โรคลมชัก (Epilepsy)

โรคลมชัก (Epilepsy)

โรคลมชักคืออะไรโรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณ:  หมายถึง ยึด ครอบครอง หรือ ทำให้เจ็บป่วย โดยเป็นกลุ่มโรคทางประสาทวิทยาซึ่งถูกจำกัดความโดยอาการชักอันมีต้นเหตุจากการทำงานอย่างสอดคล้องกันมากเกินไปของเซลล์ประสาท ดังนั้นโรคลมชัก ก็คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการชัก

            โรคลมชักเป็นโรคระบบประสาทที่พบได้บ่อย ในรายงานการศึกษาโดย World Health Organization (WHO) และ World Federal of Neurology ในปี 2547 พบว่าใน 102 ประเทศที่รายงานปัญหาสุขภาพ พบว่าร้อยละ 72.5 ของประเทศเหล่านี้ระบุว่าโรคลมชักพบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากโรคปวดศีรษะ ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับสามคือ ร้อยละ 62.7 ประมาณว่าทั่วโลกน่าจะมีผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นโรคลมชักกว่า 10.5 ล้านคน ซึ่งน่าจะเท่ากับหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้ที่เป็นโรคลมชักทุกอายุ และในทุกๆปี น่าจะมีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่เป็นโรคลมชัก ประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 40 จะเป็นผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี และกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยในประเทศที่กำลังพัฒนา

            ช่วงอายุที่เกิดโรคลมชักสูงคือช่วงทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักในช่วงวัยแรกเกิดมักจะเป็นพยาธิสภาพที่เกิดในช่วงการคลอดเช่นผลของการขาดออกซิเจน การติดเชื้อที่ระบบประสาท ส่วนชราเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดโรคลมชักสูงรองลงมา ในปัจจุบันน่าจะพบว่าอุบัติการณ์โรคลมชักในวัยชราเพิ่มขึ้นในขณะที่ในช่วงวัยทารกลดน้อยลงเนื่องมาจากความสามารถทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น ปัญหาสุขภาพแตกต่างจากเดิม การติดเชื้อที่ระบบประสาทที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคลมชักในวัยเด็กเริ่มลดลงจากการที่มีวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ อายุคนยืนยาวขึ้นกว่าเดิม โรคหลอดเลือดสมองซึ่งเกิดจากปัญหาพฤติกรรมในการรับประทานอาหารไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้น ฯลฯ สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาความชุกและอุบัติการณ์โรคลมชักยังคงสูงโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องมาจากปัญหาสุขอนามัยโรคติดเชื้อ ความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยยังจำกัด มีการประมาณการว่าคนไทยทั่วประเทศ เป็นโรคลมชักประมาณ 450,000 คน และประชาชนโดยทั่วไปยังมีความรู้ความเข้าใจต่อโรคลมชักไม่มาก

            ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคลมชัก ถ้าได้รับการรักษาอย่างจริงจังต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่แรกเกิดอาการ คนไข้จะสามารถดำเนินชีวิตเช่นคนปกติ เรียนหนังสือ ทำงาน เล่นกีฬา ออกสังคม รวมทั้งสามารถแต่งงานได้ แต่ถ้าละเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ปล่อยให้ชักอยู่บ่อยๆ ก็อาจทำให้สมองเสื่อม บางรายอาจพิการหรือตายเนื่องจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างชัก เช่น จมน้ำ ขับรถชน ตกจากที่สูง ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น

สาเหตุของโรคลมชัก
โรคลมชักส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน (Idiopathic หรือ Primary Epilepsy) เชื่อว่ามีความ พร่องของสารเคมีบางอย่างในการควบคุมกระแสไฟฟ้าในสมอง (โดยที่โครงสร้างของสมองเป็นปกติดี) ทำให้การทำหน้าที่ของสมองเสียความสมดุล มีการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติของเซลล์สมอง กระตุ้นให้เกิดอาการชัก และหมดสติชั่วขณะ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 5-20 ปี และอาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย  และมีส่วนน้อยที่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ (Symptomatic หรือ Secondary  Epilepsy)  อาจเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างสมอง เช่น สมองพิการแต่กำเนิด สมองได้รับกระทบกระเทือนระหว่างคลอด สมองพิการภายหลังการติดเชื้อ แผลเป็นในสมองหลังผ่าตัด ฝีในสมอง เนื้องอกในสมอง โรคพยาธิในสมอง เลือดออกในสมอง(ซึ่งกลุ่มนี้มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคพิษสุรา ยาเสพติด (เช่น การเสพยาบ้าเกินขนาด) พิษจากการใช้ยาบางชนิดที่ใช้เกินขนาด (กลุ่มนี้มักพบในคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป)

ทั้งนี้ อาการในผู้ป่วยโรคลมชักอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ แต่ก็มีในบางกรณี หรือการใช้สารบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการชักได้ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยารักษาอาการบางชนิดหรือกการใช้ยาเสพติด ภาวะมีประจำเดือนของผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งแต่เป็นจำนวนน้อยที่สามารถเกิดอาการชักได้หากเห็นแสงแฟลชที่สว่างจ้า โดยอาการชักที่เกิดจากสาเหตุนี้เรียกว่า โรคลมชักที่ผู้ป่วยไวต่อแสงกระตุ้น (Photosensitive Epilepsy)

อาการของผู้ป่วยลมชัก โรคลมชัก แตกต่างจากการชักจากโรคอื่นๆ คือ อาการชักจากโรคลมชัก ต้องมีอา การ ชัก เกร็ง กระตุก กัดลิ้น น้ำลายฟูมปาก ซึ่งทั้งนี้ จริงๆแล้ว โรคลมชักเอง มีอาการชักได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

 1.อาการชักที่มีผลต่อทุกส่วนของสมอง (Generalized Seizures) เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นกับสมองทั้ง 2 ซีก แบ่งได้เป็น 2 ชนิดย่อย ๆ คือ

  • อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) เป็นอาการชักที่มักเกิดขึ้นในเด็ก อาการที่โดดเด่นคือการเหม่อลอย หรือมีการขยับเขยื้อนร่างกายเพียงเล็กน้อย เช่น การกระพริบตาหรือขยับริมฝีปาก อาการชักชนิดนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียการรับรู้ในระยะสั้น ๆ ได้
  • อาการชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures) เป็นอาการชักที่ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยมักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขนและขา จนทำให้ผู้ป่วยล้มลงได้
  • อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures) อาการชักที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ผู้ป่วยที่มีอาการชักชนิดนี้จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้ จนทำให้ผู้ป่วยล้มพับ หรือหกล้มลงได้อย่างเฉียบพลัน
  • อาการชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ โดยอาจทำให้เกิดการขยับเขยื้อนในจังหวะซ้ำ มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน
  • อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุก ส่งผลทำให้ผู้ป่วยล้มลง และหมดสติ บางรายอาจร้องไห้ในขณะที่ชักด้วย และหลังจากอาการบรรเทาลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยเนื่องจากอาการชัก
  • อาการชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures) อาการชักชนิดนี้มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกของแขนและขาคล้ายกับการโดนไฟฟ้าช็อต ส่วนใหญ่มักจะเกิดหลังจากตื่นนอน บ้างก็เกิดขึ้นร่วมกับอาการชักแบบอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน

2.อาการชักเฉพาะส่วน (Partial หรือ Focal Seizures) อาการชักประเภทนี้จะเกิดขึ้นกับสมองเพียงบางส่วน ทำให้เกิดอาการชักที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • อาการชักแบบรู้ตัว (Simple Focal Seizures) สำหรับอาการชักประเภทนี้ ขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะยังคงมีสติครบถ้วน โดยผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกแปลก ๆ หรือมีความรู้สึกวูบ ๆ ภายในท้อง บ้างก็อาจรู้สึกเหมือนมีอาการเดจาวู ซึ่งเป็นความรู้สึกเหมือนว่าเคยพบเห็นหรือเกิดเหตุการณ์ที่ประสบอยู่มาก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคย อาจเกิดความรู้สึกร่าเริงหรือกลัวอย่างกะทันหัน และได้กลิ่นหรือรับรู้รสชาติแปลกไป รู้สึกชาที่แขนและขา หรือมีอาการชักกระตุกที่แขนและมือ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการชักดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการชักชนิดอื่น ๆ ที่กำลังตามมา อาการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างเตรียมรับมือได้ทัน
  • อาการชักแบบไม่รู้ตัว (Complex Partial Seizures) สามารถเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและไม่สามารถจดจำได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด ไม่ว่าจะในขณะที่เกิดอาการหรืออาการสงบแล้ว อาการชักชนิดนี้ไม่สามารถคาดเดาได้โดยอาจมีอาการเช่น ขยับริมฝีปาก ถูมือ ทำเสียงแปลก ๆ หมุนแขนไปรอบ ๆ จับเสื้อผ้า เล่นกับสิ่งของในมือ อยู่ในท่าทางแปลก ๆ เคี้ยวหรือกลืนอะไรบางอย่าง นอกจากนี้ ในขณะที่เกิดอาการ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้างได้เลย

3.อาการชักต่อเนื่อง (Status Epilepticus) อาการชักชนิดนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป หรือเป็นอาการชักต่อเนื่องที่ผู้ป่วยไม่สามารถคืนสติในระหว่างที่ชัก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ลักษณะสำคัญของการชักในโรคลมชักทุกชนิดคือ การที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 3 นาที อา การนั้นหายได้เอง แต่อาการเหล่านั้นจะเกิดซ้ำๆและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีลักษณะคล้ายๆกัน

ก่อนจะชัก บางคนอาจมีอาการบอกเหตุล่วงหน้ามาก่อนหลายชั่วโมง หรือ 2-3 วัน เช่น หงุดหงิด เครียด ซึมเศร้า เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น และก่อนจะหมดสติเพียงไม่กี่วินาที คนไข้อาจมีอาการเตือน เช่น ได้กลิ่นหรือรสแปลกๆ หูแว่วว่ามีเสียงคนพูด ตาเห็นภาพหลอน มีอาการชาตามตัว จุกแน่นยอดอก ตากระตุก เป็นต้น ถ้าไม่ได้กินยารักษา อาจมีอาการชักกำเริบซ้ำได้ปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสิ่งกระตุ้น (ดูหัวข้อ “การดูแลรักษาตนเอง”) คนไข้จะไม่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย ลักษณะอาการดังกล่าวค่อนข้างเป็นลักษณะเฉพาะของโรคลมชัก ถ้าเคยเห็นเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้ตลอดไป

ส่วนอาการชักซึ่งเกิดจากโรคลมชัก มีสาเหตุเกิดจากการที่กลุ่มของเซลล์ประสาทเริ่มศักยะงานในปริมาณสูงอย่างผิดปกติ และสอดคล้องกัน ผลลัพธ์ทำให้เกิดคลื่นของการลดความต่างศักย์ เรียกว่า ดีโพลาไรซิ่ง ชิฟท์ โดยปกติหลังจากเซลล์ประสาทที่ได้รับการเร้า ทำงานหรือสร้างศักยะงาน ตัวของมันจะทนทานต่อการสร้างศักยะงานซ้ำในช่วงเวลาหนึ่ง สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการทำงานของเซลล์ประสาทที่ถูกยับยั้ง การเปลี่ยนแปลงกระแสไฟฟ้าภายในเซลล์ประสาทที่ได้รับการเร้า และผลกระทบของอะดีโนซีน

แนวทางการรักษาโรคลมชัก

การวินิจฉัยโรคลมชักเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากไม่สามารถทราบสาเหตุ ก็ไม่สามารถรักษาได้ หรือการรักษาอาจได้ผลไม่เต็มที่ ซึ่งการวินิจฉัยโรคลมชักนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะบางอาการของโรคลมชักก็ใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาในการตรวจและทดสอบจึงจะทราบผลที่แน่ชัด  โดย แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติการรักษาและประวัติส่วนตัวต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่นผู้ป่วยเคยใช้ยาอะไรมาก่อนบ้าง เคยเสพยาเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ จากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดไปพิจารณาควบคู่กับการทดสอบทางการแพทย์ เช่น แพทย์จะทำการตรวจคลื่นสมอง หรือ อีอีจี (EEG ซึ่งย่อจาก eletroencephalogram) ซึ่งพบว่าร้อยละ 60-70 ของคนไข้ที่เป็นโรคลมชัก จะมีคลื่นสมองที่ผิดปกติ (ร้อยละ 30-40 อาจมีคลื่นสมองปกติทั้งๆ ที่เป็นโรคนี้อยู่ก็ได้ คนกลุ่มนี้แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นสำคัญ) ส่วนการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณสมอง (MRI-Magnetic Resonance Imaging) จะเลือกตรวจเฉพาะในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของโครงสร้างในสมอง เช่น เนื้องอก พยาธิ ก้อนเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอาการชักครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปและถ้าสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อในสมอง (เช่นมีไข้สูงร่วมด้วย) แพทย์อาจทำการเจาะหลัง เพื่อกรวดน้ำไขสันหลัง

ผู้ป่วยโรคลมชักจะได้รับการรักษาด้วยยากันชักเป็นระยะเวลานานประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีนับตั้งแต่ควบคุมอา การชักได้ และกรณีที่มีสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมองติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ) ต้องได้รับการรักษาแก้ไขสาเหตุนั้นๆร่วมด้วย

ซึ่งแพทย์จะให้การรักษา ดังนี้

1. เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคลมชักชนิดที่มีสาเหตุ (เช่น เนื้องอกสมอง เลือดออกในสมอง) ก็จะให้การแก้ไขตามสาเหตุ (เช่น ผ่าตัด) และอาจจำเป็นต้องให้ ผู้ป่วยกินยากันชักร่วมด้วย

2. ส่วนในรายที่เป็นโรคลมชักชนิดที่ตรวจไม่พบสาเหตุ หากเคยชักมาเพียง 1 ครั้ง มักจะแนะนำให้ ผู้ป่วยปฏิบัติตัว หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ และเฝ้าดูอาการต่อไป โดยยังไม่ให้ยารักษา เนื่องเพราะผู้ป่วย กลุ่มนี้อาจไม่มีอาการชักอีกตลอดไป (โอกาสชักซ้ำพบได้ประมาณร้อยละ 30-60) ซึ่งไม่คุ้มกับผลข้างเคียงจากยา

แพทย์จะพิจารณาให้ยากันชักแก่ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากยากันชักขั้นพื้นฐาน เช่น ฟีโนบาร์บิทาล และเฟนิโทอิน โดยจะเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน ซึ่งจะค่อยๆ ปรับขนาดยา ทีละน้อยจนสามารถควบคุมอาการได้ ถ้าไม่ได้ผลก็จะเปลี่ยนไปใช้ยาพื้นฐานอีกชนิดหนึ่งแทน ถ้ายังไม่ได้ผล ก็อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยากันชักขั้นสูง เช่น โซเดียมวาลโพรเอต (sodium valproate) คาร์บามาซีพีน (carbama-zepine) โทพิราเมต (topiramate) เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการ กำเริบด้วยยาเพียงชนิดเดียว มีน้อยรายที่อาจต้องให้ยาควบกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เมื่อปรับยาจนสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วย จะต้องกินยาในขนาดนั้นไปเรื่อยๆ เป็นเวลาหลายปีจนปลอดจากอาการชักแล้ว 2-3 ปี (สำหรับเด็ก) และ 5 ปี (สำหรับผู้ใหญ่) จึงเริ่มหยุดยา โดยค่อยๆ ลดลงทีละน้อย ห้ามหยุดยาทันที อาจทำให้เกิดโรคลมชักต่อเนื่องเป็นอันตรายได้ เมื่อลดยาหรือหยุดยาแล้ว กลับมีอาการชักใหม่ (พบได้ประมาณร้อยละ 25 ในเด็ก และร้อยละ 40-50 ในผู้ใหญ่) ก็จะกลับไปใช้ยาตามขนาดเดิมใหม่ ส่วนในรายที่เคยควบคุมอาการได้ดี แต่ต่อมา กลับมีอาการชัก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปรับลดยาลง แพทย์ก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาหรือปรับเปลี่ยนยาใหม่ จนกว่าจะควบคุมอาการได้

3. ในรายที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือทนต่อผลข้าง-เคียงไม่ได้ อาจต้องส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำ การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีที่ซับซ้อนขึ้น และอาจต้องรักษา ด้วยการผ่าตัดสมอง หรือใช้เครื่องกระตุ้นประสาทสมองต่อไป แม้ว่าการใช้ยาต้านอาการชักจะช่วยควบคุมโรคได้ แต่ผลข้างเคียงบางอย่างจะขึ้นอยู่กับชนิดของยาต้านอาการชักที่ใช้ ในการรักษา โดยอาจมีผลข้างเคียงของยาหลายอย่าง เช่น

  • อาการอ่อนเพลีย
  • เวียนศีรษะ
  • น้ำหนักขึ้น
  • มวลกระดูกลดลง
  • ผื่นขึ้น
  • เสียการทรงตัว
  • มีปัญหาเรื่องการพูด ความจำ และความคิด
  • มีอาการเหงือกบวม

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคลมชัก

  • อาการชักในวัยเด็ก อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลมชักเพิ่มขึ้นหากมีอาการชักที่ยาวนาน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทอื่น ๆ
  • ประวัติครอบครัว หากในครอบครัวนั้นมีประวัติว่ามีผู้ป่วยโรคลมชัก ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักในครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • อายุ โรคลมชักมักจะเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กตอนต้น และช่วงอายุ 60 ขึ้นไป
  • โรคสมองเสื่อม (Dementia) โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองโดยตรง ซึ่งโรคนี้สามารถทำให้ความเสี่ยงโรคลมชักเพิ่มขึ้นได้ในผู้สูงอายุ
  • อาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคลมชัก ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกระเทือนกับศีรษะ รวมถึงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากหลอดเลือดสมอง จนทำให้สมองถูกทำลายสามารถให้เกิดโรคลมชักได้
  • การติดเชื้อที่สมอง (Brain Infections) อาทิโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบที่สมองหรือไขสันหลัง ทำให้สมองและระบบทำงานของประสาทผิดปกติจนเกิดโรคลมชัก
  • โรคพยาธิตัวตืด เช่น ตืดหมูตืดวัว
  • การดื่มเหล้าปริมาณมากหรือการหยุดดื่มเหล้าทันทีในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

การติดต่อของโรคลมชัก โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากการบกพร่องของสารเคมีในการควบคุมกระแสไฟฟ้าในสมองทำให้การทำหน้าที่ของสมองเสียความสมดุล จึงทำให้เกิดอาการชักดังกล่าว ซึ่งโรคลมชักนี้ไม่เป็นโรคที่พบการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คน จึงไม่ถือว่าโรคลมชักเป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคลมชัก

  1. กินยาป้องกันโรคลมชักตามขนาดที่แพทย์สั่งเป็นประจำ อย่าให้หยุดยาเอง หรือกินๆ หยุดๆ จนกว่าแพทย์จะพิจารณาให้หยุด ซึ่งอาจกินเวลา 2-3 ปี
  2. ไปตรวจกับแพทย์ประจำตามนัด อย่าเปลี่ยนแพทย์เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
  3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น  อย่าอดนอน หรือนอนไม่เป็นเวลา หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ อย่าทำงานตรากตรำคร่ำเครียดหรือเหนื่อยเกินไป อย่าอดอาหารหรือกินอาหารไม่เป็นเวลา อย่าดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ อย่าเข้าไปในที่ๆ มีเสียงอึกทึก หรือมีแสงจ้า หรือแสงวอบแวบ เมื่อมีไข้สูง ต้องรีบกินยาลดไข้และเช็ดตัวให้ไข้ลดลง มิเช่นนั้นอาจกระตุ้นให้ชักได้
  4. หลีกเลี่ยงการกระทำหรือสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ ทำงานกับเครื่องจักร ขับรถ ขับเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น เพราะถ้าหากเกิดอาการชักขึ้นมา อาจได้รับ

อันตรายได้

  1. ควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือที่โรงเรียนได้ทราบถึงโรคที่เป็น รวมทั้งควรพกบัตรที่บันทึกข้อความเกี่ยวกับโรคที่เป็นและวิธีปฐมพยาบาลเพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชัก ผู้ที่พบเห็นจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัยได้
  2. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอาการภาวะซึมเศร้าได้ แต่ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรหยุดพักหากรู้สึกเหนื่อย
  3. ป้องกันการบาดเจ็บที่สมอง ด้วยวิธีการดังนี้
    1. ขับขี่รถอย่างปลอดภัย ใช้อุปกรณ์ป้องกัน คาดเข็มขัดนิรภัย หมวกกันน็อก หากผู้โดยสารเป็นเด็กเล็กควรจัดให้นั่งบนที่นั่งเฉพาะสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย
    2. เดินอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการหกล้ม โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกหกล้มได้ง่าย ดังนั้นควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ

การป้องกันตนเองจากโรคลมชัก ถึงแม้ว่าการเกิดโรคลมชักในหลายกรณีนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ทรายสาเหตุและจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ความพยายามที่จะลดการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ การดูแลทารกที่ดีในช่วงเวลาหลังคลอด อาจช่วยลดอัตราการเกิดโรคลมชัก(ที่มีสาเหตุ)ได้ และเมื่อมีอาการชักเกิดขึ้นแล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้น ด้วยการกินยากันชักตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ

ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันการเกิดโรคลมชักได้ผลดี 100% และแพทย์ไม่นิยมที่จะให้ยาป้องกันการชัก แพทย์จะเริ่มให้ยารักษาอาการชักในโรคลมชักต่อเมื่อมีอาการชักเกิด ขึ้นแล้ว เพื่อป้องกัน/ลดโอกาสเกิดการชักซ้ำ

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคลมชัก ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าสมุนไพรชนิดไหนที่สามารถป้องกัน/รักษาโรคลมชักได้แต่มีการนำสมุนไพรของไทยไปศึกษาวิจัยและทดลองในสัตว์ทดลองและให้ผลเป็นที่น่าพอใจแต่ยังไม่ได้มีการนำไปทดลองในมนุษย์ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้ ได้แก่

  1. พริกไทยดำ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ piper nigrum Linn. อยู่ในวงศ์ Piperraceae เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานว่าสารสกัดพริกไทยดำมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รักษามะเร็ง ต้านโรคลมชัก โดยต้านการกระตุ้นสมองของสารสื่อประสาทกลุ่มกลูตาเมตผ่านตัวรับชนิด NMDA ซึ่งฤทธิ์ต้านลมชักนี้จะสอดคล้องกับสรรพคุณของพริกไทยดำที่มีการกล่าวอ้างไว้ทั้งในตำราแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีน นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าหนูอ้วนที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการให้กินอาหารที่มีไขมันสูงที่ได้รับพริกไทยดำจะมีระดับความเครียดออกซิเดชัน (oxidation stress) น้อยกล่ากลุ่มที่ไม่ได้รับพริกไทยดำ
  2. พรมมิ มีชื่อสามัญว่า Thyme-leaf Gratiola และชื่ออังกฤษว่า Dwarf bacopa มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bacopa monnieri Wettst อยู่ในวงศ์ Scrophulariaceae ในพรมมิมีสารสำคัญในกลุ่มแอลคาลอยด์ เช่น บรามิน (brahmine), นิโคติน และสารกลุ่มซาโปนิน มีคุณสมบัติช่วยในการเรียนรู้และจดจำ ช่วยลดอาการวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้า และต้านอาการชัก ซึ่งมีการทดลองที่สำคัญ ได้ดังนี้
    1. ฤทธิ์ต้านอาการชัก  (Anticonvulsive action)การแพทย์แผนไทย มีการนำพรมมิมาใช้เป็นสมุนไพรแก้ลมบ้าหมู ซึ่งในปัจจุบัน มีการนำพรมมิมาทดสอบในสัตว์ทดลอง (หนูถีบจักร) พบว่า สารสกัดน้ำจากพรมมิขนาด 1-30 กรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) สามารถควบคุมอาการลมชัก (epilepsy) ได้เป็นอย่างดีโดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

 

 

 

 

 เอกสารอ้างอิง

  1. Magiorkinis E, Kalliopi S, Diamantis A (January 2010). "Hallmarks in the history of epilepsy: epilepsy in antiquity". Epilepsy & behavior : E&B 17 (1): 103–108. PMID 19963440. doi:10.1016/j.yebeh.2009.10.023.
  2. รศ.นพ.อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ . อาการชัก และโรคลมชัก. บทความประกอบการบรรยายในการประชุมวิชาการ วิทยาการก้าวหน้าทางการพยาบาลเด็ก.2555
  3. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคลมชัก-ลมบ้าหมู.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่166.คอลัมน์แนะยา-แจงโรค.กุมภาพันธ์ 2536
  4. Liu Y, Yadev VR, Aggarwal BB, Nair MG. Inhibitory effects of black pepper (Piper nigrum) extracts and compounds on human tumor cell proliferation, cyclooxygenase enzymes, lipid peroxidation and nuclear transcription factor-kappa-B. Nat Prod Commun. 2010 ;5(8):1253-7
  5. โรคลมชัก.ความหมาย,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.podpad.com
  6. ชาญชัย สาดแสงจันทร์.พรมมิ สมุนไพรที่คนแก่ต้องกิน.วารสารธรรมศาสตร์เวชสาร.ปีที่13.ฉบับที่4.ตุลาคม-ธันวาคม.2556
  7. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ลมบ้าหมู.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่363.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กรกฏาคม.2553
  8. Hi RA, Davies JW. Effects of Piper nigrum L. on epileptiform activity in cortical wedges prepared from DBA/2 mice. Brother Res 1997; 11(3): 222-225
  9. Hammer, edited by Stephen J. McPhee, Gary D. (2010). "7". Pathophysiology of disease : an introduction to clinical medicine (6th ed. ed.). New York: McGraw-Hill Medical. ISBN 978-0-07-162167-0.
  10. Nisha P, Singhal RS, Pandit AB. The degradation kinetics of flavor in black pepper (Piper nigrum L.).Journal of Food Engineering 2009; 92: 44-49.
  11. Chang BS, Lowenstein DH (2003). "Epilepsy". N. Engl. J. Med. 349 (13): 1257–66. PMID 14507951. doi:10.1056/NEJMra022308.