กวาวเครือแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กวาวเครือแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กวาวเครือแดง
ชื่อประจำถิ่น กวาวเครือ(เหนือ), จานเครือ(อีสาน), ตานจอมทอง(ชุมพร), โพตะกุ, โพมือ(กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea superba Rox
ชื่อวงศ์ Leguminosae
วงค์ย่อย Papilonaceae
ถิ่นกำเนิดกวาวเครือแดง
กวาวเครือแดงพบอยู่มากในบริเวณที่ราบเชิงเขา และ เชิงเขาป่าเต็งรัง ภูเขาหินปูน ในบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ไม่หนาแน่นนัก มักพบอยู่เป็นกลุ่มๆ ภายในป่า อาจเกิดจากสาเหตุ คือ ติดฝักได้น้อย ฝักมีขนาดใหญ่ ทำให้แพร่กระจายตำแหน่งเดิมได้ยาก ต้นกวาวเครือแดง ที่สร้างพุ่มเอง จะมีลักษณะเตี้ย ส่วนต้นที่เกี่ยวพันกับต้นไม้ใหญ่จะแตกกิ่งไปถึงยอดไม้
ประโยชน์และสรรพคุณกวาวเครือแดง
- บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง
- บำรุงสุขภาพ
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
- เพิ่มจำนวนอสุจิ
- แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย
- แก้ลมอัมพาต
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน
- บำรุงโลหิต
- แก้โรคลมที่เป็นพิษ
- ช่วยบำรุงประสาทและสมอง
- แก้ริดสีดวง
- ทำร้ายพยาธิ
- ช่วยดับพิษ ถอนพิษไข้
- สมานลำไส้
- รสเย็นเบื่อเมา
- แก้พิษงู
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ การศึกษาในอาสาสมัครเพศชาย 17 คน อายุระหว่าง 30–70 ปี ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างน้อย 6 เดือน ให้รับประทานกวาวเครือแดงขนาด 250 มก./แคปซูล วันละ 4 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือน ผลการศึกษาพบว่าระดับฮอร์โมน testosterone ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่ผลจาการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดสมรรถภาพทางเพศ จากอาสาสมัครพบว่าทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น 82.4 % ดังนั้น กวาวเครือแดงจึงช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ และไม่พบการเกิดพิษหรือส่งผลกระทบต่อร่างกาย แสดงให้เห็นถึง สรรพคุณและประโยชน์ของ กวาวเครือแดง โดยเฉพาะสรรพคุณสำหรับท่านชาย และยังเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัย ได้รับการรับรองจาก อย. ว่าหากใช้ไม่เกินที่กำหนดก็ไม่เกิดผลเสียกับร่างกาย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
องค์การอาหารและยาของไทย ระบุขนาดและวิธีใช้ในการรับประทานกวาวเครือแดง ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน
ลักษณะทั่วไปของกวาวเครือแดง
กวาวเครือแดงอยู่ในจำพวกไม้เลื้อย เป็นเถาวัลย์ เนื้อแข็ง มักชอบพาดขึ้นกับต้นไม้ใหญ่
- ใบกวาวเครือแดง ใบใหญ่คล้ายใบต้นทองกวาว แต่ใบใหญ่กว่า
- ดอกกวาวเครือแดง ดอกใหญ่คล้ายดอกแคแสด แต่เป็นพวงระย้าเหมือนดอกทองกวาว
- หัวกวาวเครือแดง มีหลายขนาดลักษณะทรงกระบอก เมื่อสะกิดที่เปลือก จะมียางสีแดง คล้ายเลือดไหลออกมา
- รากกวาวเครือแดง มีรากแขนงขนาดใหญ่ แยกจากเหง้าเลื้อยไปรอบๆ หลายเมตร
การขยายพันธุ์กวาวเครือแดง
ทำได้ 3วิธีดังนี้
- การเพาะเมล็ด โดยการเพาะเมล็ดในกระบะขี้เถ้าแกลบประมาณ 45 วัน นำต้นกล้าที่ได้ ปลูกกวาวเครือแดงลงถุงเพาะชำโดยใช้ดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน เปลือกมะพร้าว 1 ส่วน ค่า pH ประมาณ 5.5 เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ 60 วัน จึงนำลงแปลงปลูกกลางแจ้ง โดยทำด้วยไม้ไผ่ หรือ ปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นในกระบวนการเกษตร เช่น ไผ่ สัก ปอสา หรือ ไม้ผลอื่นๆ พื้นที่ปลูกควรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300-900 เมตร
- การปักชำ นำเถาที่มีข้อมาปักชำในกระบะ หรือถุงที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ เมื่อเถาแตกรากและยอดแข็งแรงดีแล้ว จึงนำลงแปลงปลูกต่อไป
- การแบ่งหัวต่อต้น หัวของกวาวเครือ ไม่มีตาที่จะแตกเป็นต้นใหม่ จำเป็นต้องใช้ส่วนของลำต้นมาต่อเชื่อตามวิธีการปลูกกวาวเครือแดงแบบต่อราก เลี้ยงกิ่ง (nursed root grafting) สามารถนำหัวกวาวเครือขนาดเล็ก อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป และต้นหรือเถาที่เคยทิ้งไปหลังการเก็บเกี่ยวมาขยายพันธุ์ได้ หลังการต่อต้นประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถนำลงปลูกได้ และมีข้อดีคือสามารถต่อต้นกับหัวข้ามสายพันธุ์ได้
องค์ประกอบทางเคมี
ส่วนหัวของกวาวเครือแดงประกอบด้วยสารไฟโตแอนโดรเจน และไอโซฟลาโวลิกแนน 2 ชนิด ได้แก่ Mebicarpin (carpin 3-hydroxy-9methoxypterocarpan); สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ butenin; formononetin (7-hydroxy_-methoxy-isoflavone); (7,4_-dimethoxyisoflayone); 5,4_-dihydroxy-7-methoxy-isoflavone, 7-hydroxy-6,4_-dimethoxyisoflavone Prunetin
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกวาวเครือแดง
โครงสร้างทางเคมีของ butesuperins
ที่มา : Ma et al., 2005
แอนโทไซยานินมีค่าการดูดกลืนแสงในช่วงคลื่น 510-540 นาโนเมตร สารละลายแอนโทไซยานินมีการเปลี่ยนแปลงสีตามค่าความเป็นด่าง (pH) ต่ำจะมีสีแดง pH ปานกลางจะมีสีน้ำเงินม่วงและเมื่อ pH สูงจะมีสีเหลืองซีด
สูตรโครงสร้างพื้นฐานของแอนโทไซยานิน
ที่มา : จุฬาลักษณ์ ทวีบุตร (Harborne,1986 )
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือแดง
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ การทดลองป้อนกวาวเครือแดงในรูปผงป่นละลายน้ำ และสารสกัดกวาวเครือแดงด้วยเอทานอล ให้แก่หนูแรทเพศผู้ ความเข้มข้น 0.25, 0.5 และ 5 มก./มล. พบว่าหนูแรทที่ได้รับผงกวาวเครือแดงแบบละลายน้ำเข้มข้น 0.5 และ 5 มก./มล. เป็นเวลา 21 วัน ทำให้น้ำหนักตัวของหนูแรท และปริมาณอสุจิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และหนูแรทที่ได้รับสารสกัดเอทานอลเข้มข้น 5 มก./มล. 21 วัน มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ seminal vesicles ต่อมลูกหมาก และความยาวขององคชาติ ส่งผลให้หนูแรทมีพฤติกรรมการสิบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เมื่อศึกษาต่อไปถึงระยะ 42 วัน พบว่าหนูแรทที่ได้กินกวาวเครือแดงแบบละลายน้ำ มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ seminal vesicles ต่อมลูกหมาก และความยาวขององคชาติ และพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น แต่หนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดกวาวเครือแดงด้วยเอทานอล กลับมีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ seminal vesicles ลดลง การศึกษาผลของกวาวเครือแดงในระยะยาว และในปริมาณสารสกัดที่มากขึ้น พบว่าทำให้ระดับฮอร์โมน testosterone ของหนูแรทลดลง และปริมาณเอนไซม์ตับสูงขึ้น ดังนั้นการรับประทานกวาวเครือแดงมากเกินไป อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้
การศึกษาทางพิษวิทยากวาวเครือแดง
การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังในงานวิจัยกวาวเครือแดง กับหนูวิสตาร์เพศผู้โดยป้อนผงกวาวเครือแดงในขนาด 10, 100, 150 และ 200 มก./กก/วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่าหนูที่รับในขนาด 150 มก./กก/วัน น้ำหนักของม้ามเพิ่มขึ้น ระดับเอนไซม์ alkalinephosphatase (ALP) และ aspartate aminotransferase (AST) เพิ่มขึ้น หนูที่ได้รับขนาด 200 มก./กก/วัน พบว่ามีเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ลดลง ส่วนเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil ระดับ serum creatinine ลดลงระดับฮอร์โมน testosterone ลดลง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ในขนาดสูงเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ต่างๆได้
ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง
พืชชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นยา เช่นเดียวกับกวาวเครือขาว แต่มีพิษมากกว่า หากรับประทานกวาวเครือแดงมากอาจเป็นอันตรายได้อาจทำให้มึนเมาคลื่นไส้อาเจียน. และมีพิษเมามากกว่ากวาวเครือขาว
เอกสารอ้างอิง กวาวเครือแดง
- กวาวเครือแดงฐานข้อมูลเครื่องยา (http://www.thaicrudedruy.com/main.php?aetion=viwpage&pid=158)
- วิชัย เชิงชีวศาสตร์ 2552, นวัตกรรมสมุนไพรกวาวเครือขาว หน้า 18
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก www.thaicrudedrug.com(16 ต.ค.2013)
- สมโภชน์ ทับเจริญ การขยายพันธุ์กวาวเครือโดยวิธีการแบ่งหัวต่อต้น. เอกสารประกอบการสัมมนางานประชุมวิชาการกวาวเครือ วันที่ 13 กันยายน 2545 ณ.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี :11 [Fitoterapia 77 (2006) 435-438]
- พิชานันท์ ลีแก้ว 2553. โรคหย่อยสมรรถภาพทางเพศในจุลสารข้อมูลสมุนไพร 28(1):12-13[Maturitas 60 (2008) 131-137]
- หลวงอนุสารสุนทร, ตำรายาหัวกวาวเครือ. กรมการพิเศษ เชียงใหม่ โรงพิมพ์ อุปะติพงษ์ พฤษภาคม 2474
- พิชานันท์ ลีแก้ว.2553. โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ. ในจุลสารข้อมูลสมุนไพร 28 (1):12-13.
- ประเสริฐ ประสงค์ผล จิราพร โรจน์ทินกร และ จงกล พรมยะ, รายงานผลการวิจัย เรื่อง สารสกัดสมุนไพรไทยเร่งการเจริญพันธุ์ในปลานิล โครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการ : ระบบการผลิตสัตว์น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่ออาหารปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2557, หน้า 14
- จุฬาลักษณ์ ทวีบุตร, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช เรื่อง การเพิ่มการสะสมแอนโทไซยานินในรากสะสมอาหารของกวาวเครือแดง (Butea superba Roxb.) ด้วยเอทีฟอนและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดกวาวเครือแดง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2551, หน้า 8 Harbone, 1986