เสลดพังพอน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เสลดพังพอนตัวผู้ งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เสลดพังพอน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เสลดพังพอนตัวผู้, พิมเสนต้น, ทองระอา, ช้องระอา, ลิ้นงูเห่า, (ภาคกลาง, กรุงเทพ), ก้านชั่ว, ค้นชั่ว (ตาก), เช็กเชเกี่ยม, ฮวยเฮียะ, แกโตว่เกียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl.
ชื่อสามัญ Hop Headed Barleria
วงศ์ ACANTHACEAE

ถิ่นกำเนิดเสลดพังพอน

เสลดพังพอน มีถิ่นกำเนิดในสาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังมีการนำเข้ามาใช้ประโยชน์ และปลุกยังดินแดงเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยนั้นสามารถพบเสลดพังพอน ได้ทุกภาคของประเทศ โดยอาจจะพบในลักษณะของการปลูกไว้ใช้ประโยชน์ หรือ ขึ้นเป็นวัชพืชก็ได้

ประโยชน์และสรรพคุณของเสลดพังพอน 

  1. แก้โรคเริม
  2. แก้งูสวัด
  3. แก้ฝีที่ฝ่ามือ
  4. แก้ลมพิษ
  5. แก้พิษงูกัด
  6. แก้ไฟลามทุ่ง
  7. แก้แผลกลาย
  8. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  9. รักษาแผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก
  10. รักษาแผลมีเลือดออก แผลสุนัขกัด แผลจากของมีคมบาด (จะช่วยห้ามเลือด)
  11. แก้ลมพิษ
  12. รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง
  13. แก้โรคเบาหวาน
  14. แก้ปวดแผล
  15. แก้โรคฝีต่างๆ
  16. รักษาโรคคางทูม
  17. แก้ขยุ้มตีนหมา
  18. รักษาโรคฝีดาษ ถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ
  19. แก้ฟกช้ำ
  20. แก้ช้ำบวมเนื่องจากถูกของแข็ง
  21. ใช้ถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ
  22. แก้ปวดฟัน
  23. รักษาเหงือกบวม
  24. แก้ริดสีดวงทวาร
  25. แก้ยุงกัด
  26. รักษาแผลโดนน้ำร้อนลวก หรือ ไฟไหม้
  27. แก้ปวดจากปลาดุกแทงราก
  28. แก้เคล็ดขัดยอก
  29. แก้อาการปวดจากปลาดุกแทง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้เสลดพังพอน

ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากเอามาพอก หรือ ทาเป็นยาแก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคเริม แก้เริมบริเวณผิวหนัง งูสวัด ช่วยถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้แผลกลาย เป็นยาถอนพิษ แก้พิษงูกัด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เพียงใช้ใบสดประมาณ 2-10 ใบ นำมาขยี้ หรือ ตำให้แหลก หรือ ใช้ผสมกับเหล้าตำพอก แก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ช่วยรักษาแผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลสุนัขกัด แผลจากของมีคมบาด หรือ แผลมีเลือดออก (ช่วยห้ามเลือด) ช่วยแก้ปวดแผล แก้อาการปวดจากปลาดุกแทง รวมไปถึงแก้พิษจากไฟลวก น้ำร้อนลวก แก้ยุงกัด แก้ฝีหนอง และแก้โรคฝีต่างๆ ใช้รากฝนกับสุราดื่ม แก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษแมลงมีพิษต่างๆ และยังสามารถใช้ใบสดขยี้แล้วทาบริเวณผิวหนังที่เป็น ตุ่มจากการถูกยุงกัน หรือ ผื่นจากแมลงกัดต่อยได้ ใช้รักษาแผลโดนน้ำร้อนลวก หรือ ไฟไหม้ ให้ใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว หรือ น้ำมันงา เอากากพอกบริเวณที่เป็น แผลจะแห้งไว หรือ จะนำใบมาตำผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นจะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี


ลักษณะทั่วไปของเสลดพังพอน

เสลดพังพอนเป็นไม้พุ่มสูง 1-2 เมตร เปลือกสีม่วงอมเขียว ตามข้อของลูกต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมสีน้ำตาล ข้อละ 2 คู่ กิ่ง และก้านมีสีม่วงแดง ใบเป็น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากใบรูปใบหอก หรือ เรียวยาว กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร โคนสอบ ขอบเรียบ ปลายแหลมแผ่นใบเกลี้ยง มีสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นใบและก้านมีสีแดง ก้านใบสั้นยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลมหนึ่งคู่สีม่วงชี้ลง ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งยาว 8-10 เซนติเมตร ใบประดับสีน้ำตาลอมม่วงโคนสีเขียว ใบประดับสีม่วงอมเขียว หรือ เขียวอมน้ำตาล รูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลม กลีบเลี้ยงยาว 0.8-1 เซนติเมตร คู่นอกขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายมีติ่งหนาม

           ดอกเสลดพังพอน ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-9 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนจะมองเห็นใบประดับรูปกลมรีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หุ้มดอกไว้ภายใน ดอกจะมีใบประดับขนาดใหญ่เรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว ใบประดับที่โคนเป็นสีเขียว ปลายใบประดับเป็นสีม่วง หรือ ทั้งใบประดับเป็นสีแดงอมเขียว หรือ สีม่วงอมน้ำตาล รูปไข่เกือบกลม ปลายเป็นติ่งแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมี 4 กลีบ เรียงตรงข้ามเป็นคู่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายเป็นติ่งหนาม เมื่อดอกโตเต็มที่ ดอกจะโผล่เลยกลีบประดับออกมา โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลือง หรือ สีส้ม กลีบดอกคล้ายรูปปากเปิด มี 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 ปาก แบ่งเป็นปากบนมีกลีบมนขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 4 กลีบ เรียงซ้อนแผ่ชิดกัน บานแผ่ออก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และกลีบล่างอีก 1 กลีบ ที่มีขนาดเล็กกว่าและพับงอเล็กน้อย กลีบดอกจะหลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ยื่นพ้นจากปากหลอดกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นมัน 2 อัน สั้นๆ รังไข่มี 2 ช่อง ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาว โดยจะยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ส่วนผลรูปไข่ หรือ แกมรูปขอบขนาน แบน ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มี 2 ซีก แต่ละซีกมี 1-2 เมล็ด

เสลดพังพอน

เสลดพังพอน

การขยายพันธุ์เสลดพังพอน

เสลดพังพอน สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำ แต่ในปัจจุบันวิธีการปักชำเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากกว่า โดยวิธีการปักชำมีดังนี้ เลือกกิ่งแก่ๆ ยาว 1-2 คืบ มาปักชำลงดินที่มีลักษณะร่วนซุย แล้วหมั่นรดน้ำทุกเช้า จนรากงอก แล้วจึงย้ายลงไปปลูกในแปลง ที่มีลักษณะดินร่วมซุยชุ่มชื้น การให้น้ำหากเป็นฤดูแล้งควรให้น้ำเช้าเย็นแต่หากเป็นฤดูฝนไม้ต้องให้น้ำก็ได้ ทั้งนี้ต้นเสลดพังพอน มักจะชอบที่แกกส่องรำไร หากเจอแดดจัดมากเกินไปลักษณะใบจะแกรนเล็ก และควรระวังเรื่องการให้น้ำมากเกินไปโดยเฉพาะฤดูฝน เพราะถ้าหากน้ำท่วมราก เกิน 48 ชั่วโมง ต้นจะเริ่มตามโดยจะมีใบเหลืองและร่วงจนโทรมตายในที่สุด

องค์ประกอบทางเคมี

สารออกฤทธิ์ในส่วนต่างๆ ของเสลดพังพอน มีดังนี้ Bataine, Scutellarein-7-Rhamnosyl glucoside และสารกลุ่ม Iridiod glycoside เช่น Acetyl barlerin, Shanzhiside methyl ester.8-0-acetyl shanzhiside methyl ester., 6-0-acetylshanzhiside methyl ester.     

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเสลดพังพอน

  

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเสลดพังพอน

ฤทธิ์ลดการอักเสบ สาร iridoids 4 ชนิด จากเสลดพังพอน ตัวผู้ คือ shanzhiside methyl ester (I), 8-O-acetyl-shanzhiside methyl ester (II), 6-O-acetylshanzhiside methyl ester (III) และ acetyl barlerin (IV) มีฤทธิ์ลดบวมที่ข้อเท้าหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย carrageenan โดยมีลำดับการออกฤทธิ์ของสารจากมากไปน้อย คือ III > I > II> = IV

           สารสกัดเมทานอลของส่วนเหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้ มีฤทธิ์ลดการอักเสบแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังในหนูแรท โดยไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมีรายงานว่าสาร iridoids บางชนิดจากเสลดพังพอน ตัวผู้มีฤทธิ์ลดการอักเสบ

           ฤทธิ์ต้านเริม สารสกัดน้ำจากใบไม่มีฤทธิ์ยับยั้ง Herpes simplex virus type 2 (HSV2) ด้วยวิธีทดสอบ plaque inhibition assay และไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Herpes simplex virus type 1 (HSV1) ส่วนสกัดน้ำจากทั้งต้นที่ขนาดความเข้มข้นไม่เป็นพิษต่อเซลล์วีโร ไม่มีฤทธิ์ยับยั้ง HSV1 เช่นกัน

           สารสกัดเมทานอลจากใบ และกิ่ง เมื่อทดสอบด้วยวิธี plaque inhibition assay พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HSV2 จากผู้ป่วยโรคเริม แต่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HSV2 strain G ซึ่งเป็นสายพันธุ์มาตรฐาน เมื่อทดสอบด้วยวิธี yield reduction assay พบว่าสารสกัดดังกล่าวยับยั้งเชื้อ HSV2 strain G และเชื้อที่ได้จากผู้ป่วย

           ฤทธิ์แก้ปวด เมื่อป้อนสารสกัดคลอโรฟอร์มจากส่วนเหนือดิน ขนาด 125-500 มก./กก. เข้าทางปากหนูถีบจักร พบว่าสามารถลดจำนวนของการบิด และยืดของลำตัวเมื่อถูกกระตุ้นโดยกรดอะเซติก ผลของสารสกัดจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของสารสกัดที่ใช้ ลดช่วงเวลาของการเลียขาในระยะหลังของการทดสอบเมื่อถูกกระตุ้นโดยฟอร์มาลิน แต่ไม่มีผลต่อระยะแรกของการทดสอบ สารสกัดนี้ไม่มีผลต่อการทดสอบด้วยความร้อน จากผลของการทดลองแสดงว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดอาการปวดได้เมื่อใช้ acetic acid หรือ formalin แต่ใช้ความร้อนไม่ได้ผล

           ฤทธิ์ลดน้ำตาล สารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของเสลดพังพอนตัวผู้ เมื่อให้กับหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ปานกลาง


การศึกษาทางพิษวิทยาของเสลดพังพอน

การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้หนูเม้าส์ได้รับสารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นเสลดพังพอน ตัวผู้ โดยการป้อนหรือฉีดเข้าช่องท้อง พบความเป็นพิษปานกลาง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ใบเสลดพังพอนประคบที่แผลควรคำนึงถึงความสะอาดของใบเสลดพังพอนรวมถึงส่วนผสมอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ อีกทั้งควรเปลี่ยนใบเสลดพังพอน ที่ใช้ประคบทุกวันด้วย ซึ่งหากแผลไม่ดีขึ้นหลังการใช้ประคบ หรือ แผลมีการติดเชื้อควรไปพบแพทย์โดยด่วน

เอกสารอ้างอิง เสลดพังพอน
  1. ภโวทัย พาสมาโสภณ. สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร. บทความวิชาการ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 กันยายน 2558-กุมภาพันธ์ 2559. หน้า 120-131
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “เสลดพังพอน (Salet Phang Phon)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 308.
  3. ชื่นฤดี ไชยวสุ, ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา, เครือวัลย์ พลจันทร, ปราณี ชวลิตธำรง, สุทธิโชค จงตระกูลศิริ. การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากใบเสลดพังพอนและใบพญายอ ต่อเชื้อ Herpes simplex virus type-2 ในหลอดทดลอง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2535;34(4):153-8.
  4. เสลดพังพอนตัวผู้ (ซองระอา).สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_20_.htm
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “เสลดพังพอนตัวผู้”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 560.
  6. เสลดพังพอนตัวผู้. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531.
  8. เสลดพังพอนตัวผู้. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid=120
  9. Yoosook C, Bunyapraphatsara N, Boonyakiat Y, Kantasuk C. Anti-Herpes simplex virus activities of crude water extracts of Thai medicinal plants. Phytomedicine 1999; 6(6):411-9.
  10. เสลดพังพอนตัวผู้.สมุนไพร ที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. Wanikiat P, Panthong A, Sujayanon P, Yoosook C, Rossi AG, Reutrakul V. The anti-inflammatory effects and the inhibition of neutrophil responsiveness by Barleria lupulina and Clinacanthus nutans extracts. J Ethnopharmacol 2008;116:234–44.
  12. Satrayavivad J, Suksamran A, Tanasomwong W, Tonsuwonnont W, Chantharaksri U. The antiinflammatory action of iridoids obtained from Barleria lupulina. การประชุม Princess Congress I, 10-13 Dec, กรุงเทพฯ :26.
  13. Reanmongkol W, Subhadhirasakul S. Antinociceptive effects of Barleria lupulina extracts in mice. Songklanakarin J Sci Technol 1997;19(2):189-95.
  14. Suba V, Murugesan T, Arunachalam G, Mandal SC, Saha BP. Anti-diabetic potential of Barleria lupulina extract in rats. Phytomedicine 2004;11:202-5.
  15. บุญเกิด คงยิ่งยศ, แจ่มใส เพียรทอง, ทิพยา เอกลักษณานันท์, สนธยา สิมะเสถียรโสภณ. ฤทธิ์ต้านไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ของสมุนไพรไทย. การ ประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 16, 25-27 ต.ค. 2533.
  16. Yoosook C, Panpisutchai Y, Chaichana S, Santisuk T, Reutrakul V.  Evaluation of anti-HSV2 activities of Barleria lupulina and Clinacanthus nutans. J Ethnopharmacol 1999;67:179-87.