โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
โรคถุงลมโป่งพองคืออะไร โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) ซึ่งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะประกอบไปด้วยโรคหลอดลมอักเสบและถุงลมโป่งพอง โดยปกติแล้วจะพบลักษณะของ 2 โรคนี้ร่วมกัน แต่หากตรวจพบว่าปอดมีพยาธิสภาพของถุงลมที่โป่งพองออกเป็นลักษณะเด่น ก็จะเรียกว่า “โรคถุงลมโป่งพอง” ซึ่งหมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอด ซึ่งเป็นผลมาจากผนังถุงลมเสียความยืดหยุ่นและเปราะง่าย ทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ และผนังของถุงลมที่เปราะยังมีการแตกทะลุ ทำให้มีถุงลมขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการ ส่งผลให้จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงกว่าปกติ และมีอากาศข้างในปอดมากกว่าปกติเป็นผลให้ออกซิเจนจึงเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจตื้นและเกิดอาการเหนื่อยหอบง่ายตามมา
โรคนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ (ช่วงอายุ 45-65 ปี) พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง และมักพบร่วมกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและแยกออกจากกันยาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประวัติการสูบบุหรี่จัด มานานเป็น 10-20 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็มีประวัติอยู่การได้รับมลพิษทางอากาศในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นอากาศเสีย ฝุ่น ควัน หรือมีอาชีพทำงานในโรงงานหรือเหมืองแร่ที่หายใจเอาสารระคายเคืองเข้าไปเป็นประจำ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบเป็นลำดับที่ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร หากนับเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง อัตราการพบโรค คือ 18 คน ในประชากร 1,000 คน ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันของถุงลมโป่งพองในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกันกับทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสิบ สาเหตุของการเสียชีวิต ของประชากรไทย จึงนับเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยอีกโรคหนึ่ง
สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง คือการสูบบุหรี่ แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 6 เท่า ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีประวัติสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) นาน 10-20 ปีขึ้นไปสารพิษในบุหรี่จะค่อยๆ ทำลายเยื่อบุหลอดลมและ ถุงลมในปอด ทีละน้อย ใช้เวลานานนับสิบๆ ปี จนในที่สุดถุงลมปอดพิการ คือสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ (นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอากาศเสียออกจากร่างกาย และนำออกซิเจนซึ่งเป็นอากาศดีเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบทางเดินหายใจ) เกิดอาการหอบเหนื่อยง่าย และเกิดโรคติดเชื้อของปอดซ้ำซาก
นอกจากบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนน้อยยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มลพิษในอากาศ การหายใจเอามลพิษในอากาศ เช่น ควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไอเสียรถยนต์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดถุงลมโป่งพอง เพราะพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จะมีอัตราการป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งรวมถึงโรคถุงลมโป่งพองได้มากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบท มลพิษทางอากาศจึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ควันพิษหรือสารเคมีจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองหรือควันพิษที่มีส่วนประกอบของสารเคมีหรือฝุ่นละอองจากไม้ ฝ้าย หรือการทำเหมืองแร่ หากหายใจเข้าไปในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพองได้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสมากขึ้นไปอีกหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ภาวะพร่องสารต้านทริปซิน (α1-antitrypsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่าง ๆ จึงช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมปอดถูกสารพิษ ภาวะนี้จัดเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ ซึ่งโรคทางพันธุกรรมชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบในคนเชื้อชาติผิวขาว มักเกิดอาการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 40-50 ปี และผู้ป่วยมักจะไม่สูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ก็พบเกิดได้น้อยมากคือประมาณ 3% ของโรคปอดเรื้อรังทั้งหมด
อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ระยะแรกจะมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง กล่าวคือจะมีอาการไอมีเสมหะเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ จนนึกว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษา ต่อมาจะเริ่มไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวัน และมีเสมหะจำนวนมาก ในช่วงแรกเสมหะมีสีขาว ต่อมาอาจจะกลายเป็นสีเหลืองหรือเขียว มีไข้ หรือหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราวจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน นอกจากอาการไอเรื้อรังดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงมาก อาการหอบเหนื่อยจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น แม้แต่เวลาเดินตามปกติ เวลาพูดหรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย
หากผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ต่อไป ในที่สุดอาการจะรุนแรง จนแม้แต่อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกหอบเหนื่อย ทั้งนี้เนื่องจากถุงลมปอดพิการอย่างรุนแรง ไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศ นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เกิดพลังงานผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหนักเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีการติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอด) แทรกซ้อน ทำให้มีไข้ ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว หายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ดๆ ตัวเขียว จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อเป็นถึงขั้นระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด รูปร่างผ่ายผอม มีอาการหอบเหนื่อย อยู่ตลอดเวลา มีอาการทุกข์ทรมานและอาจเสียชีวิตได้จากโรคแทรกซ้อน
นอกจากนั้น ในบางรายอาจพบว่ามีริมฝีปากหรือเล็บเป็นสีคล้ำออกม่วงเทาหรือฟ้าเข้มเนื่องจากขาดออกซิเจน หรือหากมีอาการหายใจตื้นเป็นเวลานานหลายเดือนและมีอาการที่แย่ลงอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง ปัจจัยเสี่ยงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- ปัจจัยด้านผู้ป่วย เช่น ลักษณะทางพันธุกรรม เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ (Enzyme) ชื่อ Alpha-one antitrypsin ซึ่งเป็นเอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่างๆ ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้
- ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อม มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่
- ควันบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคนี้ พบว่ามากกว่าร้อยละ 75.4 ของผู้ป่วยCOPD เกิดจากบุหรี่การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งรวมถึงบุหรี่ยาเส้นพื้นบ้านด้วย ปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ยิ่งสูบบุหรี่มากและสูบมานานหลายปี ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มาก นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เอง แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
- มลภาวะทั้งในบริเวณบ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะที่สำคัญคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร (biomass fuel) และสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ (diesel exhaust)
แนวทางการรักษาโรคถุงลมโป่งพอง การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพองแพทย์จะอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ประวัติสัมผัสปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับอาการ ผลการตรวจร่างกาย ภาพรังสีทรวงอก และยืนยันการวินิจฉัยด้วย spirometry ดังอาการต่อไปนี้
อาการส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จะมีอาการเมื่อพยาธิสภาพลุกลามไปมากแล้ว อาการที่ตรวจพบ ได้แก่ หอบเหนื่อยซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไอเรื้อรังหรือมีเสมหะโดยเฉพาะในช่วงเช้า อาการอื่นที่พบได้ คือ แน่นหน้าอก หรือหายใจมีเสียงหวีด
การตรวจทางรังสีวิทยาภาพรังสีทรวงอกมีความไวน้อยสำหรับการวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง แต่มีความสำคัญในการแยกโรคอื่น ในผู้ป่วย emphysema อาจพบลักษณะ hyperinflation คือ กะบังลมแบนราบและหัวใจมีขนาดเล็กมีอากาศในปอดมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่มี corpulmonale จะพบว่าหัวใจห้องขวา และ pulmonary trunk มีขนาดโตขึ้น และ peripheral vascular marking ลดลง
การตรวจสมรรถภาพปอด Spirometry มีความจำเป็นในการวินิจฉัยโรคนี้มาก และสามารถจัดระดับความรุนแรงของโรคได้ด้วย โดยการตรวจ spirometry นี้จะต้องตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการคงที่ (stable) และไม่มีอาการกำเริบของโรคอย่างน้อย 1 เดือน การตรวจนี้สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจเข้าให้เต็มที่ แล้วเป่าลมหายใจออกอย่างรวดเร็วผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometry) แล้ววัดดูค่า FEV1 (Forced expiratory volume in 1 second) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกใน 1 วินาที และค่า FVC (Forced vital capacity) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกทั้งหมดจนสุดอย่างเต็ม 1 ครั้ง จะพบลักษณะของ airflow limitation โดยค่า FEV1 / FVC หลังให้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่าร้อยละ 70 และแบ่งความรุนแรงเป็น 4 ระดับ โดยใช้ค่า FEV1 หลังให้ยาขยายหลอดลม
การตรวจด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse oximetry) เป็นการตรวจเพื่อวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ซึ่งในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมักจะมีออกซิเจนในเลือดต่ำ คือ วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ (โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 96-99% หากต่ำกว่านี้ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ)
การตรวจหาระดับสารทริปซินในเลือด หากผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี สาเหตุอาจมาจากภาวะพร่องสารต้านทริปซินซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องตรวจหาปริมาณ α1-antitrypsin ในเลือด
การรักษา เพื่อคงสภาพร่างกายปัจจุบันให้ดีที่สุด และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วยหลัก 4 ประการ คือ การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การรักษา stable COPD การประเมินและติดตามโรค การรักษาภาวะกําเริบเฉียบพลันของโรค (acute exacerbation)
- การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ในการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร โดยใช้พฤติกรรมบำบัด หรือร่วมกับยาที่ใช้ช่วยเลิกบุหรี่ และหลีกเลี่ยงหรือลดมลภาวะ เช่น เลี่ยงการใช้เตาถ่านในที่อากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นต้น
- การรักษา stable COPD การดูแลรักษาผู้ป่วยอาศัยการประเมินความรุนแรงของโรคตามอาการและผล spirometry ส่วนปัจจัยอื่นที่ใช้ประกอบในการพิจารณาให้การรักษา ได้แก่ ประวัติการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันของโรค ภาวะแทรกซ้อน ภาวการณ์หายใจล้มเหลว โรคอื่นที่พบร่วม และสถานะสุขภาพ (health status) โดยรวม
การให้ข้อมูลที่เหมาะสมเกี่ยวกับโรค และแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยมีทักษะในการเรียนรู้การใช้ชีวิตกับโรคนี้ดีขึ้น และสามารถวางแผนชีวิตในกรณีที่โรคดำเนินเข้าสู่ระยะสุดท้าย (end of life plan)
การรักษาด้วยยา การใช้ยามีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิต ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่มีหลักฐานชัดเจนว่าสามารถลดอัตราการตาย และชะลออัตราการลดลงของสมรรถภาพปอดได้ ซึ่งการรักษาดัวยยา จะประกอบด้วยยาต่างๆ เช่น
ยาขยายหลอดลม ยากลุ่มนี้ทำให้อาการและสมรรถภาพการทำงานของผู้ป่วยดีขึ้น ลดความถี่และความรุนแรงของการกำเริบ เริ่มคุณภาพชีวิตทำให้สถานะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจจะมีการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมตามเกณฑ์การตรวจ spirometry ก็ตาม
ยาขยายหลอดลมที่ใช้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ β2-agonist, anticholinergic แĈะ xanthine derivative
การบริหารขยายหลอดลม แนะนำให้ใช้วิธีสูดพ่น (metered-dose หรือ dry-powder inhaler) เป็นอันดับแรกเนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงน้อย
ICSถึงแม้ว่าการให้ยา ICS อย่างต่อเนื่องจะไม่สามารถชะลอการลดลงของค่า FEV แต่สามารถทำให้สถานะสุขภาพดีขึ้น และลดการกำเริบของโรคในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรงและที่มีอาการกำเริบบ่อย
ยาผสม ICS และ LABA ชนิดสูด มีหลักฐานว่ายาผสมกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ายา LABA หรือยา ICS ชนิดสูดเดี่ยวๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยขั้นรุนแรงและมีอาการกำเริบบ่อยๆ แต่ก็ยังมีความโน้มเอียงที่จะเกิดปอดอักเสบสูงขึ้นเช่นกัน
Xanthine derivatives มีประโยชน์แต่เกิดผลข้างเคียงได้ง่าย จึงควรพิจารณาเลือกยาขยายหลอดลมกลุ่มอื่นก่อน ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ได้จากการศึกษายาชนิดที่เป็น sustained-release เท่านั้น
การรักษาอื่นๆ วัคซีน แนะนำให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ระยะเวลาที่เหมาะสมคือ เดือนมีนาคม – เมษายน แต่อาจให้ได้ตลอดทั้งปี การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (pulmonary rehabilitation)มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการของโรค เพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดนี้ จะต้องครอบคลุมทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สภาพของกล้ามเนื้อ สภาพอารมณ์และจิตใจ ภาวะโภชนาการเป็นต้น ให้การบำบัดด้วยออกซิเจนระยะยาว การรักษาโรคการผ่าตัด และ/หรือ หัตถการพิเศษ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา และการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างเต็มที่แล้ว ยังควบคุมอาการไม่ได้ ควรส่งต่ออายุรแพทย์ผู้ชำนาญโรคระบบการหายใจ เพื่อประเมินการรักษาโดยการผ่าตัด เช่น
- Bullectomy
- การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด (lung volume reduction surgery)
- การใส่อุปกรณ์ในหลอดลม (endobronchial valve)
- การผ่าตัดเปลี่ยนปอด
การประเมินและติดตามโรค ในการประเมินผลการรักษาควรมีการประเมินทั้ง อาการผู้ป่วย (subjective) และผลการตรวจ (objective) อาจประเมินทุก 1-3 เดือนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคและปัจจัยทางเศรษฐสังคม ทุกครั้งที่พบแพทย์ ควรติดตามอาการ อาการเหนื่อยหอบ ออกกำลังกาย ความถี่ของกการกำเริบของโรค อาการแสดงของการหายใจลำบาก และการประเมินวิธีการใช้ยาสูดทุก 1 ปี ควรวัด spirometry ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยคุกคามกิจวัตรประจําวัน ควรวัด BODE Index, 6 minute walk distance, ระดับ oxygen saturation หรือ arterial blood gases
การรักษาภาวะกำเริบเฉียบพลันของโรค (acute exacerbation)การกำเริบเฉียบพลันของโรค หมายถึง ภาวะที่มีอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในระยะเวลาอันสั้น (เป็นวันถึงสัปดาห์) และ/หรือ มีปริมาณเสมหะเพิ่มขึ้น หรือมีเสมหะเปลี่ยนสี (purulent sputum) โดยต้องแยกจากโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น หัวใจล้มเหลว pulmonary embolism, pneumonia, pneumothorax
การติดต่อของโรคถุงลมโป่งพอง โรคถุงลมโป่งพองเกิดจาก เยื่อบุหลอดลมและถุงลมในปอดถูกทำลายโดยสารพิษต่างๆ เช่น สารพิษในควันบุหรี่ , มลพิษทางอาการและสารเคมี ที่เราสูดดมเข้าไป เป็นเวลานานและในปริมาณที่มาก ซึ่งโรคถุงลมโป่งพองไม่ได้มีการติดต่อ จากคนสู่คน หรือ จากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด แต่อาจพบได้ว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ (ภาวะบกพร่องสารต้านทริปซีน (a1-antitrypsin)) แต่พบได้น้อยมาก ประมาณ 3% ของโรคปอดเรื้อรังทั้งหมด
การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง
- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอและใช้ยารักษาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
- เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษ เช่น ฝุ่น ควัน
- ดื่มน้ำมากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยขับเสมหะ
- ในรายที่เป็นระยะรุนแรง มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรหาทางบำรุงอาหารให้ร่างกายแข็งแรง
- หากจำเป็นควรมีถังออกซิเจนไว้ประจำบ้าน เพื่อใช้ช่วยหายใจ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย
- หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้ หายใจหอบ ก็ควรรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
- รับประทานอาการที่มีประโยชน์ครบ ทั้ง 5 หมู่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัด
การป้องกันตนเองจากโรคถุงลมโป่งพอง
- การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สูบบุหรี่ (รวมถึงยาเส้น) และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่หรือสถานที่ที่มีควันบุหรี่
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หากเลิกสูบไม่ได้ ควรหมั่นไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มมีอาการไอบ่อยทุกวันโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ และรู้จักสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ส่วนผู้ที่ต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในที่ขาดการถ่ายเทอากาศ
- ถ้าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด ต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจังและรับประทานยาอย่างเคร่งครัด
สมุนไพรที่ใช้รักษา/บรรเทาอาการของโรคถุงลมโป่งพอง
- ขิงแก่ สุดยอดอาหารบำรุงปอด ช่วยขับสารนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ มีสรรพคุณในการกำจัดนิโคตินตกค้างในปอดรวมถึงหลอดลม ช่วยขจัดสารพิษที่เกิดจากนิโคตินในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเด่นเกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบทางเดินหายใจ การเปิดหลอดลม ระบายขับความร้อน เวลารับประทานขิงจึงรู้สึกโล่ง
- กระเทียม กระเทียมเป็นยาบำรุงร่างกาย กินเป็นยาแก้อักเสบในอก ในปอด แก้เสมหะ
- ขมิ้น เป็นสมุนไพรพื้นฐานที่ใช้รักษาอาการอักเสบกับอวัยวะต่างๆ แก้ไข้เพ้อคลั่ง แก้ไข้ร้อน แก้เสมหะ อายุเวทแนะนำให้กินผงขมิ้นละลายกับน้ำผึ้ง เป็นยาบำรุงปอด สมานแผลอักเสบในปอด มีขมิ้นแคปซูลกินเช้าเย็นได้
- ฟ้าทะลายโจร รสขม สรรพคุณกินแก้อาการอักเสบต่างๆ แก้ไข้ แก้หวัด แก้ปอดอักเสบ แก้ไอ แก้เจ็บคอ
เอกสารอ้างอิง
- สมุนไพรบำรุงปอด.สยามรัฐ(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.siamrath.co.th/web/?q
- รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ถุงลมปอดโป่งพอง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่361.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.พฤษภาคม.2552
- Spencer S, Calverley PM, Burge PS, et al. Impact of preventingexacerbations on deterioration of health status in COPD. EurRespir J 2004; 23:698-702.
- Calverley P, Pauwels R, Vestbo J, et al. Combined salmeterol and fluticasone in the treatment of chronic obstructive pulmonary disease: a randomized controlled trial. Lancet 2003; 361:449-56
- Eric G. Honig, Roland H. Ingram, Jr. Chronic bronchitis, emphysema, and airways obstruction, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
- Calverley PM, Anderson JA, Celli B, et al. Salmeterol and fluticasone propionate and survival in chronic obstructive pulmonary disease. N Engl J Med 2007; 356:775-89.
- โรคถุงลมโป่งพอง-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pobpad.com
- แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พ.ศ.2553.สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย,สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.วารสารวัณโรค โรคทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต.ปีที่31.ฉบับที่3.กรกฎาคม-กันยายน2553.หน้า102-110
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ถุงลมปอดโป่งพอง (Emphysema)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 432-436.
- Szafranski W, Cukier A, Ramirez A, et al. Efficacy and safety of budesonide/formoterol in the management of chronic obstructive pulmonary disease. Eur Respir J 2003; 21:74-81.
- Lung Health Study Research Group. Effect of inhaled triamcinolone on the decline in pulmonary function in chronic obstructive pulmonary disease: Lung Health Study II. N Engl J Med 2000; 343:1902-09.
- Mahler DA, Wire P, Horstman D, et al. Effectiveness of fluticasone propionate and salmeterol combination delivered via the Diskus device in the treatment of chronic obstructive pulmonary disease. Am J Respir Crit Care Med 2002; 166:1084-91.
- Burge PS, Calverley PM, Jones PW, et al. Randomised, double blind, placebo controlled study of fluticasone propionate in patients with moderate to severe chronic obstructive pulmonary disease: the ISOLDE trial. BMJ 2000; 320:1297-303.
- Wongsurakiat P, Maranetra KN, Wasi C, et al. Acute respiratory illness in patients with COPD and the effectiveness of influenza vaccination: a randomized controlled study. Chest 2004; 125: 2011-20.
- Pauwels RA. Lofdahl CG, Laitinen LA, et al. Long-term treatment with inhaled budesonide in persons with mild chronic obstructive pulmonary disease who continue smoking. European Respiratory Society Study on Chronic Obstructive Pulmonary Disease. N Engl J Med 1999; 340:1948-53.
- Jones PW, Willits LR, Burge PS, et al. Disease severity and the effect of fluticasone propionate on chronic obstructive pulmonary disease exacerbations. Eur Respir J 2003; 21:68-73.
- Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease. Global strategy for the diagnosis, management and prevention of chronic obstructive pulmonary disease. NHLBI/WHO workshop report. Bethesda, National Heart, Lung and Blood Institute, Date updated; November 2008.