมามุ่ยมาทดลองในหนูแรทเพศเมีย กลับมีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ มีพฤติกรรมการจับคู่กับหนูตัวผู้ลดลง และปฏิเสธการรับการผสมพันธุ์จากหนูตัวผู้ แสดงให้เห็นว่าการรับประทานเมล็ดหมามุ่ยอาจให้ผลแตกต่างในระหว่างเพศชายและหญิง นอกจากนี้สารสกัดหมามุ่ย ที่ได้จากราก ลำต้น และเมล็ด มีฤทธิ์ลดความดันเลือดให้ลดลง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยรักษาโรคเบาหวานรวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของต่อมลูกหมากได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของหมามุ่ย
การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน และกึ่งเฉียบพลันของของเมล็ดหมามุ่ย พบว่า เมื่อให้ผงเมล็ดหมามุ่ย ทางปากแก่หนูถีบจักรเพศผู้ พบว่าขนาดของผงเมล็ดหมามุ่ยทางปากสัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 1600 มก./กก.(น้ำหนักตัว) และเมื่อให้ผงเมล็ดหมามุ่ยทางปากกับกระต่ายจำนวน 10 ตัว ในขนาด 70 มก./กก.(น้ำหนักตัว)/วัน ติดต่อกันเป็นเวลา 90 วัน ไม่พบความผิดปกติที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและค่าทางโลหิตวิทยาอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกระต่ายกลุ่มควบคุม แม้ว่าการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน และกึ่งเฉียบพลันของเมล็ดหมามุ่ยจะไม่พบความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่มีการศึกษาความเป็นพิษต่อไตของเมล็ดหมามุ่ยสายพันธุ์ M. pruriens var. utilis 2 ชนิด คือ ชนิดที่ยังไม่ได้ปรุงสุกเปรียบเทียบกับชนิดที่ทำให้สุกโดยการต้มนาน 30 นาที ในหนูแรท โดยผสมในอาหารปริมาณร้อยละ 10, 20 และ 50 เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารปกติพบว่าค่ายูเรีย (urea) และครีแอทินิน (creatinine) ในเลือดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมและเพิ่มขึ้นตามปริมาณของเมล็ดหมามุ่ย นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับผงหมามุ่ยปรุงสุกมีค่ายูเรีย (urea) และครีแอทินิน (creatinine) ในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับผงดิบ จึงอาจสรุปได้ว่าการบริโภคเมล็ดหมามุ่ยอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไตโดยขึ้นกับขนาดนาดรับประทาน และความเป็นพิษอาจลดลงเมื่อทำให้เมล็ดหมามุ่ยสุก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ขนจากฝัก ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังอย่างแรง ทำให้คันเป็นผื่นแดง ปวดและบวม คำเตือน เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยทางจิตเวชไม่ควรรับประทาน คนแพ้พืชตระกูลถั่วไม่ควรรับประทาน เพราะหมามุ่ยเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจ และระบบหลอดเลือดหัวใจไม่ควรทาน เนื่องจากหมามุ่ยมีสารแอลโดปา ซึ่งเป็นสารที่ผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตลดลง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ และเป็นลม นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะอีกด้วย สารแอลโดปาจะไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมลานินมากขึ้น และทำให้อาการของโรคมะเร็งผิวหนังแย่ลงดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังจึงไม่ควรใช้เด็ดขาด แต่หากคุณเคยเป็นโรคมะเร็ง หรือ มีความผิดปกติเกี่ยวกับผิวหนังก่อนใช้หมามุ่ย ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน
เนื่องจากหมามุ่ยมีหลายสายพันธุ์ รวมถึงกรรมวิธีการปรุงก็เป็นไปตามองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองนั้นๆ ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บหมามุ่ยมาบริโภคเองจนกว่าจะมีการยืนยันความปลอดภัยของสายพันธ์ที่บริโภคและมีผลการศึกษาความเป็นพิษของหมามุ่ยที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ
เอกสารอ้างอิง หมามุ่ย
- The Plant List. Mucuna pruriens [Internet]. 2016 [cited 2016 Feb 10]. Available from: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/search?q=Mucuna+pruriens
- Joerg G, Thomas B, Christof J, editors. PDR for herbal medicine. Montvale, NJ: Medical Economics Company, Inc; 2000. p. 230-231.
- Eucharia ON, Edward OA. Allelopathy as expressed by Mucuna pruriens and the possibility for weed management. International Journal of Plant Physiology and Biochemistry 2010;2(1);1-5.
- Suresh S, Prithiviraj E, Prakash S. Dose-and time-dependent effects of ethanolic extract of Mucuna pruriens Linn. seed on sexual behavior of normal male rats. J Ethnopharmacol. 2009; 122: 497-501.
- หมามุ่ย.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardar.com/main.php?action=viewpage&pid=163
- OmehYS ,Ezeja MI and Njoku LU. The nephrotoxic effect of Mucuna pruriens var. utilis seed in white albino rats. Internal J of Current Research 2010; 8:12-15.
- Khan RA, Arif M, Sherwani B and Ahmed M. Acute and sub chronic toxicity of Mucuna pruriens, Cinnamomum zeylanicum, Myristica fragrans and their effects on hematological parameters. Australian Journal of Basic and Applied Sciences 2013;7(8): 641-647.
- Department of Ayush, Ministry of Health and Family Welfare, Government of India. The Ayurvedic Pharmacopoeia of India. Part I, 1st Ed. Vol. 4[Internet]. New Delhi:2004. Available from:www.ayurveda.hu/api/API-Vol-4.pdf
- หมามุ่ยและสรรพคุณ. พืชเกษตร. ดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
- วิแทน ปวกพรมมา, การศึกษาสมบัติความเป็นอินดิเคเตอร์ธรรมชาติของแก่นฝางและดอกหมามุ่ย สำหรับการไทเทรตกรด-เบส.2556.
- นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (5). กรุงเทพฯ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,2543: 508 หน้า
- Rajendran V, Joseph T, David J. Mucuna pruriens decreases sexual activity in female rats. Indian Drug. 1997; 34(3): 136-139.
- Gupta A, Mahdi AA, Ahmad MK, Shukla KK, Bansal N, Jaiswer SP, Shankhwar SN. A proton NMR study of the effect of Mucuna pruriens on seminal plasma metabolites of infertile males. J Pharm Biomed Anal. 2011; 55: 1060-1066.
- Ahmad MK, Mahdi AA, Shukla KK, Islam N, Jaiswar SP, Ahmad S. Effect of Mucuna pruriens on semen profile and biochemical parameters in seminal plasma of infertile men. J. fertnstert. 2008; 90(3): 627-635.
- Khare CP. Indian Medicinal Plants, an illustrated dictionary. New York, NY: Springer; 2007. p. 424-425.
- Department of Ayush, Ministry of Health and Family Welfare, Government of India. The Ayurvedic Pharmacopoeia of India. Part I, Vol. 3[Internet]. New Delhi: 2004. Available from: http://www.exoticindiaart.com/book/details/ayurvedic-pharmacopoeia-of-indiapart-i-volume-iii-NAC303/
- Kupittayanant P, Munglue P, Saraphat W, Danoopat T, Kupittayanant S. Effects of ethanolic extract ofMucuna pruriens on sexual behavior of normal male rats. Planta Med (55th International congress and annual meeting of the society for medicinal plant research) 2007; 73(9): P595.
- European Food Safety Authority. Compendium of botanicals reported to contain naturally occuring substances of possible concern for human health when used in food and food supplements on request of EFSA. EFSA Journal 2012;10(5):2663. [60 pp.] doi:10.2903/j.efsa.2012.2663. Available
- สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 1-3. เชียงใหม่ :มูลนิธิโครงการหลวง,2552: 2,784 หน้า
- Lampariello LR, Cortelazzo A, Guerranti R, Sticozzi C, and Valacchi G. The magic velvet bean of Mucuna pruriens. J Tradit Complement Med 2012;2(4): 331-339.
- ฤทธ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหมามุ่ย. สำนักข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/document
- รุจิรา ธีระประเสริฐ, มยุรี ดิษย์เมธาโรจน์. ข้อเท็จจริงในปัจจุบันของหมามุ่ยสำหรับการใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ.วารสารอาหารและยา. ฉบับเดือนมกราคม-เมษายน 2559 หน้า 4-6
- หมามุ่ย.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=144