งาขาว
งาขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ
ชื่อสมุนไพร งาขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นีโซไอยู่มั้ว (จีน), ซะแปะ, ซะเจี่ย (เมื่อน)
ชื่อสามัญ Sesame seeds (white)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesamum orientale Linn.
วงศ์ PEDALIACEAE
ถิ่นกำเนิดงาขาว
งาขาว มีถิ่นกำเนิดเช่นเดียวกันกับ งาดำ คือ งาขาวเป็นไม้ล้มลุกที่มีมาแต่โบราณ มีแหล่งกำเนิดในแถบประเทศเอธิโอเปีย ต่อมาก็ถูกนำเข้าไปยังอินเดีย จีน รวมถึงแถบแอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้ ในราวประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริศตกาล และในศตวรรษที่ 17 ได้ถูกนำเข้าไปในทวีปอเมริกาส่วนในประเทศไทย งา ก็เป็นที่รู้จักกันมาช้านาน ซึ่งงาขาว นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางยา อาหาร และเครื่องสำอาง
ประโยชน์และสรรพคุณงาขาว
- ช่วยบำรุงกระดูก
- ช่วยบำรุงฟันฟัน
- ช่วยคลายกล้ามเนื้อ
- ช่วยบำรุงเส้นผม
- ช่วยลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
- ช่วยลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับหัวใจ
- ช่วยให้หลับสบาย
- ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด
- บรรเทาอาการปวดข้ออักเสบรูมาตอยด์
- บำรุงหัวใจ
- ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
- ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
- แก้ปัสสาวะ หรือ อุจจาระขัด
- ช่วยความดันโลหิตสูง
- บรรเทาอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ
- ช่วยบำรุงสมอง
- แก้เจ็บคอ
- แก้คัดจมูก
- แก้แพ้อากาศ
- แก้ปวดประจำเดือน
- แก้ปวดศีรษะ
นอกจากนี้เมล็ดงาขาว ยังประกอบไปด้วย เกลือแร่ 4.1-6.5 % ที่สำคัญคือ ไอโอดีน เหล็ก ซีลีเนียม แคลเซียม สังกะสี และฟอสฟอรัส โดยจะมีแคลเซียม มากกว่าพืชทั่วไปประมาณ 20 เท่าส่วนสรรพคุณทางยาของงาขาวนั้น ตำรายาไทยระบุว่า งาขาวมีรสฝาด หวาน ขม ทำให้น้ำดี กำเริบ น้ำมันใช้หุงเป็นน้ำมันใส่บาดแผลได้ดี การหุงน้ำมันต้องใช้งาสดตำคั้นเอาน้ำ โดยใช้น้ำคั้นใบ และเถาตำลึง บอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย ไพล เอาน้ำมาอย่างละ 1 ถ้วย แล้วใส่น้ำมันงาลงไป 1 ถ้วย ตั้งไฟเคี่ยวไปจนเหลือ 1 ถ้วย เอาน้ำมันที่ได้ปรุงด้วยสีเสียดเทศ และไทยสิ่งละนิดหน่อย หลอมตะกั่วนมให้ละลายเทลงในน้ำมัน แล้วเอาขึ้นหลอมอีกจนได้ 3 ครั้ง ทิ้งตะกั่วไว้ในนั้น ใช้น้ำมันใส่แผลจะช่วยสมานแผลได้ดีมาก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
งานขาวเช่นเดียวกับงาดำ คือ ในการนำงาขาว มาใช้ประโยชน์ส่วนมากจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมความงามมากกว่าด้านการรักษาโรคแต่ก็มีการนำไปใช้ตามตำรายาไทยอยู่บ้าง เช่น
- แก้ปัสสาวะ หรือ อุจจาระขัด นำเมล็ดงา 20-30 กรัม หรือ 1-2 ช้อน ต้มแล้วนำน้ำมาดื่มในขณะท้องว่าง
- ความดันโลหิตสูง เมล็ดงาขาว น้ำส้ม ซีอิ้ว และน้ำผึ้งอย่างละ 30 กรัม ผสมกับไข่ขาว 1 ฟอง คนให้เข้ากันดี ต้มด้วยไฟอ่อนๆ จนสุก กินวันละ 3 ครั้งเป็นประจำ
- บรรเทาอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ ให้นำเมล็ดงา 3-5 ช้อน ตำบดให้ละเอียด ก่อนผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อน รับประทาน หรือ นำผงเมล็ดงาชงน้ำร้อน และเดิมน้ำตาลดื่ม
- บำรุงสมอง ตำราอายุรเวทให้ใช้งาผง 1 ส่วน ผงมะขามป้อม 1 ส่วน และน้ำผึ้ง 1-2 ช้อนชา เคล้าให้เข้ากัน ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน
- ยาอายุวัฒนะ (ญี่ปุ่น) ใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง ชงด้วยน้ำร้อน เติมน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ
- ขับพยาธิเข็มหมุด เมล็ดงาขาว 50 กรัม เติมน้ำต้นจนได้น้ำข้นๆ กรองเอาส่วนน้ำมาปรุงด้วยน้ำตาลทรายแดง ดื่มขณะท้องว่างครั้งเดียวให้หมด
- เจ็บคอ คัดจมูก แพ้อากาศ ปวดประจำเดือน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ กินงาบด 1 ข้อนชา ก่อนนอน
ลักษณะทั่วไปของงาขาว
งาขาว เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรงจรดยอด สูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นไม่แตกกิ่งแขนง แต่บางพันธุ์อาจมีการแตกกิ่งแขนง ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ เป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นๆ ปกคลุมหนา ลำต้นมีร่องยาวตามความสูงของลำต้น เปลือกลำต้นบาง สีเขียวเข้มหรือมีสีอมม่วง สามารถดึงลอกเป็นเส้นได้
ใบงาขาว ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยก้านใบทรงกลมสีเขียวหรือสีม่วงแดง ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปหอกยาว กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร โคนใบมน เป็นฐานกว้าง และค่อยเรียวลงจนปลายใบแหลม แผ่นใบมีสีเขียวสด มีร่องตามเส้นแขนงใบ ขอบใบเรียบหรือเป็นหยัก
ดอกงาขาว เป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นกลุ่มบริเวณซอกใบ 1-3 ดอก ประกอบด้วยก้านดอกสั้น ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นกลีบรองดอกสีเขียว จำนวน 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันหุ้มฐานดอก ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีลักษณะเป็นกรวยยาว กลีบดอกอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่ หรือ บานจะมีสีขาว ยาวเป็นทรงกรวย ประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปลายกลีบห้อยลงดิน และแยกออกเป็น 2 กลีบ คือ กลีบล่างที่ยาวกว่า และกลีบบนที่มีปลายหยักเป็น 3 แฉก ถัดมาด้านในดอกจะมีสีกลีบดอกด้านในเป็นสีเหลือง มีเกสรตัวผู้ 4 อัน แบ่งเป็น 2 คู่ แต่งละคู่ยาวไม่เท่ากันส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายก้านเกสรแยกออกเป็น 2-4 แฉก ทั้งนี้ ดอกงาขาวจะเริ่มบานในช่วงเช้า และกลีบดอกจะร่วงลงดินในช่วงเย็น
ผลของงาขาว เรียกว่า ฝัก ฝักอ่อนมีลักษณะทรงกระบอกค่อนข้างกลม ปลายฝักเป็นจะงอยแหลม เมื่อฝักใหญ่จะแบ่งเป็นร่องๆตามความยาวของฝัก ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เปลือกฝักหนา มีสีเขียว มีขนปกคลุม เมื่อฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา และปริแตก ทำให้เมล็ดร่วงลงดิน ด้านในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กสีขาวจำนวนมาก เรียงซ้อนแยกกันในแต่ละร่องพู เมล็ดมีรูปไข่ เปลือกเมล็ดบางมีสีขาว มีกลิ่นหอม ใน 1 ฝัก จะมีเมล็ดประมาณ 70-100 เมล็ด
การขยายพันธุ์งาขาว
งาขาว ที่ปลูกกันทั่วไปมี 6 พันธุ์ ได้แก่
- พันธุ์เมืองเลย ปลูกมากที่จังหวัดเลย และบริเวณชายแดนไทย-ลาว และช่วงจังหวัดเลยถึงอุตรดิตถ์
- พันธุ์เชียงใหม่ ปลูกมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
- พันธุ์ชัยบาดาล หรือ สมอทอด ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และลพบุรี แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้อยมาก
- พันธุ์ร้อยเอ็ด.1
- พันธุ์มข.1
- พันธุ์มหาสารคาม 60 มีเขตส่งเสริมการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และกาญจนบุรี
งาเป็นพืชเขตร้อนชอบอาการร้อน และแดดจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส การงอกจะช้าลง หรือ อาจจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จะทำให้การผสมเกสรติดยากการสร้างฝักเป็นไปได้ช้า
ฤดูปลูกงาขาว
- ต้นฤดูฝน เริ่มปลูกตั้งแต่กุมภาพันธ์-เมษายน และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือน เมษายน-มิถุนายน ส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่นาก่อนการปลูกข้าว มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาต้นฤดูฝนได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำพูน น่าน และสุราษฏร์ธานี
- ปลายฤดูฝน เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพพื้นที่ไร่ หรือ ที่ดอน ปลูกหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาปลายฤดูฝนที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และเลย
ส่วนการปลูกงาขาวนั้นสามารถทำได้ดังนี้
- การเตรียมดิน การเตรียมดินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกงาเนื่องจากเมล็ดงามีขนาดเล็ก ควรมีการเตรียมดินให้ร่วนซุย จะช่วยให้งางอกได้ดี และมีความสม่ำเสมอ การไถพรวนจะมาก หรือ น้อยครั้งขึ้นอยู่กับโครงสร้าง และชนิดของเนื้อดิน ถ้าเป็นดินร่วนทรายจะไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วนโดยไถ 2-3 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียดจะให้ผลผลิตสูงกว่าไถเพียงครั้งเดียว
- วิธีปลูก การปลูกงาขาว มีอยู่ 2 วิธี คือ การใส่ปุ๋ย ดินทรายหรือดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ ดินร่วมปนดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่การใส่ปุ๋ย ดินทราย หรือ ดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ ดินร่วมปนดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่
- การปลูกแบบหว่าน เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกงาด้วยวิธีนี้ โดยหลังจากเตรียมดินดีแล้ว จะใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอ อัตราเมล็ดพันธุ์ 1-2 กิโลกรัม/ไร่
- การปลูกแบบโรยเป็นแถว ในการทำร่องสำหรับโรยเมล็ด ส่วนใหญ่ใช้คราดกาแถว ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร อัตราเมล็ดพันธุ์ 2-3 กิโลกรัม/ไร่ การปลูกเป็นแถวจะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบหว่าน
- การดูแลรักษาการปลูกงาขาวไม่ต้องการดูแลมากนัก หลังการหว่านเมล็ดแล้วเกษตรกรจะปล่อยให้งาเติบโตตามธรรมชาติ แต่มั่นตรวจสอบแปลงเป็นระยะ หากพบโรค หรือ แมลงระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดศัตรูพืช ส่วนการปลูกในฤดูแล้ง หรือ พื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งอาจมีการให้น้ำเป็นระยะ
- การเก็บเกี่ยวผลผลิตงาขาวมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70-120 วัน หลังปลูก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และเริ่มเก็บฝักได้ในระยะฝักแก่สีเหลือง หรือ น้ำตาลอมดำ ใบมีสีเหลือง และร่วงหล่นใกล้หมด และเก็บในระยะที่เปลือกฝักยังไม่ปริแตก การเก็บเกี่ยวงาขาวจะใช้วิธีถอนทั้งต้น ก่อนเด็ดฝักแยกออกจากลำต้น แล้วตีให้ฝักแตกแยกเมล็ดงาออก ซึ่งอาจใช้ไม้ตีหรือใช้เครื่องตีแยกฝัก
รูปภาพองค์ประกอบเทเคมีของงาขาว
องค์ประกอบทางเคมี
เมล็ดงาขาวประกอบด้วยน้ำมัน 44-58% โปรตีน 18-25% ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่มีคุณค่าทางโภชนาการเช่นเดียวกับถั่วเหลือง คาร์โบไฮเดรตประมาณ 13.5% และเถ้า 5% (Borchani et al.,2010) น้ำมันงาประมาณ 50% เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 35% และอีก 44% เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ขณะที่ 45% ของกากงาประกอบด้วยโปรตีน 20% (Ghandi, 2009) ส่วนองค์ประกอบทางเคมีที่มีในเมล็ดงาขาวนั้นก็มีเช่นเดียวกับงาดำ ได้แก่ กรดไขมันเช่น oleic acid, linoleic acid, palmitic acid, stearic acid, สารกลุ่ม lignan ชื่อ sesamol, d-sesamin, sesamolin สารอื่นๆ เช่น sitosterol ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของงาขาวมีดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการงาขาว (งาขาวดิบ 100 กรัม)
งาขาวดิบ | |||
น้ำ | 3.9 | กรัม | |
พลังงาน | 358 | กิโลแคลอรี่ | |
โปรตีน | 20.9 | กรัม | |
ไขมัน | 57.1 | กรัม | |
คาร์โบไฮเดรต | 15.0 | กรัม | |
ใยอาหาร | 4.6 | กรัม | |
เถ้า | 3.1 | กรัม | |
แคลเซียม | 86 | มิลลิกรัม | |
ธาตุเหล็ก | 7.4 | มิลลิกรัม | |
ฟอสฟอรัส | 650 | มิลลิกรัม | |
เบต้าแคโรทีน | 0 | มิลลิกรัม | |
ไทอะมีน | 1.08 | มิลลิกรัม | |
ไรโบฟลาลีน | 0.11 | มิลลิกรัม | |
ไนอะซีน | 3.3 | มิลลิกรัม |
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของงาขาว
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของงาขาว นั้นส่วนมากเป็นการศึกษาควบรวมไปกับงาดำ (ซึ่งเป็นการศึกษารวมกันทั้งงาขาว งาดำ) ดังนั้นผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของงาขาวจึงเหมือนกับงาดำ (ดูการศึกษาทางเภสัชของงาดำ) แต่ผู้เขียนสามารถรวบรวมข้อมูลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของงามาเพิ่มเติมได้อีก 2 ฉบับ คือ
การศึกษาฤทธิ์ลดความเป็นพิษจากนิโคตินของสารลิกแนนจากงาในหนูแรทผิวเผือกเพศผู้ที่ได้รับพิษจากนิโคติน โดยการฉีดนิโคตินครั้งละ 3.5 มก./กก.น้ำหนักตัว เข้าใต้ผิวหนัง ติดต่อกัน 15 วัน ร่วมกับการป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของสารลิกแนนจากงา ขนาด 0.1 หรือ 0.2 ก.ต่ออาหาร 100 ก. ผลการศึกษาพบว่าสารลิกแนนจากงาช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ Low Density Lipoprotein cholesterol และ Very Low Density Lipoprotein cholesterol ช่วยเพิ่มปริมาณ High Density Lipoprotein cholesterol และเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงลดความเข้มข้นของผลผลิตจากการเกิดการเพอรอกซิเดชั่นของไขมันที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากพิษของนิโคติน นอกจากนี้ยังพบว่าสารลิกแนนจากงาช่วยเพิ่มปริมาณ DNA และป้องกันไม่ให้ DNA ในเนื้อเยื่อตับถูกทำลายด้วยนิโคตินได้อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าสารลิกแนนจากงาสามารถบรรเทาความเป็นพิษของนิโคตินต่อการเกิดออกซิเดชั่นและความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมในร่างกายได้และการศึกษาทางคลินิกเรื่องฤทธิ์ของน้ำมันงาร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงผู้ป่วยชาย และหญิงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระดับน้อยถึงปานกลาง คือ มีค่าความดันโลหิตตัวบน ≥ 140 มม. ปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่าง ≥ 90 มม.ปรอท อายุ 35-60 ปี จำนวน 50 คน ได้รับยาเพื่อการรักษาเป็นยาขับปัสสาวะ hydrochlorothiazide หรือ β-blocker atenolol มานาน 1 ปีก่อนเข้าร่วมการศึกษา และยังคงได้รับยานี้ตามปกติตลอดการศึกษานี้ ผู้ป่วยจะได้รับน้ำมันงาเพื่อใช้ในการประกอบอาหารในครอบครัว 4-5 กก. ต่อสมาชิกในครอบครัว 4 คน ต่อเดือน (ประมาณ 35 ก./วัน/คน) และต้องใช้เฉพาะน้ำมันงาเพียงชนิดเดียวตลอด 45 วัน จากนั้นหยุดกินน้ำมันงา ให้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันที่เคยใช้อยู่เดิมอีก 45 วัน ทำการตรวจร่างกาย ความดันโลหิต น้ำหนักตัว, Body mass index (BMI), ระดับไขมัน อิเลคโตรไลท์ และเอนไซม์ในเลือด ก่อนการศึกษา หลังจากกินน้ำมันงา 45 วัน และหลังจากหยุดกินน้ำมันงา 45 วัน พบว่า การใช้น้ำมันงาแทนที่น้ำมันชนิดอื่นในการประกอบอาหารในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ทำให้ค่าความดันโลหิตตัวบน และตัวล่างกลับลงสู่ระดับปกติ น้ำหนักร่างกาย และ BMI ลดลง แต่หลังจากหยุดใช้น้ำมันงานค่าดังกล่าวกลับสูงขึ้น ระดับคอเลสเตอรอล, high density lipoprotein cholesterol และ low density lipoprotein cholesterol ในเลือดไม่แตกต่างกันเมื่อวัดผลทั้ง 3 ช่วงเวลาที่ศึกษา ยกเว้นระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดต่ำลงเมื่อใช้น้ำมันงา และกลับสูงขึ้นเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา ระดับโซเดียมในเลือดลดลงเมื่อใช้น้ำมันงา และกลับสูงขึ้นเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา ระดับโพแทสเซียม ในเลือดสูงขึ้นเมื่อใช้น้ำมันงาและลดลงสู่ค่าปกติเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา การเกิด lipid peroxidation ลดลงเมื่อใช้น้ำมันงา และค่ายังคงที่หลังจากที่หยุดใช้น้ำมันงาแล้ว ระดับเอนไซม์ catalase และ superoxide dismutase ในเลือดสูงขึ้น และ glutathione peroxidase ในเลือดลดลง เมื่อใช้น้ำมันงา และค่ายังคงที่หลังจากหยุดใช้น้ำมันงาแล้ว ระดับวิตามินซี วิตามินอี เบต้า-คาโรทีน และ reduced glutathione สูงขึ้นเมื่อใช้น้ำมันงา และลดลงหลังจากหยุดใช้น้ำมันงา จากการศึกษาแสดงว่าน้ำมันงาสามารถช่วยลดความดันโลหิต ลดการเกิด lipid peroxidation และเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร่วมกับยาขับปัสสาวะได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของงาขาว
การศึกษาทางพิษวิทยาของงาขาว เป็นการศึกษาควบรวมไปกับงาดำ (ซึ่งเป็นการศึกษารวมกันทั้งงาขาว งาดำ) ดังนั้นผลการศึกษาทางพิษวิทยาของงาขาวจึงเหมือนกับงาดำ (ดูการศึกษาทางพิษวิทยาของ งาดำ)
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการรับประทานงาขาว ในบางรายอาจมีอาการแพ้ได้ เนื่องจากมีสาร Sesamol ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ลมพิษ คันจมูก หายใจลำบาก เปลือกตา และริมฝีปากบวมแดง
- การรับประทานงาขาวอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไปได้ในผุ้ทีมีความดันโลหิตต่ำ
- หากรับประทานงาขาว มากจนเกินไปอาจทำให้เกิดการระบายท้องมากเกินไปจนนำไปสู่อาการท้องร่วงได้
- ตำราจีน ห้ามใช้งานในผู้ที่ท้องเสียเรื้อรัง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีระดูขาว หรือ ถ้าจะใช้ควรใช้ในขนาดน้อย การใช้เกิน 4 ช้อนโต๊ะต่อวัน อาจทำให้ท้องร่วงได้
- ตำราอายุรเวท ระบุว่า งา เป็นยาขับประจำเดือน การใช้ในสตรีมีครรภ์ระยะแรก (1-3 เดือน) ในขนาดที่มากเกินไป อาจทำให้แท้งได้
เอกสารอ้างอิง งาขาว
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และ วิเชียร จีรวงส์ 2542. คำอธิบาย ตำราพระโอสถ พรนารายณ์ สำนักพิมพ์ อมรินทร์ กุมภาพันธ์ 2548
- มนตรา ศรีษะแย้ม, นาถธิดา วีระปรียากูร, พนมพร ศรีบัวรินทร์. ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นในหลอดทดลองของเมล็ด งาขาว งาดำ และ แดง. วารสารสารเภสัชศาสตร์อีสาน. ปีที่ 10. ฉบับที่ 2.พฤษภาคม-สิงหาคม 2557.หน้า 136-146
- ปราณี รัตนสุวรรณ. งา..ธัญพืชเมล็ดจิ๋วดินทรงคุณค่า. ภาควิชาเภสัชงาขาวและเภสัชพฤกษศาสตร์. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- กรมวิชาการเกษตร. 2549. รายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย และพัฒนาด้านพืชและเทคโนโลยีการเกษตร รอบ 12 เดือน.วันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2549.
- งาขาว สรรพคุณ และการปลูกงาขาว.พืชเกษตรดอทคอม.เว็บเพื่อเกษตรกรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
- นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ) 2539.สมุนไพร พื้นบ้าน(1) คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2544
- Bowden, Jonny. The 150 Healthiest foods on earth: The surprising, unbiased truth about what you should eat and why (PAP/COM). Fair Winds Pr,2007:309-310
- สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ปีที่ 2 ฉบับที่ 23 ประจำเดือน กันยายน 2545 บริษัท สำนักพิมพ์ยูทิไลซ์ จำกัด
- สารลิกแนน จากงาช่วยลดพิษของนิโคติน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- งา, ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrag.com/main.php?action=viewpage&pid=45
- ฤทธิ์ของน้ำมันงาร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.