โรคแผลในกระเพาะอาหาร (โรคกระเพาะ)
โรคแผลในกระเพาะอาหาร (โรคกระเพาะ)
1. โรคแผลในกระเพาะอาหารคืออะไร โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) หมายถึง โรคที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคนี้แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือเป็นนานๆ ถ้าไม่รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคแผลเพ็ปติก (peptic ulcer) ซึ่งอาจเป็นแผลตรงส่วนกระเพาะอาหาร เรียกว่า แผลกระเพาะ อาหาร (gastric ulcer, ย่อว่า GU) หรือแผลตรงส่วนลำไส้เล็กส่วนต้น เรียกว่า แผลลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer, ย่อว่า DU) ก็ได้
2. สาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากเยื่อเมือกบุภายในทางเดินอาหาร ถูกทำลายโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร ชื่อ เปบซิน (Pepsin) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคว่า แผลเปบติค ซึ่งเปบซินเป็นน้ำย่อยโปรตีนที่ทำงานร่วมกับกรดในกระเพาะอาหาร โดยมีกรดเป็นตัวปลุกฤทธิ์ (Activate)ให้น้ำย่อยนี้มีประสิทธิภาพในการย่อยเพิ่มขึ้น และปัจจุบันพบว่ายังมีปัจจัยเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดโรคได้อีก ได้แก่ การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ โดยแบคทีเรียชนิดนี้ มีรูปร่างเป็นเกลียวและมีหาง มีความทนกรดสูงเนื่องจากสามารถสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่ รอบๆตัวมัน ทำให้สามารถอาศัยอยู่ในชั้นผิวเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย
การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (non steroidal anti inflammatory drugs, ย่อว่า NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก เป็นต้น ซึ่งนิยมใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ ปวด เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน รวมทั้ง ใช้แก้ปวดแก้ไข้ทั่วไป หากใช้ติดต่อกันนานๆ มักจะทำให้เกิดแผลเพ็ปติก อาจรุนแรงถึงขั้นเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ) หรือกระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุได้ กระเพาะอาหารถูกกระตุ้นให้มีกรดมากขึ้น เนื่องจากกระตุ้นของปลายประสาท เกิดจากความเครียด วิตกกังวลและอารมณ์ การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง การดื่มกาแฟ การสูบบุหรี่ การกินอาหารไม่เป็นเวลา มีอุปนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ เป็นต้น
3. อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง ลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ หน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่า หรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด อาการปวด มักจะเป็นๆหายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม โรคแผลกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่มโดยตรง จุดเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน อื่นๆที่พบได้ คือ เบื่ออาหาร ผอมลง ภาวะลำไส้อุดตัน จากแผลก่อให้เกิดพังผืด จึงส่งผลให้ทางเดินในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็กตีบแคบลง ซึ่งอาการคือ ปวดท้องรุนแรง ร่วมกับอาเจียน โดยเฉพาะหลังกินอาหาร และดื่มน้ำ และไม่สามารถผายลมได้
ภาวะแทรกซ้อน เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะกินได้น้อย อิ่มเร็ว มีอาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
4. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระเพาะอาหาร คือ 1. การรับประทานอาหารต่างๆ ได้แด่ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การรับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด 2.การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลผสมหรือน้ำอัดลม รวมถึง ชา กาแฟ 3.การสูบบุหรี่ 4.การรับประทานยาต้านการอักเสบ ในกลุ่ม NSAIDs ติดต่อกันเป็นเวลานาน 5.การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโด แบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่ม
5. แนวทางการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์วินิจฉัยโรคแผลเปบติคได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย หรือการตรวจภาพกระเพาะอาหารและช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่การตรวจที่ให้ผลแน่ นอน คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร และลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหาสารบางชนิดในอุจจาระซึ่งสร้างโดยเชื้อ เอชไพโลไร หรือการตรวจสารบางชนิดที่เชื้อนี้สร้างและร่างกายกำจัดออกทางการหายใจ การให้ยารักษา (ในกรณีไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobactor Pylori) โดยกินยาอย่างถูกต้อง คือต้องกินยาให้สม่ำเสมอ กินยาให้ครบตามจำนวน และระยะเวลา ที่แพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย ดังนั้นภายหลังกินยา ถ้าอาการดีขึ้นห้ามหยุดยา ต้องกินยาต่อจนครบ และแพทย์แน่ใจว่าแผลหายแล้ว จึงจะ ลดยาหรือหยุดยาวได้
การให้ยารักษาในกรณีตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้การรักษาโดยมีสูตรยา 3-4 ชนิดร่วมกัน รับประทานนาน 1-2 สัปดาห์ สูตรยาส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดกรด เพื่อรักษาแผลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำภายหลังจากได้รับประทานยาปฏิชีวนะครบแล้ว โดยอาจเป็นการตรวจโดยการส่องกล้องกระเพาะอาหารอีกครั้งเพื่อทำการพิสูจน์ ชิ้นเนื้อซ้ำ หรือทดสอบโดยการรับประทานยาสำหรับทดสอบเชื้อแบคทีเรียโดยตรง และตรวจวัดสารที่ถูกปล่อยออกมาทางลมหายใจ
การผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบัน มียาที่รักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างดีจำนวนมากถ้าให้การรักษาที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดอาจทำให้เป็นกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยไม่สามารถทำให้หยุด เลือดออกได้ แผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเกิดการทะลุ กระเพาะอาหารมีการอุดตัน
6. การติดต่อของโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คน
7. การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร พึงระลึกไว้เสมอว่า โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้ว จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าไม่ระวังปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ได้แก่ กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย และกินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินให้บ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มแอลกฮอลล์ งดสูบบุหรี่ งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด รวมถึงยาชุดต่างๆ ผ่อนคลายความเครียด กังวล พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ หรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์ ควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง
8. การป้องกันตนเองจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร รักษาสุขอนามัย เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ โดย เฉพาะการใช้ช้อนกลาง และการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนกินอาหาร เมื่อมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่บ่อยๆ เป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง อาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองในเบื้องต้น ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนโรคลุกลามเป็นแผลเปบติค หรืออาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่ จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สตีรอยด์ที่ใช้แก้ปวดข้อปวดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ และยาอื่นๆ ที่เป็นเหตุกระตุ้นให้โรคกำเริบ กินอาหารสุก อย่ากินอาหารดิบๆ สุกๆ หรือมีแมลงวันตอม เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชไพโรไล หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า เบียร์ กาแฟ ยาดอง และงดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้มากเพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบานผ่อนคลายเครียดวิตกกังวล และไม่หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย
9. สมุนไพรที่สามารถช่วยบรรเทา/รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้ ขมิ้นชัน ในขมิ้นชันจะมีสารชนิดหนึ่งชื่อ เคอคิวมินอยด์ เป็นตัวป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการขับน้ำดี ทำให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น จึงช่วยคลายความจุกเสียด และสารเคอคิวมินอยด์ ยังไปกระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารเคลือบกระเพาะอาหารจึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารให้ดีขึ้น วิธีการใช้ เพียงนำเหง้าของขมิ้นชันมาล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดประมาณ 1 – 2 วันแล้วบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม หลังอาหารและก่อนนอน 4 เวลา ว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคกระเพาะ ช่วยในการรักษาบาดแผลในกระเพาะอาหารและล้างพิษ โดยให้ใช้ใบสดที่เพิ่งตัดออกมาจากต้น ล้างน้ำให้สะอาดแล้วปอกเปลือกให้เหลือแต่วุ้นใสๆ แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินทุกวัน ก่อนอาหาร กระเจี๊ยบเขียว เป็นผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ เนื่องจากในฝักกระเจี๊ยบนั้นจะมีสารชนิดหนึ่งชื่อว่า แพ็คติน และคัม ที่จะช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ วิธีการใช้ เพียงนำมาลวกแล้วรับประทานทุกวันเป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แผลในกระเพาะอาหารก็จะดีขึ้นเนื่องจากเมือกลื่นๆ ในผลของกระเจี๊ยบเขียวช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารได้
เอกสารอ้างอิง
1. โรคกระเพาะอาหาร.หน่วยโรคทางเดินอาหารฯ.สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
2. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคกระเพาะ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 288 .คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.เมษายน.2546
3. ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร.โรคกระเพาะอาหาร.ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
4. สุรเกียรต์ อาชานานุภาพ,(2543).ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ:อุษาการพิมพ์.
5. แผลเปปติค(Pept:c ulcer)/แผลในกระเพาะอาหาร(Gastric ulcer) (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://haamor.com/th
6. วันทนีย์ เกรียงสินยศ,(2548).กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคกระเพาะ.หมอชาวบ้าน.(ปีที่ 26 ฉบับที่ 311หน้า52-54).
7. El-Omer E, Penman I, Ardill JE, McColl KE. A substantial proportion of non-ulcer dyspepsia patients have the same abnormality of acid secretion as duodenal ulcer patients. Gut 1995;36:534-8.
8. พิศาล ไม้เรียง.(2536).โรคทางเดินอาหาร การวินิจฉัยและการรักษา.(พิมพ์ครั้งที่ 2).ขอนแก่น:โรงพิมพืคลังนานาวิทยา.
9. กลุ่มวิจัยโรคกระเพาะอาหาร.สมาคมแพทย์ระบบทางเดินแห่งประเทศไทย.แนวทางเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยดิสเปปเซียและผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ในประเทศไทย พ.ศ.2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร,2010.
10. เฟื่องเพชร เกียรติเสรี.(2541).โรคระบบทางเดินอาหาร.(พิมพ์ครั้งที่1).กรุงเทพฯ:เรือนแก้ว การพิมพ์.