ฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะก้วย, มะก้วยกา, มะกา (เชียงใหม่), มะปั่น (ลำปาง), มะแก๋ว (น่าน), บักสีดา (อีสาน), สีดา (นครพนม), จุ่มโป่ (สุราษฎร์ธานี), ชมพู่ (ปัตตานี), ยามู, ย่าหมู (ภาคใต้), ยะมูบุเตบันยา (นาราธิวาส, มลายู), ยะริง (ละว้า), ฮวงเจี๊ยะหลิ่วกังซิวก้วยแปะจีฉิ่ว (จีน)
ชื่อสามัญ Guava
ชื่อวิทยาศาสตร์ Psidium guajava Linn
วงศ์ MYRTACEAE

ถิ่นกำเนิดฝรั่ง

ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิด หรือ เป็นพืชพื้นเมืองของเมริกาเขตร้อน De Candolle เชื่อว่าอยู่ระหว่างเม็กซิโก และเปรู รวมถึงหมู่เกาะอินดีสตะวันตกด้วยชาวสเปนนำจากฝั่งแปซิฟิคไปยังฟิลิปปินส์ และโปรตุเกสนำจากฝั่งตะวันตกไปยังอินเดีย สำหรับในประเทศไทยนั้น คาดว่ามีการนำเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันเป็นพืชมีขึ้นทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งร้อน ปลูกเป็นไม้ผลตามบ้าน ตามสวนทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณฝรั่ง
 

  1. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
  2. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
  3. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส
  4. ช่วยลดไขมันในเลือด
  5. ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง
  6. ใช้รักษาโรคอหิวาตกโรค
  7. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
  8. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
  9. ช่วยป้องกันอาการผิดปกติของหัวใจ
  10. ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน
  11. แก้อาการเลือดกำเดาไหล
  12. ช่วยรักษาอาการท้องเดิน ท้องร่วง
  13. เป็นยาระบาย
  14. แก้อาการท้องผูก
  15. แก้อาการปวดเนื่องจากเล็บขบ
  16. แก้บาดแผลเกิดจากการหกล้ม
  17. ใช้รักษาบาดแผล
  18. ช่วยรักษาอาการเสียงแห้ง
  19. แก้ปวดฟัน
  20. แก้คออักเสบ
  21. ใช้ดับกลิ่นกลิ่นบุหรี่ เหล้า และกลิ่นปาก
  22. ใช้ใบแก้แพ้ยุงกัด
  23. แก้ลำไส้อักเสบ
  24. แก้บิด
  25. แก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลัน
  26. แก้เด็กเป็นแผลเล็กแผลน้อยเรื้อรัง
  27. แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน
  28. ใช้สวนล้างช่องคลอดหลังคลอด

           ฝรั่ง จัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซี สูงที่สุดในบรรดาผลไม้ทุกชนิด และยังมีวิตามินซีสูงกว่าส้มและมะนาว ถึง 5 เท่า และยังนิยมนำฝรั่งไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ฝรั่งดอง ฝรั่งแช่บ๊วย พายฝรั่ง และขนมอีกหลากหลายชนิดรวมถึงนำมาใช้ทำเป็นยาแคปซูลแก้ท้องเสียจากใบฝรั่ง ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้ลำไส้อักเสบ แก้บิด ใช้ใบสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
  • แก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันและท้องเสีย ที่เกิดจากการย่อยไม่ดี ใช้ใบแห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน
  • แก้บาดแผลเกิดจากการหกล้ม หรือ กระทบกระแทก หรือ บาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดฝรั่ง ตำพอกแผลภายนอก
  • แก้ปวดฟัน ใช้เปลือกรากผสมน้ำส้มสายชูต้มเอามาอมแก้ปวดฟัน
  • แก้เด็กเป็นแผลเล็กแผลน้อยเรื้อรัง ใช้เปลือก ราก ต้มร่วมกับขนไก่ เอามาชะล้างบาดแผล
  • แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ใช้เปลือกต้นสด และใบต้นเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
  • แก้ท้องร่วง ใช้ใบ หรือ ผลดิบ ต้มกินต่างชา (ใบแห้ง 5 กรัม ใส่น้ำ 100 มล.)
  • ใช้สวนล้างช่องคลอดหลังคลอด ใช้น้ำต้มจากใบสดอุ่นๆ สวนล้าง
  • ใช้ในการดับกลิ่นปาก ด้วยการนำใบสด 3-5 ใบ มาเคี้ยวแล้วคายกากทิ้ง
  • ช่วยรักษาอาการเสียงแห้ง แก้คออักเสบโดยการใช้ผลที่ตากแห้งต้มน้ำกิน
  • ยอดอ่อนๆ ปิ้งไฟให้เหลืองกรอบ ชงน้ำกินแก้ท้องร่วง บิด ใบสดเคี้ยวอมดับกลิ่นบุหรี่ เหล้า และกลิ่นปากได้ดี

ลักษณะทั่วไปของฝรั่ง

ฝรั่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมสูง 5-10 เมตร ลำต้นกิ่งก้านมีเนื้อไม้เหนียวแข็งดี เปลือกต้นเรียบมีเหลืองอ่อนออกเทา และมีรอยลอกออกเป็นแผ่นๆ ก้านอ่อนมีลักษณะสี่เหลี่ยม มีขนสีขาวๆ สั้น ก้านแก่ ขนร่วงไปหมด ยอดอ่อนมีขนสีขาวสั้นๆ ปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันมีน้อยที่ออกเป็นวง (ที่ข้อเดียวกันออกเกินกว่า 2 ใบ) ใบรูปไข่ยาว 5-12 ซม. หรือ กว้าง 3-5 ซม. ขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นหอม ใบบางคล้ายแผ่นหนัง ปลายใบมนหรือแหลมสั้น ฐานใบค่อยๆ ขยายแหลมออกมายังกลางใบ ขอบใบเรียบหลังใบมีสีเขียวแก่ มีรอยเส้นใบ (บุ๋มลงไปเล็กน้อย) ท้องใบมีขนสั้นๆ สีขาวอ่อนนุ่ม และมีเส้นใบเป็นรอยนูนออกมา มีเส้นใบ 7-11 คู่ ก้านใบยาว 4 ซม. ดอกอาจออกเป็นช่อ 1-4 ดอก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวกลมมน กลีบดอกสาวบางๆ หลุดร่วงง่าย ยาว 2-2.5 ซม. มีเกสรตัวผู้มาก มีก้านเกสรตัวผู้สีขาวยาวพอๆ กับกลีบดอก มีอับเรณูสีเหลืองอ่อน มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อันยาวพุ่งขึ้นมาสูงกว่าก้านเกสรตัวผู้ รังไข่อยู่ข้างล่างมี 5 ห้อง อีกทั้งลักษณะทรงกลม และมีกลีบเลี้ยงเหลือติดอยู่ที่ปลายผล ผลรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 3-15 ซม. เนื้อผลส่วนมากมีสีเหลือง ขาว หรือ ชมพู มีกลิ่นหอม เมล็ดแข็ง เป็นรูปไตมีจำนวนมาก ขนาดเมล็ด 0.3-0.5 เซนติเมตร สีขาวอ่อน มักพบปลูกตามบ้าน หรือ สวนทั่วไปเอาผลไว้กิน หรือ ขาย

ฝรั่ง

ฝรั่ง

การขยายพันธุ์ฝรั่ง

ฝรั่ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ทนต่อความแล้ง และน้ำขังได้เล็กน้อย แต่โดยทั่วไปมักชอบเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ที่มีสภาพพื้นที่มีการระบายน้ำดี สามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 1 ปีหลังปลูก ผลสามารถเก็บได้ในช่วง 4-5 เดือน หลังติดดอก โดยทั่วไปจะให้ผลได้ในช่วงปลายฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝน คือ ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน สำหรับการขยายพันธุ์ฝรั่ง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปลูกด้วยเมล็ด การทาบกิ่ง การติดตา การปักชำ แต่วิธีที่นิยมมากที่สุด คือ การตอนกิ่ง การเตรียมดิน และการเตรียมแปลง สำหรับการปลูกฝรั่งนั้น สามารถทำได้ 2 รูปแบบตามสภาพพื้นที่ คือ

           1. พื้นที่ดินเหนียว น้ำท่วมขังง่าย และมีระบบน้ำมากเกินพอ ให้ทำการขุดร่องลุกประมาณ 1 เมตร กว้าง 1-2 เมตร เพื่อเป็นแนวร่องสำหรับการให้น้ำ การเตรียมแปลง และการปลูกในลักษณะนี้มักพบในพื้นที่ลุ่มภาคกลางเป็นส่วนใหญ่

           2. พื้นที่ทั่วไปที่มีระบบน้ำไม่เพียงพอ สามารถปลูกในแปลงโดยไม่ยกร่อง หรือ การยกร่องสูงประมาณ 30 ซม. ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 3-4 เมตร ทั้งนี้ ให้ทำการไถดะ 1 ครั้ง เพื่อตากดิน และกำจัดวัชพืช และไถแปร 1 ครั้ง โดยเว้นช่วงห่างประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังจากนั้นทำการไถยกร่อง

           ส่วนวิธีการปลูกฝรั่ง มีดังนี้

  • ใช้กิ่งพันธุ์จากการตอน หรือ การปักชำ
  • ขุดหลุมปลูก กว้าง ลึก ขนาด 50×50 เซนติเมตร แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 3 เมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 3-4 เมตร หรือ ตามขนาดระยะห่างของร่อง
  • รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก หรือ มูลสัตว์ประมาณ 0.5 กิโลกรัม/หลุม หรือ ขนาด 1 พลั่วตัก พร้อมคลุกดินผสมก้นหลุมให้สูงประมาณ 1 ฝ่ามือ ทั้งนี้อาจผสมปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 ในอัตรา 1 กำมือ/หลุมก็ได้
  • นำกิ่งพันธุ์ จากการตอน หรือ การปักชำลงหลุมปลูก โดยกลบดินสูงเหนือปากหลุมเล็กน้อย ทั้งนี้ควรให้ดินกลบเหนือเขตรากสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร
  • ใช้หลักไม้ปักหลุม และผูกเชือกยึดลำต้น
  • เมื่อปลูกเสร็จควรให้น้ำให้ชุ่มทันที

           การให้น้ำเริ่มให้น้ำครั้งแรกหลังการปลูกเสร็จให้เปียกชุ่ม หลังจากนั้น ให้น้ำทุก 2 ครั้ง/วัน เช้า-เย็น จนต้นฝรั่ง ตั้งตัวได้ โดยอาจเลือกใช้ระบบการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นอาจทำการให้น้ำน้อยลง ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และความชุ่มชื้นของดิน ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ดินแห้ง ขาดน้ำ โดยเฉพาะในช่วงติดผล แต่ในช่วงติดดอกไม่ควรให้น้ำมากซึ่งในช่วงนี้เพียงแค่ระวังไม่หน้าดินแห้งก็ เพียงพอ

            โดยสายพันธุ์ของฝรั่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น พันธุ์ แป้นสีทอง, พันธุ์กิมจู, พันธุ์กลมสาลี่, พันธุ์ไร้เมล็ด, พันธุ์เวียดนาม เป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

quercetin, quercetin-3-arabinoside, quercetin 3-O-b-L-arabinoside (guajavarin), quercetin 3-O-b-D-glucoside (isoquercetin), quercetin 3-O-b-D-galactoside (hyperin), quercetin 3-O-b-L-rhamnoside (quercitrin) และ quercetin 3-O gentiobioside, Tannin ในผิวฝรั่งเมื่อนำมาสกัดน้ำมันระเหย พบสารต่างๆ เช่น 1,8-cineole, a-copaene, trans-caryophyllene, humulene, a-amorphene, nerolidol, caryophyllene oxide, epigiobulol, longitorenedehyde, aromaden dendrene, helifdenolC ฯลฯ และสำหรับคุณค่าทางโภชนาการของฝรั่ง ต่อ (165 กรัม) คือ

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของฝรั่ง

โครงสร้างฝรั่ง

ที่มา : Wikipedia

  • พลังงาน                       112     กิโลแคลอรี่                                                                                                        
  • เส้นใยอาหาร              8.9      กรัม
  • โปรตีน                         4.2      กรัม
  • ไขมัน                           1.6      กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต             23.6    กรัม
  • วิตามินเอ                   1030    IU
  • วิตามินซี                      377      มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1                   0.1       มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                  0.1       มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3                   1.8       มิลลิกรัม
  • กรดโฟลิก                    81       ไมโครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม            30       มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส             66       มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                   0.4      มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม        688     มิลลิกรัม
  • ธาตุทองแดง              0.4      มิลลิกรัม                       

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของฝรั่ง

ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ แก้ท้องเสีย จากการวิจัยฤทธิ์ทางยาของฝรั่งพบว่าการให้ยาเม็ดแคปซูลใบฝรั่งครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน กับผู้ป่วยที่เป็นโรคอุจจาระร่วง 122 คน สามารถลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ ระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระ และจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนได้ การให้ยาเม็ดแคปซูลฝรั่งขนาด 500 มิลลิกรัม (ที่มีสารฟลาโวนอยด์ 1 มิลลิกรัม/แคปซูล 500 มิลลิกรัม) ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง จำนวน 50 คน จะสามารถลดการบีบตัวของลำไส้ และลดระยะเวลาปวดท้องได้ การให้ยาต้มของฝรั่งในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส (Rota virus) 62 คน ทำให้อาการดีขึ้นภายใน 3 วัน ระยะเวลาท้องเสียสั้นลง และไม่พบเชื้อ Rota virus ในอุจจาระมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

           สารสกัดใบฝรั่งด้วยคลอโรฟอร์ม เฮกเซน เมทานอล และน้ำ สามารถลดการเคลื่อนไหว การหดเกร็งของลำไส้เล็กของหนูตะเภา และหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นด้วยอะเซทิลโคลีน สารสกัดใบฝรั่งด้วยเอทานอลร้อยละ 50 สามารถยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้หดตัวด้วยกระแสไฟฟ้า อะเซทิลโคลีน และแบเรียมคลอไรด์ได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถยับยั้งอาการท้องเสียในหนูเม้าส์ที่ถูกชักนำให้เกิดอาการท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง โดยฝรั่งจะไปเพิ่มการดูดซึมน้ำในลำไส้ และลดการบีบตัวของลำไส้   สารสกัดด้วยน้ำของใบฝรั่งสดสามารถยับยั้งอาการท้องเสียได้ โดยลดจำนวนครั้งของการอุจจาระในหนูซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการท้องเสียด้วยยา microlax ได้

           ส่วนสกัดของสารกลุ่ม polyphenolic, saponin และ alkaloid จากใบฝรั่ สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กของหนูตะเภาที่เหนี่ยวนำให้หดเกร็งด้วยอะเซทิลโคลีน และโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ สาร quercetin และ quercetin-3-arabinoside จากใบฝรั่ง สามารถต้านการหดตัวของลำไส้เล็กที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยอะเซทิลโคลีน ทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อยลง นอกจากนี้สาร quercetin ในใบฝรั่งยังสามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กในหนูแรท และหนูตะเภาซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดอาการหดเกร็งด้วยสารละลายโพแทสเซียม อะเซทิลโคลีน แบเรียมคลอไรด์ ฮีสตามีน และซีโรโทนินได้ และสามารถลดความสามารถในการซึมผ่านของๆ เหลวของหลอดเลือดฝอยบริเวณท้องซึ่งมีผลช่วยรักษาอาการท้องเสีย สาร quercetin 3-O-b-L-arabinoside (guajavarin), quercetin 3-O-b-D-glucoside (isoquercetin), quercetin 3-O-b-D-galactoside (hyperin), quercetin 3-O-b-L-rhamnoside (quercitrin) และ quercetin 3-O-gentiobioside จากใบฝรั่ง สามารถลดการหดเกร็งของลำไส้เล็กหนูเม้าส์ได้ สาร asiatic acid จากใบฝรั่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อลำไส้เล็กส่วนปลายของกระต่ายคลายตัว สารสกัดผลฝรั่งดิบด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ต้านการหลั่งอะเซทิลโคลีนในลำไส้เล็กของหนูแรท และหนูตะเภาได้ แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าอะโทรปีน โดยฝรั่งมีผลทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้รักษาอาการท้องเสียได้สารสกัดฝรั่ง (ไม่ระบุส่วน) สามารถลดการบีบตัวของลำไส้เล็กของหนูแรทได้

            ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายรายงาน ได้แก่สารสกัดเอทานอลของฝรั่ง สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Salmonella enteritidis, Shigella flexneri ได้ สารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 10-5 มคล./มล. ทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Shigella dysenteriae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบิดได้ สารสกัดเปลือกต้นด้วย 70% เอทานอล ความเข้มข้น 250 มก./มล. ทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง คือ Staphylococcus aureus, Vibrio cholerae และ V. parahaemolyticus แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ E. coli, Shigella flexneri, Salmonella typhimurium สารสกัดราก กิ่ง และใบฝรั่งด้วย 50% เอทิลอัลกอฮอล์ ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย E. coli, Sh. dysenteriae, Sh. flexneri, S. typhimurium ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Salmonella enteritidis สารสกัดกิ่งฝรั่งด้วยเอทานอล:น้ำ อัตราส่วน 1:1 ความเข้มข้น 50 มคล. สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Sh. dysenteriae, Sh. flexneri (ซึ่งทำให้เกิดโรคบิด) E. coli (แบคทีเรียในลำไส้) S. typhimurium (ทำให้เกิดโรคไทฟอยด์) แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ S. enteritidis สารสกัดทิงเจอร์ของฝรั่ง สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย V. chlorea ที่เป็นสาเหตุของอหิวาตกโรค ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้แต่ได้ผลปานกลาง น้ำมันหอมระเหยของใบฝรั่ง สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Bacillus subtilis, E. coli, S. typhimurium ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ สารสกัดใบฝรั่งด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ความเข้มข้น 1,000 มคก./มล. สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Enterococcus faecalis ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ E. coli, S. typhimurium, S. aureus สารสกัดใบฝรั่งด้วยน้ำ ความเข้มข้น 20 มก./มล. พบว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย S. dysenteriae 1 (ทำให้เกิดโรคบิด) และ V. chlorea (ทำให้เกิดอหิวาตกโรค) ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ ซึ่งขนาดความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งได้ (MIC) มีค่าเท่ากับ 1.25, 5 มก./มล. ตามลำดับ 

           สารสกัดผลดิบของฝรั่งด้วยเมทานอล ในขนาด 50, 100, 300 มก./กก. สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Sh. dysenteriae 1, Sh. dysenteriae 2, Sh. dysenteriae 4, Sh. dysenteriae 8 และ V. chlorea 1350 ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ ซึ่งความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งได้ (MIC) มีค่าเท่ากับ 100-200 มคก./มล. สารสกัดหยาบของใบฝรั่ง สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Vibrio ที่แยกได้จากกุ้งกุลาดำที่เป็นโรค 23 สายพันธุ์ ซึ่งความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งได้ (MIC) มีค่าเท่ากับ 1.25-5.00 มก./มล. สารสกัดใบฝรั่งด้วยอะซีโตน และ 95% เอทานอล สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Salmonella B, S. newport, S. typhimurium, Sh. flexneri นอกจากนี้สารสกัดใบ ลำต้นฝรั่งด้วย 95% เอทานอล ยังสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย E. coli ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้อีกด้วย สารสกัดใบ ลำต้นฝรั่งด้วยน้ำ สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย E. coli, Sh. flexneri, S. aureus แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Salmonella B, S. newport และ S. typhimurium ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ 

           สารสกัดใบฝรั่งด้วยเมทานอล สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Sh. flexneri ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ ซึ่งความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งได้ (MIC) มีค่าเท่ากับ 10 มก./วัน แต่ได้ผลไม่แน่นอนต่อเชื้อ E. coli, S. typhimurium สารสกัดใบฝรั่งด้วย 95% เอทานอล ความเข้มข้น 1,000 มคก./มล. พบว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ได้แก่ Salmonella D, Sh. dysenteriae 1, Sh. flexneri 2A, Sh. flexneri 4A ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Salmonella B, S. typhimurium type 2, Shigella bodyii, Sh. bodyii 5, Sh. dysenteriae 2, Sh. flexneri 3A, Sh. sonnei ส่วนสกัดแทนนินจากใบฝรั่ง ความเข้มข้น 85, 95, 95, 100, 110 มคก./มล. สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Sh. flexneri, S. enteritidis, S. aureus, Escherichia piracoli, E. coli ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ ตามลำดับ สารสกัดใบฝรั่งด้วยเมทานอล สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Salmonella spp. ได้ 2 สายพันธุ์ และต้านเชื้อ Sh. flexneri, Sh. virchow, Sh. dysenteriae รวมทั้งเชื้อ E. coli ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ สารสกัดใบฝรั่งด้วยเอทานอล:น้ำ(1:1) และอะซีโตน สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย E. coli ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงได้ สารสกัดลำต้นฝรั่งด้วย 95% เอทานอล สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย S. newport และ S. typhimurium, Sh. flexneri ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อได้ แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Salmonella B, S. aureus น้ำคั้นจากผลฝรั่ง ไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus typhosus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไทฟอยด์ได้ สารสกัดส่วนที่อยู่เหนือดินด้วยอัลกอฮอล์ และน้ำ (1:1) ความเข้มข้นมากกว่า 25 มคก./มล. ไม่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis, E. coli, S. typhosa 

           มีการศึกษาวิจัยโดย ปัญจางค์ ธนังกูล และคณะ ในผู้ป่วย 122 คน ที่เป็นโรคอุจจาระร่วง เป็นชาย 64 คน และหญิง 58 คน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 16-55 ปี ทำการศึกษาเปรียบเทียบโดยวิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยนำใบฝรั่งอบแห้งแล้วบดเป็นผง บรรจุแคปซูล ขนาด 250 มก. ลักษณะเดียว และขนาดเดียวกับ tetracyclin และบริหารการรับประทานยาเช่นเดียวกัน คือ 500 มก. ทุก 6 ชม. เป็นเวลา 3 วัน ทั้งสองกลุ่ม พบว่าใบฝรั่งสามารถลดจำนวนอุจจาระ ระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระ และจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนได้

           มีการศึกษาในผู้ป่วยเด็ก 62 คน ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส (Rota virus) โดยให้รับประทานยาต้มของฝรั่ง พบว่าอาการดีขึ้นภายใน 3 วัน และระยะเวลาท้องเสียสั้นลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ปริมาณโซเดียม และกลูโคสในอุจจาระลดลง ผลการตรวจอุจจาระไม่พบเชื้อ Rota virus สูงถึง 87.1% ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่พบเชื้อ Rota virus 58.1% แสดงว่ายาต้มของฝรั่งมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องเสียในผู้ป่วยลำไส้อักเสบจากเชื้อ Rota virus ได้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ จากการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วย 70 คน ที่มีเหงือกอักเสบ พบว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบฝรั่งสามารถลดการอักเสบได้ร้อยละ 19.8 และลดรอยโรคที่ความรุนแรง ได้ร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบฝรั่ง หลังจากใช้เป็นเวลา 3 สัปดาห์

           สารสกัดใบฝรั่งด้วยน้ำขนาด 50-800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าช่องท้องพบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลัน เมื่อทดสอบกับอุ้งเท้าหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยไข่ขาวสด นอกจากนี้เมื่อฉีดน้ำมันหอมระเหยจากใบฝรั่งเข้าทางช่องท้องของหนูแรทในขนาด 0.8 มิลลิลิตร/กิโลกรัม พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร carrageenan ได้

           สารสกัดจากผลฝรั่งด้วยเมทานอลเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูแรท พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบของอุ้งเท้าหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสาร carrageenan, kaolin และ formaldehyde ได้ นอกจากนี้สารสกัดผลฝรั่งด้วยเมทานอลเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์จะสามารถยับยั้งการอักเสบ และลดอาการเจ็บปวดที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย acetic acid ได้ดีกว่าแอสไพรินที่ให้ในขนาดเท่ากันเล็กน้อย

           เมื่อนำใบฝรั่งมาหมักกับรา และแบคทีเรียได้แก่ Phellinus linteus (ส่วนเส้นใย) Lactobacillus plantarum และ Saccharomyces cerevisiae แล้วนำมาสกัดด้วยเอทานอล พบว่าสารสกัดที่ได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ คือ ไนตริกออกไซด์และ พรอสต้าแกรนดิน อี 2 ในหลอดทดลอง นอกจากนี้สารสกัดฝรั่ง ด้วยเอทานอล และน้ำยังออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์

           สารสกัดใบฝรั่งด้วยเอทิลอะซีเตตมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และแก้แพ้โดยยับยั้งการตอบสนองต่อแอนติเจนที่ชักนำให้เกิดการแพ้ และการอักเสบ

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดใบฝรั่งด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูแรทที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานด้วยการฉีด alloxan เข้าหลอดเลือดดำโดยสารสกัดใบฝรั่งออกฤทธิ์ใน 2 ชั่วโมง มีฤทธิ์สูงสุดในชั่วโมงที่ 6 และหมดฤทธิ์ใน 24 ชั่วโมง

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง สารสกัดใบฝรั่งมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง murine fibrosarcoma และเซลล์มะเร็งเต้านม


การศึกษาทางพิษวิทยาของฝรั่ง

การทดสอบความเป็นพิษ พิษเฉียบพลัน สารสกัดด้วยน้ำจากใบฝรั่ง LD50 มีค่ามากกว่า หรือ เท่ากับ 20 ก./กก. เมื่อให้ทางปากในหนูถีบจักรทั้ง 2 เพศ และมีค่ามากกว่า 5 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง สารสกัดเอทานอล (50%) จากส่วนเหนือดิน LD50 มีค่าเท่ากับ 0.188 เมื่อฉีดเข้าช่องท้องในหนูถีบจักร พิษเรื้อรัง การให้สารสกัดน้ำจากใบทางปาก ขนาด 0.2, 2 และ 20 ก./กก. ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าอัตราการเพิ่มของน้ำหนักตัวลดลง ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ ขณะที่ไม่พบความแตกต่างของปริมาณอาหารที่รับประทานในทุกกลุ่ม พฤติกรรมทั่วไปปกติในทุกกลุ่ม หนูเพศผู้มีระดับ ALP, SGPT (การทำงานของตับ), BUN (การทำงานของไต) และ WBC สูงขึ้น ขณะที่ระดับของโซเดียม และคลอเลสเตอรอลในเลือดลดลง น้ำหนักของตับและไตเพิ่มขึ้น การตรวจทางจุลทัศนกายวิภาค พบการเปลี่ยนแปลงของไขมัน และลักษณะ hydronephrosis หนูเพศเมียมีระดับโซเดียม โพแทสเซียม และอัลบูมิน ในเลือดเพิ่มขึ้น ขณะที่เกร็ดเลือด และกลอบูลินลดลง ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว และไต แต่พบลักษณะ nephrocalcinosis และ pyelonephritis ในบางตัว

           ก่อมะเร็งมีรายงานการก่อมะเร็ง สารสกัดด้วยน้ำจากผลดิบขนาด 35 ก./ตัว ทุกสัปดาห์ โดยการฉีดใต้ผิวหนัง เป็นเวลา 77 สัปดาห์ ไม่พบเนื้องอก (tumor) ในหนูขาวเพศเมีย (จำนวน 15 ตัว) แต่พบการเกิดเนื้องอกในหนูขาวเพศผู้จำนวน 2 ใน 15 ตัว


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. การรับประทานฝรั่ง สดไม่ควรปอกเปลือกเพราะอาจทำให้เสียคุณค่าของสารอาหาร หรือ สารออกฤทธิ์ในผิวฝรั่งได้
  2. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานฝรั่งมากเกินไปเพราะอาจทำให้มีผลต่อระบบการย่อยอาหาร
  3. การรับประทานฝรั่งไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ท้องอืด ท้องผูก
  4. การรับประทานผลฝรั่งสุกมากจนเกิดไปอาจทำให้เกิดการระบายท้องจนนำไปสู่ภาวะท้องเสียได้

เอกสารอ้างอิง ฝรั่ง
  1. อัมพวัน อภิสริยะกุล. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพรบางชนิดต่อลำไส้เล็กของหนูขาว. เชียงใหม่เภสัชสาร 2527;3(1):8-16.
  2. ฝรั่ง. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ปัญจางค์ ธนังกูล และ ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. การศึกษาผลทางคลินิกของใบฝรั่งในโรคอุจจาระร่วง. สารศิริราช 2530;39(5):263-6.
  4. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ฝรั่ง คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 8 ธันวาคม 2522
  5. อัมพวัน อภิสริยะกุล, นุชนารถ ชัยชนะ และ วิลาสินี  อยู่สุข. การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเคอร์ซิทิน (Quercetin) ซึ่งพบในใบฝรั่ง (Psidium guajava, Myrtaceae) ต่อการหดตัวของลำไส้เล็กหนูขาวและหนูตะเภา. วารสารเภสัชวิทยา 2536;14-15:35-40.
  6. มาลิน จุลศิริ และคณะ. สารสกัดจากพืชเพื่อแก้โรคท้องร่วง ท้องเดิน. รวมบทคัดย่องานวิจัย การแพทย์แผนไทย และทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
  7. มัจฉาชีพ, สมสุข. 2534. พืชสมุนไพร. แพร่พิทยา. กรุงเทพฯ.
  8. วันชัย ไอรารัตน์, วีรพล คู่รงวิริยพันธุ์, จินตนา สัตยาศัย. การศึกษาฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วงของน้ำสกัดใบฝรั่งและเปลือกผลทับทิมตากแห้งในสัตว์ทดลอง. ศรีนครินทร์เวชสาร 2543;15(1):3-11. 
  9. Wei L, Li Z, Chen B. Clinical study on treatment of infantile rotaviral enteritis with Psidium guajava L. Zhongguo Zhong  Xi Yi Jie He Za Zhi 2000;20(12):893-5.
  10. Lozoya X, Reyes-Morales H, Chavez-Soto MA, et al. Intestinal anti-spasmodic effect of a phytodrug of Psidium guajava folia in the treatment of acute diarrheic disease. J Ethnopharmacol 2002;83:19-24.
  11. ชลธิชา อมรฉัตร, เทอดพงษ์ ตรีรัตน์, เพชรรัตน์ ไกรวพันธ์. ผลของน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมสารสกัดใบฝรั่งต่อการอักเสบของเหงือก. หนังสือรวบรวมผลงานการวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536) โดยคณะกรรมการโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 105-113.
  12. ดาวฤกษ์ เล่ห์มงคล และคณะ. การศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรต่อการบีบตัวของลำไส้หนูขาว. รวมบทคัดย่องานวิจัย การแพทย์แผนไทยและทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
  13. Lita Soatopo. 1992. Psidium guajava L. In: E.W.M., Verheij & Coronel, R.E. (Editors): Plant Resources of South-East Asia No 2. Ediblt fruit and nuts. Prosea foundation, Bogor, Indonesia. pp. 266-70.
  14. Lutterodt GD. Inhibition of gastrointestinal release of acetylcholene by quercetin as a possible mode of action of Psidium quajava leaf extracts in the treatment of acute diarrhoeal disease.  J Ethnopharmacol 1989;25(3):235-47.
  15. Kavimani S, Karpagam R, Jaykar B. Anti-inflammatory of volatile oil of Psidium guajava.  Ind J Pharm Sci 1997;59(3):142-4.
  16. จริยา สินเดิมสุข, สมเกียรติ ตีกิจเสริมพงศ์, วีณา จารุปรีชาชาญ. เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาโรคอุจจาระร่วงระหว่าง ใบฝรั่งและเปลือกมังคุด. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2532:16(2):32-5.
  17. Han EH, Hwang YP, Kim HG, et al. Ethyl acetate extract of Psidium guajava inhibits IgE-mediated allergic responses by blocking FceRI signaling. Food Chem Toxicol 2011;49:100-8.
  18. ปัญจางค์ ธนังกูล และ ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. การศึกษาผลทางคลินิกของใบฝรั่งในโรคอุจจาระร่วง. สารศิริราช 2530;39(5):263-6.
  19. Kaileh M, Berghe WV, Boone E, Essawi T, Haegeman G. Screening of indigenous Palestinian medicinal plants for potential anti-inflammatory and cytotoxic activity. J Ethnopharmacol 2007;113:510-6.
  20. Tona L, Kambu K, Ngimbi N, et al. Antiamoebic and spasmolytic activities of extracts from some antidiarrhoeal traditional preparations used in Kinshasa, Congo.  Phytomedicine 2000;7(1):31-8.
  21. เอมมนัส อัตตวิชญ์, ปราณี ชวลิตธำรง, พัช รักษามั่น, ปราณี จันทเพ็ชร. การศึกษาพิษของใบฝรั่ง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2538;37(4):289-305.
  22. Begum S, Hassan SI, Siddiqui BS, et al. Triterpenoids from the leaves of Psidium guajava. Phytochemistry 2002;61:399-403.
  23. Lozoya X, Meckes M, Abou-Zaid M, Tortoriello J, Nozzolillo C, Arnason JT. Quercetin glycosides in Psidium guajava L. leaves and determination of a spasmolytic principle. Arch Med Res 1994;25(1):11-5.
  24. HussamTS, Nasralla SH, Chaudhuri AKN. Studies on the antiinflammatory and related pharmacological activities of Psidium guajava: A preliminary report.  Phytother Res 1995;9(2):118-22.
  25. เอมมนัส อัตตวิชญ์, ปราณี ชวลิตธำรง, พัช รักษามั่น, ปราณี จันทเพ็ชร. การศึกษาพิษของใบฝรั่ง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2538;37(4):289-305.
  26. Maikere-Faniyo R, Van Puyvelde L, Mutwewingabo A, Habiyaremye FX. Study of Rwandese medicinal plants used in the treatment of diarrhoea I. J Ethnopharmacol 1989;26(2):101-9.
  27. Kapadia GJ, Chung EB, Ghosh B, et al. Carcinogenicity of some folk medicinal herbs in rats. J Nat Cancer Inst 1978;60:683-6.
  28. สุรีย์ ประเสริฐสุข, มรกต สุกโชติรัตน์. ผลของสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่มีต่อการเจริญของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบิด. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12, กรุงเทพฯ, 2529.
  29. Dhawan BN, Patnaik GK, Rastogi RP, Singh KK, Tandon JS. Screening of Indian plants for biological activity. VI. Indian J Exp Biol 1977;15:208-19.
  30. Misas CAJ, Hernandez NMR, Abraham ANL. Contribution to the biological evaluation of Cuban plants. II. Rev Cub Med Trop 1979;31:13-9.
  31. Wei L, Li Z, Chen B. Clinical study on treatment of infantile rotaviral enteritis with Psidium guajava L. Zhongguo Zhong  Xi Yi Jie He Za Zhi 2000;20(12):893-5.
  32. Gritsanapan W, Chulasiri M.  A primary study of antidiarrheal plants: I, antibacterial activity.  Mahidol Univ J Pharm  Sci 1983;10(4):119-23.