ข่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ข่า งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

 

ชื่อสมุนไพร ข่าหยวก, ข่าหลวง (ภาคเหนือ), กฎุกกโรหิณี (ภาคกลาง), เชียงง่าว (ปะหล่อง), สะเอเชย (กะเหรี่ยง), หัวข่า (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อสามัญ Galanga, False galangal 
วงศ์ Zingeberaceae
 


ถิ่นกำเนิดข่า

สำหรับข่า เป็นพืชพื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทุกภาคของประเทศโดยมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเขตร้อนในเอเชีย สามารถพบได้ตามประเทศ ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทย ซึ่งคนไทยนิยมใช้ข่า มาตั้งแต่อดีตแล้ว โดยการนำมาประกอบอาหารและยังใช้เป็นสมุนไพรอีกด้วย
 

ข่าชนิดอื่นที่พบในประเทศไทยในปัจจุบัน

ข่าเล็ก เป็นข่า พื้นเมืองของเกาะไหหลำ พบปลูกในบางพื้นที่ของภาคใต้ ลำต้นมีขนาดเล็ก เหง้าข่า มีสีน้ำตาลปนแดง เนื้อเหง้าข่า มีสีเหลือง มีกลิ่นฉุน และรสเผ็ดร้อนมาก นิยมมาประกอบอาหารบ้าง แต่ส่วนมากใช้ประโยชน์ทางยา โดยพบน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.3-1.5% พบสารประกอบฟีนอล 4 ชนิด คือ trans-p-Coumaryl diacetate, 4-Hydroxycinnamoylaldehyde, 1´-Acetoxychavicol acetate และ β-Sitosterol

  • ข่าป่า เป็นข่าที่พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีลักษณะลำต้นสูง ลำต้น และใบคล้ายกับข่าที่ปลูกทั่วไป หัวมีกลิ่นฉุนน้อย
  • ข่าลิง (ข่าน้อย) มีลักษณะลำต้นเล็ก มีสารประกอบฟีนอลหลายชนิด เช่น 1, 7-diphenyl-3,5-heptanedione, flavonoids, diarylheptanoids และ phenylpropanoids
  • ข่าคม มีลักษณะใบมน มีขนละเอียดสีขาวปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกมีใบประดับ กลีบดอกสีขาว แผ่เป็นแผ่น และมีแถบสีเหลืองส้มบริเวณกลางกลีบดอก
  • ข่าน้ำ (เร่ว, กะลา) เป็นข่า พื้นบ้านที่ปลูกเพื่อจำหน่ายของ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เหง้ามีรสจืดกว่าข่า ช่อดอกสีชมพู
     

ประโยชน์และสรรพคุณข่า

  1. เป็นยาขับลม
  2. บำรุงธาตุ
  3. เป็นยาระบายอ่อนๆ
  4. ช่วยบรรเทาอาการไอ
  5. ช่วยย่อยอาหาร
  6. แก้บิด
  7. แก้ปวดท้องจุกเสียด
  8. แก้โรคปวดข้อ
  9. รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
  10. ขับน้ำคาวปลา ขับรก
  11. รักษากลากเกลื้อน
  12. แก้ไฟลวด แก้น้ำร้อนลวก
  13. แก้ลมพิษ
  14. รักษาโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง
  15. รักษาโรคกลากเกลื้อน 
  16. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  17. ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  18. ต้านเชื้อวัณโรค
  19. ช่วยต้านภูมิแพ้ และต้านอนุมูลอิสระ
  20. แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  21. ช่วยแก้ตะคริว และเหน็บชา
  22. แก้อาเจียน
  23. แก้ปวดท้อง

               นอกจากนี้ ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลือง และแกงกอ ทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า แต่ใช้ข่า ในการดับกลิ่นคาวของเนื้อ และปลา ในส่วนต่างๆ ของข่ายังสามารถนำมาทำอาหารได้อีกเช่น
           ช่อดอก ลวก หรือ กินสดกับน้ำพริก, ลำต้นใต้ดิน ใส่แกง (ไทใหญ่) รับประทานเป็นเครื่องเคียงกับแกงอ่อม หรือ อาหารคาวต่างๆ (เมี่ยน)
           เหง้า ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ เช่น น้ำพริก แกง ยำ, ช่อดอกอ่อน รับประทานสด หรือ นำไปย่างไฟ อ่อนๆ กินกับน้ำพริก (คนเมือง, กะเหรี่ยงเชียงใหม่) นำไปใส่แกง และน้ำพริก (กะเหรี่ยงแดง) เป็นเครื่องเทศ นำไปเป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ (ลั้วะ, กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) ใช้ประกอบอาหารเช่น ใส่แกง ลาบ
           ดอก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก (ปะหล่อง) ดอก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ ใช้ใส่แกงแค, หัวใต้ดิน เป็นเครื่องเทศสำหรับอาหาร ประเภทต่างๆ (ขมุ) 
           หน่อข่าอ่อน เป็นหน่อของข่าที่เพิ่งจะแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน ถ้าอายุประมาณ 3 เดือน เรียกหน่อข่า ถ้าอายุ 6-8 เดือนเรียกข่าอ่อน ถ้าอายุมากกว่า 1 ปี จัดเป็นข่าแก่ หน่อข่าอ่อนทั้งสด และลวกใช้จิ้มหลน น้ำพริก หรือ นำมายำ ยังมีการใช้ประโยชน์จากข่าด้านอื่นๆ อีกเช่น น้ำมันหอมระเหยจากข่า มีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง

ดอกข่า

ข่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

วิธีและปริมาณที่ใช้ : 

  1. รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด แก้อาเจียน แก้ปวดท้อง
    ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือ ประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร
  2. รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อ และน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  3. รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย

          เหง้าข่า แก่สด หรือ แห้ง ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ให้ใช้ประมาณเท่าหัวแม่มือ ใช้สดประมาณ 5 กรัม และแห้งประมาณ 2 กรัม นำมาทุบให้แตกแล้วต้มเอาน้ำดื่ม
เหง้าสด ใช้รักษาเกลื้อน นำเหง้าสดมาฝนผสมกับเหล้าโรง หรือ น้ำส้มสายชู หรือ ตำแล้วนำมาแช่แอลกอฮอล์ ใช้ทาที่เป็น

           ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) 

  • ใช้ข่ารักษาอาการแน่นจุกเสียด
    - ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือ เหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม
    - ใช้หัวข่าตำละเอียดผสมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม 
  • ใช้ข่ารักษากลาก เกลื้อน
    - ใช้เหง้าข่าปอกเปลือก จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย
    - ใช้เหง้าข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือ ทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดงและแสบ แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทา เฉพาะบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ทาเช้า และเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ  2 สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลง และหายไปในที่สุด
    - ใช้เหง้าข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี
    - ใช้เหง้าข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง
    - ใช้เหง้าข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้า หรือ อัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน ใช้ทาแก้เกลื้อน หรือกลาก


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของข่า

ไม้ล้มลุกมีเหง้าข่า ใต้ดิน สีน้ำตาลอมแสด เลื้อยขนานกับผิวดิน มีอายุหลายปี มีข้อปล้องสั้น ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดูคล้ายลำต้น แตกกอ สูง 1.5-2.5 เมตร

           ใบข่า เป็นเดี่ยว เรียงสลับ รอบลำต้น เหนือดิน ใบรูปใบหอก หรือ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 4-11 เซนติเมตร ยาว 25-45 เซนติเมตร กาบใบมีขน ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เส้นกลางใบใหญ่ทางด้านท้องใบเป็นเส้นนูนชัด เส้นใบขนานกัน ก้านใบเป็นกาบหุ้ม 

           ดอกข่า เป็นช่อแยกแขนง ตั้งขึ้น ขนาดใหญ่ ออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 15-20 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีสีเขียวปนเหลือง ดอกแก่สีขาวปนม่วงแดง ดอกย่อยจำนวนมากเรียงกันแน่น อยู่บนก้านช่อเดียวกัน ดอกย่อยคล้ายดอกกล้วยไม้มีขนาดเล็ก มีใบประดับย่อยเป็นแผ่นรูปไข่ กลีบดอกสีขาวแกมเขียว  3 กลีบ โคนเชื่อมติดกันตลอด ปลายแยกจากกันเป็นปาก แต่ละกลีบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปากท่อดอกจะมีอวัยวะยาวเรียวจากโคนถึงยอด สีม่วงคล้ายตะขอ 1 คู่ ใต้อวัยวะมีต่อมให้กลิ่นหอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ เกสรเพศผู้มี 3 อัน มี 2 อัน คล้ายกลีบดอก มีเรณู 1 อัน เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีขาว มีลายเส้นสีม่วงแดง

           ผลข่า แห้งแตก รูปกระสวย หรือ ทรงกลม ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมื่อแก่มีสีส้มแดง มี 1-2 เมล็ด  เมล็ดใช้เป็นเครื่องเทศ ดอกใช้เป็นผักจิ้มได้ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

 ต้นข่า

ข่า

การขยายพันธุ์ข่า

การปลูกข่า ข่าจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะเนื้ออ่อน เหมือนขิง - ขมิ้น - ไพล เป็นพืชที่มีอายุมากกว่า 1 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินชุ่มชื้น และไม่มีน้ำท่วมขัง การปลูกนิยมปลูกด้วยการแยกเหง้า โดยปลูกช่วงต้นฝน หรือ ในฤดูฝน เตรียมแปลงด้วยการไถดะ และตากดิน ประมาณ 7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช จากนั้น ไถพรวนดินให้ละเอียดอีกครั้ง และตากแดดประมาณ 2-5 วัน ก่อนปลูก
           การเตรียมเหง้าปลูก เหง้าข่าที่ใช้ควรเป็นเหง้าข่าแก่ อายุมากกว่า 1 ปี โดยให้ตัดต้นเทียมออก โดยให้เหลือต้นเทียม 1-2 ต้น ที่ติดกับเหง้าสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร เหง้ามีแง่งประมาณ 1-2 แง่ง และให้ตัดรากที่ยาวทิ้ง
           การปลูกในแปลงใหญ่หรือในพื้นที่ว่างที่ปลูกจำนวนน้อย ระยะปลูก ประมาณ 80×80 เซนติเมตร ด้วยการขุดหลุม ขนาด 20x20x20 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมเล็กน้อยพร้อมคลุกกับดินล่างให้เข้ากัน ใช้เหง้าพันธุ์อายุประมาณ 1 ปี ขึ้นไป ใส่หลุมละ 1-2 เหง้า
           การปลูกในแปลงใหญ่ นิยมไถยกร่องลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ระยะห่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร จากนั้น โรยด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 เล็กน้อยตามแนวยาวของร่อง ก่อนวางเหง้าข่า 1-2 เหง้า ตามความยาวของร่องที่ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 70-80 เซนติเมตร แล้วจึงคราดดินบนกลบตลอดแนว

 

องค์ประกอบทางเคมี

Cineole, camphor และ eugenol ลดการบีบตัวของลำไส้, 1'-acetoxychavicol acetate, 1'-acetoxyeugenol acetate และ eugenol ช่วยลดการอักเสบ, 1'-acetoxychavicol acetate และ 1'-acetoxyeugenol acetate ช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และฆ่าเชื้อรา eugenol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยังมีสาร methyl cinnamate, pinene, galangin, chavicol, trans-p-coumaryl diacetate, coniferyl diacetate, p-hydroxy-trans-cinnamaldehyde, kaemferol, quercetin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของข่า

โครงสร้างข่า

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของข่า

  • ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารออกฤทธิ์ คือ cineole, camphor และ eugenol ในข่ามีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้
  • ฤทธิ์ขับน้ำดี สาร eugenol จากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหารได้
  • ฤทธิ์ขับลม น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับลม
  • ฤทธิ์ลดการอักเสบข่า มีสารออกฤทธิ์ คือ 1'-acetoxychavicol acetate, 1'-acetoxyeugenol acetate และ eugenol ช่วยลดการอัก และสมุนไพรตำรับที่มีข่าเป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ สารสกัดข่า สามารถยับยั้งการสลายของกระดูกอ่อนจากการเหนี่ยวนำด้วย interleukin-1b (IL-1β) โดยพบสารออกฤทธิ์คือ p-hydroxycinnamaldehyde ซึ่งแยกได้จากสารสกัดข่าด้วยอะซีโตน มีฤทธิ์ยับยั้งการสลาย hyaluronan (HA), sulfated glycosaminoglycans (s-GAGs) และ matrix metalloproteinase (MMPs) จากเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน แสดงว่าสาร p-hydroxycinnamaldehyde จากข่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาไปใช้รักษาอาการข้ออักเสบได้

           นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดผสมข่า และขิง มีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบของข้อโดยการลด chemokine mRNA และระดับของโปรตีนที่ chemokine หลั่งออกมาได้ดีกว่าสารสกัดข่า หรือ ขิงเดี่ยวๆ พบว่าสารสกัดผสมข่า และขิงมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนของสารสื่อที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (proinflammatory genes) ได้แก่ TNF-a, IL-1b, COX-2, MIP-a, MCP-1 และ IP-10
           ฤทธิ์ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหารเหง้าข่ามีสาร 1'S-1'-acetoxychavicol acetate และ 1'S-1'-acetoxyeugenol acetate ช่วยยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ สารสกัดข่าด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์, ไดเอทิลอีเธอร์, อะซีโตน และน้ำสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และ Salmonella typhi ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงได้ โดยมี eugenol และ 1'-acetoxychavicol acetate เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาร 1'-acetoxychavicol acetate สามารถยับยั้งแบคทีเรียสายพันธุ์ดื้อยา Enterococcus faecalis, S. typhi, Pseudomonas aeruginosa, E coli และ Bacillus cereus ได้ด้วย

           สารสกัดข่าด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus โดยทำลายผนังเซลล์ทั้งชั้นในและชั้นนอกของแบคทีเรีย อีกทั้งพบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ 1'-acetoxychavicol acetate การวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสารสกัดข่า พบว่าประกอบด้วยสาร 1, 8-cineole (ร้อยละ 20.95), beta-bisabolene (ร้อยละ 13.16), beta-caryophyllene (ร้อยละ 17.95) และ beta-selinene (ร้อยละ 10.56)  

           สารสกัดข่าสด และสารสกัดน้ำมันข่าสามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus, Bacillus cereus และ Salmonella typhi ในจานเลี้ยงเชื้อได้ โดยสารสกัดด้วยน้ำมันจะออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดข่าสด น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบในอาหาร Campylobacter jejuni ได้ปานกลาง สารสกัดข่าด้วยเอทิลอะซีเตตสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว Propionibacterium acnes ได้ นอกจากนี้สารสกัดข่าด้วยเอทิลแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคพืช Lemma minor ได้ ผงเครื่องเทศ และข่าร้อยละ 2 มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Salmonella typhimurium ในจานเลี้ยงเชื้อได้

           สารสกัดข่าสามารถรักษากลากได้เมื่อเปรียบเทียบกับ tolnaftate (ยารักษากลาก) สารสกัดข่าด้วยน้ำกลั่น เมทานอล ไดคลอโรมีเทน เฮกเซน หรือ แอลกอฮอล์ สามารถฆ่าเชื้อรา Microsporum gypseum, Trichophyton rubrum และ Trichophyton mentagrophyte ที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง สารสกัดเหง้าข่าด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Raji สารสกัดข่า ทำให้เซลล์มะเร็งมดลูกไวต่อยา daunomycin มากขึ้น สาร galanolactone และ (E)-8b(17)-epoxylabd-12-ene-15,16-dial จากเหง้าข่าเป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์มะเร็งชนิด 9KB ขณะที่สารสกัดเหง้าข่าด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จะไม่เป็นพิษต่อเซลล์นี้ น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่า ซึ่งประกอบด้วยสารหลัก คือ trans-3-acetoxy-1,8-cineole มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเต้านม สารประกอบไดเทอร์พีนจากสารสกัดเมล็ดข่าแห้งด้วยเมทานอล ได้แก่ galanolactone, (E)-8 (17)-12-labddiene-15,16-dial, (E)-8b (17)-epoxylabd-12-ene-15,16-dial, galanal A และ galanal B มีฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ สาร 1'S-1'-acetoxychavicol acetate และ p-coumaryl alc, γ-O-methyl ether ที่แยกจากสารสกัดเหง้าข่าเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งมนุษย์ที่นำมาทดสอบ โดยสาร 1'S-1'-acetoxychavicol acetate มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ เซลล์มะเร็งชนิดที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว (HT1080) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด สาร p-coumaryl alcohol, γ-O-methyl ether มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง SNU638 สารสกัดข่าซึ่งมี 1'-acetoxychavicol acetate เป็นสารประกอบหลักจะเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งเต้านม

การศึกษาทางพิษวิทยาของข่า

สารสกัดข่าด้วยเอทานอลร้อยละ 50 ไม่พบความเป็นพิษเมื่อให้ทางปาก หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ แต่มีความเป็นพิษปานกลางถึงมากเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์ สารสกัดเหง้าข่าด้วยเอทานอลร้อยละ 95 ไม่พบความเป็นพิษเมื่อให้หนูเม้าส์ทางปากในขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่า มีความเป็นพิษปานกลางเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูตะเภา สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้าข่าขนาด 100 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ไม่พบความเป็นพิษเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเมาส์ติดต่อกัน 7 วัน การทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่าสารสกัดข่าด้วย เอทานอลร้อยละ 95 ให้หนูเม้าส์โดยผสมกับน้ำดื่มในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้หนูตายถึงร้อยละ 15
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากข่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่โบราณมาแล้ว อีกทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารที่ใช้รับประทานในชีวิตประจำวันหลายๆเมนู ดังนี้จึงไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงในการรับประทานข่า แต่อาจจะมีข้อควรระวังในอาการข้างเคียงอยู่บ้าง ในกรณีการใช้ข่าเป็นยาสมุนไพรที่ใช้ทาทางผิวหนัง เนื่องจากบางคนอาจจะแพ้ข่า โดยอาการที่พบก็ คือ เมื่อใช้ข่าทาตรงบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังแล้ว อาจจะมีอาการแสบร้อนมากก็ควรหยุดใช้ในทันที


เอกสารอ้างอิง ข่า
  1. ผลการศึกษาความเป็นพิษของพืช 13 ต้นที่เป็นพืชอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ข่า. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=22
  3. ข่า. สรรพคุณและการปลูกข่า. พืชเกษตร.คอม.เว็ปเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  4. เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้. กรุงเทพฯ.2544.
  5. สมพร ภูติยานันท์. สมุนไพรใกล้ตัวเล่ม 13: สมุนไพรแต่งสี กลิ่น รส. วิทยาศาสตร์เภสัชกรรม. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตุลย์การพิมพ์เชียงใหม่ 2551
  6. ข่า. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ฉบับประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.mahidol.ac.th/pubhealth/
  7. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. สำนักพิมพ์สาส์น (1977) จำกัด. กรุงเทพฯ. 2548
  8. นิดดา หงษ์วิวัฒน์. หน่อข่าอ่อน ผักสมุนไพร มีเฉพาะในฤดูฝน. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 228 มิถุนายน 2556 หน้า 20-22
  9. อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 12-14
  10. ข่า. กลุ่มยารักษาโรคผิวหนังผื่นคันกลากเกลื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาสยามบรมราชกุมารี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.htm.