หม่อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หม่อน งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หม่อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่นมอน มอน (ภาคอีสาน), ซางเย่ (จีนกลาง), ซึงเฮียะ, ซึงเอี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว), มัลเบอร์รี่ (ประเทศตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn.
ชื่อสามัญ Mullberry tree, White Mulberry.
วงศ์ MORACEAE

ถิ่นกำเนิดหม่อน

โดยทั่วไปแล้วหม่อนที่เรารู้จักกันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ หม่อนที่ปลูกเพื่อรับประทานผล (ชื่อสามัญ Black Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus nigra L.) ชนิดนี้ผลจะโตเป็นช่อ เมื่อสุกผลจะเป็นสีดำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมารับประทาน ทำแยม หรือ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนอีกชนิดนั้นก็ คือ หม่อน ที่ใช้ปลูกเพื่อการเลี้ยงไหมเป็นหลัก (ชื่อสามัญ White Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba L.) ซึ่งเป็นชนิดที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ สำหรับหม่อน (Morus alba Linn.) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้ว มีการแพร่กระจายพันธุ์โดยการนำเช้าไปปลูกตามประเทศภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ไทย รวมไปถึงยังมีการนำไปปลูกที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ในส่วนของประเทศไทยนั้น คาดว่าน่าจะมีการนำหม่อนเข้ามาปลูกตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เพราะปรากฎหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีการก่อตัว "กรมช่างไหม" ขึ้นในปี พ.ศ.2446 และในปัจจุบันการปลูกหม่อนส่วนใหญ่ มักจะปลูกกันมากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน 


ประโยชน์และสรรพคุณของหม่อน
  

  1. เป็นยาขับเหงื่อ
  2. แก้ไข้
  3. แก้ตัวร้อน
  4. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  5. แก้เจ็บคอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น
  6. แก้ไอ
  7. เป็นยาระงับประสาท
  8. แก้ตาแดง แฉะ ฝ้าฟาง
  9. แก้ริดสีดวงจมูก
  10. ขับพยาธิ
  11. ใช้เป็นยาสมาน
  12. แก้อาการติดเชื้อ
  13. รักษาแผลจากการนอนกดทับ
  14. เป็นยาระบายอ่อนๆ
  15. แก้ธาตุไม่ปกติ
  16. แก้โรคปวดข้อ
  17. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
  18. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  19. ช่วยลดไขมันในเลือด
  20. ช่วยแก้อาการท้องผูก
  21. ช่วยรักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง มีกลิ่นฉุนอันเกิดจากความร้อนภายใน
  22. ช่วยแก้ข้อมือข้อเท้าเกร็ง
  23. แก้โรคปวดข้อ ไขข้อ
  24. ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ
  25. ช่วยจัดความร้อนในปอด และกระเพาะอาหาร
  26. แก้อาการปวดศีรษะ ตาลาย และเวียนศีรษะ
  27. แก้แมลงกัด
  28. ช่วยรักษาภาวะตับ และไตพร่อง
  29. ช่วยขับปัสสาวะ
  30. ขับน้ำในปอด
  31. ทำให้เลือดเย็น

           ในอดีต การปลูกหม่อนมุ่งเน้นไปที่การเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหม ต่อมาได้มีการวิจัย และพัฒนางานวิจัยการแปรรูปหม่อน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากการเลี้ยงไหม เช่น ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเล่นเป็นผลไม้ได้ อีกทั้งยังนิยมนำใบมาตากแห้ง และชงดื่มเป็นน้ำชาใบหม่อน ซึ่งจะให้กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ และรสชาติเหมือนชา แต่อมหวานเล็กน้อย บางท้องถิ่น เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ นิยมใบมาปรุงอาหารในเมนูจำพวกต้มต่าง ซึ่งจะเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้นรวมถึงยังมีการนำมาใส่แกงเพื่อใช้ทดแทนผงชูรสได้อีกด้วย

           อีกทั้งผลหม่อนยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม เยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพาย ไอศกรีม นำมาแช่อิ่ม ทำแห้ง ลูกอมหม่อน ทำน้ำหม่อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์ หรือ ไวน์หม่อนมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 ทำให้ผลหม่อนกลายมาเป็นอาหาร เครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และปลอดภัยต่อมนุษย์ เนื้อไม้มีสีเหลือง เนื่องจากมีสาร Morin สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพรได้ เยื่อจากเปลือกของลำต้น และกิ่งมีเส้นใย สามารถนำมาเป็นกระดาษได้ เช่นเดียวกับกระดาษสาลำต้น และกิ่ง ยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์บางชนิดได้อีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใบ 5-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม แก้อาการปวดศีรษะ ตาลาย และเวียนศีรษะ รักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เปลือกรากประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้า และเย็น หรือ จะใช้ใบนำมาทำเป็นชาเขียว ใช้ชงกับน้ำดื่มก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน ใบนำมาอังไฟ และทาด้วยน้ำมันมะพร้าว ใช้วางบนแผล หรือ ตำใช้ทาแก้แมลงกัด เปลือกรากแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม, ส่วนผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ช่วยแก้อาการท้องผูก, ปวดข้อและไขข้อ, ช่วยรักษาภาวะตับและไตพร่อง, ขับปัสสาวะ, ขับน้ำในปอด, ทำให้เลือดเย็น, แก้เจ็บคอ, แก้ไอ, แก้กระหายน้ำ, ปวดศีรษะ ฯลฯ
 

ลักษณะทั่วไปของหม่อน

ต้นหม่อน จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2.5 เมตร บางพันธุ์สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร แตกกิ่งก้านไม่มากนัก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดง สีขาวปนสีน้ำตาล หรือ สีเทาปนขาว ส่วนเปลือกรากเป็นสีน้ำตาลแดง หรือ สีเหลือแดง มีเส้นร้อยแตกที่เปลือกผิว ใบหม่อน เดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะเป็นแบบรูปไข่ หรือ รูปไข่กว้าง ขอบเรียบ หรือ หยักเว้าเป็นพู ขึ้นกับพันธุ์ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม หรือ รูปหัวใจ หรือ ค่อนข้างตัด ใบอ่อนขอบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบ 4 คู่ เส้นร่างแหเห็นชัดด้านล่าง ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบสากคาย ก้านใบเล็กเรียว ยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร หูใบรูปแถบแคบปลายแหลม ยาว 0.2-0.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ รูปทรงกระบอกออกที่ซอกใบ และปลายยอด แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้ และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างช่อกัน วงกลีบรวมสีขาวหม่น หรือ สีขาวแกมเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง เกสรเพศเมีย วงกลีบรวมมี 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน ผลหม่อน เป็นผลที่เกิดจากช่อดอก ผลเป็นผลรวมอยู่ในกระจุกเดียวกัน โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีม่วงดำ เกือบดำ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวานอมเปรี้ยว

หม่อน

ลูกหม่อน

ต้นหม่อน

การขยายพันธุ์หม่อน

การขยายพันธุ์หม่อน ในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการปักชำกิ่งมากที่สุด เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถให้ต้นหม่อน และใบหม่อนที่สมบูรณ์เต็มที่ได้ส่วนวิธีการปักชำมีดังนี้

           เริ่มจากกิ่งพันธุ์หม่อน ที่ใช้ในการปักชำ ควรเป็นกิ่งแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน - 1 ปี ขึ้นไป จนถึง 2 ปี ไม่ควรใช้กิ่งที่มีอายุมากเกินกว่า 2 ปี โดยลักษณะกิ่งที่จะใช้ปักชำนั้นจะออกสีเขียวปนเทา สีเทา หรือ สีน้ำตาลปนเทา โดยการตัดกิ่งควรตัดความยาวประมาณ 15-20 ซม. โดยให้มีตายอด หรือ ตาใบติดประมาณ 2-3 ตา และควรตัดกิ่งทั้งสองด้านเป็นรูปปากฉลาม

           ในการปักชำจะใช้วิธีการปักทั่วไป โดยการเสียบกิ่งลงดินลึกประมาณ 7-10 ซม. โดยให้ตายอดตั้งขึ้น ในแนวเอียงประมาณ 40-50 องศา และระยะการปักชำในแปลงประมาณ 1.5-2 เมตร หลังจากการปักชำอาจรดน้ำ หรือ ไม่ก็ได้ ทั้งนี้ การปักชำที่ให้ได้ผลดีควรปักชำในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เพราะกิ่งจะอาศัยน้ำฝนเติบโตได้เอง และเติบโตได้เร็วอีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมี

            ในใบ มี สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ rutin, quercetin, quercitrin, moracetin, morin, albafuran C, aromadendrin, astragalin, chalcomoracin, kaempferol, kuwanol, kuwanon สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ 1-deoxynojirimyrin Š(DNJ), N-methyl-deoxy-nojirimycin Ēúą 2-O-R-Dgalactopyranosyl-deoxynojirimycin fagomine, nojirimycin, calystegin B-2, 1-deoxy ribitol, zeatin riboside สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ bergapten, marmesin, scopoletin, umbelliferone สารกลุ่มลิกแนน ได้แก่ broussonin A, broussonin B เปลือกรากของต้นหม่อน พบว่ามีสาร Betulinic acid, Mulberrinm, Mulberrochromene, B-amyrin, Cyclomulberrin, Cyclomulberrochromene, Undecaprenol, Dodecaprenol, ยาง, กิ่งหม่อน พบว่ามีสาร Morin, Maclurin, 4-tetrahydroxybenzophenone, Adenine ผลหม่อน พบว่ามีสาร Saccharides, Citric acid, Tannin, Anthocyanidin เนื้อไม้ มี morin ลำต้น มี steroidal sapogenin เปลือก มี α-amyrin ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของหม่อน นั้นมีดังนี้

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหม่อน

โครงสร้างหม่อน

คุณค่าทางโภชนาการ ในผลหม่อน (จากน้ำหนักแห้ง 100 กรัม)

โปรตีน                                                  1.68

คาร์โบไฮเดรต (%)                               21.35

ไขมัน (%)                                             0.47

แคลเซียม (%)                                       0.21

ฟอสฟอรัส (%)                                      0.07

เหล็ก (มก./กก.)                                   43.47

วิตามินเอ (IU/มล.)                               25.00

วิตามินบี 1 (มก./กก.)                            50.65

วิตามินบี 2 (มก./กก.)                            3.66

วิตามินบี 6 (มก./กก.)                          930.10

วิตามินซี (มก./กก.)                                4.16

กรมโฟลิก (มก./กก.)                              6.87

ไนอะซิน (มก./กก.)                                0.72

แทนนิน (มก./กก.)                                  1.06

กรดซิตริก (มก./กก.)                             1.51

เส้นใย                                                    2.03

เถ้า (%)                                                 1.52

ความเป็นกรด-ด่าง (pH)                        5.90

ความชื้น (%)                                        72.95

สารสี                                   แอนโทไซยานิน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหม่อน

สารสกัดจากใบหม่อนมีสารในกลุ่ม Flavonoids โดยในขนาด 581.7 มก./กก. ของน้ำหนักสารสกัดแห้ง เมื่อนำมาทดสอบกับหนูถีบจักรที่ถูกชักนำให้มีระดับไขมันในเลือดสูง พบว่าระดับของ Triacylglycerol, Total Cholesterol, Low density lipoprotein cholesterol ลดจาก 540, 464 และ 200 มก./มล. ตามลำดับ และยังพบว่ามีประสิทธิภาพหลังจากให้กินเป็นเวลา 12 ชั่วโมง จะดีกว่าที่เวลา 6 ชั่วโมง ในขณะที่อัตราส่วนของ High density lipoprotein cholesterol ต่อ Triacylglycerol และ High density lipoprotein cholesterol ต่อ Low density lipoprotein cholesterol เพิ่มขึ้นจาก 0.33 และ 0.52 เป็น 0.42 และ 0.57 ตามลำดับ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดจากใบหม่อนมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ได้แก่ Escherichia coli, Neisseria gonorrheae, Pseudomonas aeruginosa, Proteus vulgaricus, Staphylococcus aureus, Streptococcus faecium และเชื้อราได้แก่ Aspergillus niger, Aspergillus tamari, Fusarium oxysporum, Peniciliumoxalicum ฤทธิ์ควบคุมภาวะเลือดมีน้ำตาลมากเกินหลังอาหาร สารสกัดใบหม่อนด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ disaccharidase ในลำไส้เล็ก ทั้งในหนูแรทปกติและหนูเบาหวาน โดยทำให้การย่อยสลายน้ำตาลเชิงซ้อนช้าลง และการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง เป็นผลให้ระดับกลูโคสหลังอาหารลดต่ำลง ใกล้เคียงกับการให้ยามาตรฐาน ในใบหม่อนมีสารแอลคาลอยด์ที่มีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharides) หรือ ที่เรียกว่า “Azasugars” อยู่หลายชนิด ซึ่งสาร DNJ จะพบมากที่สุด คิดเป็น 50% ของ Azasugars ที่พบในใบหม่อน สาร DNJ เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของใบหม่อน โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-glucosidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว จึงทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้

           สำหรับการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาถึงผลในการลดน้ำตาลของใบหม่อน เพื่อสนับสนุนในการที่จะนำมาใช้รักษาเบาหวาน พบว่ามีการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร ทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลองและการศึกษาทางคลินิก ดังนี้

           ฤทธิ์ยังยั้งเอนไซม์ α-glucosidase การทดสอบในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดน้ำจากใบหม่อน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC₅₀) เท่ากับ 28.11 มคก./มล. สารสกัดด้วยน้ำร้อนจากใบ และสาร DNJ ที่แยกจากสารสกัด มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase โดยสานสกัดจะมีฤทธิ์ดีกว่าสาร DNJ (ค่า IC₅₀) เท่ากับ 7.35 และ  9.39 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ)

           การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ของสารสกัด 50% เอทานอลจากใบหม่อนที่ปลูกในไทย จำนวน 35 พันธุ์ พบว่าฤทธิ์ในการยับยั้งจะสัมพันธ์กับปริมาณของสาร DNJ นั่น คือ พันธุ์ที่มีปริมาณสาร DNJ สูง จะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ได้สูงกว่าชนิดอื่น ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ปริมาณของ DNJ ของใบหม่อนพันธุ์ต่างๆ จะอยู่ระว่า 30-170 มก./กก. นน. แห้ง พันธุ์ที่มีปริมาณสาร DNJ สูง ได้แก่ พันธุ์คำ 60 และบุรีรัมย์ 51 โดยจะพบมากในยอดอ่อน รองลงมา คือ ใบอ่อน และใบแก่

           การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 70% เอทานอล ส่วนสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์, เอทิลอะซีเตท, เอ็น-บิวทานอล และน้ำจากใบหม่อน ในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase พบว่าส่วนสกัดด้วยเอทิลอะซีเตท มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้ง โดยมีค่า IC₅₀ เท่ากับ 171 มคก./มล. เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในสารสกัด พบว่ามีการพบสารใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase อยู่หลายสาร ได้แด่ (2R)/(2S)-euchrenone a₇, chalaomorasin, moracin C, moracin และ D moracin N (ค่า IC₅₀เท่ากับ 6.28, 2.59, 4.04, 2.54 และ 2.76 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ)

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ชาใบหม่อน (ใบหม่อนแห้ง 2.5 ก. แช่ในน้ำร้อน 1 ล. นาน 10 นาที) ขนาด 180 มล./วัน มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหานด้วย streptozotocin ได้ดีกว่ายา glibenclamide (ยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด) ขนาด 10 มล./กก.เมื่อทดลองนาน 4 สัปดาห์ สารสกัดด้วยน้ำร้อนจากใบหม่อนแห้ง ขนาด 80 มก./กก. มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocinได้ เมื่อป้อนหนูปกติ และหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ด้วยสารสกัดด้วยน้ำร้อนจากใบหน่อม (ใบหม่อนแห้ง 3153 ก. ต้มน้ำนาน 2 ชม.) ขนาด 150, 300 และ 600 มก./กก. เป็นเวลา 12 วัน เปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับยา glibenclamide ขนาด 3 มก./กก. พบว่าสารสกัดที่ขนาด 300 และ 600 มก./กก. สามารถลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ แต่มีผลน้อยกว่ายา glibenclamide และไม่มีผลในหนูปกติ นอกจากนี้ยังมีผลปรับปรุงเซลล์ไอส์เลตของตับอ่อน (pancreatin islet cells) ที่ถูกทำลายของหนูที่เป็นเบาหวานให้มีลักษณะดีขึ้น สำหรับการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดในการลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน โดยใช้ oral glucose test พบว่าสารสกัดไม่มีผลลดน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเฉียบพลันทั้งในหนูที่เป็นเบาหวาน และหนูปกติ

           ฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลูโคส การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลูโคสของสารสกัดด้วยน้ำร้อนจากใบ (ใบหม่อนแห้ง 80 ก. สกัดด้วยน้ำร้อนด้วยวิธีเขย่า (sonication) นาน 1 ชม. และสาร DNJ ในเซลล์มะเร็ง Caco-2 และในหนูแรท พบว่าสารสกัดมีผลยับยั้งการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ Caco-2 ขณะที่สาร DNJ ไม่มีผล สารสกัดในขนาดที่เทียบเท่ากับมีปริมาณสาร DNJ 3 มก./กก. มีผลลดน้ำตาลในเลือด และยับยั้งการดูดซึมกลูโคสในลำไส้ของหนูได้ดีกว่าสาร DNJ ขนาด 3 มก./กก. แต่ไม่มีผลยับยั้งการดูดซึมมอสโตส นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งการทดลองในเซลล์ และในหนู การให้สารสกัดก่อนให้สารละลายกลูโคส 15 หรือ 30 นาที จะมีผลลดการดูดซึมกลูโคสได้ดีกว่าการให้พร้อมกัน


การศึกษาทางคลินิกของหม่อน

มีการศึกษาทางคลินิกของใบหม่อนในการลดน้ำตาลในเลือด ทั้งในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน และในคนปกติ ดังนี้

            ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 82 คน อายุระหว่าง 41-74 ปี ที่รับประทานชาชงซึ่งมีส่วนผสมของใบหม่อน ฝักถั่ว (Phaseolus vulgaris) และใบบิลเบอร์รี่ (Vaccinium myrtillus) ในขนาด 150 มล. วันละ 3 ครั้ง นาน 2 เดือน พบว่าผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 74 ราย

            เมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 24 คน อายุ 40-60 ปี รับประทานแคปซูลผงใบหม่อน 500 มก. เท่ากับ 3 ก./วัน) เป็นเวลา 30 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ขนาด 5 มก./วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลใบหม่อนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นแต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม นอกจากนี้ยังมีผลลดคอเลสเตอรอลรวมไตรกลีเซอไรด์ กรดไขมันอิสระ LDL และ VLDL และเพิ่มระดับของ HDL ด้วยขณะที่กลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในร่างกาย ยกเว้นระดับไตรกลีเซอไรด์ที่มีค่าลดลง

            ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงปานกลาง จำนวน 8 คน และผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ จำนวน 5 คน เมื่อให้รับประทานผลใบหม่อน ขนาด 5.4 ก./วัน (วันละ 3 ครั้งๆ ละ 1.8 ก. ร่วมกับน้ำ) เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาล และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลง และไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ ส่วนในคนปกติจะไม่มีผล

           การศึกษาในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือด 100-140 มก./ดล.) จำนวน 12 คน อายุเฉลี่ย 49.7±10.3 ปี โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดจากใบหม่อน ขนาด 1, 2 และ 3 แคปซูล (ซึ่งมี DNJ เท่ากับ 3, 6 และ 9 มก./แคปซูล) ก่อนรับประทานอาหาร (ข้าวต้ม 200 ก.) เป็นเวลา 15 นาที กลุ่มที่ได้รับยาหลอก พบว่าสารสกัดที่มี DNJ ขนาด 6 และ 9 มก. สามารถลดน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารและลดการหลั่งอินซูสินได้

           คนปกติ เมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 24 คน อายุเฉลี่ยน 25.3±0.7 ปี รับประทานผลสารสกัด 80% เอทานอลจากใบหม่อน ขนาด 0.4, 0.8 และ 1.2 ก. (ปริมาณ DNJ เทียบเท่ากับ 6,12 และ 18 มก. ตามลำดับ) จากนั้นให้สารละลายซูโครส 50 ก. พบว่าสารสกัดใบหม่อน ขนาด 0.8 และ 1.2 ก. มีผลลดระดับน้ำตาลและการหลั่งอินซูลินในเลือดได้

           การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 50 คน อายุ 20-50 ปี โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 1.25, 2.5, และ 5 ก. (มี DNJ เท่ากับ 4.5, 9 และ 18 มก.ตามลำดับ) พร้อมกับสารละลายมอลโตส 75 ก. และกลุ่มที่ได้รับสารสกัด ขนาด 5 ก. เป็นเวลา 30 นาที ก่อนให้สารละลายมอลโตส พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบหม่อน ขนาด 2.5 และ 5 ก.จะมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยที่การได้รับสารสกัดก่อน หรือ พร้อมกับอาหาร มีผลในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ไม่แตกต่าง


การศึกษาทางพิษวิทยาของหม่อน

รายงานการวิจัยศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน จากใบหม่อนในสัตว์ทดลอง 2 สายพันธุ์ คือ หนูถีบจักรและหนูขาว โดยให้หนูทั้งสองสายพันธุ์กินสารสกัดจากใบหม่อนในขนาดที่มากกว่า 5 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กก.) ไม่ทำให้สัตว์ทดลองตายในระหว่างการทดลองแต่พบอาการผิดปกติ คือ การหายใจช้าลง ซึม และไม่เคลื่อนไหว แต่อาการดังกล่าวสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ภายใน 30 นาที นอกจากนี้ยังพบรายงานการวิจัยศึกษาความเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรังในหนูขาว โดยให้หนูขาวกินสารสกัดใบหม่อน ขนาด 1, 2 และ 3 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กก.) ต่อวันเป็นเวลา 60 วัน พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและส่วนประกอบในเลือดเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม มีเพียงในขนาดยา 3 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กก.) ต่อวัน เพื่อให้หนูเพศเมีย มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และผลทางพยาธิวิทยา ไม่พบความผิดปกติใดๆ ในทุกอวัยวะที่ทำการศึกษา ส่วนผลการศึกษาอีกฉบับหนึ่งระบุว่า

           มีการศึกษาด้านความเป็นพิษพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดพืชทั้งต้นด้วย 50% เอทานอล เข้าช่องท้องหนูถีบจักร (หนูเม้าส์) ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งมีค่าสูงกว่า 1 ก./กก. น้ำหนักหนู ส่วนสารสกัดเปลือกรากด้วยบิวทานอล หรือ น้ำ ไม่เป็นพิษต่อหนูถีบจักร เมื่อให้กิน ฉีดเข้าทางช่องท้อง หรือ ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 10 ก./กก. 10 ก./กก. หรือ 5 ก./กก. น้ำหนักหนู ตามลำดับ แสดงว่ามีความเป็นพิษน้อยมาก และเมื่อฉีดสารสกัดใบหม่อน 10% เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด 60 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลาติดต่อกัน 21 วัน ไม่พบอาการพิษ ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ไม่ทำลายเม็ดเลือด และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ และเมื่อให้ในขนาดสูงเกิน 250 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคน พบว่ามีพิษต่อตับ ไต และปอด สารสกัดใบหม่อน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. การเลือกใบหม่อนเพื่อทำยา หรือ ทำชาสำหรับดื่ม ควรเลือกใบเขียวสด ดูอวบทั่วทั้งใบ
  2. ไม่ควรใช้ใบหม่อนต่อเนื่อง และในปริมาณที่มากๆ เพราะอาจได้รับสารแทนนินที่มีผลต่อระบบการต่อระบบการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้
  3. หากพบมีอาการแพ้ หรือ มีผลผิดปกติในร่างกายจากการใช้ใบหม่อน ให้หยุดการใช้ทันที
  4. ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase เช่น Acarbose ควรระมัดระวังในการใช้หม่อนร่วมกับยานี้ เนื่องจากหม่อน มีฤทธิ์ยับยั้ง α-glucosidase ได้เช่นกัน ดังนั้นหม่อนอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากได้

เอกสารอ้างอิง หม่อน
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “หม่อน” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 194-195.
  2. อรัญญา ศรีนุศราคัม. ใบหม่อนกับโรคเบาหวาน. บทความ. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. ปีที่ 32. ฉบับที่ 1.ตุลาคม 2557.หน้า 3-9
  3. หม่อน. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=141
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “หม่อน (Mon)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 327.
  5. ผลหม่อน. กระดานถามตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://medpant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5369
  6. วิโรจน์ แก้วเรือง. คอลัมน์ บทความพิเศษ. หม่อนผลไม้เภสัชโภชนาภัณฑ์. นิตยสารหมอชาวบ้าน. ปีที่ 34. เล่มที่ 377. หน้า 30-35
  7. หม่อนฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=125
  8. วิทยา บุญวรพัฒน์. “หม่อน”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 618.
  9. ใบหม่อนฤทธิ์เย็นหรือร้อน. กระดานถามตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://medplat.maindd.ac.th/user/reply.asp?id=5680
  10. หม่อน/ใบหม่อน  (mulberry) ประโยชน์และสรรพคุณหม่อน. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechKaset.com
  11. Vichasilp C, Nakagawa K, Sookwong P, Higuchi O, Luemunkong S, Miyazawa T. Development of high 1-deoxynojirimycin (DNJ) content mulberry tea and use of response surface methodology to optimize tea-making conditions for highest DNJ extraction. LWT - Food Sci Technol 2012;45:226-32
  12. Yang Z, Wang Y, Wang Y, Zhang Y. Bioassay-guided screening and isolation of a- glucosidase and tyrosinase inhibitors from leaves of Morus alba. Food Chemistry 2012;131:617-25
  13. Pakistan Journal of Nutrition. (M.O. Omidiran, R.A. Baiyewu, I.T. Ademola, O.C. Fakorede, E.O. Toyinbo, O.J. Adewumi, E.A. Adekunle). “Phytochemical analysis, nutritional composition and antimicrobial activities of white mulberry (Morus alba)”. (2012), 11(5), 456-460.
  14. Yamada H, Oya I, Nagai T, Matsumoto T, Kiyohara H, Omura S. Screening of alphaglucosidase II inhibitor from Chinese herbs and its application on the quality control of mulberry bark. Shoyakugaku Zasshi 1993;47(1):47-55.
  15. Shivanna Y, Koteshwara R. Alpha glucosidase inhibitory activity of Morus alba. Pharmacologyonline 2009;1:404-9.
  16. Saenthaweesuk S, Thuppia A, Rabintossaporn P, Ingkaninan K, Sireeratawong S. The study of hypoglycemic effects of the Morus alba L. leave extract and histology of the pancreatic islet cells in diabetic and normal rats. Thammasat Med J 2009;9(2):148-55.
  17. Asano N, Yamashita T, Yasuda, K, et al. Polyhydroxylated alkaloids isolated from mulberry trees (Morus alba L.) and silkworms (Bombyx mori L.). J Agri Food Chem 2001;49:4208-13
  18. Chung HI, Kim J, Kim JY, Kwon O. Acute intake of mulberry leaf aqueous extract affects postprandial glucose response after maltose loading: Randomized doubleblind placebo-controlled pilot study. J Functional Foods 2013;5:1502-6.
  19. Tiangda C, Litthilert P, Phornchirasilp S, et al. Hypoglycemic activity of mulberry leaves tea in streptozotocin-induced diabetic rats. Proceedings of the fourth Indochina conference on pharmaceutical sciences, Vietnam, 10-13 Nov 2005: 398- 404
  20. Kwon HJ, Chung JY, Kim JY, Kwon O. Comparison of 1-deoxynojirimycin and aqueous mulberry leaf extract with emphasis on postprandial hypoglycemic Effects: In vivo and in vitro studies. J Agric Food Chem 2011;59:3014-9
  21. Kimura T, Nakagawa K, Kubota H, et al. Food-grade mulberry powder enriched with 1-deoxynojirimycin suppresses the elevation of postprandial blood glucose in humans. J Agric Food Chem 2007;55:5869-74.
  22. Watanabe K, Nakano R, Inoue M, et al. Basic and clinical study. Effects and toxicity studies of the mulberry leaf powder (Morus alba leaves) in volunteers with hyperglycemia and normoglycemia. Niigata Igakkai Zasshi 2007;121(4):191- 200.
  23. Ionescu-Tîrgovişte C, Popa E, Mirodon Z, Simionescu M, Mincu I. The effect of a plant mixture on the metabolic equilibrium in patients with type-2 diabetes mellitus. Rev Med Interna Neurol Psihiatr Neurochir Dermatovenerol Med Interna. 1989;41(2):185-92
  24.  Asai A, Nakagawa K, Higuchi O, et al. Effect of mulberry leaf extract with enriched 1-deoxynojirimycin content on postprandial glycemic control in subjects with impaired glucose metabolism. J Diabetes Invest 2011;2(4):318-23.
  25. Andallu B, Suryakantham V, Srikanthi BL, Reddy GK. Effect of mulberry (Morus indica L.) therapy on plasma and erythrocyte membrane lipids in patients with type 2 diabetes. Clinica Chimica Acta 2001;314:47-53.