น้ำมันระกำ

น้ำมันระกำ (Methyl Salicylate)

น้ำมันระกำคืออะไร

น้ำมันระกำเมทิลซาลิไซเลต (Methyl salicylate หรือ Wintergreen oil หรือ Oil of wintergreen) เป็นสารอินทรีย์ในธรรมชาติพบได้จากพืชหลายชนิดโดยเฉพาะพืชในกลุ่มวินเทอร์กรีน (Wintergreen) รวมถึงพืชอีกหลายชนิดที่ผลิต เมทิลซาลิไซเลต ในปริมาณเล็กน้อย เช่น

  • สปีชี่ส่วนใหญ่ของวงศ์ Pyrolaceae โดยเฉพาะในสกุล Pyrola
  • บางสปีชี่ของสกุล Gaultheria ในวงศ์ Ericaceae
  • บางสปีชี่ของสกุล Betula ในวงศ์ Betulaceae โดยเฉพาะในสกุลย่อย Betulenta

           แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ สามารถสังเคราะห์สารเมทิลซาลิไซเลตแบบที่พบในน้ำมันระกำ ได้เช่นกัน และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำหอม อาหาร เครื่องดื่ม และยาในบ้านเรา น้ำมันระกำมักถูกนำมาเป็นส่วนผสมของ ครีม ขี้ผึ้ง น้ำมันทาถูนวด สำหรับลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ และปวดข้อ ซึ่งสารเมทิลซาลิไซเลตในน้ำมันระกำมักใช้ได้ผลดีกับอาการปวดชนิดเฉียบพลันไม่รุนแรง แต่อาการปวดชนิดเรื้อรังจะเห็นผลน้อย


ประโยชน์และสรรพคุณน้ำมันระกำ
 

เป็นยาระงับปวดชนิดใช้เฉพาะที่สำหรับบรรเทาอาการปวดต่างๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อจากภาวะตึง หรือ เคล็ด ข้อต่ออักเสบ ช้ำ หรือ ปวดหลัง เป็นต้น โดยยานี้จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเย็นบริเวณผิวหนังในตอนแรก จากนั้นจะค่อยๆ อุ่นขึ้น ซึ่งช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากการรู้สึกถึงอาการปวด นอกจากนี้ ยังอาจใช้รักษาโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย น้ำมันระกำมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะกระตุ้นปลายประสาทที่รับความรู้สึกถึงความร้อน - อบอุ่น ทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองถึงการบรรเทาอาการปวดลดลง จึงทำให้รู้สึกถึงฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณในการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชยังพบอีกว่าน้ำมันระกำ สามารถแก้ไข ต่อต้านการปวดบวม และอักเสบ แถมมีฤทธิ์เป็นยาชาแบบอ่อนๆ และมี pH เป็นกรด ค่อนข้างแรง และมีโมเลกุลแบบ BHA ด้วย มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะแบบอ่อนๆ ทำให้ทำลายแบคทีเรียที่ผิวหน้าได้มักใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยา แอสไพริน ซาลิโซเลต และยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังใช้เมทิลซาลีไซเลตในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกเช่น เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยาสีฟัน แป้งฝุ่น ยาหม่อง อุตสาหกรรมย้อมสี น้ำหอม เป็นต้น

ต้นน้ำมันระกำ

สูตรเคมีและสูตรโครงสร้าง

น้ำมันระกำ (Methyl Salicylate) เป็นสารอินทรีย์ในสูตรโครงสร้างมีหมู่ เอสเทอร์ (Esters) วงแหวนเบนซินที่สามารถดูดกลืนรังสีอุลตร้าไวโอเลตได้ เป็นองค์ประกอบหลักและมีชื่อทางเคมีตาม IUPAC คือ metyl 2-hydroxybenzoate มีสูตรเคมี C6H4(HD)COOCH3 มีน้ำหนักโมเลกุล 152.1494g/mal มีจุดหลอมเหลวที่ -9 องศาเซลเซียส (ºC) จุดเดือดอยู่ที่ 220-224 องศาเซลเซียส (ºC) สามารถติดไฟได้ และสามารถละลายได้ดีในแอลกอฮอลล์ กรดอะซิติก อีเทอร์ ส่วนในน้ำละลายได้เล็กน้อย 

น้ำมันระกำน้ำมันระกำ

สูตรโครงสร้างทางเคมีของเมทิลซาลิไซเลท

แหล่งที่มาและแหล่งที่พบน้ำมันระกำ

น้ำมันระกำหรือ เมทิลซาลิไซเลต ในอดีตนั้นสามารถสกัดได้จากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบัน เมื่อวงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ ซึ่งสามารถแยกที่มาของน้ำมันระกำ ได้ คือ

  1. ได้มากจากธรรมชาติ จะได้มาจากการกลั่นใบของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gaultheria procumbens Linn. ชื่ออังกฤษ wintergreen, Checkerberry, Teaberry Tree, อยู่ในวงศ์ ERICAEAE ลักษณะ เป็นไม้พุ่มเล็กๆ แผ่ไปตามดิน ยอดจะชูขึ้นสูงประมาณ10-15 เซนติเมตร มีอายุเกิน 1 ปีใบ เดี่ยวออกสลับกัน ใบสีเขียวแก่ รูปไข่ ยาว 1-2 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอมหวานรสฝาด ดอก สีขาวเป็นรูประฆัง ยาว 5 มิลลิเมตร ออกที่ข้อข้างๆ ใบ ผล เป็น capsule สีม่วง มีส่วนของกลีบรองกสีบดอก สีแดงสดติดอยู่ ซึ่งในใบจะมีสาร methyl Salicylate อยู่ถึง 99% เลยทีเดียว โดยพืชชนิดนี้เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ
  2. ได้มาจากการสังเคราะห์สารเคมี โดยการผลิต น้ำมันระกำ ทางวิทยาศาสตร์ได้จากการสังเคราะห์สารมีชื่อทางเคมีว่า Salicylyl acetate เป็นอนุพันธ์เอสเธอร์ ของ Salicylic acid และ methyl salicylate โดยใช้ปฏิกิริยาคอนเดนเซซั่น ของกรดซาลิไซลิก กับ เมทานอล โดยทำให้กรดซัลฟิวริกผ่าน esterification กรด Salicylic จะละลายในเมทานอลเพิ่มกรดกำมะถัน และความร้อน เวลาในการทำปฏิกิริยา คือ 3 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 90-100 ℃ เมื่อปล่อยให้เย็นถึง 30 ℃ แล้วใช้น้ำมันล้างด้วยสารละลายโซเดียมคาร์บอเนตที่มีค่า pH 8 ด้านบนแล้วล้างด้วยน้ำ 1 ครั้ง น้ำ. ส่วนการกลั่นด้วยเครื่องสูญญากาศ 95-110 ℃ (1.33-2.0kPa) กลั่นให้ได้เมทิลซาลิไซเลต 80% หรือ ปริมาณเมทิลเซลิเซียลในอุตสาหกรรมทั่วไปเท่ากับ 99.5%
     

ขนาดและปริมาณที่ควรใช้

น้ำมันระกำ ตามท้องตลาดในบ้านเราส่วนใหญ่นั้นมักจะเห็นเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำมันระกำ หรือ เป็นส่วนผสมของยาถูนวดที่ใช้ทาภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าร่างกายมนุษย์ไม่ควรได้รับเมทิลยาลิไซเลตเกิน 101 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) โดยหากใช้เป็นยาทาก็อาจจะใช้ทาได้ในบริเวณที่ปวดวันละ 3-4 ครั้ง ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

น้ำมันระกำ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำมันระกำ

รายงานทางเภสัชวิทยาของน้ำมันระกำ นั้นไม่ค่อยรายงานมาก ผู้เขียนสามารถรวบรวมมาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น กรดซาลิไซลิก มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ต้านสะเก็ดเงิน โดยสมุนไพรที่พบกรดซาลิไซลิก จะพบมากในพืชสกุล Salix เช่น สนุ่น willow นอกจากนี้ยังพบในต้น wintergreen (Gaultheria procumbens) ที่นำมาทำน้ำมันระกำเป็นต้น และการใช้น้ำมันระกำ (เมทิลซาลิไซเลต) ทาร่วมกับการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น Warfarin, Dicumarol สามารถทำให้เลือดออกตามร่างกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหากแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของ Warfarin และ Dicumarol ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีๆไป


การศึกษาทางพิษวิทยาของน้ำมันระกำ

มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันในน้ำมันระกำ (Methyl Salicylate) โดยให้ทางปากแก่หนูทดลอง พบว่าค่า LD50=1110 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และเมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อหนูทดลองพบว่า ค่า LD50=887 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) สารเมทิลซาลิไซเลต หรือ น้ำมันระกำ บริสุทธิ์จัดเป็นสารเคมีที่มีพิษ ร่างกายมนุษย์ไม่ควรได้รับเมทิลซาลิไซเลต เกิน 101 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในปี ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) มีรายงานของนักกีฬาที่วิ่งข้ามประเทศเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายของเขามีการดูดซึมเมทิลซาลิไซเลตมากเกินไปด้วยการใช้ยาทา แก้ปวด ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับผู้บริโภค/ผู้ป่วย โดยเฉพาะการใช้ยาทาเมทิลซาลิไซเลตกับเด็กเล็กซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งก่อนการเลือกใช้เภสัชภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยานี้ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื่องจากน้ำมันระกำ มีฤทธิ์คล้ายแอสไพรินดังนั้นจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยา หรือ ส่วนประกอบของยาชนิดนี้ แพ้ยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มซาลิไซเลต รวมทั้งยาชนิดอื่น อาหาร หรือ สารใดๆ
  2. ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ทาบริเวณเต้านม
  3. ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  4. ห้ามทายานี้ในบริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลไหม้
  5. หากทายานี้แล้วมีอาการแสบร้อนมากขึ้นให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดเบาๆ เพื่อทำความสะอาดกำจัดยาออกไป
  6. ห้ามทายานี้บริเวณ ตา อวัยวะเพศ ช่องปาก เพราะยาจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างมากต่อเนื้อเยื่อเหล่านั้น
  7. หลีกเลี่ยงการใช้เพื่อสูดดม เพราะอาจก่อการระคายเคืองเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจได้
  8. หากใช้ยาชนิดครีม เจล โลชั่น ออยล์ ขี้ผึ้ง หรือ สเปรย์ ให้ทาบางๆ ในบริเวณที่มีอาการปวด และนวดเบาๆ ให้ยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง
  9. การใช้ยาชนิดน้ำ หรือ แท่ง ให้ทายาบริเวณที่มีอาการปวด จากนั้นนวดช้าๆ จนยาซึมลงผิวหนัง
  10. การใช้ยาชนิดแผ่นแปะ ให้ลอกแผ่นฟิล์มออก จากนั้นแปะบริเวณที่มีอาการปวดให้แนบสนิทไปกับผิวหนัง โดยใช้วันละ 1-2 ครั้ง ตามต้องการ

           ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้น้ำมันระกำ Methyl Salicylate อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวระคายเคือง แสบ แดง มีอาการชา รู้สึกปวดคล้ายเข็มทิ่มตามผิวหนัง เกิดภาวะภูมิไวเกิน เป็นต้น
           อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้น้ำมันระกำ (Methyl Salicylate) ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันทีเช่น

  • มีอาการแพ้ยา อาทิ เป็นลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม เป็นต้น
  • มีอาการแสบอย่างรุนแรง เจ็บ บวม หรือ พุพองในบริเวณที่ใช้ยา หากพบอาการดังกล่าวให้รีบล้างยาออกก่อนและไปพบแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง น้ำมันระกำ
  1. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สอบถามเกี่ยวกับสมุนไพร.กระดานถาม-ตอบ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6551
  2. Brahmachari, G. 2009. Natural products: chemistry, biochemistry and pharmacology. Alpha Science International Ltd, Oxford.
  3. ต้นน้ำมันระกำ มีประโยชน์อย่างไร.ไทยเกษตรศาสตร์. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaikasetsart.com
  4. Methyt Salicylate (เมทิลซาสิไซเลต)-รายละเอียดของยา. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.commethyl-salicylate
  5. เมทิลซาสิไซเลต. วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.th.wikipedia.org/wiki
  6. Yü-Liang Chou 1952. Floral morphology of three species of Gaultheria: Contributions from the Hull Botanical Laboratory. Botanical Gazette 114:198–221 First page free
  7. Gibbons, Euell. "Stalking the Healthful Herbs." New York: David McKay Company. 1966. pg. 92.