โรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง (Canaer)
1. โรคมะเร็งคืออะไร โรคมะเร็ง คือ โรคที่มีความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเซลล์ ก่อให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็งที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสม ผลลัพธ์คือ การเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งที่เติบโตรบกวนการทำงานของเซลล์ปกติในอวัยวะ นอกจากนี้ยังสามารถลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้โดยผ่านระบบกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองของเราเป็นตัวน้ำเชื้อ มะเร็งอาจมีความแตกต่างได้มากมาย ตามตำแหน่งของอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของมะเร็ง และชนิดของเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในอวัยวะนั้นๆโดยอวัยวะที่มีการตรวจพบเซลล์มะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับมะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาวมะเร็งสมองมะเร็งปากมดลูกมะเร็งลำไส้ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งผิวหนัง มะเร็งรังไข่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งเต้านมมะเร็งกระเพาะอาหารมะเร็งกระดูกมะเร็งหลอดอาหารมะเร็งลิ้นมะเร็งช่องปากและลำคอมะเร็งท่อน้ำดีและถุงน้ำดีมะเร็งหลอดลมมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมะเร็งตับอ่อนมะเร็งไตมะเร็งไทรอยด์มะเร็งโพรงมดลูกและโรคมะเร็งพบบ่อยในเด็กไทย เรียงจากลำดับแรก 4 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง และโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา
2. สาเหตุของโรคมะเร็งเกิดจาก สิ่งแวดล้อมหรือ ภายนอกร่างกาย ซึ่งปัจจุบันนี้เชื่อกันว่ามะเร็ง ส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุได้แก่
· สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น สารพิษจาก เชื้อราที่มีชื่อ อัลฟาทอกซิน (Alfatoxin) สารก่อมะเร็งที่เกิดจากการปิ้ง ย่าง พวกไฮโดคาร์บอน (Hydrocarbon) สารเคมีที่ใช้ในขบวนการถนอมอาหาร ชื่อไนโตรซามิน (Nitosamine) สีผสมอาหารที่มาจากสีย้อมผ้า
· บุหรี่ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง การสูบบุหรี่หรือการอยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่ ส่งผลให้เป็นมะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ และถึงแก่ชีวิตได้
· แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก มีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปาก ลำคอ หลอดอาหาร และกล่องเสียงได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังไปทำลายตับ และมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้
· ฮอร์โมน ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนควบคุมอาการร้อนวูบวาบ หรืออาการเสื่อมของกระดูก ซึ่งมักจะเกิดในวัยหมดประจำเดือน จากการศึกษาพบว่า การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
· รังสี รังสีเอกซเรย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค เพิ่มอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ แม้จะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่หากได้รับรังสีซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้ง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
· แสงอุลตร้าไวโอเล็ต แสงจากดวงอาทิตย์ หรือจากแหล่งอื่น ๆ อาจทำลายผิวหนังและก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดในช่วงเวลา 11.00-15.00 น. เพราะเป็นช่วงที่แสงแดดแรงจัด
· เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งมีเป็นส่วนน้อย เช่น เด็กที่มีความพิการ มาแต่ กำเนิดมีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น การมีภูมิคุ้มกันที่บกพร่องและภาวะ ทุพโภชนาการ เช่น การขาดไวตามินบางชนิด เช่น ไวตามินเอ ซี
รวมถึงสาเหตุทางกรรมพันธุ์ มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้กับบุคคลภายในครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งดังกล่าวสาเหตุของมะเร็งที่สำคัญๆในปัจจุบัน อาทิเช่น
· มะเร็งที่ผิวหนัง สาเหตุเกิดจากถูกแสงแดดหรือแสงอุลตราไวโอเลตและเกิดจากพวกสารหนู หรือการรักษาโดยใช้ยาที่เข้าน้ำมันดิน ทั้งยาไทย-จีน ซึ่งน้ำมันดินเป็นส่วนประกอบ สำหรับเล็บและขน ไม่เป็นมะเร็ง
· มะเร็งที่ปอด สาเหตุเกิดจากหายใจในอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ มีฝุ่นละอองที่มีสารพวกไฮโดรคาร์บอน เช่น ควันดำจากท่อไอเสียรถ หรือเขม่าจากโรงงาน สำหรับบุหรี่ มีผลทำให้เกิดมะเร็งปอดได้
· มะเร็งที่ช่องปาก มักจะเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น กินเหล้าเพียวๆ กินหมาก แล้วรักษาสุขภาพไม่สะอาดด้วย และที่สำคัญคือยาฉุน การเคี้ยวอาหารแล้วมีการระคายเคือง เช่น ฟันเก หรือใส่ฟันปลอมไม่กระชับ ทำให้เป็นแผลเล็กๆ จนกระทั่งเป็นมะเร็งได้
· มะเร็งที่หลอดอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง การกินของร้อน เช่น จิบชา กาแฟร้อนๆ
· มะเร็งที่กระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากสารไนโตรซามีนส์ เช่น กินอาหารพวกโปรตีนหมัก สารที่เข้าดินประสิวที่ใช้ทำให้เนื้อมีสีแดง เนื้อเปื่อย และก็ ดี.ดี.ที.ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว มันจะเปลี่ยนเป็นไดเมธิลไนโตรซามีนส์ พวกที่กินผักที่มี ดี.ดี.ที. นอกจากจะตายจาก ดี.ดี.ที. แล้ว ยังอาจตายจากมะเร็งได้อีกด้วย
· มะเร็งที่ลำไส้เล็ก-ใหญ่ สาเหตุคล้ายกันกับมะเร็งที่กระเพาะอาหาร
· มะเร็งที่เต้านม สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ก่อนเชื่อว่ามีสาเหตุจากด้านเชื้อชาติและการกระทบกระแทกที่เต้านม
· มะเร็งที่ตับ สาเหตุเกิดจากไนโตรซามีนต์ อะฟล่าท็อกซิน และจากพยาธิใบไม้ในตับ และจากโรคตับแข็ง
· มะเร็งปากมดลูก เกิดจากไวรัส และจากการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น คนที่คลอดลูกบ่อยๆ ร่วมเพศบ่อยๆ หรือคนที่เป็นโสเภณี และผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ
· มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ส่วนใหญ่เกิดจากบุหรี่ สีย้อมผ้าที่ใช้ผสมอาหาร นอกจากนี้พวกมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ลิมโฟม่า) ก็เกิดจากไวรัสเช่นกัน
3. อาการของโรคมะเร็ง สำหรับในช่วงแรกของการเกิดโรคมะเร็งขึ้นในร่างกายนั้นเรียกได้ว่าแทบไม่มีอาการอะไรส่อเค้า หรือบอกให้ผู้ป่วยทราบได้เลยว่ากำลังเผชิญกับโรคมะเร็งนี้อยู่ ทำให้กว่าที่จะรู้ตัวก็สายเกินแก้เมื่อเป็นประสักระยะหนึ่ง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว ผอมซูบ น้ำหนักลด ร่างกายเริ่มดูทรุดโทรมลง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าเหมือนเดิมและเมื่ออยู่ในระยะที่มะเร็งเริ่มลุกลามมากขึ้นก็จะเริ่มปรากฏอาการอย่างชัดเจนในระยะนี้ จะรู้สึกเจ็บปวดและทรมานเป็นอย่างมากตามจุดต่างๆ ที่เกิดมะเร็งขึ้น ทั้งนี้จะมีอาการมากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับโรคมะเร็งที่เป็นว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ประเภทไหน และการกระจายของเซลล์มะเร็งภายในนั้นไปเบียดบังอวัยวะส่วนใดบ้าง
· ไอมีเสมหะปนเลือด เป็นอาการของโรคมะเร็งปอด
· ไอเรื้อรังและมีเสียงแหบ เป็นอาการของโรคมะเร็งกล่องเสียงหรือมะเร็งปอดโดยไม่มีอาการของไข้หวัด คือ มีไข้ มีน้ำมูก และมีเสมหะมาก่อนหน้า
· คลำก้อนได้ที่เต้านมหรือที่อื่นของร่างกายที่ไม่เคยคลำได้มาก่อนเป็นอาการของมะเร็งเต้านมและเร็งอื่น
· ถ่ายอุจจาระลำบาก ท้องผูกสลับกับท้องเดิน เป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะถ้ามีอาการต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับน้ำหนักลด
· มูกหรือเลือดออกทางทวารหนักหรือช่องคลอด เป็นอาการของมะเร็งทางนรีเวชเช่น มะเร็งปากมดลูก หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนไส้ตรง
· ปัสสาวะมีเลือดปน อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะต่อมลูกหมาก
· น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
· ไข้เรื้อรัง ไข้ที่เป็นมานานกว่า 1 สัปดาห์ เป็นอาการของมะเร็งเม็ดโลหิตหรือต่อมน้ำเหลือง
· ปวดตามตัวหรือที่กระดูก โดยเฉพาะอาการปวดที่ต่อเนื่อง และมีอาการปวดช่วงกลางคืนเป็นอาการของมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกได้
· อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เป็นอาการของมะเร็งระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน หรือเป็นแค่อาการที่เกิดจากมะเร็งชนิดอื่นๆ
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
· ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
· ระยะที่ 2: ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ
· ระยะที่ 3: ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง
· ระยะที่ 4: ก้อนหรือแผลมะเร็งขนาดโตมาก ซึ่งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง จนทะ ลุ และเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต หรือกระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
4. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ สำคัญ มี 2 ข้อ
ข้อ แรก คือ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อน ในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เป็นต้น รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และพยาธิบางชนิด
ข้อที่สอง คือ ได้แก่ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน และภาวะทุพโภชนา เป็นต้น
ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการ เป็นโรคมะเร็งคือผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้
ผู้ที่สูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนเอง ซิการ์ กล้องยาสูบ หรือการเคี้ยวยาสูบ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก กล่องเสียง มะเร็ง หลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งของตับอ่อน
ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ สามารถทำให้เกิดตับอักเสบและตับแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับตามมา นอกจากนี้ สุรายังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปากและคอ
ผู้ที่ติดเชื้อ ไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ไวรัสเอปสไตน์บารร์มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt ไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง หรือ มะเร็งช่องปากและคอ หรือผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มี สารพิษ ชื่อ อัลฟาทอกซิล ที่พบจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารเช่น ถั่วลิสงป่น เป็นต้น หากรับประทานประจำจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ และหากได้รับทั้ง 2 อย่าง โอกาส จะเป็นมะเร็งตับมากขึ้น
ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เต้านม ลำไส้ใหญ่ เยื่อบุมดลูก และต่อมลูกหมาก
ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และรับประทานอาหารที่ใส่ดิน ประสิวเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเกิดจากความผิดปกติจากพันธุกรรมหรือติดเชื้อไวรัส เอดส์ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งของหลอดเลือด เป็นต้น
ผู้ที่รับประทานอาหารเค็ม จัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและส่วนไหม้เกรียม ของอาหารเป็นประจำจะเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะ อาหารและลำไส้ใหญ่
ผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว อาทิ มะเร็งของจอตา มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดที่ เป็นติ่งเนื้อ เป็นต้น
ผู้ที่ตากแดดจัดเป็นประจำจะ ได้รับอันตรายจากแสงแดดที่ มีปริมาณของแสงอุลตรา ไวโอเลต จำนวนมาก มีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้
สัญญาณเตือน 7 ประการ ที่อาจแสดงว่าเป็นอาการของโรคมะเร็ง มีดังนี้
· มีการเปลี่ยนแปลงในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ที่ผิดปกติ เช่น มีเลือดออก ท้องเสียหรือท้องผูกผิดปกติ
· มีแผลเรื้อรังที่ไม่หาย โดยเป็นนานมากกว่า 3 สัปดาห์
· มีเลือดออก หรือมีสารคัดหลั่งออกมาจากบริเวณช่องต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติ เช่น หัวนม, จมูก, ช่องคลอด ทวารหนัก เป็นต้น
· คลำพบก้อนที่เต้านม หรือที่อื่น ๆ ของร่างกาย
· ท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีอาการปวดท้อง กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น
· ไฝหรือจุดเล็ก ๆ ตามร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น โตขึ้น มีสีผิดปกติหรือมีเลือดออก
· มีอาการไอที่ผิดปกติ เช่น ไอปนเลือด ไอเรื้อรัง หรือเสียงแหบ
5. แนวทางการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งได้จาก ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจภาพเนื้อเยื่อและอวัยวะที่มีอาการด้วยเอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตรวจเซลล์จากก้อนเนื้อเพื่อ การตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
วิธีรักษาโรคมะเร็งสำหรับการรักษาโรคมะเร็งนี้หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการของโรคเสร็จแล้ว จะมีการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งว่าเซลล์มะเร็งร้ายกระจายไปอยู่ในบริเวณใดของร่างกายบ้าง เมื่อทราบแล้วก็จะรักษาไปตามอาการ โดยมะเร็งแต่ละชนิดการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ทั้งนี้ก็มีวิธีที่แพทย์นิยมรักษากันอยู่ คือ
การผ่าตัดมะเร็งระยะแรกส่วนใหญ่มักจะใช้การผ่าตัดเป็นส่วนมาก เช่น มะเร็งศรีษะและคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อกำจัดก้อนเนื้อร้ายที่อยู่ในร่างกายเราออกไป แต่วิธีนี้ไม่ได้สามารถทำการรักษาได้กับมะเร็งทุกประเภท และการผ่าตัดก็ยังไม่แน่ว่าจะหายขาด หรือไม่ เพราะเซลล์มะเร็งอาจยังหลงเหลือหรือหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย โดยอาจเป็นเซลล์มะเร็งที่กำลังเริ่มจะเกิด ทำให้แพทย์ไม่สามารถรู้หรือสังเกตเห็น เมื่อปล่อยไปสักระยะก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือเริ่มก่อตัวขยายใหญ่ขึ้น ก็ต้องมาผ่าตัดกันใหม่อีกรอบ แต่โดยมากกับวิธีการผ่าตัดนี้แพทย์มักแนะนำให้ทำคีโมหรือเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะช่วยให้หายขาดจากโรคมะเร็งนี้ได้
การใช้รังสีรักษาเป็นการฉายแสงไปยังเซลล์มะเร็งในร่างกาย เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น สำหรับการฉายแสงนี้เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ โดยอาศัยปัจจัยจากชนิดของมะเร็งที่เป็น ระยะเวลาที่เกิดมะเร็ง ตลอดจนสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่าแข็งแรงพอหรือไม่ ซึ่งหากผู้ป่วยพร้อมก็จะทำการฉายแสงประมาณ 2 – 10 นาที โดยต้องทำการฉายแสงสัปดาห์ละ 5 วัน รวมประมาณ 5 – 8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่การรักษาด้วยรังสีรักษานี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น ได้
เคมีบำบัด (คีโม) สำหรับวิธีนี้ถือเป็นการรักษาอย่างถูกจุด แก้ที่สาเหตุโดยตรงของปัญหา เพราะเป็นการให้ยาเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งทั้งหมดที่อยู่ภายในร่างกาย รวมทั้งที่กระจายเข้าไปตามต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดด้วย โดยแพทย์จะนัดมาทำการตรวจร่างกายวัดความดันและทำการเจาะเลือด ซึ่งหากผลการตรวจร่างกายผ่าน แพทย์ก็จะให้ไปทำการให้คีโมซึ่งก็เหมือนกับการให้น้ำเกลือทั่วไป เพียงแต่ต้องนอนรอหลายชั่วโมงจนกว่าตัวยาจะหมด และในระหว่างการให้คีโมนี้ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งอาจรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียน และผลข้างเคียงที่ตามมาหลังจากการให้คีโมประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ผมจะเริ่มร่วง รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เป็นแผลในปาก และปริมาณเม็ดเลือดลดลงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ตลอดจนอาจรู้สึกหายใจลำบาก มีผื่นขึ้น ท้องผูกถ่ายไม่ออก หรือมีไข้ เป็นต้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีค่ารักษาที่ค่อนข้างแพงเลยและยังต้องทำหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องทำทั้งหมดกี่ครั้งจึงจะหายเป็นปกติ
6. การติดต่อของโรคมะเร็ง โรคมะเร็งเป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งหรือติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่โรคมะเร็งบางชนิดอาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น มะเร็งเต้านม ถ้ามีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ สมาชิกภายในครอบครัวนั้นก็อาจจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย
7. การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคมะเร็ง การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป รักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นช่วงติดเชื้อได้ง่าย พักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าอ่อนเพลีย ควรลาหยุดงาน แต่ถ้าไม่อ่อนเพลีย ก็สามารถทำงานได้ แต่ควรเป็นงานเบาๆ ไม่ใช้แรงงาน และสมองมาก ทำงานบ้านได้ตามกำลัง งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีนดังได้กล่าวแล้ว หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย ยังคงต้อง ดูแล รักษา ควบคุมโรคร่วมอื่นๆอย่างต่อเนื่องร่วมไปด้วยเสมอกับการรักษาโรคมะเร็ง รักษาสุขภาพจิต ให้กำลังใจตนเอง และคนรอบข้าง มองโลกในด้านบวกเสมอ พบแพทย์ตามนัดเสมอ พบแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเกิดความผิดปกติผิดไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ
การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร เมื่อกินอาหารได้น้อย ให้พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น กินครั้งน้อยๆแต่บ่อยๆ แต่ยังต้องจำกัดอาหารหวาน และอาหารเค็ม เพราะมีผลต่อน้ำตาลในเลือด และการทำงานของไต ให้กำลังใจตนเอง เข้าใจว่า อาหารเป็นตัวยาสำคัญยิ่งตัวยาหนึ่ง ของการรักษาโรคมะเร็ง ลองปรับเปลี่ยน ประเภทอาหารให้กินได้ง่ายขึ้น เช่น อาหารอ่อน อาหารเหลว แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด หรือผัด หรือมีกลิ่นรุนแรง เพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เตรียมอาหารครั้งละน้อยๆ อย่าให้กินเหลือ เพราะจะได้เกิดกำลังใจว่ากินหมดทุกมื้อ ควรแจ้งแพทย์ พยาบาลเมื่อกินไม่ได้ หรือกินได้น้อย และควรยอมรับ เมื่อแพทย์แนะนำการให้อาหารทางสายให้อาหาร การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ปลา ตับ) เพราะในการรักษาโรคมะเร็ง ความแข็งแรงของไขกระดูก (เม็ดเลือดต่างๆ) เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวช่วยให้ร่างกายตอบสนองที่ดีต่อรังสีรักษา และยาเคมีบำบัด รวมทั้งช่วยลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อในขณะกำลังรักษาโรคมะเร็งมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
8. การป้องกันตนเองจากโรคมะเร็งวิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือ ผอม เกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ และหลีกเลี่ยงอาหารประเภทปิ้งย่างที่มีลักษณะไหม้เกรียม ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพ สม่ำเสมอ รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นปัจจุบัน
9. สมุนไพรที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง สมุนไพรต่อไปนี้ล้วนมีผลการทดสอบที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษามะเร็ง
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) ในอินเดียใช้กันมานานรักษาไทฟอยด์ แก้อักเสบ แก้มาเลเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน สารสำคัญคือ andrographolide สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด
บัวบก (Centella asiatica) มีสาร asiaticoside ที่ช่วยให้แผลเรื้อรังหายได้เร็วขึ้น เพิ่มภูมิคุ้มกัน และในบราซิลมีการใช้เพื่อรักษามะเร็งมดลูก
ขมิ้น (Curcuma longa) สารสำคัญคือ curcumin มีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์และต้านการอักเสบที่แรง สามารถทำให้เกิดการตายของเซลมะเร็งหลายชนิดเช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะ มะเร็งลำไส้เล็ก มะเร็งรังไข่ และยังมีฤทธิ์ต้านไวรัส แบคทีเรียและราอีกด้วย
ว่านหางจรเข้ (Aloe vera) มีสาร aloe-emodin ที่กระตุ้น macrophage ให้กำจัดเซล์ลมะเร็ง และยังมี acemannan ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ว่านหางจรเข้ช่วยกระตุ้นการเจริญของเซลล์ปกติและยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
ทุเรียนเทศ (Anona muricata) สาร acetogenin จากผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้
ดีปลี (Piper longum) มี piperine ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์ทั้ง in vitro และ in vivo จึงเป็นส่วนประกอบของตำรับยารักษามะเร็งของอายุรเวท
บอระเพ็ด (Tinospora cordifolia) สารสำคัญจากบอระเพ็ดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว และสามารถลดขนาดเนื้องอกได้ 58.8% เทียบเท่า cyclophosphamide
เอกสารอ้างอิง
1. เอกสารเผยแพร่ทำความรู้จักกับโรคมะเร็งกับเถอะ.มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย.พิมพ์ครั้งที่ 1.59 หน้า.
2. Khuhaprema, T., Srivatanakul, P., Attasara, P., Sriplung, H., Wiangnon,S., and Sumitsawan, Y. (2010). Cancer in Thailand. Volume IV, 2001--2003. National Cancer Institute. Thailand
3. สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.nci.go.th/th/Knowledge/reasonrisk.htm
4. สาเหตุและการป้องกันภัยร้ายจากมะเร็ง.นิตยสารออนไลน์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก.http://wwwku.ac.th/e-magazine/Sep48/know/cancer.htm
5. ศ.นพ.ไพรัช เทพมงคล.มะเร็ง.นิตยสารหมอชาวบ้าน,เล่มที่30.คอลัมน์โรคน่ารู้.ตุลาคม.2524
6. Kushi, L. et al. (2006). American Cancer Society Guidelines on nutrition and physical activity for cancer prevention: reducing the risk of cancer withy food choices and physical activity. CA Cancer J Clin. 56, 254-281.
7. ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง.หน่วยสารสนเทศมะเร็ง คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ea.php?newID=31&typeID=18
8. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
9. Thomas, R., and Davies, N. (2007). Lifestyle during and after cancer treatment. Clinical Oncology. 19, 616-627.
10. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
11. รศ.ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน”การใช้สมุนไพรอายุรเวทรักษามะเร็ง”.ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
12. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer