โรคปอดอักเสบ / ปอดบวม
โรคปอดอักเสบ / ปอดบวม (Pneumonia)
1. โรคปอดอักเสบ / ปอดบวม คืออะไร ปอด (Lung) เป็นอวัยวะในระบบการหายใจที่อยู่ภายในทรวงอกทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะเป็นเนื้อหยุ่นๆ มีสีออกชมพูมีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากอากาศที่เราหายใจเข้าไป คือ ในช่วงที่เราหายใจเข้าปอดจะทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายและในขณะเดียวกันปอดก็จะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมากับลมหายใจ ปกติเนื้อปอดนี้จะเป็นอวัยวะที่ปราศจากเชื้อโรค เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เข้าไปถึงเนื้อปอด จะส่งผลให้การอักเสบและมีการบวมเกิดขึ้น ซึ่งโรคปอดอักเสบ (Pneumonitis – นิวโมนิติส) เป็นคำทั่วไปที่หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ในขณะที่ปอดบวม (Pneumonia – นิวโมเนีย) เป็นประเภทของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของปอด โรคปอดอักเสบและปอดบวมจึงมีความหมายคล้ายคลึงกันมากจนใช้เรียกแทนกันได้ แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกโรคปอดอักเสบมากกว่าเพราะมีความหมายตรงกว่า โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งระยะฟักตัวขึ้นอยู่กับเชื้อที่ก่อโรคโดยอาจใช้เวลาฟักตัว 1-3 วัน หรืออาจจะนาน 1-4 สัปดาห์ เลยทีเดียว ซึ่งจะทำให้เกิด การอักเสบของเนื้อปอด*ซึ่งประกอบไปด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง และเกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งจัดเป็นภาวะร้ายแรงทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เป็นต้น
2. สาเหตุของโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม ปอดอักเสบเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปโตซัว หรือ เชื้อวัณโรค เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกวัย ได้แก่ เชื้อปอดบวม ที่มีชื่อว่า “สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pheumoniae) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “นิวโมค็อกคัส” (Pneumococcus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง โดยแต่ละคนมีการ ติดเชื้อยากง่ายแตกต่างกัน ถ้า เป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง ติดเชื้อเอดส์ ได้ยากดภูมิต้านทานก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนธรรมดาทั่วไป เช่นเดียวกับผู้สูงอายุร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนคนหนุ่มสาว หากติดเชื้อตัวเดียวกัน ผู้สูงอายุอาจมีอาการรุนแรงกว่า นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจเป็นโรคอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ถ้ามีภาวะพวกนี้ พอมีปอดอักเสบร่างกายก็จะทรุดเร็วภาวะแทรกซ้อนก็เกิดได้ง่ายขึ้น เช่น ขาดออกซิเจนได้ง่ายขึ้น
3. อาการของโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม อาการของโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม ผู้ป่วยจะมีอาการไอ มักมีเสมหะ มีไข้ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อาการไข้ มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือมีไข้ตัวร้อนตลอดเวลา อาการไอ ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ แล้วต่อมาจะมีเสมหะขาวหรือขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือบางรายอาจะเป็นสีสนิมเหล็กหรือมีเลือดปน อาการเจ็บหน้าอก บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก แบบเจ็บแปลบเวลาหายใจเข้าหรือเวลาที่ไอแรงๆ ตรงบริเวณที่มีการอักเสบของปอด ซึ่งบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง แล้วต่อมาจะมีอาการหายใจหอบเร็ว อาการหอบเหนื่อยผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากอาจมีอาการปากเขียว ตัวเขียว ส่วนในรายที่เป็นไม่มากอาจไม่มีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน อาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็กเล็กๆ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทุพพลภาพที่ไม่สามารถช่วยตัวเองและสื่อสารได้จำกัด ควรให้ความสนใจและสงสัยมากกว่าปกติ เนื่องจากอาการอาจไม่ชัดเจน เช่น ในผู้สูงอายุ อาจจะมีเพียงมีไข้ หรือตัวอุ่นๆและซึมลงเท่า นั้น อาจจะไอเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะไม่ไอให้เห็นก็ได้ เนื่องจากมีความจำกัดในการเคลื่อน ไหว และ/หรือกล้ามเนื้อไม่มีแรงพอที่จะไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอาการแทรกซ้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เกิดฝีในปอด หรือเกิดหนองในเยื่อหุ้มปอด โดยหากเป็นไม่มากก็ใช้วิธีใส่ท่อระบายหนองออก ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเพื่อเอาหนองออก เจาะเยื่อหุ้มปอดออก ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอเป็นเลือด ถุงลมรั่ว แต่พบได้น้อย
4. ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม ได้แก่
· อายุ ในเด็กเล็กๆและในผู้สูงอายุ เพราะร่างกายมีความบกพร่องในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค
· การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และ/หรือรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคมะ เร็ง (ยาเคมีบำบัด) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และการกำจัดเชื้อโรค
· การมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ
· การไม่รักษาสุขภาพและอนามัย เช่น การขาดอาหาร สุขภาพทรุดโทรม อยู่อาศัยในสถานที่ที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีพอ ในที่ที่มีมลภาวะที่ต้องหายใจและสูดมลภาวะเข้าไปในปอด
5. แนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบ/ปวดบวม การตรวจหาเชื้อสาเหตุของโรคปอดบวมต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการและต้องใช้เวลาในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย
· การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคปอดบวม
· การตรวจเพื่อประเมิน site of care,
· การตรวจเพื่อหาเชื้อสาเหตุ,
· การตรวจเพื่อประเมินโรคประจำตัวของผู้ป่วย, และ
· การตรวจเพื่อหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนในด้านการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคปอดบวม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมและให้อย่างรวดเร็วภายใน 4 ถึง 6 ชั่วโมง หลังจากให้การวินิจฉัยและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแนวทางการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ จะพิจารณาตาม site of care เนื่องจากมีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่า พบเชื้อสาเหตุอะไรได้บ่อยในผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ซึ่งข้อมูลเชื้อก่อโรคในประเทศไทย จะเหมือนกับทางประเทศอเมริกา ซึ่งแนวทางการรักษาปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ประกอบด้วย การให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V.) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น (สำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ควรใช้ยาอิริดทรมัยซิน เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อไมโคพลาสมานิวโมเนียอี และเชื้อคลามัยเดีย นิวโมเนียอี) หรืออาจให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดแบบผู้ป่วยใน การรักษาประคับประคองตามอาการทั่วๆไปเช่น การให้ยาลดไข้ การให้สารน้ำทางหลอดเลือด การให้ออกซิเจน การให้อาการเหลวทางสายให้อาหารลงกระเพาะอาหารในรายที่รับประทานอาหารเองไม่เพียงพอ ฯลฯ
6. การติดต่อของโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม ระยะติดต่อ สามารถแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่เป็นโรคจนกว่าเสมหะจากปากและจมูกจะมีเชื้อไม่รุนแรงและมีปริมาณไม่มากพอ ส่วนเด็กที่เป็นพาหะของเชื้อโดยไม่แสดงอาการซึ่งพบได้ในสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน โดยเชื้อโรคและสารก่อโรคสามารถเข้าสู่ปอดได้โดยทางใดทางหนึ่ง ดังนี้ การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง โดยการสูดเอาเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศในรูปละออกฝอยขนาดเล็ก (จาการไอหรือจามใส่) หรือเชื้อที่อยู่เป็นปกติวิสัย (Normal flora) ในช่องปากและคอหอยลงไปในปอด เช่น สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumonia) ฮีดมฟิลัส อินฟลูเอนเซ (Haemophilus influenzae) กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน – แอนแอโรบส์ (Anaerobes) การสำลัก เป็นกรณีทีเกิดจากการสำลักเอาน้ำและสิ่งปนเปื้อน (ในผู้ป่วยจมน้ำ) น้ำย่อยในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน สารเคมี (เช่น น้ำมันก๊าด เบนซิน) หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด ซึ่งมักพบได้ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต ลมชัก หมดสติ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด จึงทำให้ปอดอักเสบจากการระคายเคืองของสารเคมีหรือการติดเชื้อ เรียกว่า “ปอดอักเสบจากการสำลัก” (Aspiration Pneumonia) ซึ่งการอักเสบนอกจากจะเกิดจากสารระคายเคืองแล้ว ยงอาจเกิดจากเชื้อโรคที่มีอยู่ในช่องปากและคอหอยที่ถูกสำลักลงไปในปอดด้วย (ปอดอักเสบที่เกิดจากการสำลักมักเป็นที่ปอดข้างขวามากกว่าข้างซ้ายเนื่องจากหลอดลมข้างขวาหักมุมน้อยกว่าข้างซ้าย)
ในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) สำนักระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 215,951ราย อัตราป่วย 330.06 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 486 ราย อัตราตาย 0.74 ต่อประชากรแสนคน และอัตราป่วยตายร้อยละ 0.23 จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 – 2558 (ค.ศ.2006 – 2015) อัตราป่วย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราป่วยตายมีแนวโน้มลดลง โดยผู้ป่วยเป็นเพศชาย 117,531 ราย เพศหญิง 98,420 ราย อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย เท่ากับ 1 : 1.2 และกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตราป่วยสูงสุด รองลงมา ได้แก่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง
7. การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าตนเองเป็นโรคปอดอักเสบ/ปอดบวมหรือไม่ คือ เมื่อใดที่เกิดอาการเหนื่อย รู้สึกเริ่มหายใจขัด ไม่ทั่วท้อง ต้องเอะใจแล้ว หรือถ้ามีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ คล้ายเป็นหวัด เกิน 3 วันไปแล้วไข้ยังสูงอยู่ เพราะโดยทั่วไปคนเป็นหวัดธรรมดาไม่เกิน 3 วันไข้ก็ลดแล้ว แต่ถ้าเกิน 3 วันไข้ยังสูง รู้สึกว่าไม่ดีขึ้น และมีอาการเหนื่อยร่วมด้วย อยู่ในข่ายต้องสงสัยเป็นปอดอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย อีกอาการหนึ่งที่ทำให้สงสัยว่ามีอาการปอดอักเสบ คือ มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ซึ่งเรียกว่าเจ็บแบบเยื่อหุ้มปอดอักเสบ คือ เจ็บตอนหายใจเข้าลึกๆ และเมื่อไปพบแพทย์แล้ว ปรากฏว่าแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการ ปอดบวมเล็กน้อย ที่แพทย์พิจารณาให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ หรือกรณีที่เป็นปอดบวมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว และแพทย์พิจารณาให้กลับบ้านเพื่อรักษา และพักฟื้นต่อที่บ้าน ควรปฏิบัติตนดังนี้ ควรรับประทานยาต่อตามแพทย์สั่งอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่ควรหยุดยาเอง รับประทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพลังงานในการต่อสู้กับโรค และซ่อมแซมร่างกายให้ฟื้นตัว ควรใส่ใจสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจจะมีเกิดขึ้น
8. การป้องดันตนเองจากโรคปอดอักเสบ/ปอดบวม รักษาสุขภาพและอนามัยให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอเช่น การรับประทานอาหาร พักผ่อน ออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับสภาพและวัยของท่าน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ภาวะทุพโภชนา ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็นการงดและเลิก บุหรี่ สุรา และยาเสพติด การป้องกันการรับเชื้อโดยการปิดปากและจมูกเมื่อต้องสัมผัสผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และผู้ป่วยที่มีอาการไอหรือจาม ควรป้องกันการแพร่กระจายฝอยละอองไปยังผู้อื่น ด้วยการปิดปากและจมูกด้วยกระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัย ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้ได้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง/ยาเคมีบำบัด
ฯลฯ ควรพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ หากมีโรคประจำตัว หรือเมื่อเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เป็นต้น ควรดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
9. สมุนไพรชนิดไหนที่สามารถช่วยบรรเทา/รักษาโรคปอดอักเสบ/ปอดบวมได้ ฟ้าทะลายโจร รสขม เป็นยาครอบจักรวาล สรรพคุณกินแก้อาการอักเสบต่างๆ แก้ไข้ แก้หวัด แก้ปอดอักเสบ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ไม่ควรกินติดต่อนานเกินเจ็ดวัน ทำให้ตับเย็น กระเทียม เป็นยาบำรุงร่างกาย กินเป็นยาแก้อักเสบในอก ในปอด แก้เสมหะ กระเทียมเจ็ดกลีบตำให้ละเอียด ลายน้ำผึ้งกินติดต่อกันเจ็ดวัน เพื่อขับเสมหะในระบบทางเดินหายใจ แก้หืดหอบ แก้ไอให้เสมหะแห้ง บำรุงปอด แก้ปอดพิการ แก้ปอดบวม แก้วัณโรคปอด แก้เสมหะ แก้น้ำลาบเหนียว แก้ริดสีดวงงอก เหง้าขิง รสเผ็ดร้อนมีนำมันหอมระเหยที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ ปอด ไล่เสมหะ ไล่ลม ให้ความอบอุ่นยามที่หนาวชื้น กลิ่นหอมทำให้หายใจสะดวก กินน้ำขิงอุ่นๆผสมนมร้อนบำรุงร่างกายบำรุงปอด ขมิ้น เป็นสมุนไพรพื้นฐานที่ใช้รักษาอาการอักเสบกับอวัยวะต่างๆมาหลายร้อยพันปี เป็นยาบำรุงปอด สมานแผลอักเสบในปอด
เอกสารอ้างอิง
1. นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ “ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia)” หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป หน้า 441-445
2. “ปอดอักเสบ”เป็นไข้ ไอ มีเสมหะ เหนื่อยเจ็บหน้าอก.สถานีรามาแชนแนล ขับเคลื่อนสังคมไทยให้สุขภาพดี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://wed.mahidol.ac.th/ramanel/old/index.php/kniwforhealth-20140910-31
3. นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ “โรคปอดอักเสบ ในโรคระบบการหายใจ”
4. การรักษาโรคปอดบวม.บทความฟื้นฟูวิชาการ.วารสารอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ปีที่ 1.ฉบับที่ 4.ตุลาคม-ธันวาคม 2558.หน้า 17-29
5. Mandell LA, Wunderink RG, Anzueto A, et al. Infectious Diseases Society of America/American Thoracic Society consensus guidelines on the management of community-acquired pneumonia in adults. Clin Infect Dis 2007; 44 Suppl 2: S27-72.
6. Watkins RR, Lemonovich TL. Diagnosis and management of community-acquired pneumonia in adults. Am Fam Physician 2011; 83: 1299-306.
7. Liapikou A, Torres A. Current treatment of community-acquired pneumonia. Expert Opin Pharmacother 2013; 14: 1319-32.
8. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ) “ปอดอักเสบ” นิตยสารหมอชาวบ้าน คอลัมน์:สารานุกรมทันโรค เล่มที่306
9. Lim WS, Baudouin SV, George RC, et al. British Thoracic Society guidelines for the management of community acquired pneumonia in adults: update 2009. Thorax 2009; 64 (Suppl 3): iii1-55.
10. Managing CAP: An evidence – based algorithm. The Journal of Family Practice. 2007;56:722-726.
11. Reechaipichitkul W, Lulitanond V, Tantiwong P, Saelee R, Pisprasert V. Etiologies and treatment outcomes in patients hospitalized with community-acquired pneumonia (CAP) at Srinagarind Hospital, Khon Kaen, Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2005; 36: 156-61.
12. Reechaipichitkul W, Lulitanond V, Sawanyawisuth, Lulitanond A, Limpawattana P. Etiologies and treatment outcomes for out-patients with community-acquired pneumonia (CAP) at Srinagarind Hospital, Khon Kaen, Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2005; 36: 1261-7.
13. Wattanathum A, Chaoprasong C, Nunthapisud P, et al. Community-acquired pneumonia in Southeast-Asia: the microbial different between ambulatory and hospitalized patients. Chest 2003; 123: 1512-9.
14. โรคปอดอักเสบ.สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำปี 2558.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวจสาธารณสุข.หน้า 101-103
15. สมุนไพรบำรุงปอด.สยามรัฐ.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.siamrath.co.th/web/?q=%