พริกไทย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พริกไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พริกไทย
ชื่ออื่นๆ/ประจำถิ่น พริกขี้นก, พริกไทยดำ, พริกไทยขาว, พริกไทยล่อน, พริกน้อย (ภาคเหนือ), พริก (ใต้)
ชื่อสามัญ Pepper
ชื่อวงศ์ Piperaceae
ถิ่นกำเนิดพริกไทย
พริกไทยมีถิ่นกำเนิดในแถบตอนใต้ของเทือกเขา กาต รัฐ เกละ ในประเทศอินเดีย และศรีลังกา ปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศแถบที่มีอากาศร้อน เช่น บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ส่วนในไทยนั้น นิยมปลูกกันมากในจังหวัด จันทบุรี, ตราด และ ระยอง โดยนิยมปลูกพริกไทยกันมาก ในจังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน มีด้วยกัน 6 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ใบหนา พันธุ์บ้านแก้ว พันธุ์ปรางถี่ธรรมดา พันธุ์ปรางถี่หยิก พันธุ์ควายขวิด และสายพันธุ์คุชชิ่ง อย่างไรก็ตามพริกไทยก็ถือได้ว่าเป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์แก่มนุษย์อย่างมาก เพราะสามารถเป็นทั้งเครื่องปรุงรสชั้นเลิศ ที่เป็นที่นิยมทั่วโลกในปัจจุบัน และยังสามารถเป็นสมุนไพร ที่มีสรรพคุณรักษาและบำบัดโรคได้อีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณพริกไทย
- ขับลมในลำไส้
- ขับลมในท้อง
- แก้ปวดท้อง
- ช่วยขับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย
- ใช้เป็นสมุนไพรลดน้ำหนัก
- แก้ลมวิงเวียน
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้ลมพรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม)
- แก้อติสาร (โรคลงแดง)
- แก้ลมจุกเสียด
- แก้แน่น
- แก้ปวดมวนในท้อง
- แก้เสมหะ
- แก้ไอ
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยขับผายลม
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- แก้ลมชัก
- แก้โรคลมบ้าหมู
- แก้ตาแดง
- แก้โรคที่เกิดจากวาตะ(ลม) เสมหะ และปิตตะ(ดี)
- ใช้แก้หวัด
- แก้ท้องเสีย
- แก้ปวดประจำเดือน
- แก้คลื่นไส้
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้พริกไทยในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 2 ตำรับ คือ
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของพริกไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
2. ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของพริกไทย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ
ตำรายาไทยพริกไทยจัดอยู่ใน “พิกัดตรีกฎุก” แปลว่าของที่มีรสร้อน 3 อย่าง เป็นพิกัดยาที่ประกอบด้วยเครื่องยา 3 อย่าง ในปริมาณเสมอกันคือ เมล็ดพริกไทย เหง้าขิงแห้ง และดอกดีปลี มีสรรพคุณแก้โรคที่เกิดจากวาตะ(ลม) เสมหะ และปิตตะ(ดี) ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฏฐาน “พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด” คือการจำกัดจำนวนตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด คือ พริกไทย ดีปลี ผลผักชีลา ใบแมงลัก ผลกระวาน ใบโหระพา มีสรรพคุณแก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม ช่วยย่อยอาหาร
พริกไทยใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในยาแผนโบราณของจีนและอินเดีย ใช้แก้หวัด ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดประจำเดือน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย
ยังมีอีกพิกัดหนึ่งคือ ตรีวาตผล เป็นพิกัดของยาที่มีสรรพคุณแก้ลม ประกอบด้วย ลูกสะค้าน เหง้าข่า และรากพริกไทย ใช้แก้ในกองลม แก้แน่นในทรวงอก แก้เสมหะ แก้เลือด บำรุงไฟธาตุ สรรพคุณที่เด่นที่สุดของพริกไทยก็คือ เป็นยาอายุวัฒนะ ดังปรากฏอยู่ในตำรับยาอายุวัฒนะโบราณของไทยที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น ตำรับยาวิเศษ ที่มาแต่เมืองพิษณุโลกตอนหนึ่งว่า “ถ้าจะให้เจริญอายุ ให้เอาเหงือกปลาหมอ ๒ ส่วน พริกไทย ๑ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำกินทุกวัน ถ้ากินได้ ๑ เดือนจะหมดโรค และมีสติปัญญานักแล...” อีกตำรับหนึ่งเป็นตำรายาพิเศษของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระมหาสมณเจ้า ชื่อยา “ไม่แก่เดินคล่อง” บอกสรรพคุณว่ากินแล้วไม่แก่เฒ่า อายุ ๗๕ ปี ยังเดินขึ้นเขาได้สบาย และยังมีบุตรได้ เป็นต้น ยาขนานนี้ประกอบด้วย ทิ้งถ่อน ตะโกนา บอระเพ็ด แห้วหมู เมล็ดข่อย พริกไทย และน้ำผึ้ง นับเป็นตำรับยาอายุวัฒนะที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน
ประโยชน์ในการลดความอ้วน ปัจจุบันได้มีผลการวิจัย จากประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนว่าพริกไทยดำ สามารถลดความอ้วนได้จริง และสามารถลดน้ำหนัก ได้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจาก ในพริกไทยดำ มีส่วนประกอบของสาร “ไพเพอร์รีน” ที่มีคุณสมบัติ ในการต่อต้านความอ้วน พริกไทยดำ มีจุดเด่นในเรื่องของ ความฉุน และรสชาติที่เผ็ดร้อน ช่วยในการควบคุม การก่อตัวของเซลล์ไขมันใหม่ให้ลดลง พร้อมกับทำลายเซลล์ไขมันเก่า ที่สะสมอยู่ภายในร่างกาย ให้มีจำนวนลดลง และกลับมาอ้วนได้ยากขึ้น และเข้าไปกระตุ้น การหลั่งของกรด ในกระเพาะอาหาร ทำให้ร่างกาย เผาผลาญพลังงาน ที่ได้รับจาการรับประทานอาหาร ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการสะสมของไขมัน ซึ่งเป็นสำเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดความอ้วน
1. โดยจะนำมาทำ เป็นส่วนผสมของยาลด หรืออาหารเสริมลดน้ำหนัก มักนิยมนำพริกไทย มาป่นให้ละเอียด และผสมกับสมุนไพรตัวอื่น แล้วบรรจุลงแคปซูล หรืออัดเป็นเม็ด
2. นำน้ำมันพริกไทยดำ มาผสมกับครีม หรือนำพริกไทยป่นมาผสมกับ น้ำมันมะกอก แล้วเอามาทา หรือนวดวน ๆ ที่บริเวณต้นแขน ต้นขา จุดที่เป็นเปลือกส้ม ไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าจุดนั้นเริ่มร้อน
สรรพคุณด้านอาหารของพริกไทย
ผลและเมล็ดพริกไทยมีรสเผ็ดร้อน ใช้ปรุงรสได้ทั้งอ่อนและแก่ แกงที่ใช้พริกไทยเป็นองค์ประกอบมีหลายชนิด เช่น แกงเผ็ด ฉู่ฉี่ แกงกะหรี่ แกงเลียง ทอดมัน ผัด โจ๊ก ข้าวผัด เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้พริกไทย
เด็กระบบย่อยอาหารไม่ดี พริกไทยขาว 1.0 กรัม น้ำตาลกลูโคส 9.0 กรัม ผสมกันเป็นยาผง
• เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ กินครั้งละ 0.3-0.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-3 วัน
• เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป กินครั้งละ 0.5-1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-3 วัน
ทั้งนี้มักใช้ไม่เกินครั้งละ 2 กรัม
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง พริกไทยขาว 7 เม็ด ชะมดเชียง 0.15 กรัม ใช้ชะมดเชียงใส่ที่สะดือก่อน แล้วใช้พริกไทยโรยทับข้างบน ใช้ผ้าขาวปิดทับปลาสเตอร์ติดแน่นทิ้งไว้ 7-10 วันแล้ว เปลี่ยนครั้ง 10 ครั้งเป็น 1 ระยะของการรักษา
มาลาเรีย พริกไทย 10-15 เม็ด บดละเอียด ใช้ปลาสเตอร์ขนาด 8 x 8 เซนติเมตร ใส่ผงพริกไทยตรงกลาง ปะติดจุดต้าจุย ใต้กระดูกคอที่ 7 (กระดูกคอส่วนที่นูนที่สุด) ทิ้งไว้ 7 วัน เป็น 1 การรักษา ถ้าปลาสเตอร์หลุดให้เปลี่ยนใหม่
ลดอาการท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียดและช่วยขับลม ใช้ผลบดเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 0.5-1 กรัม (ประมาณ 15-20 เมล็ด) หรือ จะใช้ผงชงน้ำดื่ม รับประทาน 3 เวลาหลังอาหาร
การรับประทาน ก่อนอาหาร ประมาณ 10 นาที ครั้งละ 2–4 แคปซูล เพื่อประสิธิภาพ ในการเผาผลาญไขมัน แต่ห้ามรับประทานทันที หลังทานอาหารเสร็จ เพราะจะทำให้เกิดอาการเรอ และท้องอืดทันที นอกจากนี้ ให้รับประทานแต่พอดี ไม่ควรทานติดต่อกัน นานเกิน 6 เดือน และทานในปริมาณ ที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เป็น มะเร็งได้เช่นกัน
การทา ทาทุกวัน หลังอาบน้ำเย็น หรือ ก่อนนอน วิธีนี้จะช่วยสลายไขมัน ตรงจุดนั้น ให้ผิวเรียบลื่น ไม่เป็นลูกคลื่น
ลักษณะทั่วไปพริกไทย
เป็นไม้เถาเลื้อยขึ้นตามต้นไม้อื่น ตามโขดหิน หรืออาจเลื้อยไปตามผิวดิน บางชนิดเป็นไม้พุ่ม พบน้อยมากที่เป็นพืชล้มลุก มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ลำต้นหรือเถาเป็นข้อปล้อง ตรงข้อมักโป่งนูนออกชัดเจน ถ้าเป็นไม้เถามักพบแตกรากตามข้อ
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับ แผ่นใบมักมีต่อมใส หรือ ต่อมมีสีขนาดเล็ก ในหนึ่งต้นใบมีขนาดและลักษณะหลากหลาย ใบบนลำต้นทั้งที่เลื้อยตามผิวดินหรือเลื้อยขึ้นที่สูงมักมีรูปทรงคล้ายๆ กันในชนิดเดียวกัน ในหลายชนิดพบว่าใบบนลำต้นที่เลื้อยตามผิวดินมีลักษณะคล้ายกันมาก มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ใบบนลำต้นและใบบนกิ่งมีลักษณะแตกต่างกันชัดเจนและแตกต่างจากชนิดอื่นๆ จนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการระบุชนิดได้ ใบบนกิ่งมีลักษณะต่างจากใบบนลำต้นและแตกต่างกันในแต่ละชนิด
ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด พบน้อยที่เป็นช่อเชิงลดประกอบแบบซี่ร่ม เกิดที่ข้อตรงข้ามกับใบ ดอกแยกเพศ อยู่ร่วมต้นกันโดยอยู่บนช่อดอกเดียวกัน อยู่คนละช่อดอก หรือพบทั้งสองลักษณะนี้ หรือดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่แยกต้นกัน
ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยง ไม่มีกลีบดอก มีเฉพาะเกสรเพศผู้หรือเกสรเพศเมียและใบประดับขนาดเล็ก ใบประดับรูปกลมหรือรูปรี เชื่อมติดกับแกนช่อดอกหรือมีก้านชูให้ใบประดับยื่นออกมาจากแกนช่อดอก เกสรเพศผู้ 2-6 อัน เกสรเพศเมียมีรังไข่ฝังอยู่ในแกนช่อดอกหรือมีก้าน ยอดเกสรเพศเมีย 2-6 อัน
ผลแบบผลสด รูปกลมหรือรูปรี ติดกับแกน หรือ มีก้าน สีเขียวหรือเขียวอมเหลือง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้มหรือแดง ส่วนใหญ่ออกดอกและติดผลเป็นช่วงๆ ตลอดปี ขึ้นกับความสมบูรณ์ของต้นและสภาพแวดล้อม ปัญหาที่สำคัญในการศึกษาพืชสกุลพริกไทย ก็ คือ การตรวจสอบและระบุชนิดตัวอย่างพืชที่สำรวจพบ เนื่องจากพืชกลุ่มนี้มีลักษณะสัณฐานที่ซับซ้อนและหลากหลายในแต่ละชนิด เช่น บางชนิดดอกเพศผู้กับดอกเพศเมียอยู่แยกต้นกัน บางชนิดดอกเพศผู้กับดอกเพศเมียอยู่ร่วมต้นกัน ซึ่งดอกทั้งสองเพศอาจอยู่บนช่อดอกเดียวกันหรือต่างช่อดอกกัน ยิ่งไปกว่านั้นคือดอกไม่มีกลีบเลี้ยงและไม่มีกลีบดอก มีเฉพาะเกสรเพศผู้หรือเพศเมียและใบประดับ กอปรกับดอกมีขนาดเล็กมาก
พริกไทยแบ่งตามวิธีการเก็บ และเตรียมได้เป็น 2 ชนิด คือ
พริกไทยดำ (Black pepper) ได้จากการนำเอาพริกไทย ที่แก่เต็มที่ แต่ยังไม่สุก มาตากแดดให้แห้ง จนออกเป็นสีดำ และไม่ต้องปลอกเปลือก
พริกไทยขาว (White pepper) หรือพริกไทยล่อน ได้มาจากการนำ เอาพริกไทยที่สุกเต็มที่ มาแช่ในน้ำเพื่อลอกเปลือกออก แล้วนำไปตากให้แห้ง
การขยายพันธุ์พริกไทย
พริกไทยขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการปักชำ โดยตัดส่วนลำต้นที่ไม่แก่จัด ยาวประมาณ 5-7 ข้อ ปักชำไว้จนรากงอกออกมาแข็งแรง แล้วจึงนำไปปลูก โดยต้องทำค้างไว้ให้เกาะด้วย พริกไทยสามารถขึ้นได้ในดินทั่วๆ ไปที่มีการระบายน้ำได้ดี และชอบอากาศ ที่อบอุ่นและชื้น เช่น บริเวณจังหวัด จันทบุรี ระยอง และตราด
องค์ประกอบทางเคมีของพริกไทย
ในผลมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ 1% - 2.5% ประกอบด้วย beta-caryophyllene (28.1%), delta-3-carene (20.2%), limonene (17%), beta-pinene (10.4%), alpha-pinene (5.8%), terpinolene, alpha-copaene, alpha-humulene, delta-cadinene, camphene เป็นต้น และพบสาร alkaloid 5-9% โดยมีอัลคาลอยด์ Piperine และ piperettine (ทำให้เกิดกลิ่นฉุนและเผ็ด) เป็นองค์ประกอบหลัก และพบอัลคาลอยด์อื่นๆ เช่น chavicine, piperyline, piperoleines A, B, C piperanine
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของพริกไทย
Beta - caryophylene | camphene | |||
ที่มา : en.wikipedia.org/wiki |
Piperidine ที่มา : en.wikipedia.org/wiki
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพริกไทย
• พบว่าการกินพริกไทยจะเพิ่มการหลั่งน้ำย่อยของระบบทางเดินอาหารและเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้
• มีฤทธิ์ในการลดไข้ กระจายความเย็นที่กระทบร่างกายทำให้เกิดไข้
• ฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิ และเชื้อแบคทีเรีย
• ฤทธิ์ในการลดไขมันในเลือด
กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ลดภาวะท้องเดิน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมัน มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ลดการอักเสบ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ กดระบบประสาทส่วนกลางระงับอาการชัก ยับยั้งการกระจายของเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholine esterase กำจัดยุง แมลงวัน ศัตรูพืช
การศึกษาทางคลินิก : ยาสมุนไพรที่มีขมิ้นและพริกไทยเป็นส่วนประกอบ มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด
การศึกษาทางพิษวิทยาของพริกไทยดำ
ไพเพอรีนเป็นสารอัลคาลอยด์ให้กลิ่นฉุนและรสชาติเผ็ดร้อน ที่สกัดจากผลของพริกไทยดำ การศึกษาผลของไพเพอรีนที่มีต่อโครโมโซมหนูแรทขาวเพศผู้พันธุ์วิสตาร์ (Wistar rat) หนูแรทเพศผู้พันธุ์วิสตาร์ได้รับไพเพอรีนขนาด 100, 400 และ 800 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ฆ่าหนูและเก็บเซลล์ไขกระดูกจากกระดูกต้นขา เพื่อนำมาทำการวิเคราะห์โครโมโซมผลของการศึกษาพบว่าไพเพอรีนในขนาดที่หนูได้รับไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อโครโมโซม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างไรก็ตามไพเพอรีนในขนาดที่หนูได้รับ มีผลทำให้ค่า Mitotic index ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติซึ่งบ่งชี้ว่าไพเพอรีนอาจมีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ไขกระดูกเมื่อได้รับในปริมาณสูง
ควรระวังการใช้พริกไทยในขนาดสูง เพราะมีรายงานความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เมื่อให้ในขนาดสูงและติดต่อกันหลายวัน
พิษเฉียบพลัน สารสกัดเอทานอลและสารสกัดน้ำ เมื่อให้ทางปากในหนูถีบจักร มีค่า LD50 เท่ากับ 12.66 และ 424.38 ก./กก. นน.ตัว (คำนวณจาก นน.ผงยา) ตามลำดับ
พิษกึ่งเรื้อรัง พริกไทยและพิเพอรีน เมื่อป้อนให้หนูขนาด 5-20 เท่า ของขนาดที่ให้ในคน พบว่าไม่มีผลต่อการเจริญเติบโต น้ำหนักอวัยวะ และเคมีของเลือด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เนื่องจากใน พริกไทยดำ ก็มีสารสารอัลคาลอยด์ ไพเพอร์ริน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะถูกทำปฏิกิริยา เปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงเห็นได้ชัดว่า พริกไทย ไม่ได้มีประโยชน์อย่างเดียว แต่ก็มีโทษด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นแนะนำว่าให้ใช้ในปริมาณ ที่พอเหมาะ อีกทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคตา และโรคริดสีดวงทวาร ไม่ควรทานพริกไทยดำ เพราะจะทำให้อาการ กำเริบขึ้นได้ ทำให้ตาลาย เวียนศีรษะ เกิดฝีหนองเนื่องจากพริกไทยมีคุณสมบัติร้อนและแห้ง ถ้ากินมากทำให้ม้าม กระเพาะอาหาร ปอดถูกทำลาย คนที่กินพริกไทยมากและบ่อยเกินไป ทำให้ตาอักเสบได้ง่าย ทำให้คอบวมอักเสบเจ็บคอบ่อย เป็นแผลในปากและฟันอักเสบเป็นหนอง
เอกสารอ้างอิง พริกไทยดำ
1. วิกิพีเดีย . สารานุกรมเสรี, พริกไทย . (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=พริกไทย&oldid=6662972
2. อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี . กทม.แม่บ้าน. มปป. หน้า 110–111
3. พริกไทยดำ . ฐานข้อมูล เครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=90
4. พริกไทย สรรพคุณและประโยชน์ของพริกไทยดำ. ศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
5. คุณประโยชน์จากพริกไทย มีมากเกินคาด.สารอาหาร วิตามิน. Thai Love Health (คนไทยรักสุขภาพ). (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thailoveherlth.com/nutrient/healyh-3463.html
6. อรุณรัตน์ ฉวีราช , ธวัตชัย ธานี , รุ้งลาวัลย์ สุดมูล และ ปิยะ โมคมุล . 2552 .พืชสกุลพริกไทยในประเทศไทย.พิมพ์ครั้งที่ 2 ขอนแก่นการพิมพ์.163 หน้า
7. ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศ.เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์ . Pepper / พริกไทย. Food network solution ศูนย์เครื่องข่ายข้อมูลอาหารคบวงจร (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก
http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0188/antioxidant–สารต้านออกซิเดชัน
8. เดชา ศิริภัทร.พริกไทยความเผ็ดร้อนที่ครองใจชาวโลก.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 229. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.พฤษภาคม 2541.
9. นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล.พริกไทย.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305.คอลัมน์แพทย์แผนจีน.กันยายน 2547
10. สรียา วงษ์พา.ผลของสารไพเพอรีนที่มีต่อการก่อกลายพันธุ์ที่ชักนำให้เกิดความเสียหายต่อโครโมโซมในเซลล์ไขกระดูกของหนูแรทขาว.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต วิทยาศาสตร์(พิษวิทยา)2548.มหาวิทยาลัยมหิดล.