กระเจี๊ยบแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระเจี๊ยบแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระเจี๊ยบแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), กระเจี๊ยบ, ส้มพอเหมาะ, ส้มเก็ง (ภาคเหนือ), ส้มพอดี (อีสาน), ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), แบบมีฉี่, แต่เพะฉ่าเหมาะ (กะเหรี่ยง), ปร่างจำบู้ (ปะหล่อง)
ชื่อสามัญ Rosella, Jamaica Sorrel, Red Sorrel, Roselle 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn
วงศ์ Malvaceae


ถิ่นกำเนิดกระเจี๊ยบแดง
 

กระเจี๊ยบแดง มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน รวมถึงประเทศใกล้เคียงในแถบทวีปแอฟริกาแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังทั่วโลก เช่น อินเดีย มาเลเซีย และประเทศไทย โดยในประเทศไทยนั้นพบบันทึกการปลูกในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2510 โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้นำกระเจี๊ยบแดง พันธุ์ซูดานเข้ามาปลูกที่นิคมสร้างตัวเอง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี แล้วจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีแหล่งเพาะปลูกกระเจี๊ยบแดงที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา 


ประโยชน์และสรรพคุณกระเจี๊ยบแดง
 

  1. แก้อาการขัดเบา
  2. แก้เสมหะ
  3. ช่วยขับน้ำดี
  4. ช่วยลดไข้
  5. แก้ร้อนใน
  6. แก้ไอ
  7. ขับนิ่วในไต
  8. ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  9. แก้อ่อนเพลีย
  10. บำรุงธาตุ
  11. บำรุงกำลัง
  12. บำรุงโลหิต
  13. แก้กระหายน้ำ
  14. รักษาไตพิการ
  15. ขับเมือกมันให้ลงสู่รูทวารหนัก
  16. ช่วยละลายไขมันในเลือด
  17. เป็นยาระบาย
  18. แก้ไตพิการ
  19. ลดอาการบวม
  20. แก้เลือดออกตามไรฟัน 
  21. เป็นยาฆ่าพยาธิตัวจี๊ด 
  22. รักษาแผลอักเสบ
  23. รักษาแผลติดเชื้อ
  24. แก้โรคเบาหวาน
  25. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  26. ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต
  27. ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  28. ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  29. ใช้ขับปัสสาวะ
  30. รักษาโรคกระเพาะ
  31. รักษาลำไส้อักเสบ
  32. แก้อาการขัดเบา


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับปัสสาวะ ให้ใช้กลีบกระเจี๊ยบแดง แห้ง บดเป็นผง 3 กรัม (หรือ 1 ช้อนชา) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน ถึง 1 ปี หรือ จนกว่าอาการจะหาย  รักษาโรคกระเพาะ และรักษาลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วดื่มน้ำตาม วันละ 3-4 ครั้ง ช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด หรือ จะใช้ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน หรือ จะใช้ทั้งต้นใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟจนงวดให้เหลือ 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำผึ้งกึ่งหนึ่ง ใช้รับประทานวันละ 3 เวลา หรือ จะรับประทานน้ำยาเปล่าๆ ก็ได้จนหมดน้ำยา แก้อาการขัดเบา โดยใช้กลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดง ของผล หรือ กลีบรองดอกสีม่วงแดง นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง นำมาใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (ประมาณ 3 กรัม) ใช้ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) แล้วนำมาเฉพาะน้ำสีแดงใส วันละ 3 ครั้ง ดื่มติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป

ลักษณะทั่วไปกระเจี๊ยบแดง

ลำต้นกระเจี๊ยบแดงจัดเป็นไม้พุ่ม มีลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่ม สูงประมาณ 1-2.5 เมตร (แล้วแต่สายพันธุ์) ขนาดลำต้นประมาณ 1-2 ซม. แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ ลำต้น และกิ่งมีสีแดงม่วง เปลือกลำต้นบางเรียบ สามารถลอกเป็นเส้นได้รากกระเจี๊ยบเป็นระบบรากแก้ว และแตกรากแขนง รากอยู่ในระดับความลึกไม่มาก

           ใบกระเจี๊ยบแดง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามความสูงของกิ่ง มีลักษณะคล้ายปลายหอก ยาวประมาณ 7-13 ซม. มีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนปลายเว้าลึกคล้ายนิ้วมือ 3 นิ้ว หรือ เป็น 5 แฉก ระยะห่างระหว่างแฉก 0.5-3 ซม. ลึกประมาณ 3-8 ซม. มีเส้นใบ 3-5 เส้น เส้นใบด้านล่างนูนเด่น มีต่อมบริเวณโคนเส้นกลางใบ 1 ต่อม มีหูใบเป็นเส้นเรียวยาว 0.8-1.5 ซม. ใบที่มีอายุน้อย และใบใกล้ดอกจะมีขนาดเล็กรูปไข่ ใบกระเจี๊ยบแดงบางพันธุ์จะไม่มีแฉก มีลักษณะโคนใบมน และเรียวยาวจนถึงปลาย มีก้านใบมีแดงม่วงเหมือนสีของกิ่ง เส้นใบด้านล่างนูนชัด

           ดอกกระเจี๊ยบแดงออกเป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกตามซอกใบตั้งแต่โคนกิ่งถึงปลายกิ่ง ดอกมีก้านดอกสั้น สีแดงม่วง ดอกมีกลีบเลี้ยง ประมาณ 5 กลีบ หุ้มดอกบนสุด มีขนาดใหญ่ มีลักษณะอวบหนา มีสีแดงเข้มหุ้มดอก และกลีบรองดอก ที่เป็นกลีบด้านล่างสุด มีขนาดเล็ก 8-12 กลีบ มีสีแดงเข้ม กลีบทั้ง 2 ชนิดนี้ จะติดอยู่กับดอกจนถึงติดผล และผลแก่ ไม่มีร่วง ดอกเมื่อบานจะมีกลีบดอกสีเหลือง หรือ สีชมพูอ่อน หรือ สีขาวแกมชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร บริเวณกลางดอกมีสีเข้ม ส่วนของดอกมีสีจางลง เมื่อดอกแก่กลีบดอกจะร่วง ทำให้กลีบรองดอก และกลีบเลี้ยงเจริญขึ้นมาหุ้ม

           ผล ลักษณะของผลเป็นรูปรีมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมาก ประมาณ 30-35 เมล็ดต่อผล และผลยังมีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มอยู่ เราจะเรียกส่วนนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก (Calyx) หรือ ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบนั่นเอง

กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง

การขยายพันธุ์กระเจี๊ยบแดง

การขยายพันธุ์กระเจี๊ยบแดงสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ที่นิยมจะปลูกมากในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงปลายฝน ซึ่งอาจปลูกด้วยการหว่าน หรือ หยอดเมล็ดลงหลุม หรือการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อนย้อยลงแปลงปลูกก็ได้ แต่ทั่วไปนิยมการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดที่สุด เพราะสะดวก ประหยัดเวลา และลดต้นทุนได้มากกว่าซึ่งวิธีการปลูกมีดังนี้

          การเตรียมดินการปลูกในแปลงดินจำเป็นต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชก่อน 1-2 ครั้ง ไถแต่ละครั้งควรตากดิน 3-7 วัน ก่อนปลูก การไถครั้งสุดท้ายก่อนปลูก ควรหว่านโรยด้วยมูลสัตว์รองพื้น หรือ ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เล็กน้อย ทั้งนี้ อาจปลูกแบบยกร่อง หรือ ไม่ต้องยกร่องก็ได้ แต่หากปลูกในฤดูฝนควรไถยกร่อง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังต้นกระเจี๊ยบแดง และควรเว้นระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80-100 ซม. การปลูกการปลูกในแปลงอาจใช้วิธีการหว่านเมล็ด หรือ หยอดเมล็ด หากหว่านเมล็ดจะใช้ปลูกในแปลงที่ไม่ยกร่อง ส่วนการหยอดเมล็ดมักใช้กับแปลงที่ยกร่อง การหว่านเมล็ดจะต้องหว่านให้เมล็ดตกห่างกันในระยะประมาณ 80-100 ซม. ต่อต้น ส่วนการหยอดเมล็ดก็เช่นกัน ควรหยอดให้ห่างกันในแต่หลุมประมาณ 80-100 ซม. เช่นกัน

           การดูแลกระเจี๊ยบแดง เป็นพืชไร่ที่ไม่ต้องการน้ำมาก การปลูกกระเจี๊ยบแดงส่วนมากจะปลูกในช่วงฤดูฝน ดังนั้น การให้น้ำจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นพิเศษ ส่วนมากมักจะปล่อยให้เติบโตโดยอาศัยน้ำจากฝนเท่านั้น ในระยะ 1-3 เดือนแรก จำเป็นต้องมั่นกำจัดวัชพืชเป็นพิเศษ เพราะการปลูกในช่วงฤดูฝนหญ้าจะเติบโตเร็วมาก หากไม่กำจัดออกจะทำให้หญ้าขึ้นคลุม ต้นกระเจี๊ยบแดง ได้ ทั้งนี้ดอกกระเจี๊ยบแดงจะออกดอกไม่พร้อมกัน มีการทยอยออกตามความสูงของกิ่งจนถึงปลายกิ่ง ดังนั้น เมื่อกิ่งโตยาวเต็มที่ และดอกบริเวณปลายกิ่งแทงออกแล้วให้ทำการเด็ดยอดในแต่ละกิ่งทิ้ง เพื่อให้กระเจี๊ยบแดงเติบโตเฉพาะส่วนดอกได้ดี อนึ่งกระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่มีความทดต่อสภาพแห้งแล้วได้ดี และมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน ซึ่งกระเจี๊ยบแดง 8-10 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งแล้วจะได้กระเจี๊ยบแดงแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม


องค์ประกอบทางเคมีมีสาร

Anthocyanin เช่น delphlnidine, cyanidine และสารโพลีฟินนอล เช่น Protocatechic Acid รวมกรดอินทรีย์หลายตัว เช่น citric acid, mallic acid, tartaric acid, ascorbic acid และยังมีสาร flavonoids, gossypetin, polysaccharidesquercetin, esculetin, pectin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกระเจี๊ยบแดง

โครงสร้างกระเจี๊ยบแดง

           สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบแดง (กลีบดอก) ต่อ 100 กรัมนั้นมีดังนี้


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระเจี๊ยบแดง

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมัน และสารที่ทำให้ไม่เกิดฟองของกระเจี๊ยบ (ไม่ระบุขนาดที่ใช้) มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ส่วนสารสกัดเมทานอลจากดอก ความเข้มข้น 200 มค.ก./มล. ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ P. aeruginosa สายพันธุ์ที่ดื้อยา ไม่ว่าจะใช้สารสกัดเพียงอย่างเดียว หรือ ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ penicillin G, chloramphenicol, gentamycin, cephalexin, erythromycin, tetracycline และ nalidixic acid แต่จะยับยั้งเชื้อ P. aeruginosa สายพันธุ์มาตรฐาน เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ chloramphenicol, gentamycin, cephalexin, tetracycline และ nalidixic acid ทั้งนี้สารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยา methicillin (MRSA) เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ chloramphenicol, gentamycin และ tetracycline และยับยั้งเชื้อ S. aureus สายพันธุ์มาตรฐาน เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ penicillin G, chloramphenicol และ cephalexin

           ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ จากการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าน้ำมัน และสารสำคัญประเภท unsaponifiable matter ในดอก มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย Salmonella typhi, Staphylococcus albus และ Bacillus anthracis น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง สารสกัดด้วยน้ำร้อนจากกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Bacillus cereus (1-3) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในผู้ป่วย เมื่อให้ผู้ป่วย 32 คน รับประทานน้ำชงกระเจี๊ยบในขนาด 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 2 ลิตรต่อวัน พบว่าน้ำชงกระเจี๊ยบไม่มีผลฆ่าเชื้อแบคทีเรียในระบบขับถ่ายปัสสาวะในผู้ป่วย

           ฤทธิ์ขับปัสสาวะ เมื่อให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสกัดกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง พบว่ามีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จากการศึกษาในผู้ป่วย 50 คน ใช้กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงแห้งบดเป็นผง 3 กรัม ชงน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือ ประมาณ 300 มิลลิลิตร ให้ผู้ป่วยดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน ถึง 1 ปี พบว่าได้ผลดีในการขับปัสสาวะ

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดนิ่ว จากการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่าน้ำกระเจี๊ยบแดงไม่มีผลป้องกันการเกิดนิ่ว เมื่อทดสอบโดยให้อาสาสมัครสุขภาพดีอายุ 27-45 ปี จำนวน 6 คน ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงความเข้มข้นร้อยละ 4 ติดต่อกัน 4 ครั้งๆ ละ 250 มิลลิลิตร เป็นเวลา 1 วัน แล้วทำการตรวจปัสสาวะหลังจากการดื่มครั้งสุดท้าย 24 ชั่วโมง พบว่าน้ำกระเจี๊ยบไม่มีผลลดค่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งใช้ประเมินการเกิดนิ่ว รวมทั้งเมื่อศึกษาโดยให้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงความเข้มข้นร้อยละ 1.2 ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็ไม่พบผลป้องกันการเกิดนิ่วเช่นกัน เมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดี 36 คน ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 16 กรัม (แบ่งดื่มวันละ 4 ครั้ง) นาน 7 วัน (ระยะที่ 1) แล้วให้พัก 2 สัปดาห์ จากนั้นดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 24 กรัม (แบ่งดื่มวันละ 4 ครั้ง) นาน 7 วัน (ระยะที่ 2) แล้วทำการตรวจปัสสาวะพบว่า การดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาดวันละ 16 กรัม จะมีผลทำให้การขับออกของสารต่างๆออกทางปัสสาวะลดลงมากกว่าขนาดวันละ 24 กรัม การกินกระเจี๊ยบแดงจึงไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันการเกิดนิ่วในไต และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตอีกด้วย ดังนั้นผลจากการกินกระเจี๊ยบแดงในระยะยาวและในขนาดสูงกว่า 24 กรัม/วัน ยังต้องทำการศึกษาต่อไป

            ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งทำในผู้ป่วยโรคนิ่วหรือโรคทางเดินปัสสาวะ และผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อให้ดื่มน้ำกระเจี๊ยบ 3 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมีปัสสาวะใสขึ้น และปัสสาวะมีความเป็นกรด จึงช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย

           ฤทธิ์รักษาอาการอุจจาระร่วง เมื่อฉีดสารสกัดดอกด้วยเมทานอล เข้าทางช่องท้องของหนูขาวทั้ง 2 เพศ พบว่าขนาดที่มีผลทำให้รักษาอาการอุจจาระร่วงได้ครึ่งหนึ่ง (ED50) มีค่าเท่ากับ 350 ไมโครโมล/ตัว

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ สารสกัดกลุ่ม flavonoids และกลุ่ม polysaccharides ในกระเจี๊ยบแดง สามารถยับยั้งการอักเสบที่อุ้งเท้าของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยเชื้อยีสต์ แต่ไม่มีผลลดการอักเสบหากเหนี่ยวนำด้วยสาร carrageenan ส่วนสาร gossypetin จากดอกกระเจี๊ยบ ขนาด 100 มก./กก. (ไม่ระบุวิธีการให้) สามารถลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้อักเสบด้วย carragenan ได้ 52.05% เปรียบเทียบกับ Ketorolac tromethamine ซึ่งให้ผลลดการอักเสบ 56.73% นอกจากนี้ยังมีผลลดการอักเสบในหนูขาว albino เพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยการฝังก้อนสำลีไว้ภายในช่องท้องอีกด้วย สำหรับการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วย 50 คน ที่เป็นโรคนิ่วที่ไต โดยให้รับประทานยาต้มผลกระเจี๊ยบขนาด 3 ก./คน โดยรับประทานวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน และให้รับประทานไปจนถึง 1 ปี พบว่าสามารถลดการอักเสบของนิ่วที่ไตได้

           ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ และต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ สารสกัดกลีบดอกกระเจี๊ยบด้วยน้ำ ความเข้มข้น 0.4 มก./มล. ทดสอบในกล้ามเนื้อตรงส่วนทวารหนัก (Rectus abdominus) ของกบที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีการหดตัวด้วย acetylcholine พบว่าสามารถต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนทวารหนักได้ โดยทำการเปรียบเทียบกับยา tubocurarine และสารสกัดชนิดเดียวกัน ความเข้มข้น 2% ทำการทดสอบกับลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของกระต่าย พบว่ามีผลทำให้ลำไส้เล็กคลายตัวได้ นอกจากนี้สารสกัดด้วยเมทานอลเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาวทั้ง 2 เพศ พบว่าความเข้มข้นที่มีผลทำให้ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูขาวเคลื่อนไหวน้อยลงครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 250 ไมโครโมล ในขณะที่ความเข้มข้นที่มีผลยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 350 ไมโครโมล และสารสกัดดอกกระเจี๊ยบด้วยเอทิลอะซิเตด เมื่อทำการทดสอบกับลำไส้ส่วนปลาย (ileum) ของหนูถีบจักรที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งด้วยกระแสไฟฟ้า พบว่าความเข้มข้นที่มีผลยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 412.5 ไมโครโมล


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระเจี๊ยบแดง

การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัดกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบด้วยน้ำให้กับกระต่าย ทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 129.1 ก./กก. และสารสกัดชนิดเดียวกัน เมื่อป้อนให้กับหนูถีบจักร และหนูขาว ในขนาด 4 มก./กก. ไม่ทำให้เกิดพิษต่อหนู เมื่อป้อนชาชงกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบให้กับหนูขาว พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 5 ก./กก. และเมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากดอกเข้าช่องท้องหนูถีบจักรทั้งสองเพศ มีค่า LD50 มากกว่า 5,000 มก./กก.

           พิษต่อเซลล์สารสกัดน้ำ ไดคลอโรมีเทน และเอทานอลของกระเจี๊ยบแดง เมื่อทำการทดสอบความเป็นพิษด้วยวิธี brine shrimp bioassays พบว่า LD50 มีค่าเท่ากับ 9.59, 24.51 และ 4.75 มคก./มล. ตามลำดับ สารสกัดดอกกระเจี๊ยบด้วย 70% อัลกอฮอล์ เมื่อทำการทดสอบต่อเซลล์มะเร็งที่ช่องท้อง (CA-Ehrlich-Ascites) พบว่ามีพิษต่อเซลล์มะเร็ง สาร protocatechuic acid (PCA) จากดอกกระเจี๊ยบ จะยับยั้งเซลล์ human promyelocytic leukemia HL-60 โดยในขนาด 2 มิลลิโมล จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ internucleosomal DNA fragmentation และเซลล์ตาย หลังจาก 9 ชม.ที่ได้รับสาร PCA ส่วนสารสกัดดอกกระเจี๊ยบด้วยน้ำ ความเข้มข้น 10% พบว่ามีพิษต่อเซลล์ Hela อย่างอ่อน สารสกัดดอกกระเจี๊ยบด้วย 95% เอทานอล ความเข้มข้น 250 มคก./มล. ไม่มีพิษต่อเซลล์ Hela ยาต้มจากกระเจี๊ยบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ความเข้มข้น 2,000 มคก./มล. ให้ผลเป็นพิษต่อเซลล์ HEPG2/C3A, PLC/PRF/5, HA22T/VGH, CA-SK-HEP-1 และ hepatoma cell line HEP3B ไม่ชัดเจน

           ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำจากกลีบเลี้ยงเข้าช่องท้องหนูถีบจักรทั้งสองเพศขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์สารสกัดผลกระเจี๊ยบ ด้วยความเข้มข้น 50 มคก./จานเพาะเลี้ยงเชื้อ และน้ำมันจากเมล็ด ทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 แต่สารสกัดกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบด้วยน้ำ ทำการทดลองในจานเพาะเลี้ยงเชื้อในความเข้มข้น 1-5 มก./จานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีผลต่อการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ S. typhimurium TA98 และ TA100 และเมื่อนำสารสกัดกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบด้วยเอทานอล 80% (100 ก./ล.) ซึ่งทำให้แห้งด้วยวิธีแช่แข็งมาทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ (ขนาด 25 มก./จานเพาะเชื้อ) และทดสอบฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (ขนาด 12.5 มก./จานเพาะเชื้อ) พบว่าสารสกัดกลีบเลี้ยงดอกกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ แต่ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ S. typhimurium TA98 และ TA100 ส่วนชาชงใบกระเจี๊ยบ ความเข้มข้น 100 มคล./แผ่น ทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อกับเชื้อ S. typhimurium TA98, TA 100 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ด้วย ethylmethane sulfonate และ 2-amino-anthracene ตามลำดับ พบว่าสามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อ S. typhimurium TA98 และ TA100 ได้

           พิษต่อตับ ส่วนสกัดน้ำที่ได้จากสารสกัดอัลกอฮอล์ : น้ำจากดอกกระเจี๊ยบ ป้อนให้หนูขาว (Wistar albino rat) 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ไม่ได้รับส่วนสกัด กลุ่มที่ 2, 3, 4, 5 และ 6 ได้รับส่วนสกัดจำนวน 1, 3, 5, 10 และ 15 ครั้ง ครั้งละ 250 มก./กก. ตามลำดับ พบว่าหนูทุกกลุ่มที่ได้รับส่วนสกัดจะมีค่า aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALD) สูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อระดับของ alkaline phosphatase และ lactate dehydrogenase (LDH) หนูที่ได้รับส่วนสกัด 15 ครั้ง จะมีระดับอัลบูมินในเลือดสูงขึ้น ลักษณะเนื้อเยื่อของตับ และหัวใจในหนูทุกกลุ่มไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นในการกินส่วนสกัดนี้ในขนาดสูงและในระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การใช้กระเจี๊ยบแดง อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
  2. ในเพศชาย ควรหลีกเลี่ยงการกินกระเจี๊ยบแดงติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากผลการศึกษา ในสัตว์ทดลองพบว่า ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ของอัณฑะและตัวอสุจิได้ส่วนในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันเพราะมีผลการศึกษาในหนูทดลองพบว่าอาจทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง
  3. จากการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าหากรับประทานกระเจี๊ยบแดงในขนาดที่สูงและเป็นเวลานานอาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้
  4. ผู้ที่มีภาวการณ์ทำงานของไตบกพร่อง ไม่ควรรับประทานกระเจี๊ยบแด หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระเจี๊ยบแดง

เอกสารอ้างอิง กระเจี๊ยบแดง
  1. กระเจี๊ยบแดง. สมุนไพรที่มีการใช้ในสาธารณสุข. สำนังานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. วีระสิงห์ เมื่องมั่น, กฤษฎา รัตนโอฬาร. การใช้สมุนไพรในโรคระบบปัสสาวะ. Thai J Urology 1984;8:7.
  3. กระเจี๊ยบแดง.สมุนไพร ที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. Dafallah AA, Al-Mustafa Z. Investigation of the anti-inflammatory activity of Acacia nilotica and Hibiscus sabdariffa. The American Journal of Chinese Medicine 1996;24(3-4):263-9.
  5. มยุรี (พันธุมโกมล) เนิดน้อย, วีระสิงห์ เมืองมั่น. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของกระเจี๊ยบแดง และโปแทสเซียมซิเตรทต่อการลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดนิ่วทางเดินปัสสาวะ. รามาธิบดีเวชสาร 2533;13(3):177-86.
  6. Mounnissamy VM, Gopal V, Gunasegaran R, Saraswathy A. Antiinflammatory activity of gossypetin isolated from Hibiscus sabdariffa. Indian Journal of Heterocyclic Chemisrtry 2002;12(1):85-6.
  7. กระเจี๊ยบแดง สรรพคุณ และการปลูกกระเจี๊ยบแดง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อเกษตรกรไทย (ออนไลน์ )เข้าถึงได้จาก http://puechkasrt.com
  8. Kirdpon S, Na Nakorn S, Kirdpon W. Changes in urinary chemical composition in healthy volunteers after consuming roselle (Hibiscus sabdariffa Linn.) juice. J Med Assoc Thai 1994;77(6):314-21.
  9. Akindahunsi AA, Olaleye MT. Toxicological investigation of aqueous-methanolic extract of the calyces of Hibiscus sabdariffa L. J Ethnopharmacol 2003;89(1):161-4.
  10. Anon. Verasing mungumu (1982). The use of medicinal herbs for the treatment of kidney stone in the urinary system. Bangkok Thailand 1982:117.
  11. กระเจี๊ยบแดง, พุดตาน. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=viewpaye&pid=1
  12. Hiyaacheeranunt S, Gaerunpongse W, Soonthrapha S, Wichianjaroen K. The effect of roselle in reducing of lower urinary tract infection. Seminar on the Development of Medicinal Plants for Topical Disease, Feb 26-27, Mahidol University, Bangkok, Thailand, 1987.
  13. Muangmum W, Ratanaolarn K. The usage of roselle bulbs as urinary acidifying agent. Annual Research Abstracts, Mahidol Univ, Bangkok, 1984:108.
  14. Duh PD, Yeh GC. Antioxidative activity of three herbal water extracts. Food Chem 1997;60(4):639-45.
  15. Aburjai T, Darwish RM, Al-Khalil S, Mahafzah A, Al-abbadi A. Screening of antibiotic resistant inhibitors from plant materials against two different strains of Pseudomonas aeruginosa. J Ethnopharmacol 2001;76:39-44.
  16. Leclerc H. Sida sabdariffa (Hibiscus sabdariffa L). Presse Med 1938;46:1060.
  17. Darwish RM, Aburjai T, Al-Khalil, Mahafzah A. Screening of antibiotic resistance inhibitors from local plant materials against two different strains of Staphylococcus aureus.  J Ethnopharmacol 2002;79:359-64.
  18. Chewonarin T, Kinouchi T, Kataoka K, et al. Effects of Roselle (Hibiscus sabdariffa Linn.) a Thai medicinal plant, on the mutagenicity of various known mutagens in Salmonella typhimurium and on formation of aberrant crypt foci induced by the colon carcinogens azoxymethane and 2-amino-1-methyl-6-phenylimidazo[4,5-b]pyridine in F344 Rats.  Food Chem Toxicol 1999;37:591-601.
  19. Serrano C, Ortega T, Villar AM. Biological activity of traditional medicines from Spain and Guatemala. Artemia salina Bioassay: a revision. Phytother Res 1996;10:S118-20.
  20. Tseng TH, Kao TW, Chu CY, Chou FP, Lin WL, Wang CJ. Induction of apoptosis by Hibiscus protocatechuic acid in human leukemia cells via reduction of retinoblastoma (RB) phosphorylation and Bcl-2 expression.  Biochem Pharmacol 2000;60(3):307-15.
  21. Lin LT, Liu LT, Chiang LC, Lin CC.  In vitro antihepatoma activity of fifteen natural medicines from Canada. Phytother Res 2002;16(5);440-4.
  22. May G, Willuhn G. Antiviral activity of aqueous extracts from medicinal plants in tissue cultures. Arzneim-Forsch 1978;28(1):1-7.
  23. El-Merzabani MM, El-Aaser AA, Attia MA, El-Duweini AK, Ghazal AM. Screening system for Egyptian plants with potential anti-tumor activity. Planta Med 1979;36:150-5.
  24. Badria FA. Is man helpless against cancer? An environmental approach: antimutagenic agents from Egyptian food and medicinal preparations. Cancer Lett 1994;84(1):1-5.
  25. Salam M, Bongmo B, Kamany A, Vierling W, Wagner H. Possible involvement of the extracts of Hibiscus  sabdariffa L. (Malvaceae) in calcium channel mediated smooth and papillary muscles relaxant properties. Phytomedicine 2000;7(2):127.
  26.  Ali MB, Salih WM, Mohamed AH, Homeida AM. Investigation of the antispasmodic potential of Hibiscus sabdariffa calyces. J Ethnopharmacol 1991;31:249-57.
  27. Abad MJ, Bermejo P, Villar A, Palomino SS, Carrasco L. Antiviral activity of medicinal plant extracts. Phytother Res 1997;11(3):198-202.
  28. Ali MB, Mohamed AH, Salih WM, Homeida AM. Effect on an aqueous extract of Hibiscus sabdariffa calyces on the gastrointestinal tract. Fitoterapia 1991;62(6):475-9.