โรควัณโรค (Tuberculosis/TB)

โรควัณโรค (Tuberculosis/TB)

วัณโรคคืออะไรวัณโรค (Tuberculosis) หรือโรคทีบี (Tubercle bacillus : TB) คือ โรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อวัณโรค แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ (กว่า 80%) แล้วการอักเสบจากเชื้อวัณโรคจะเกิดขึ้นในปอดที่เรียกว่า “วัณโรคปอด” (ภาษาอังกฤษ : Pulmonary tuberculosis) แต่วัณโรคก็สามารถเกิดกับอวัยวะอื่น ๆ ได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกาย เช่น ประสาทและสมอง ต่อมน้ำเหลือง ลำไส้ ตับ ม้าม ระบบขับถ่าย กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ กระดูกและข้อ เป็นต้นแต่วัณโรคที่เป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุขทั่วโลกก็คือ วัณโรคปอด

            วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังของปอดที่มีมานานนม โบราณเรียกว่า “ฝีในท้อง” เนื่องเพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการไอออกเป็นเลือด ซึ่งเข้าใจผิดว่าออกจากฝีที่อยู่ในท้อง โรคนี้สามารถแพร่ให้คนที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ภายในบ้าน หรือในที่ที่มีคนอยู่รวมกันแออัดหรือถ่ายเทอากาศไม่ดี ในอดีตผู้ป่วยวัณโรคมักจะเสียชีวิตแต่ในปัจจุบัน โรคนี้มียารักษาให้หายขาด ซึ่งต้องกินติดต่อกันนานอย่างน้อย ๖ เดือน ปัจจุบันมีการแพร่กระจายของโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ติดเชื้อเอดส์ และมีปัญหาเชื้อดื้อยาเนื่องจากผู้ป่วยกินยาไม่ถูกต้อง

            นอกจากนี้วัณโรคถือเป็น 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยองค์กรอนามัยโลกได้เปิดเผยสถิติล่าสุดในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ว่ามีผู้ที่ป่วยทั่วโลกทั้งหมด 10.4 ล้านคน และมีถึง 1.8 ล้านคนที่เสียชีวิตจากวัณโรค อีกทั้งวัณโรคนั้นก็ยังเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติดและแสดงอาการได้ง่ายกว่าคนปกติ

ส่วนในประเทศไทยวัณโรคก็ยังเป็นโรคที่พบได้มาก แต่ก็ไม่ติด 10 อันดับสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 แล้ว (ซึ่งจำนวนของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในกลุ่ม 22 ประเทศเหล่านี้ก็คิดเป็น 80% ของผู้ป่วยทั่วโลก) และจากรายงานอุบัติการณ์การติดเชื้อวัณโรคของสำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ.2555 พบผู้ป่วย 137 รายต่อประชากร 100,000 คน หรือประมาณ 90,000 คนต่อปี และเสียชีวิต 16 รายต่อประชากร 100,000 คน ส่วนรายงานขององค์การอนามัยโลกในปีเดียวกันนี้ พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยทั้งหมด 61,208 รายที่มีการลงทะเบียน ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมกับผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนซึ่งเชื่อว่ามีอีกจำนวนมาก

สาเหตุของวัณโรค วัณโรค (Tuberculosis : TB) เป็นโรคที่พบมานานแล้ว  และมักจะเป็นภายในครอบครัว สมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ่ายทอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๐๘ นักวิทยาศาสตร์ถึงพบว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อ  ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๒๕ Robert Koch พบว่าเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งชื่อ Tubercle bacilli เป็นสาเหตุของโรคนี้ (ปัจจุบันคือ Mycobacterium tuberculosis) และพิสูจน์ได้ว่าโรคนี้แพร่เชื้อผ่านทางเสมหะทำให้ควบคุมการระบาดได้  นอกจากนี้ Koch ยังพยายามผลิตวัคซีนชื่อ Tuberculin ซึ่งล้มเหลวในการป้องกันโรค  แต่พอจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้จึงยังคงมีใช้อยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นวัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) จึงเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ซึ่งเชื้อMycobacterium มีหลายชนิด เช่น M. tuberculosis, M. bovis และ Mycobacterium avium complex เป็นต้น โดยเชื้อที่ก่อโรคในคนมากที่สุดคือ M. tuberculosis และยังมีเชื้อชนิดอื่นที่พบบ่อยเช่น Mycobacterium africanum พบได้ในแถบอาฟริกา Mycobacterium bovisมักก่อให้เกิดโรคในสัตว์ซึ่งอาจติดต่อมาถึงคนได้โดยการบริโภคนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ

นอกเหนือจากเชื้อ Mycobacterium ดังกล่าวข้างต้นแล้วอาจพบ Mycobacterium ชนิดอื่นๆซึ่งเดิมเรียกว่าAtypical Mycobacterium หรือ Mycobacterium other thantuberculosis (MOTT) ในปัจจุบันเรียกว่า Nontuberculous Mycobacteria (NTM) มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ทำ ให้เกิดวัณโรคหรือโรคเรื้อน พบในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและนํ้าหรือพบในสัตว์เช่น นก วัว ควาย หรือพบในช่องคอของคนมักไม่ทำ ให้เกิดโรคและยังไม่มีรายงานว่าติดต่อโดยตรงจากคนไปสู่คน อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มมีความสำคัญเนื่องจากอาจทำ ให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น Mycobacterium avium complex (MAC) ที่พบได้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมักจะมีปัญหาในเรื่องการรักษาด้วยยาวัณโรคทั่วๆ ไปในกรณีที่ไม่มีการจำแนกชนิดของเชื้อ Mycobacterium ก่อนได้รับยารักษาวัณโรค

อาการของวัณโรค ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อวัณโรคจะไม่มีอาการป่วยและไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นของผู้ที่ติดเชื้อที่จะป่วยเป็นวัณโรค (TB disease) โดยครึ่งหนึ่ง 5% จะป่วยเป็นวัณโรคภายใน 2 ปีหลังการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันตํ่า ที่เหลืออีก 5 % จะป่วยเป็นวัณโรคหลังการติดเชื้อไปแล้วนานหลายปีเช่น ผู้ป่วยสูงอายุที่มีประวัติสัมผัสวัณโรคตั้งแต่เด็ก และในผู้ป่วยวัณโรคเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อวัณโรคแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการโดยทันที เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน ยังจะทำหน้าที่ป้องกันเชื่อโรคต่างๆได้ จึงทำให้เชื้อค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ อาการของวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. ระยะแฝง (Latent TB) ในระยะแฝงผู้ป่วยประมาณ 90% เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น ทว่าเชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ
  2. ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ โดยอาการในระยะนี้จะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจน ที่สำคัญคือ อาการไข้และไอเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ๆ ถึงเป็นแรมเดือน

แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือหลอดลมอักเสบ โดยมีอาการไอเป็นหลัก ระยะแรกเป็นลักษณะไอแห้งๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะเป็นสีเหลืองหรือเขียว มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย อาจมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน บางครั้งอาจออกมากจนโชกเสื้อผ้าและที่นอน ผู้ป่วยมักซื้อยาหรือหาหมอมารักษาแต่อาการไม่ทุเลา จะมีอาการต่อเนื่องนาน ๒-๓ สัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน ผู้ป่วยจะมีอาการไอถี่ขึ้น อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยอาจมีอาการไอออกมาเป็นเลือดสีแดงๆ หรือดำๆ ซึ่งมักจะออกปริมาณไม่มาก มีน้อยรายมากที่อาจมีเลือดออกจนซีด หรือเป็นลม หน้ามืด มือเท้าเย็น

บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ เนื่องจากมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือโรคลุกลามไปทั่วปอด หรือในบางรายอาจมีอาการไข้นานเป็นแรมเดือน โดยไม่มีอาการไอหรืออาการอื่นๆ ชัดเจนก็ได้และในรายที่เป็นวัณโรคปอดเพียงเล็กน้อย อาจไม่มีอาการอะไรเลย และมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการเห็น “จุด” ในปอดจากภาพถ่ายรังสี (ภาพเอกซเรย์)

ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ววัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด ซึ่งเรียกว่า วัณโรคปอด แต่เชื้อก็สามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายและทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เป็นอันตรายได้ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

กลุ่มบุคคลผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค

  1. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ที่พบบ่อยคือผู้ป่วยเอดส์ (มีโอกาสเป็นวัณโรคในตลอดช่วงชีวิตถึงร้อยละ 50หรือมากกว่าร้อยละ 10ต่อปี) เบาหวาน ไตวาย ผู้ที่กินยาสตีรอยด์นานๆ หรือใช้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยติดเชื้อบางชนิด (เช่น หัด ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ผู้ที่ตรากตรำงานหนักหรือมีความเครียดสูง
  2. ผู้ติดยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์
  3. ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร คนจรจัด
  4. ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด การระบายอากาศไม่ดี เช่น เรือนจำ ศูนย์อพยพ เป็นต้น
  5. ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะยาวนาน เช่น สมาชิกในบ้านผู้ป่วย เพื่อนร่วมห้องพัก หรือห้องทำงาน
  6. บุคลากรสาธารณสุขที่ให้การดูแลพยาบาลผู้ป่วย
  7. ผู้สูงอายุ (พบอุบัติการณ์สูงในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี)
  8. ทารกแรกเกิด

แนวทางการรักษาวัณโรค ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าวัณโรคโรคปอด ส่วนหนึ่งมักไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานหลายอย่างประกอบกันตั้งแต่ประวัติการสัมผัสวัณโรค อาการแสดง เช่น ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดซึ่งไม่มีลักษณะที่จำเพาะ ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้และไอนานเกิน 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ไอออกเป็นเลือด ฟังเสียงการทำงานของปอดในขณะที่หายใจ

จากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจเบื้องต้นด้วยวิธีการตรวจคัดกรองวัณโรคที่เรียกว่า “การตรวจทูเบอร์คูลิน” (Tuberculin skin test : TST) ซึ่งเป็นการตรวจทางผิวหนังที่ใช้หลักการของการตอบสนองโดยกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะสามารถให้ผลบวกได้ระหว่าง 2-8 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยแพทย์จะทำการฉีดยาที่เป็นโปรตีนสารสกัดจากเชื้อวัณโรค เรียกว่า “พีพีดี” (Purified protein derivative : PPD) เข้าชั้นใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน หลังจากนั้นประมาณ 48-72 ชั่วโมง ต้องกลับมาให้แพทย์หรือพยาบาลตรวจรอยฉีดยา ถ้าบริเวณที่ฉีดยามีขนาดรอยบวมน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร แสดงว่าบุคคลนั้นไม่น่าจะติดเชื้อ (ให้ผลลบ) แต่ถ้าบริเวณที่ฉีดยามีขนาดรอยบวมตั้งแต่ 10 มิลลิเมตรขึ้นไป แสดงว่าบุคคลน่าจะติดเชื้อวัณโรค (ให้ผลบวก) และจะต้องทำการตรวจอื่น ๆ 

ทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยวินิจฉัยวัณโรคได้แก่ เอ็กซเรย์ปอด ลักษณะผิดปกติที่เข้าได้กับวัณโรคปอดเช่น พบการอักเสบของปอดที่ ปอดกลีบบน การย้อมเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ควรทำในผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรคเพื่อช่วย ยืนยันการวินิจฉัย โดยจะเก็บเสมหะตอนเช้าหลังตื่นนอน 3 วันติดต่อกัน จะรู้ผลภายในประมาณ 30 นาที แต่มีข้อเสียคือ วิธีนี้มีโอกาสตรวจพบเชื้อวัณโรคได้เพียงประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย เท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคในเสมหะก็ยังอาจเป็นโรควัณโรคปอดได้ การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะ ข้อดีคือ วิธีนี้สามารถตรวจพบเชื้อได้สูงถึง 80 - 90% ของผู้ป่วย แต่ต้องใช้เวลาประมาณสองเดือนจึงทราบผล

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอด แพทย์จะให้ยารักษาวัณโรค โดยทั่วไปจะนิยมใช้สูตรยากิน 6 เดือน 2 เดือนแรกใช้ยา 4 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช (INH) หรือไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (rifampicin) ,ไพราซินาไมด์ (pyrazinamide) และอีแทมบูทอล (ethambutol) บางรายอาจใช้ สเตรปโตไมซินชนิดฉีดแทนอีแทมบูทอล แล้วต่อด้วยยา 2 ชนิด ได้แก่ ไอเอ็นเอช และไรแฟมพิซิน อีก 4 เดือน

    แพทย์จะย้ำเตือนให้ผู้ป่วยกินยาให้ตรงเวลาทุกวัน ห้ามลืมหรือเว้นบางมื้อหรือบางวัน กำชับให้ญาติช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาได้สม่ำเสมอ มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้รักษาไม่ได้ผล หรือต้องเปลี่ยนไปใช้ยาสูตรที่แรงขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเอดส์ร่วมกับวัณโรคปอด นอกจากให้ยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว ยังต้องให้ยารักษาวัณโรค (ซึ่งเปลี่ยนแปลงสูตรยาที่แตกต่างกันออกไป) เป็นเวลานาน 9 เดือน

    แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปเมื่อใช้ยาได้ 2 สัปดาห์ อาการไข้และไอจะเริ่มทุเลา กินข้าวได้ และน้ำหนักขึ้น

    แพทย์จะทำการตรวจเสมหะ (ดูว่าเชื้อหายหมดหรือยัง) เป็นระยะๆ เช่น เมื่อกินยาครบ 2 เดือน 5 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการใช้ยารักษา นอกจากนี้อาจทำการเอกซเรย์ปอดดูว่ารอยโรคหายดีหรือยัง

    ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบ เช่น ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติเป็นโรคตับอยู่ก่อน หรืออายุมากกว่า 35 ปี เมื่อกินยารักษาวัณโรค ซึ่งอาจทำให้ตับอักเสบได้ แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT) เพื่อดูว่ามีการอักเสบของตับเกิดขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับวัณโรคในประเทศไทย คือ การเกิดวัณโรคดื้อยาหลายขนานซึ่งทำให้การรักษาหายขาดเป็นไปได้ยากขึ้น และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิตได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานยาที่ไม่สม่ำเสมอของผู้ป่วยอันเนื่องมาจากปัญหาหลายอย่าง เช่น การที่ต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน (อย่างน้อย 6 เดือน) ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นบางส่วนหยุดยาหรือไม่มีตามนัด หรือในรายที่อาจทนผลข้างเคียงของยาไม่ได้จึงหยุดยาเอง เป็นต้น

การติดต่อของวัณโรค เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศ จากผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคปอดและกล่องเสียง การติดเชื้อเกิดขึ้นจากการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการไอหรือจาม พูดหรือร้องเพลง เป็นต้น การไอหรือจามหนึ่งครั้งสามารถสร้างละอองฝอยได้ถึงล้านละอองฝอย อนุภาคของเชื้อมีขนาดเล็กมากประมาณ1-5 ไมครอน ละอองของเชื้อจึงสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและไปได้ระยะทางไกล เมื่อหายใจรับละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปในระบบทางเดินหายใจที่ถุงลมของปอดและอาจเกิดการติดเชื้อที่ปอดและแพร่กระจายเชื้อสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดได้ 

            ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อขึ้นอยู่กับปริมาณ หรือความเข้มข้นของเชื้อในอากาศและระยะเวลาในการสัมผัสเชื้อคืออยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับผู้ป่วยเป็นวันหรือสัปดาห์ เช่นอยู่ห้องเดียวกัน เป็นต้น วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่มีลักษณะพิเศษคือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือรับเชื้อเข้าไปในร่างกายทุกรายไม่จำเป็นต้องป่วยคือ ไม่มีอาการและอาการแสดงของวัณโรค เรียกว่า การติดเชื้อระยะนี้ว่า วัณโรคอยู่ในระยะซ่อนเร้น/ระยะแฝง (latent Mycobacterium tuberculosis infection)  เมื่อบุคคลได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว ตลอดช่วงชีวิตหลังจากนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ประมาณ ร้อยละ 10ซึ่งประมาณร้อยละ 5  (หรือประมาณ ร้อยละ50) มีโอกาสเป็นโรคในช่วง 1-2 ปีแรก (CDC, 2011) ส่วนอีกร้อยละ 5   จะมีโอกาสเป็นโรคหลังจากนั้นถ้าร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันปกติ ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมากกว่าร้อยละ 10

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นวัณโรค

  1. กินยาให้สม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ หากระหว่างการรักษามีอาการผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ทันที ห้ามหยุดยาเอง หรือเปลี่ยนที่รักษาใหม่หลังกินยา 2-3 เดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการดีขึ้นแต่อาการที่ดีขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยหายจากโรคแล้ว ต้องกินยาจนแพทย์มีความเห็นว่าหายขาดและสั่งให้หยุดยา ถ้าด่วนหยุดยาเองโรคจะกำเริบและเชื้ออาจดื้อยาที่เคยรักษาอยู่ ทำให้รักษาหายยากขึ้น
  2. ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อสู่ผู้อื่น
  3. บ้วนเสมหะลงในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ทำลายเชื้อโรคในเสมหะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  4. งดสิ่งเสพติดเช่น เหล้า บุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประ โยชน์ห้าหมู่) เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ธัญพืช ผัก และผลไม้
  5. ให้บุคคลใกล้ชิดเช่น คนในบ้านพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอด ซึ่งในผู้ใหญ่ ถ้าผลเอ็กซเรย์ไม่พบความผิดปกติจะถือว่าไม่เป็นวัณโรคไม่จำเป็นต้องมีการรักษา แต่ในเด็ก เล็ก ถึงแม้จะไม่มีอาการและเอ็กซเรย์ปอดปกติ จะต้องตรวจทูเบอร์คูลิน (tuberculin skin test หรือ TST) ซึ่งถ้าผลเป็นบวก แพทย์จึงจะให้การรักษาวัณโรค
  6. ในช่วงแรกของการรักษา (โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก) จะถือเป็นระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยจึงควรแยกตัวออกให้ห่างจากผู้อื่น โดยการอยู่แต่ในบ้าน แยกห้องนอน ไม่อยู่ใกล้ชิดกับคนในบ้าน ภายในห้องควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและให้แสงแดดส่องถึง (เนื่องจากแสงแดดและความร้อนจะทำลายเชื้อวัณโรคได้ดี) หมั่นนำเครื่องนอนออกไปตากแดด และไม่ออกไปที่ที่มีผู้คนแออัด นอกจากนี้ยังควรแยกถ้วย ชาม สำรับอาหารและเครื่องใช้ออกต่างหากด้วย (หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นหรือเข้าไปในที่ชุมชน ควรสวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเสมอ)
  7. ผู้ป่วยที่ต้องทำงานกลับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เด็กเล็ก ควรแยกตัวออกห่างจากคนเหล่านี้จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อวัณโรคแล้ว

การป้องกันตนเองจากวัณโรค

  1. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดยเฉพาะตอนบ่ายๆหรือค่ำๆ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  3. ประชาชนทั่วไป ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซ์เรย์ปอดหรือตรวจเสมหะ (AFB) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  4. ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้านเดียวกัน ควรกำชับให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด  โดยในช่วงที่ผู้ป่วยยังกินยารักษาวัณโรคได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ หรือยังไม่หายจากอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงการนอนในห้องเดียวกับผู้ป่วย และถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเสมอ รวมถึงต้องล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของๆผู้ป่วย
  5. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเป็นสมาชิกในบ้านเดียวกับผู้ป่วย แม้ว่าจะยังรู้สึกสบายดีก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทูเบอร์คูลิน ถ้าพบว่าให้ผลเป็นบวกซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรค
  6. ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) (Beeilus Calmette Guerin)ให้ทารกแรกเกิดทุกราย วัคซีนชนิดนี้มีผลในการป้องกันวัณโรค ชนิดรุนแรงในเด็กเล็ก แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ ผู้ที่เคยฉีดบีซีจีมาแล้วก็ยังมี โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้

ซึ่งวัคซีน BCG ถูกผลิตขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2461 A. Calmette และ A. Guerin สองนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันพลาสเตอร์ ก็ผลิตวัคซีนขึ้นมาเรียกว่า Bacille Calmette-Guerin (BCG) และเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2464

สมุนไพรที่ใช้รักษา/บรรเทาอาการของวัณโรค วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อจากเชื้อไมโครแบคทีเรียที่เป็นอันตรายร้ายแรงและมีการติดต่อที่เร็วมาก เพราะสามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ แต่ในประเทศไทยของเราถือว่าได้รับข่าวดีเป็นอย่างมากเมื่อมีคณะนักวิจัยสามารถศึกษาวิจัยต้นพบว่ามีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคได้ถึง 14 ชนิด ดังที่มีการจัดการประชุมวิชาการกรมวิทศาสตร์การแพทย์ ณ.อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อปี 2551 ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัย มหาวิทยาลัยโคโบราโดของอเมริกา ก็เพิ่งค้นพบว่า สารที่อยู่ในขมิ้นช่วยปราบวัณโรคชนิดที่ดื้อยาลงได้ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้พบว่า ขมิ้นมีสารที่เรียกว่า แมคโครเฟลกซ์ ซึ่งมีสรรพคุณในการกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มโรคของมนุษย์สามารถขับไล่เชื้อวัณโรคได้ด้วย โดยจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มโรคให้ต่อต้านเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาให้อ่อนฤทธิ์กับการต่อสู้กับยาลง ซึ่งนักวิจัยได้ชี้แจงว่า การศึกษาทำให้เราได้พบหลักฐาน แสดงว่าสารในขมิ้นสามารถช่วยต่อต้านการอักเสบของวัณโรคชนิดที่ดื้อยาในเซลล์ของมนุษย์ได้  ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักวิจัยของไทย จะสามารถนำข้อมูลการวิจัยสมุนไพรเหล่านี้มาต่อยอด เพื่อผลิตเป็นยาเพื่อมารักษาวัณโรคได้ในภายหน้า 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. แนวทางการดำเนินงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ พ.ศ.2556. สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม.2556.พิมพ์ที่สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมรารูปถัมภ์.186 หน้า
  2. นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์.วัณโรค.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 323.คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง.มีนาคม 2549
  3. วัณโรค-อาการ,สาเหตุ,การรักษา (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  4. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “วัณโรคปอด (Tuberculosis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 424-429.
  5. วัณโรค.ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. วัณโรคปอด.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 380.คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค.ธันวาคม 2553
  7. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาสถานการณ์วัณโรคและโรคเอดส์ปี2550-2555สำ นักระบาดวิทยา.กรมควบคุมโรค.
  8. กระทรวงสาธารณสุข.แนวทางระดับชาติ:ยุทธศาสตร์การผสมผสานการดำ เนินงานวัณโรคและโรคเอดส์เพื่อการควบคุมและป้องกันวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่2กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา สำ นักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2546
  9. ศิริลักษณ์ อภิวาณิชย์,ถนอมวงศ์ มัณฑจิตร์ ,กำธร มาลาธรรม.การเฝ้าระวังการติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรในทีมสุขภาพโรงพยาบาลรามาธิบดี.วารสารรามาธิบดีพยาบาลสาร.ปีที่18ฉบับที่2.กันยายน-ธันวาคม 2555.หน้า273-286
  10. Jarvis, W.    R.   (2007). Tuberculosis. In   W.    R.   Jarvis (Ed.), Bennett & Brachman's hospital infections (pp.539-560). Philadelphia: Lippincott Williams &Wilkins.
  11. วัณโรค.แผ่นพับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน.คณะกรรมการแผ่นพันเพื่อการประชาสัมพันธ์.คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล.2552.
  12. เจริญ ชูโชติถาวร. (2548). โรคติดเชื้อ Mycobacterium. ใน พรรณทิพย์ ฉายากุล และคณะ (บก.), ตําาราโรคติดเชื้อ 1 (หน้า 683-719). กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง
  13. Centers for   Disease Control and    Prevention. (2005a). Guidelinesfor  preventing  the  transmission  of  Mycobacterium tuberculosis  in  health-care  settings,  2005. Retrieved March 16,    2011, from Morbidity and    Mortality Weekly Report Web site: http://www.cdc.gov/mmwr/PDF/rr/rr5417.pdf
  14. Kumar V, Abbas AK, Fausto N, Mitchell RN (2007). Robbins Basic Pathology (8th ed.). Saunders Elsevier. pp. 516–522. ISBN 978-1-4160-2973-1.