โรคไมเกรน (Migraine)

โรคไมเกรน (Migraine)

โรคไมเกรนคืออะไร โรคไมเกรนมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน , โรคปวดหัวข้างเดียว , โรคลมตะกัง เป็นต้น  โรคไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญคือ อาการปวดศีรษะนั้นมักจะปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง และแต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้  แต่บางครั้งก็อาจจะปวดทั้งสองข้างขึ้นมาพร้อม ๆ กันตั้งแต่แรก  ลักษณะอาการปวดมักจะปวดตุ๊บ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ก็มีบางคราวที่ปวดแบบตื้อ ๆ ส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก  โดยจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้นที่ละน้อยจนกระทั่งปวดรุนแรงเต็มที่แล้วจึงค่อย ๆ บรรเทาอาการปวดลงจนหาย  ขณะที่ปวดศีรษะก็มักจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย   ระยะเวลาปวดมักจะนานหลายชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะนานไม่เกิน 1 วัน ในบางรายอาจจะมีอาการเตือนนำมาก่อนหลายนาที  เช่น สายตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงกระพริบ ๆ  อาการปวดนั้นไม่เลือกเวลา บางรายอาจจะปวดขึ้นมากลางดึก หรือปวดตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา บางรายก็ปวดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจนกระทั่งตื่นนอนเช้าก็ยังไม่หายปวดเลยก็ได้
            อาการปวดศีรษะไมเกรนต่างจากอาการปวดศีรษะธรรมดาตรงที่ว่า อาการปวดศีรษะธรรมดามักจะปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดตื้อ ๆ ที่ไม่รุนแรงนัก และมักจะไม่มีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ร่วมด้วย  ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อได้นอนหลับสนิทไปพักใหญ่ ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยเฉลี่ยพบว่า ผู้หญิงประมาณ 15% จะเป็นโรคนี้ ใน ขณะที่ผู้ชายพบเป็นโรคนี้เพียงประมาณ 6% โดยมีอัตราการเป็นโรคไมเกรนสูงสุดทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายอยู่ที่ช่วงอายุ 30 -40 ปี ทั้งนี้แทบจะไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นครั้งแรกเมื่ออายุเลย 50 ปีไปแล้ว

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แต่ปัจจุบันโรคนี้มียาที่สามารถรักษาบรรเทาอาการ และยาที่ป้องกันอาการกำเริบของโรค มีการประมาณว่าใน 1 วัน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนประมาณ 3,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน โดยพบอัตราเป็นโรคนี้สูงสุดในคนอเมริกาเหนือ รองลงมาคือคนอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา                                                         

สาเหตุของโรคไมเกรน สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบประสาทและหลอดเลือดในสมองเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่มีชื่อว่า ซีโรโทนิน หรือ serotonin (ซึ่งพบว่ามีปริมาณลดลงขณะที่มีอาการกำเริบ) และสารเคมีในสมองกลุ่มอื่นๆ เช่น โดปามีน  ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเส้นใยประสาทสมองเส้นที่ ๕ ที่ เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ รวมทั้งทำให้หลอดเลือดแดงทั้งในและนอกกะโหลกศีรษะมีการอักเสบ และมีการหดและขยายตัวผิดปกติ หลอดเลือดในกะโหลกจะมีการหดตัวทำให้เปลือกสมองมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลง ส่วนหลอดเลือดนอกกะโหลกศีรษะมีการขยายตัว ทั้งหมดนี้นำไปสู่อาการแสดงต่างๆ ของโรคไมเกรน  สารเคมีในสมองที่มีการเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการของไมเกรน


            ปัจจุบันพบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบว่าประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ของผู้ที่เป็นไมเกรน   มีประวัติว่าพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย ส่วนสาเหตุกำเริบของไมเกรนนั้น ผู้ป่วยมักบอกได้ว่า แต่ละครั้งที่มีอาการปวดศีรษะจะมีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุกำเริบชัดเจน ซึ่งแต่ละคนอาจมีเหตุกำเริบที่แตกต่างกันไป และมักจะมีได้หลายๆ อย่างภายในการกำเริบครั้งเดียวเหตุกำเริบที่พบได้บ่อยๆ เช่น

  • มีแสงสว่างจ้าเข้าตา เช่น ออกกลางแดดจ้าๆ แสงจ้า แสงไฟกะพริบ แสงสีระยิบระยับในโรงมหรสพหรือสถานเริงรมย์
  • การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนานๆ เช่น หนังสือ หรือกล้องจุลทรรศน์ เย็บปักถักร้อย
  • การอยู่ในที่ที่มีเสียงดังจอแจ เช่น ตลาดนัด หรือเสียงอึกทึก
  • การสูดดมกลิ่นฉุนๆ เช่น กลิ่นสี กลิ่นน้ำมันรถ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสารเคมี  ควันบุหรี่
  • การดื่มกาแฟมากๆ ก็อาจกระตุ้นให้ปวดได้
  • ยานอนหลับ เหล้า เบียร์ เหล้าองุ่น ถั่วต่างๆ กล้วย นมเปรี้ยว เนยแข็ง ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทะเล อาหารทอดน้ำมัน ผงชูรส น้ำตาลเทียม สารกันบูด ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ล้วนกระตุ้นทำให้ปวดได้
  • การอยู่ในที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เช่น อากาศร้อน หรือหนาวจัด
  • การอดนอน (นอนไม่พอ) หรือนอนมากเกินไป การนอนตื่นสาย
  • การอดข้าว กินข้าวผิดเวลา หรือกินอิ่มจัด เชื่อว่าเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งกระตุ้นให้ปวดศีรษะได้ บางครั้งพบว่า  ผู้ป่วยไมเกรนเมื่อเป็นโรคเบาหวาน (มีน้ำตาลในเลือดสูง) อาการปวดจะหายไป
  • การนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน
  • การเป็นไข้ เช่น ตัวร้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  • การออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป
  • ร่างกายเหนื่อยล้า
  • การถูกกระแทกแรงๆ ที่ศีรษะ (เช่น การใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอลหรือตะกร้อ) ก็อาจทำให้ปวดศีรษะทันที
  • อิทธิพลของฮอร์โมนเพศสำหรับผู้ป่วยหญิง มีผลต่อการเกิดอาการไมเกรนอย่างมาก เช่น บางรายมีอาการปวดเฉพาะเวลาใกล้จะมีหรือมีประจำเดือน และมีไม่น้อยที่หายปวดไมเกรนขณะอุ้มท้อง ๙ เดือน (มีฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนสูง) บางรายกินยาเม็ดคุมกำเนิด (มีฮอร์โมนเอสโตรเจน) ทำให้ปวดบ่อยขึ้น พอหยุดกินยาก็ดีขึ้น
  • ความเครียดทางอารมณ์ คิดมาก อารมณ์ขุ่นมัว ตื่นเต้น ตกใจ

ซึ่งในอดีตมีการค้นพบทฤษฏีที่เกี่ยวกับการเกิดอาการของไมเกรนคือ

  • ทฤษฎีเกี่ยวกับหลอดเลือด (Vascular theory) ทฤษฎีนี้ถูกคิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2483 โดย Wolff (แพทย์ชาวอเมริกัน) ซึ่งอธิบายว่า อาการนำก่อนปวดศีรษะชนิดออรา (มีอาการนำ) เกิดจากหลอดเลือดในสมองมีการหดตัว และเมื่อหลอดเลือดที่หดตัวขยายตัวออก จะทำให้มีอาการปวดศีรษะตามมา โดยหลักฐานสนับสนุนคือ พบหลอดเลือดนอกกะโหลกศีรษะมีการขยายตัวและเต้นตุ้บๆ และการให้ยาช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น ส่วนการให้ยาที่ขยายหลอดเลือด ทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายอาการนำก่อนปวดศีรษะชนิดไม่มีออรา (ไม่มีอาการนำ) รวมทั้งอาการร่วมที่เกิดระหว่างไมเกรนว่าเกิดได้อย่างไร นอกจากนั้น ยาบางตัวซึ่งไม่มีผลในการหดตัวของหลอดเลือด แต่ก็สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ รวมทั้งการตรวจภาพหลอดเลือดสมองก่อนเกิดอาการและระหว่างเกิดอาการ ก็ไม่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ดังนั้นปัจจุบันทฤษฎีนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่ยอบรับ

  • ทฤษฎีเกี่ยวกับเซลล์ประสาท หลอดเลือด และสารสื่อประสาทร่วมกัน (Neurovascu lar theory) Leao (แพทย์ชาวบราซิล) เป็นผู้เสนอทฤษฎีนี้ในปี พ.ศ. 2487 ซึ่งอธิบายว่า เซลล์ประ สาทในสมองบางตัวเกิดการตื่นตัว และปล่อยสารสื่อประสาท (สารเคมีที่มีหน้าที่ส่งต่อสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท) กระตุ้นเซลล์ประสาทใกล้เคียงให้ตื่นตัว และส่งต่อสัญญาณไปเรื่อยๆ การที่เซลล์ประสาทถูกกระตุ้นนี้ นำมาอธิบายการเกิดอาการนำก่อนการปวดศีรษะของผู้ป่วยได้ ส่วนอาการปวดศีรษะของผู้ป่วยอธิบายได้จาก เมื่อเซลล์ประสาทถูกกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนไปกระ ตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทเฉพาะชนิดหนึ่ง เรียกว่า Trigerminal nucleus ซึ่งจะปล่อยสารเคมีหลายชนิดที่มีผลก่อให้เกิดอาการปวดเข้าสู่หลอดเลือด นอกจากสารเคมีกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการปวดแล้ว ยังมีผลทำให้ หลอดเลือดขยายตัวอีกด้วย  จากทฤษฎีเหล่านี้ มีผู้ค้นพบเพิ่มเติมต่อไปอีกมากมายในปัจจุบัน

อาการของโรคไมเกรน เมื่อเกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียว หลายๆ ท่านเข้าใจว่าเป็นโรคปวดไมเกรน เพราะเราเคยเรียกโรคปวดไมเกรนกันว่า โรคปวดศีรษะข้างเดียว จึงทำให้เข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีอาการปวดศีรษะข้างเดียวแสดงว่าเป็นไมเกรน   แท้จริงอาการปวดไมเกรนนั้นไม่จำเป็นต้องปวดศีรษะเพียงข้างเดียว อาจปวดสองข้างก็ได้ ในทางกลับกัน อาการปวดศีรษะข้างเดียวอาจไม่ใช่ไมเกรนก็ได้   โดยอาการของโรคไมเกรนเป็นผลจากการขยายและหดของหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะ โดยมักมีอาการนำ (aura) ก่อนอาการปวด แต่ปัจจุบันพบว่าอาจไม่มีอาการนำก็ได้  ซึ่งสามารถแบ่งอาการของโรคไมเกรนเป็น 4 ขั้น ได้แก่ ระยะอาการนำ (Premonitory Symptom และ Singn) ระยะอาการเตือน (Auraphase) ระยะปวดศีรษะ (Headache) และระยะหายปวด    (Postdrome) ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการในทุกขั้นก็ได้

อาการและอาการแสดงของ ไมเกรน แบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

  1. ระยะอาการนำ (Premonitory symptom และ singn) มีอาการและอาการแสดงทางสมอง ซึ่งแสดงออกในรูปของความผิดปกติของการทำงานของสมองแบบทั่ว ๆ ไป ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร สมดุลย์ของน้ำในร่างกาย และอาการทางกล้ามเนื้อ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ พบประมาณ 40% ของผู้ป่วยไมเกรน อาการเหล่านี้มักนำมาก่อนประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการปวดศีรษะและอาจเกิดเร็วใน 1 ชั่วโมง หรือเกิดก่อนนานถึง 2 วัน อาการเหล่านี้มีทั้งอาการแสดงทางจิตใจ อาการทางระบบประสาทและการเปลี่ยนแปลงในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น สมาชิเสีย อารมณ์หงุดหงิด เก็บตัว ทำอะไรว่องไว ทำอะไรซ้ำซาก คิดช้าทำช้า หรือทำอะไรงุ่มงาม บางครั้งอารมณ์ร้าย ผู้ป่วยอาจมีหาวบ่อย ง่วงนอนมากทนต่อแสงเสียงไม่ค่อยได้ ผิวหนังอาจไวต่อความรู้สึกทนต่อการสัมผัสไม่ได้ นอนมาก เหนื่อยง่าย พูดไม่ชัด คิดคำพูดไม่ออก พูดน้องลง กล้ามเนื้อคออาจตึง มีอาการอ่อนเพลียทั่วไป รู้สึกหนาวต้องห่มผ้าห่ม หน้าซีด ขอบตาคล้ำ หนังตาหนัก ๆ หรือตาลึก อาการทางเดินอาหารก็มีได้ทั้งอยากอาหาร โดยเฉพาะของที่มีรสหวาน เบื่ออาหาร ถ่ายอุจจาระบ่อย ท้องผูก ท้องอืด ปวดท้อง อาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บวมจึงทำให้เชื่อว่าไมเกรน น่าจะเป็นปรากฎการณ์ของการเปลื่ยนแปลงทางชีวเคมีในเซลล์ประสาทและการเปลี่ยนแปลงทางหลอดเลือดในระยะปวดศีรษะเป็นปรากฎการณ์ที่ตามมาภายหลัง
  2. ระยะอาการเตือน (Aura phase)เป็นอาการทางระบบประสาทเฉพาะที่ซึ่งเกิดก่อนอาการปวดศีรษะประมาณ 30 นาที และส่วนมากจะมีอาการอยู่นาน 20-30 นาที โดยทั่วไปจะหายเมื่อเกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาแล้ว ซึ่งอาการที่พบบ่อยคือ อาการผิดปกติทางทางมองเห็น เช่น การเห็นแสงสี เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงดาวกระพริบ และอาจมีอาการชาบริเวณนิ้วมือ แขนและใบหน้า และอาจพบภาวะพูดลำบากร่วมด้วย
  3. ระยะปวดศีรษะ (Headache)มักจะเริ่มเป็นช้า ๆ ในเวลา 30-60 นาที ก่อนที่จะปวดศีรษะมากสุด แต่บางรายอาจสังเกตว่าปวดศีรษะหลังตื่นนอน ซึ่งทำให้ไม่ทราบว่าแท้ที่จริงอาการปวดศีรษะเริ่มเป็นเมื่อใดและรวดเร็วเพียงใด บางรายความรุนแรงของอาการปวดศีรษะก็ดำเนินไปอย่างช้า ๆ กินเวลาครึ่งวันหรือตลอดวัน และมักจะค่อย ๆ หายไป แต่ในเด็กอาการเหล่านี้จะหายอย่างรวดเร็ว ภายหลังอาเจียน ลักษณะปวดศีรษะนี้มีไม่ถึง 50% ที่ปวดแบบตุ๊บ ๆ ส่วนที่เหลือมักปวดตื้อ ๆ หรือปวดเหมือนมีอะไรมารัด ลักษณะปวดที่สำคัญในไมเกรน คือ อาการปวดในตำแหน่งต่าง ๆ จะย้ายที่ได้และย้ายข้างได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการเป็นแต่ละครั้งหรือในการปวดครั้งเดียวกัน และอาการปวดเหล่านี้จะเป็นมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะ อาการร่วมขณะปวดศีรษะมักเป็นอาการทางระบบประสาทและอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งในบางรายอาการเหล่านี้จะเกิดในระยะอาการนำซึ่งในแต่ละคนอาการจะไม่เหมือนกันและอาการในคน ๆ เดียวกันการปวดศีรษะแต่ละครั้งก็อาจต่างกันได้ด้วย อาการเหล่านี้ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเดิน รู้สึกเย็นปลายมือ ปลายเท้า กลัวแสงกลัวเสียง ไม่ชอบให้ใครมาแตะต้องตัว ไม่สามารถทนต่อการสั่นสะเทือน บางคนไวต่อกลิ่น หงุดหงิด ปวดต้นคอ อ่อนเพลีย คัดจมูก เดินโซเซ หรือคล้ายจะเป็นลม อาการปวดศีรษะจะหายไปภายหลังได้นอน 45 นาที ถึง 3 ชั่วโมง หรือภายหลังดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ หรือ ภายหลังอาเจียนหรือได้ยาแก้ปวด
  4. ระยะหายปวด (Postdromes)อาการที่สำคัญ คือ อ่อนเพลีย ซึ่งบางรายจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อและปวดกล้ามเนื้อ มีอาการเคลิบเคลิ้ม หรือมีอารมณ์ไม่แจ่มใส ขาดสมาธิ หงุดหงิด หาวมากผิดปกติทานอาหารได้น้อย ปัสสาวะมากหรือกระหายน้ำ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นาน 1 ชั่วโมง ถึง 4 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน

นอกจากโรคไมเกรนแล้ว โรคปวดศีรษะยังมีอีกหลายประเภท เช่น โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด (tension headache) โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headache) และ โรคปวดศีรษะเนื่องจากมีแรงดันในสมองสูง(increase intracranial pressure) เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดการปวดศีรษะเพียงข้างเดียวได้

ซึ่งโรคปวดศีรษะที่อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นไมเกรน คือ โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีความกังวลและเครียดตลอดเวลา ต้องทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันวันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและแขนเกิดการเกร็งตึง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตึงบริเวณท้ายทอย ร้าวขึ้นไปที่ขมับข้างที่มีการตึงของกล้ามเนื้อ หรือเกิดอาการปวดรอบศีรษะคล้ายถูกรัด ซึ่งถ้ามีอาการไม่มาก เมื่อพัก นวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งและตึง อาการจะหายไปเอง แต่ในรายที่มีอาการหนักอาจปวดต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียดจะไม่เกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า หรือเห็นแสงสี

โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ก็มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวได้เช่นกัน แต่จะปวดรุนแรง ปวดบ่อย มักปวดรอบตาและขมับ มีตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูกในด้านเดียวกัน จะไม่มีคลื่นใส้อาเจียน ส่วนโรคปวดศีรษะที่เกิดเนื่องจากมีแรงดันในสมองสูงนั้น เกิดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง เช่น มีเนื้องงอกในสมอง เลือดออกในสมอง น้ำคั่งในสมอง เป็นต้น ซึ่งต้องแก้ไขที่สาเหตุ

ฉะนั้นก่อนที่จะสรุปว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดก่อน ไม่ควรคิดเอาเองว่ามีอาการปวดศีรษะข้างเดียว แสดงว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนแน่ๆ แล้วไปหาซื้อยาแก้ไมเกรนมารับประทาน เพราะ การรับประทานยาไมเกรนไม่ถูกต้องมีอันตรายมาก

แนวทางการรักษาโรคไมเกรน แนวทางการวินิจฉัยไมเกรนใช้หลักเกณฑ์ของ International Headche Society (IHS) ซึ่งจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ซึ่งปัจจุบันแพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการบอกเล่าของผู้ป่วย ได้แก่ อาการปวดตุบๆ ที่ขมับ และคลำได้เส้น (หลอดเลือด) ที่ขมับ เป็นๆ หายๆ เป็นครั้งคราว และมีเหตุกำเริบชัดเจน โดยที่ตรวจร่างกายด้านอื่นๆ  อย่างถี่ถ้วนแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติที่จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ 

ดังนั้น  การที่จะทราบว่าอาการปวดศีรษะนั้นเกิดจากโรคไมเกรนแพทย์ต้องทำการวินิจฉัยจากลักษณะจำเพาะของอาการปวดศีรษะ  อาการที่เกิดร่วมด้วย รวมทั้งผลการตรวจร่างกายระบบต่าง ๆรวมทั้งการทำงานของสมองที่เป็นปกติ  แต่อย่างไรก็ดี โรคไมเกรนบางประเภทก็อาจทำให้สมองทำงานผิดปกติไปชั่วคราวในระหว่างที่เกิดอาการปวดขึ้นได้ แพทย์จำเป็นที่จะต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ โดยมีหลักในการวินิจฉัย จากลักษณะจำเพาะคือ

  • ลักษณะต่าง ๆ ของอาการปวด : ตำแหน่ง ความรุนแรง ลักษณะการปวด การดำเนินของการปวด
  • อาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้  เวียนหัว
  • ความผิดปกติของการทำงานของสมองหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวด เช่น ความคิดอ่านเชื่องช้า  มองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ปัจจัยกระตุ้นอาการปวด เช่น ความเครียด แสงจ้า ๆ อาหารบางชนิด
  • ปัจจัยทุเลาอาการปวด เช่น การนอนหลับ การนวดหนังศีรษะ ยา

ในบางรายแพทย์อาจแนะนำการตรวจอื่น ๆ เพื่อจำกัดวงของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมากผิดปกติ อาการซับซ้อน หรือมีอาการที่รุนแรงเฉียบพลัน เช่น

  • การตรวจเลือด แพทย์อาจให้มีการตรวจเลือดเพราะอาจมีการติดเชื้อที่เส้นประสาทไขสันหลัง หรือสมอง และเกิดพิษในระบบร่างกายของผู้ป่วย
  • การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) แพทย์จะให้มีการตรวจวิธีนี้หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อ มีเลือดออกในสมอง
  • การใช้เครื่อง CT scan (Computerized Tomography) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่ให้ความละเอียดมากขึ้นกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา เป็นการหาความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย โดยทำให้เห็นภาพของสมอง ให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ได้มากขึ้น
  • การใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) เป็นครื่องตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยเนื้องอก การอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ดูอาการการเลือดออกในสมอง การติดเชื้อ และภาวะอื่น ๆ ในสมองและระบบประสาท

การรักษาผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน    วิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนที่สำคัญได้แก่ การบรรเทาอาการปวดศีรษะ   และการป้องกันไม่ให้เกิดหรือลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ  เมื่อตรวจพบว่าเป็นไมเกรน แพทย์จะแนะนำข้อปฏิบัติตัวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบ และจะให้ยารักษาดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การหลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนมากเกินไป ความเครียดการถูกแดดมากเกินไป การได้รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น กาแฟ ชอคโกแลต ฯลฯ อาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ ส่วนมากปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้มักเกิดร่วมกันหลาย ๆ อย่าง และบางครั้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอเป็นทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้
  2. การใช้ยารักษา  การใช้ยารักษาควรใช้กรณีที่จำเป็นยาที่รักษาพอสรุปได้ดังนี้

ยาในการรักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลัน  ได้แก่

  • ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรอยด์ (Nonsteroid anti-inflammatory drugs; NSAIDs) เช่น ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรอยด์ (Nonsteroid anti-inflammatory drugs; NSAIDs) เช่น Ibuprofen, Naproxen sodium, Paracetamol, Aspirin เป็นต้น
    • กลไกการออกฤทธิ์ : ยับยั้งเอมไซม์ cyclooxygenase (COX) ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างสาร prostaglandins จึงลดอาการอักเสบได้
    • ข้อบ่งใช้: บรรเทาอาการปวดระดับน้อยถึงปานกลาง
    • ขนาดยาที่ใช้
      • Ibuprofen รับประทานครั้งละ 200-600 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 3.2 กรัมต่อวัน
      • Naproxen sodium รับประทานครั้งละ 275-550 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 1.65 กรัมต่อวัน
      • Paracetamol รับประทานครั้งละ 500-1000 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน
      • Aspirin รับประทานครั้งละ 650-1300 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน
    • อาการข้างเคียง: แผลในกระเพาะอาหาร
  • Ergot alkaloid เช่น ergotamine+caffeine tablet (Cafergot?)
    • กลไกการออกฤทธิ์: nonselective 5-HT receptor agonists โดยผลที่ต้องการ คือ ทำให้หลอดเลือดที่สมองหดตัว
    • ข้อบ่งใช้: บรรเทาอาการปวดรุนแรง โดยเป็นยา first line สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉียบพลัน
    • ขนาดยาที่ใช้: Cafergot? (ergotamine 1 มิลลิกรัม และ caffeine 100 มิลลิกรัม) รับประทานครั้งแรก 2 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 30 นาที ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 6 เม็ดต่อวันหรือ 10 เม็ดต่อสัปดาห์
    • อาการข้างเคียง: คลื่นไส้ อาเจียน
  • Triptans เช่น Sumatriptan, Naratriptan
    • กลไกการออกฤทธิ์: selective 5-HT receptor agonists โดยทำให้หลอดเลือดที่สมองหดตัวแต่เนื่องจากเป็น selective จึงไม่ได้ไปกระตุ้น receptor อื่นที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหมือนใน ergot alkaloid ส่งผลให้ไม่เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
    • ข้อบ่งใช้: บรรเทาอาการปวดรุนแรงและเฉียบพลันรวมถึงอาการที่ดื้อต่อยาแก้ปวดขนานอื่นๆ โดยจัดเป็นยา first line สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะ ไมเกรนเฉียบพลัน
    • ขนาดยาที่ใช้:อาการข้างเคียง: อาการแน่นหน้าอก, ใบหน้าร้อนแดง, คลื่นไส้อาเจียน
      • Sumatriptan รับประทานครั้งละ 25-100 มิลลิกรัม และสามารถรับประทานซ้ำในชั่วโมงที่ 2 ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
      • Naratriptan รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัมและสามารถรับประทานซ้ำในชั่วโมงที่ 4 ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อวัน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไมเกรน  คือ

  1. พันธุกรรม ประมาณ 70% ของผู้ป่วยจะมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน และถ้ามีญาติที่เป็นโรคนี้โดยเฉพาะเป็นแบบมีอาการนำชนิดออรา (Aura คือ อาการที่เกี่ยวกับความรู้สึก เช่น เห็นแสงวาบ เห็นจุดดำๆ หรือรู้สึกซ่าในบริเวณใบหน้าและมือ) โอกาสที่จะเป็นโรคนี้มีประมาณ 4 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีการถ่ายทอดผ่านยีน ตัวไหนชัดเจน แต่พบว่าอาจสามารถถ่าย ทอดผ่านทางจีนจากแม่สู่ลูกได้

อย่างไรก็ตาม บางชนิดของโรคปวดศีรษะไมเกรน ทราบตำแหน่งยีนที่ผิดปกติชัดเจน คือ โรคไมเกรนชนิดมีอัมพาตครึ่งซีกร่วมด้วย (Familial hemiplegic migraine) เกิดจากมีความผิด ปกติที่บางตำแหน่งบนหน่วยพันธุกรรม (โครโมโซม/chromosome) คู่ที่ 1 หรือ 19 ซึ่งถ่าย ทอดทางพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกชั่ว คราวร่วมด้วย

  1. การเป็นโรคบางชนิด บุคคลที่มีโรคบางอย่างจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย เช่น โรคลมชักบางชนิด โรคไขมันในเลือดสูงแบบที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคหืด คนที่มีผนังกั้น ห้องหัวใจห้องบนรั่ว โรคซึมเศร้า วิตกกังวล รวมทั้งโรคพันธุกรรมอีกหลายชนิด

การติดต่อของโรคไมเกรน  โรคไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมอง รวมถึงการสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ซึ่งถึงแม้ว่าโรคไมเกรนสามารถถ่ายทองทางพันธุกรรมได้ แต่โรคไมเกรนก็ไม่ใช่โรคที่มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคไมเกรน การดูแลตนเอง  สำหรับผู้ที่แพทย์ วินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน หรือเคยมีอาการปวดตุบๆ ที่ขมับเป็นครั้งคราวนานไม่เกิน 72 ชั่วโมงแล้วทุเลาได้เอง โดยสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ควรดูแลตนเองดังนี้

1.พยายามสังเกตว่า แต่ละครั้งที่ปวดมีเหตุกำเริบหรือสิ่งกระตุ้นอะไร (เช่น ถูกแสงจ้า แสงแดด อดข้าว อดนอน อากาศร้อน อาหารบางชนิด แอล-กอฮอล์ เป็นต้น) ก็ควรหลีกเลี่ยงจากเหตุกำเริบเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้อาการห่างหายไปได้

2. ควรพกยาแก้ปวดพาราเซตามอล ไว้ประจำตัวและกินยาครั้งละ 1-2 เม็ดทันทีที่เริ่มรู้สึกอาการกำเริบ (เช่น รู้สึกตาพร่า ตาลาย ปวดมึนๆ ตื้อๆ) หลังกินยา ถ้านอนได้ ให้นอนหลับสักตื่น อาการก็มักจะทุเลาได้ ภายในเวลาไม่นาน ถ้านอนไม่ได้ควรนั่งพักในห้องที่มีแสงสว่างไม่มาก บรรยากาศเงียบๆ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลับตาผ่อนหายใจเข้าออกยาวๆ นวดคลึงเบาๆ บริเวณขมับที่ปวด

เคล็ดลับในการรักษาไมเกรน อยู่ที่การรีบกินยาแก้ปวดทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกมีอาการกำเริบ อย่าปล่อยให้มีอาการปวดนานครึ่งชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดอาจได้ผลน้อยลง หรือไม่ก็อาจต้องกินยาแก้ไมเกรนชนิดที่แรงขึ้น

3.ในรายที่เป็นๆ หายๆ บ่อย แพทย์อาจให้ยากินป้องกัน ผู้ป่วยก็ควรจะกินยาป้องกัน ทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้อาการห่างหายไปได้ อย่าหยุดเองก่อนแพทย์บอก

            4.เมื่อทราบว่าเป็นไมเกรนแล้ว ควรจะออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยป้องกันอาการ

            5.ผู้ป่วยควรมีแพทย์ที่ดูแลประจำ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลที่รัก ษาหลายโรงพยาบาล เพราะจะไม่สามารถติดตามอาการ และประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดที่กำลังรักษาอยู่ได้

            6.เนื่องจากผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรดูแลร่างกายลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆในการเกิดโรคนี้ด้วย เช่น การไม่สูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน และการควบคุมน้ำหนักตัว ไขมัน และน้ำตาลในเลือด

            7. ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ กินยาแล้ว อาการไม่ทุเลาใน 72 ชั่วโมง

มีอาการปวดรุนแรงกว่าทุกครั้งที่เคยเป็น  เป็นการปวดศีรษะครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 40 ปี แขนขาชา หรืออ่อนแรง มีอาการอาเจียนมากหรือเดินเซร่วมด้วย มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

การป้องกันตนเองจากโรคไมเกรน  วิธีในการป้องกันไมเกรนที่ดีที่สุด คือ การรู้และเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรนและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น

วิธีการป้องกันโรคไมเกรน ที่สำคัญมีอยู่ 2 วิธี ก็คือ

  • การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการกำจัดความเครียดอย่างเหมาะสม
  • การรับประทานยาป้องกันไมเกรน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานป้องกันก็ต่อเมื่อปวดศีรษะบ่อยมาก เช่น สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งขึ้นไป หรือแม้จะปวดไม่บ่อยแต่รุนแรงมากหรือนานต่อเนื่องหลายวัน ยาป้องกันไมเกรนนั้นมีอยู่หลายชนิด จะต้องเลือดชนิดและปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไป แนะนำให้รับประทานยาป้องกันต่อเนื่องจนอาการสงบลงนาน 6-12 เดือน จึงหยุดยาได้และเมื่ออาการกำเริบขึ้นอีกจึงเริ่มรับประทานใหม่ ซึ่งยาป้องกันโรคไมเกรนในกลุ่มนี้ได้แก่

o   β-blocker (ยาสกัดเบต้า)จัดเป็นยา first line drug ของยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น Propranolol, Atenolol

  • กลไกการออกฤทธิ์: ปรับระดับสมดุลของ catecholamine
  • ข้อบ่งใช้: ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยลดความถี่ ระดับความรุนแรงและลดระยะเวลาอาการปวด จัดเป็น first line drug ที่ใช้ในการยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • ขนาดยาที่ใช้:ผลข้างเคียง: หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตต่ำลง หลอดลมหดตัว
    • Propranolol รับประทานครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
    • Atenolol รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละครั้ง

o   Calcium blocker (ยาแคลเซียมแอนทาโกนิส) เช่น Verapamil, Flunarizine

  • กลไกการออกฤทธิ์: ปรับระดับการทำงานของสารสื่อประสาท
  • ข้อบ่งใช้: ลดความถี่ของการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนโดยที่ไม่ลดระดับความรุนแรงหรือระยะเวลาในการปวด
  • ขนาดยาที่ใช้:ผลข้างเคียง: หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตต่ำลง
    • Verapamil ขนาดรับประทานเริ่มต้น 40 มิลลิกรัมต่อวันแล้วค่อยเพิ่มเป็น 40 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน
    • Flunarizine ขนาดรับประทานเริ่มต้น 5 มิลลิกรัมก่อนนอนแล้วค่อยเพิ่มเป็น 10 มิลลิกรัม ก่อนนอนต่อวัน

o   Tricyclic antidepressants (ยาแก้ซึมเศร้า) เช่น Amitriptyline

  • กลไกการออกฤทธิ์: ยับยั้งการเก็บกลับของ nore-epinephrine และ serotonin ส่งผลให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาททั้งสองตัว
  • ข้อบ่งใช้: เป็น first line drug ของยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ป่วยที่มี depression ร่วมด้วย
  • ขนาดยาที่ใช้: Amitriptyline ขนาดรับประทานเริ่มต้น 10 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนนอน อาจเพิ่มขนาดยาจนถึง 200 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • ผลข้างเคียง: ปากแห้ง, คอแห้ง, ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว

o   Anticonvalsants (กลุ่มยากันชัก)เช่น Sodium valproate

  • กลไกการออกฤทธิ์: เพิ่ม GABA activity
  • ข้อบ่งใช้: เป็น first line drug ของยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีอาการรุนแรงมาก
  • ขนาดยาที่ใช้: Sodium valproate รับประทานเริ่มต้น 500 มิลลิกรัมแล้วค่อยเพิ่มเป็น 1000 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • ผลข้างเคียง: ง่วงนอน, คลื่นไส้, ระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น

 สมุนไพรที่ใช้ป้องกัน/บรรเทาอาการของโรคไมเกรน  ขิง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe. จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ขิงนอกจากจะเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณต่างๆตามที่กล่าวมา และมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว  ยังมีการศึกษาวิจัยล่าสุดในต่างประเทศ ทำการศึกษาวิจัยในการใช้ขิงรักษาอาการปวดไมเกรนอีกด้วยโดยมีรายงานการศึกษาวิจัย

ในผู้ป่วยไมเกรน 100 ราย ในแผนกประสาทวิทยา ของโรงพยาบาลในประเทศอิหร่าน ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีระยะการเป็นไมเกรนมาประมาณ 7 ปี มีอาการปวดมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน เปรียบเทียบระหว่างการให้แคปซูลขิง 250 มิลลิกรัม กับยาแผนปัจจุบันชื่อ “ซูมาทริปแทน” ขนาด 50 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการปวดไมเกรน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่รับประทานขิง อาการปวดไมเกรนลดลงดีเทียบเท่ากับกลุ่มที่รับประทานยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน คือ สามารถลดอาการปวดไมเกรนได้ถึง 60% ภายในเวลา 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา และพบว่าแคปซูลขิง มีข้อดีที่เหนือกว่ายาแผนปัจจุบัน คือ ไม่พบอาการข้างเคียงจากการรับประทานยา ในขณะที่ยาซูมาทริปแทน มักทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ง่วงนอน อาการแสบร้อนที่หน้าอก (Heartburn)

                             เชื่อกันว่าการที่ขิงสามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้นั้น น่าจะมาจากการที่ขิงมีฤทธิ์ในการลดกระบวนการอักเสบ ลดอาการปวดในร่างกาย ลดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (prostiglandins) ที่ทำให้ปวดและอักเสบ  อีกทั้ง ขิงยังมีสรรพคุณในการแก้คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบว่าเป็นอาการนำก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรน จึงถือได้ว่าขิงเป็นสมุนไพรอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยไมเกรน

            นอกจากขิงแล้วตามตำราไทยยังมีระบุไว้ว่าสมุนไพรไทยที่ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรนอีก เช่น

1. กระเทียม  วิธีการกินกระเทียมแก้ไมเกรน ให้นำหัวกระเทียมมาแกะออกเป็นกลีบๆ กินกับน้ำพริกก็ได้ หรือ ผัดกับผักก็ได้ โดยให้กินครั้งละ 10 กลีบทุกวัน

2. ใบบัวบก วิธีการใช้ คือให้นำทั้งเถา-ก้านใบ-ใบบัวบก รวมกัน 1 กิโลกรัม ล้างให้สะอาด ตัดเป็นท่อนสั้นๆ โขลกให้ละเอียด ใส่น้ำสะอาดให้ท่วม นำไปต้มให้เดือด 5 นาที ยกลงกรองกากทิ้ง นำไปต้มอีกครั้ง ใส่เกลือป่น 1 ช้อนชา ทิ้งไว้ให้เย็นดื่มเป็นยาได้ทันที หรือจะเติมน้ำตาลทรายแดงไม่ขัดสีลงไปด้วยเล็กน้อยให้หวานนิดๆ ก็ได้

ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า-กลางวัน-เย็น ประมาณ 1 สัปดาห์อาการ " ไมเกรน" ก็จะหายไปได้ในที่สุด

3.พริกไทยดำ ใช้พริกไทยดำ 7 เม็ด เคี้ยวพริกไทยในปากข้างที่ปวดศีรษะทีละ 1 เม็ดก็ได้ พริกไทยจะละลายข้างกระพุ้งแก้มทำอย่างนี้จนหมด 7เม็ด พยายามไม่ดื่มน้ำตาม (ให้กลืนไปเลย) ให้กินตอนก่อนแปรงฟันตอนเช้า ประมาณ 3 - 4 สัปดาห์จะเห็นผล

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.ผศ.นพ.รังสรรค์  ชัยเสวิกุล.โรคไมเกรน.ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.

2.รศ.ดร.ภญ.ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์.ไมเกรน...กินยาไม่ถูกต้องอันตรายมากกว่าที่คิด.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

3.รศ.นพ.สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ.ไมเกรน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่315.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กรกฎาคม.2548

  1. Neil H. Raskin, Stephen J. Peroutka, headache including migraine and cluster headache, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.

5.ไมเกรน-อาการ,สาเหตุ,การรักษา,พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com

6.กัมมันต์ พันธุมจินดา. แนวทางการรักษาไมเกรน. ใน: รศ. นพ. วิทยา ศรีดามา. Evidence-Based Clinical practice guideline ทางอายุรกรรม 2548. พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุงแก้ไข). โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2548. หน้า 208-219.

7.ไมเกรน ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทย์ศาสตร์.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.med.cmu.ac.th/nnc/2007/tip/mikirm.htm

  1. จุฑามณี สุทธิสีสังข์. พยาธิกำเนิดและยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน. Advances in Pharmacotherapeutics and Pharmacy practice 2006. พิมพ์ครั้งที่ 1. ประชาชน. กรุงเทพฯ. 2549. หน้า 67-75

9.ขิง....สมุนไพรแก้ปวดไมเกรน.คอลัมน์ดูแลสุขภาพ.คมชัดลึก(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.koomchadluek.net/news/knowledge/205169