โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD)
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD)
โรคกรดไหลย้อนคืออะไร
“โรคกรดไหลย้อน” (Gastroesophageal reflux disease ,GERD) เป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนของกรด (น้ำย่อย) ในกระเพาะอาหารกลับไปที่หลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติร่างกายของเราจะมีการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารอยู่บ้าง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารแต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณกรดที่ย้อนมากขึ้นหรือย้อนบ่อยกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรค หรือหลอดอาหารมีความไวต่อกรดมากขึ้นแม้ว่าจะมีปริมาณกรดที่ย้อนขึ้นไปไม่มากกว่าปกติส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด จึงพบว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น และหากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของโรคกรดไหลย้อนได้เป็น 2 ประเภท คือ
- โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หรือ CLASSIC GERD ซึ่งกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น
- โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux : LPR) หมายถึงโรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด
ซึ่งโรคกรดไหลย้อนนี้ เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย (Syspepsia) และพบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยพบได้ใกล้เคียงกัน เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบอัตราเกิดสูงขึ้นในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 60 - 70 ปีขึ้นไป มีรายงานว่าประเทศแถมตะวันตกพบโรคนี้ได้ประมาณ 10 - 20% ของประชากรเลยทีเดียว
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติ ของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร (lower esophageal sphincter, LES) ในคนปกติขณะกลืนอาหารหูรูดนี้จะคลายตัวเพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้วหูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรดเกลือ) ที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร
แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน พบว่ากล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอด อาหารนี้หย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ (คนทั่วไปหลังกินข้าวอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนได้ 1-4 ครั้ง ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการ) ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และการอักเสบของเยื่อบุหลอด อาหารได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ (พบในคนอายุมากกว่า 40 ปี) หรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (พบในทารก) หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด
นอกจากนี้พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หรือโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที รับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
อาการของโรคกรดไหลย้อน
อาการของผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น
- อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
- อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ (Heartburn) หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ รัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์และอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งมักปวดอยู่นาน 2 ชั่วโมงและบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่บริเวณคอได้
- รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ
- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ
- เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก (bile or acid regurgitation)
- มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ
- รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)
- มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
- อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม
- เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
- ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน
- ไอ หรือ รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
- กระแอมไอบ่อย
- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา
- เจ็บหน้าอก (non – cardiac chest pain)
- เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ
- อาการทางจมูก และหู
- คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ
- หูอื้อเป็นๆ หายๆ หรือปวดหู
- บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการกลืนอาหารแข็งลำบาก เนื่องจากปล่อยให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังจนตีบตัน
- ส่วนในทารกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อนตั้งแต่แรกเกิดได้ เนื่องจากหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ทารกจึงมักมีอาการงอแง ร้องกวน อาเจียนบ่อย ไอบ่อยตอนกลางคืน เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงวี้ด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ทารกบางรายอาจสำลักน้ำย่อยเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งอาจกำเริบได้บ่อย แต่อาการมักจะหายไปเมื่ออายุได้ประมาณ 6-12 เดือน แต่บางรายก็อาจรอจนถึงเข้าสู่วัยรุ่นอาการจึงจะดีขึ้น
แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน
แพทย์วินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้จาก ประวัติอาการ การตรวจลำคอ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์แยกจากโรคปอดต่างๆ การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ และอาจตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อแยกจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร และอาจมีการตรวจวิธีเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ตรวจวัดภาวะความเป็นกรดของหลอดอาหารในขณะส่องกล้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง, การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์, การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร เป็นต้น
แต่โดยส่วนมากแล้ว แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนจากอาการแสดงก็เพียงพอต่อการตัดสินโรคแล้ว ซึ่งอาการแสดงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก และเรอเปรี้ยวหลังกินอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น หรือมีพฤติกรรมที่เป็นเหตุกำเริบแต่ในรายที่ไม่แน่ชัดอาจต้องทำการตรวจพิเศษ (ซึ่งพบได้ไม่บ่อย)
แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน
- การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน (lifestyle modification) การรักษาวิธีนี้มีความสำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียงมากขึ้น เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด (ยกเว้นจะผ่าตัดแก้ไข) การรักษาวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น หรือหายดีแล้วโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้
- ควรพยายามลดน้ำหนัก
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเกินไป
- ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษา และหลีกเลี่ยงการเบ่ง
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
- รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ น้ำอัดลม
- ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
- ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด คือ ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole)ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 - 8สัปดาห์ หรืออาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นระยะ ๆ ตามอาการที่มี หรือรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ในบางกรณีอาจใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งยานี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้
- ผู้ป่วยที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยา แต่ไม่ต้องการที่จะรับประทานยาต่อ
- ผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำบ่อยหลังหยุดยา
- การรักษาด้วยยา กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- การผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้จะทำใน
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น endoscopic fundoplication, radiofrequency therapy, injection / implantation therapy เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- อายุ ยิ่งสูงขึ้น โอกาสเกิดโรคนี้ยิ่งสูงขึ้น
- การกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณสูง โดยเฉพาะกินมื้อเย็นก่อนนอน เพราะปริมาณอาหารยังค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร และการนอนราบยังเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาหารและกรดจึงไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหารได้ง่าย
- การกินอิ่มมากไป (กินอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมาก)กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก ประกอบกับการขยายตัวของกระเพาะอาหารทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย
- การกินอาหารที่ไขมันสูง ข้าวผัด ของทอดและอาหารผัดน้ำมัน ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
- โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน
- การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต (น้ำอัดลม) การกินอาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต หรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น
- แผลเพ็ปติก และการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อนได้
- โรคอ้วน เพราะจะทำให้มีความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
- การตั้งครรภ์ เพราะจะเป็นการเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
- เบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นาน ๆ จะมีการเสื่อมของประสาทกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารขับเคลื่อนช้า จึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- ความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
- การมีไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia, Diaphragmatic hernia ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม) ขนาดใหญ่ ทำให้หูรูดอ่อนแอมากขึ้น
การติดต่อของโรคกรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร ทำให้มีกรด (น้ำย่อย) จากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารและเกิดการอักเสบและอาการต่างๆตามมา ซึ่งโรคกรดไหลย้อนนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ เพราะไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด
การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน
- กินยาให้ครบถ้วนและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตว่าบริโภคสิ่งใดบ้างที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น อาหารมัน (รวมทั้งข้าวผัด ของทอด ของผัดที่อมน้ำมัน) อาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม แอลกอฮอล์ บุหรี่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ช็อกโกแลต ยาบางชนิด
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก (หรืออิ่มจัด) และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณ น้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- หลังกินอาหารควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม ไม่ควรนอนราบหรือนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ควรนั่งตัวตรง ยืน หรือให้รู้สึกสบายท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายหลังอาหารใหม่ๆ
- หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด เนื่องเพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น ทำให้อาการกำเริบได้
- ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
- ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้า มีอาการเจ็บคอ เจ็บลิ้น เสียงแหบ ไอ ควรหนุนศีรษะสูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษ (bed wedge pillow) สอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีหนุนหมอนหลายใบให้สูง เพราะอาจทำให้ท้องโค้งงอ ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ดันให้น้ำย่อยไหลย้อนได้
- งด/เลิก ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลงหรือผิดไปจากเดิม
การป้องกันตนเองจากโรคกรดไหลย้อน การป้องกันโรคกรดไหลย้อนนั้นตัวเราเองเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรา เช่น
- เลือกรับประทานอาหารและเสี่ยงรับประทานอาหารโดยอาหารที่พึงหลีกเลี่ยง ได้แก่
- ชา กาแฟ และน้ำอัดลมทุกชนิด
- อาหารทอด อาหารไขมันสูง
- อาหารรสจัด รสเผ็ด
- ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว มะเขือเทศ
- หอมหัวใหญ่ สะระแหน่ เปปเปอร์มิ้นต์
- ช็อกโกแลต
- กินอาหารมื้อเล็กๆ พออิ่ม การรับประทานอิ่มเกินไปจะทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดง่ายขึ้นและทำให้เกิดการย้อนของกรดง่ายขึ้น
- ไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายหลังอาหารทันที หลังรับประทานอาหารเสร็จควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงเอนตัวนอน เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเสียก่อน
- งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารนิโคตินในบุหรี่เพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและทำให้หูรูดอ่อนแด ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮล์ทำให้หูรูดเปิดออกได้เช่นกัน
- ลดแรงกดต่อกระเพาะอาหาร เสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดแน่นบริเวณผนังหน้าท้อง การก้มตัวไปด้านหน้า น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน ล้วนเป็นสาเหตุที่เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหารและทำให้กรดไหลย้อนกลับ
- ผ่อนคลายความเครียด ความเครียดที่มากเกินไปจะทำให้อาการแย่ลง จึงควรหาเวลาพักผ่อนและออกกำลังกายให้สมดุลกับตารางชีวิต
- รักษาโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน เช่น เบาหวาน โรคหืด โรคอ้วน แผลเท็ปติก ฯลฯ
สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน / รักษาโรคกรดไหลย้อน
ยอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia วงศ์Rubiaceae มีรายงานการศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ยอ” ซึ่งมีสารสำคัญ คือ สโคโปเลติน (scopoletin) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดี พอๆ กับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อน คือ รานิติดีน (ranitidine) และแลนโสพราโซล (lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิติดีน “ยอ” จึงเหมาะในการเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการศึกษาวิจัยข้างต้น และการที่ “ยอ” มีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ไม่เกิดลมในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแรงดันที่ทำให้กรดไหลย้อน “ยอ” ยังช่วยให้กระเพาะบีบเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กได้ดีขึ้น ทั้งนี้สมุนไพรที่อาจใช้ร่วมกัน คือ ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องอืด และช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กนานเกินไป ทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย มีผู้แนะนำให้กินขมิ้นชันก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ขนาดรับประทานคือ ครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือ 3 เม็ดๆ ละ 500 มก.
ขมิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L. วงศ์ Zingiberaceae ชื่อพ้อง C. domestica Valeton ชื่ออื่น ๆ ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขมิ้นชัน ขี้มิ้น หมิ้น ตายอ สะยอ Turmeric สารออกฤทธิ์ curcumin, ar-turmeronecurcumin จากขมิ้นลดการอักเสบจากบาดแผลได้ดี การทดลองในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดขมิ้น 160 มก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร (intragastric) ของหนูขาว ยับยั้งการอักเสบคิดเป็น 29.5% curcumin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน การทดลองเปรียบเทียบระหว่าง phenylbutazone กับ sodium curcuminate 30 มก./กก. พบว่าได้ผลดี แต่ถ้าสูงขึ้นเป็น 60 มก./กก. ฤทธิ์ต้านการอักเสบจะลดลง และ sodium curcuminate ยังสามารถยับยั้งการบีบตัวของลำไส้หนูในหลอดทดลองที่เหนี่ยวนำจากนิโคติน อะซีติลโคลีน 5-hydroxy-tryptamine ฮีสตามีนและแบเรียมคลอไรด์ นอกจากนี้ sodium curcuminate ยังลดจังหวะการบีบรัดตัวของลำไส้เล็กของกระต่าย โดยไปลดระยะห่างของจังหวะการบีบรัดตัวของลำไส้ ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยกระตุ้นการหลั่งมิวซินมาเคลือบและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ สารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ curcumin ในขนาด 50 มก./กก. สามารถกระตุ้นการหลั่งมิวซินออกมาเคลือบกระเพาะอาหาร แต่ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ มีการทดลองในกระต่ายเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการหลั่งกรดมาก พบว่าผงขมิ้นไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหาร แต่เพิ่มส่วนประกอบของมิวซิน
ย่านาง หรือใบย่านาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Tiliacora triandra (Colebr.) Diels มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bamboo grass อยู่ในวงศ์ Menispermaceae ใบของย่านาง คือเป็นส่วนที่มีประโยชน์และถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมากที่สุด เพราะเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น และมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง นอกจากนี้ถูกจัดเอาไว้ในตำราสมุนไพรว่าเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของใบย่านางในการรักษาโรคมีดังนี้
ระบบทางเดินอาหาร-ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ -ช่วยลดอาการหดเกร็งตามลำไส้ -ช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อน
รักษาและป้องกันโรคภัยต่าง ๆ -ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง -ช่วยป้องกันและบำบัดการเกิดโรคหัวใจ -ช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้ -ช่วยรักษาอาการของโรคเบาหวาน โดยไปลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง
ระบบผิวหนัง -ช่วยในการรักษาโรคเริม งูสวัด -ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ -ช่วยรักษาโรคนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในถุงน้ำดี -ช่วยรักษาอาการปัสสาวะแสบขัด ออกร้อนในทางเดินปัสสาวะ
ขึ้นฉ่าย (Apium graveolens L.) ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหารในร่างกายและช่วยลดอาการของโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ซึ่งรวมถึงโรคกรดไหลย้อน
เอกสารอ้างอิง
- Rao TS, Basu N, Siddiqui HH. Anti-inflammatory activity of curcumin analogs. Indian J Med Res 1982;75:574-8.
- รศ.ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ.เกิร์ด (GERD)-โรคกรดไหลย้อน.ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 533-536.
- โรคกรดไหลย้อน.ความรู้สู่ประชาชน.สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว(ไทย)
- Nutakul W. NMR analysis of antipeptic ulcer principle from Curcuma longa L. Bull Dept Med Sci 1994;36(4):211-8.
- Kahrilas, P. (2003). GERD pathogenesis, pathophysiology, and clinical manifestations. Cleveland Clinic Journal of Medicine. 70, s4-s18.
- กรดไหลย้อน-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com.
- รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคกรดไหลย้อน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่365.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กันยายน.2552
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD). ความรู้สำหรับประชาชน.ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
- ขมิ้น.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Srimal RC, Dhawan BN. Pharmacology of diferuloyl methane (curcumin), a non-steroidal anti-inflammatory analogs in rats. J Pharm Pharmacol 1973;25(6):447-52.
- Sinha M, Mukherjee BP, Mukherjee B, Sikdar S, Dasgupta SP. Study of the mechanism of action of curcumin: an antiulcer agent. Indian J Pharm 1975;7:98-9.
- Rafatullah S, Tariq M, AI-Yahya MA, Mossa JS, Ageel AM. Evaluation of tumeric (Curcuma longa) for gastric and duodenal antiulcer activity in rats. J Ethnopharmacol 1990;29(1):25-34.