โกฐน้ำเต้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โกฐน้ำเต้า งานวิจัยและสรรพคุณ 21ข้อ
ชื่อสมุนไพร โกฐน้ำเต้า
ชื่ออื่นๆ ตั่วอึ๊ง (จีนแต้จิ๊ว) , ต้าหวาง (จีนกลาง) , เยื่อต้าหวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rheum palmatum L. หรือ R. tanguticum Maxim. EX Balf. หรือ R. officinale Baill.
ชื่อสามัญ Rhubarb
วงค์ POLYGONACEAE
ถิ่นกำเนิดโกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้าเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบยุโรป และเอเชีย ในประเทศอินเดีย จีน ทิเบต รัสเซีย
สถานที่พบในประเทศจีน 青海、四川、陕西、甘肃、云南、西藏、宁夏、贵 州、湖北
Qīnɡhǎi、Sìchuān、Shǎnxī、Gānsù、Yúnnán、Xīzànɡ、Nínɡxià、
Guìzhōu、Húběi ชิงไห่ เสฉวน ส่านซี กานซู่ ยูนนาน ทิเบต หนิงเซี่ย กุ้ยโจว หูเป่ย
ประโยชน์และสรรพคุณโกฐน้ำเต้า
- มีฤทธิ์ระบาย ขับของเสียตกค้างภายในกระเพาะอาหารและลำไส้
- มีฤทธิ์ระบายความร้อน ขับสารพิษในร่างกาย
- ขับพิษร้อน ขับพิษ
- แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดา ตาแดง คอบวม เหงือกบวม
- ใช้แก้สตรีประจำเดือนไม่มาเนื่องจากมีเลือดคั่ง
- แก้ฟกช้ำ ช้ำใน เลือดคั่ง ปวด บวม
- บำรุง ปอด หัวใจ
- ช่วยห้ามเลือด
- ช่วยระบายความร้อน
- แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย
- บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย
- ขับลมในลำไส้
- ขับปัสสาวะและอุจจาระให้เดินสะดวก
- แก้เจ็บตา
- แก้ริดสีดวงทวาร
- มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- ลดความดันโลหิต
- ต้านเชื้อรา
- ต้านการชัก
- ต้านพิษต่อตับและไต
- ต้านไวรัส
รูปแบบและขนาดวิธีใช้โกฐน้ำเต้า
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เนื่องจากโกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์ถ่ายรุนแรง ดังนั้นเวลาต้มให้ใส่ทีหลัง และหากนำไปนึ่งกับเหล้าจะทำให้ฤทธิ์ถ่ายน้อยลง แต่ช่วยปรับการหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้น
หากเป็นเหง้าแห้ง ให้ใช้ครั้งละประมาณ 3-12 กรัม (บ้างว่าใช้ในขนาด 3-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม แต่ถ้าเป็นเหง้าแบบที่บดเป็นผงมาแล้วให้ใช้ครั้งละประมาณ 1-1.5 กรัม
โกฐน้ำเต้าจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีฉันทลามก” ซึ่งในตำรับประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 อย่าง ได้แก่ โกฐน้ำเต้า รงทอง และสมอไทย ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ไข้เพื่อเสมหะ ขับลม ถ่ายโลหิตและน้ำเหลือง
ลักษณะทั่วไปโกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้าเป็นเหง้าและรากแห้งของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งใน 3 ชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rheum officinal Baill., R.palmatum L. และ R.tanguticum (Maxim. Ex Regel) Maxim.ex Balf. ในวงค์ Polygonaceae หรือ เหง้าและรากแห้งของพืช 2 หรือ 3 ชนิดข้างต้นปนกัน โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มที่มีความสูงของต้นประมาณ 2 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากและมีใบเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเรียบมัน มีลายเล็กน้อยและไม่มีขนปกคลุม มีเหง้าอยู่ใต้ดินขนาดป้อมและใหญ่ เนื้อนิ่ม ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นโพรงกลวงและมียางสีเหลือง
ใบโกฐน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ เป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ มีประมาณ 3-7 แฉก มีขนาดกว้างและยาวใกล้เคียงกัน ใบมีขนาดประมาณ 35-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อยเล็กน้อย หน้าใบและหลังใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบมีขนาดใหญ่และยาว ตรงบริเวณก้านใบมีขนสีขาวปกคลุมอยู่
ดอกโกฐน้ำเต้า ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งก้าน ดอกเป็นข้อ ๆ ในก้านช่อกิ่งหนึ่งจะมีประมาณ 7-10 ช่อ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ดอกย่อยจะแยกออกเป็นแฉก 6 แฉก ดอกมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น 2 ชั้น ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9 อัน
ผลโกฐน้ำเต้า ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายสามเหลี่ยม บริเวณเหลี่ยมจะมีเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ ผลเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคม
การขยายพันธุ์โกฐน้ำเต้า
ปัจจุบัน โกฐน้ำเต้านิยมปลูกกันมากในประเทศจีน เพราะลักษณะอากาศ และดินเหมาะสมกับพืชชนิดนี้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกลำต้น และวิธีการเพาะเมล็ด การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวราก และเหง้าปลายฤดูใบไม้ร่วงเมื่อลำต้น และใบเหี่ยวหรือเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิถัดไปก่อนแตกหน่อ แยกรากฝอยและเปลือกนอกทิ้ง นำสมุนไพรมาหั่นเป็นแว่นหรือเป็นท่อน ๆ ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในสถานที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
องค์ประกอบทางเคมีของโกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้ามีสารสำคัญกลุ่ม anthraquinones ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร hydroxyanthracene แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มย่อย free anthraquinones เช่น chrysophanol , emodin, rhein, alo-emodin, physcion กลุ่มย่อย anthraquinone glycosides เช่น rheinoside A-D, chrysophanein, glucoemodin, palmatin และกลุ่มย่อย biathrones เช่น sennoside A-F, rheidin A-C นอกจากนั้นในโกฐน้ำเต้ายังมีสารกลุ่ม tannins ด้วย
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกฐน้ำเต้า
Emodin Aloe emodin
Rhein chrysophanol
Physcion
สูตรโครงสร้างสาระสำคัญที่พบมากในสมุนไพรโกฐน้ำเต้า
คุณค่าทางโภชนาการของโกฐน้ำเต้าดิบ(ไม่ระบุว่าส่วนใด แต่เข้าใจว่าคือส่วนของก้านใบ)ต่อ 100 กรัม
• พลังงาน 88 กิโลแคลอรี
• คาร์โบไฮเดรต 4.54 กรัม
• น้ำตาล 1.1 กรัมผักโกฐน้ำเต้า
• เส้นใยอาหาร 1.8 กรัม
• ไขมัน 0.3 กรัม
• โปรตีน 0.8 กรัม
• วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 2 0.03 มิลลิกรัม 3%
• วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 5 0.085 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 6 0.024 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 9 7 ไมโครกรัม 2%
• โคลีน 6.1 มิลลิกรัม 1%
• วิตามินซี 8 มิลลิกรัม 10%
• วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินเค 29.3 ไมโครกรัม 28%
• ธาตุแคลเซียม 86 มิลลิกรัม 9%
• ธาตุเหล็ก 0.22 มิลลิกรัม 2%
• ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
• ธาตุแมงกานีส 0.196 มิลลิกรัม 9%
• ธาตุฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม 2
• ธาตุโพแทสเซียม 288 มิลลิกรัม 6%
• ธาตุโซเดียม 4 มิลลิกรัม 0%
• ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่
ฤทธิ์ทางเภสัชของโกฐน้ำเต้า
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า สาระสำคัญในโกฐน้ำเต้า โดยเฉพาะ sannosides A – F และ rheinosides A – D ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวชองลำไส้ใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่มากขึ้น จึงแสดงฤทธิ์เป็นยาถ่าย โดยมีฤทธิ์ฝาดสมานร่วมด้วยอันเนื่องมาจากฤทธิ์ของ tannins ซึ่งสอดคล้องกับตำราสรรพคุณยาไทยว่าโกฐน้ำเต้ามีสรรพคุณขับลมสู่คูถทวาร ทำให้อุจจาระปัสสาวะเดินสะดวก เป็นยาระบายชนิด “รู้เปิดรู้ปิด”
โกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นการขับน้ำดี ลดความดันโลหิต ทำให้เกล็ดเลือดจับกันเป็นลิ่ม ช่วยลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมโลหิตของเส้นเลือดฝอย กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตแดง และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้อีกหลายชนิด
ฤทธิ์ปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายด้วยยาพาราเซตามอลของสารสำคัญจากโกฐน้ำเต้า
การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับและไตของสาร rhein (4,5-dihydroxyanthraquinone-2-carboxylic acid) ซึ่งเป็นสารสำคัญจากโกฐน้ำเต้า (Rheum officinale) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยการกรอกยาพาราเซตามอล (acetaminophen) ขนาด 2.5 ก./กก. ร่วมกับการได้รับสาร rhein ขนาด 10, 20 หรือ 40 มก./กก. พบว่าการกรอกยาพาราเซตามอลในขนาดดังกล่าวทำให้ระดับ glutamate-pyruvate transaminase, glutamate-oxaloacetic transaminase, total bilirubin, creatinine และ urea nitrogen ในเลือดเพิ่มขึ้น เซลล์และเนื้อเยื่อของตับและไตถูกทำลาย ระดับของ reactive oxygen species, nitric oxide และ malondiadehyde ในตับและไตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ glutathione ลดลง ซึ่งการที่หนูได้รับสาร rhein สามารถทำให้ความเป็นพิษต่อตับและไตข้างต้นลดลง โดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาร rhein มีฤทธิ์ในการปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายด้วยยาพาราเซตามอล
การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐน้ำเต้า
เมื่อป้อนสารสกัดโกฐน้ำเต้าด้วย 70% เมทานอลให้หนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 2.0 กรัม/กิโลกรัม12 เมื่อคนรับประทานสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 5 มิลลิลิตร ไม่พบพิษต่อตับ13 เมื่อป้อนสารสกัดให้หนูถีบจักรหรือหนูขาวในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
• ห้ามใช้โกฐน้ำเต้าในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งหรือมีอาการปวดเฉียบพลันในช่องท้อง ไตอักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ
• การใช้โกฐน้ำเต้าในปริมาณเกินขนาดอาจทำให้มีอาการปวดเฉียบพลัน มีอาการมวนเกร็งในลำไส้ และอุจจาระเหลวเหมือนน้ำ ดังนั้นคุณควรเลือกใช้โกฐน้ำเต้าเฉพาะในเมื่อไม่สามารถแก้อาการท้องผูกได้ด้วยวิธีอื่นแล้วเท่านั้น เช่น การปรับเปลี่ยนโภชนาการหรือการใช้ยาระบายชนิดที่ช่วยเพิ่มเส้นใยอาหาร หากใช้วิธีอื่น ๆ แล้วอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ก็ขอให้ใช้เป็นโกฐน้ำเต้าเพื่อเป็นยาแก้ท้องผูกเป็นตัวเลือกสุดท้าย
• ในกรณีที่ใช้โกฐน้ำเต้าแล้วมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก หรือเมื่อใช้ในขนาดสูงแล้ว ลำไส้ยังไม่เกิดการเคลื่อนไหว อาจบ่งถึงภาวะรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายได้
• การใช้โกฐน้ำเต้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่าที่กำหนดอาจทำให้ลำไส้เกิดความเคยชินได้
เอกสารอ้างอิง
1. กันยารัตน์ ชลสิทธิ์ , สรินยา จุลศรีไกวัล , ศุภกร จันทร์จอม . ข้อกำหนดทางเคมีและกายภาพของโกฐน้ำเต้า.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ .ปีที่ 57 .ฉบับที่ 4 . ตุลาคม – ธันวาคม 2558 . หน้า 352 – 362
2. The State Pharmacopeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China Vol. I. Beijing: People’s Medical Publishing House; 2005.
3. Henriette’s Herbal Homepage. Photo: Rheum tanguticum 2. [online]. 2005; [cited 2015 August 20]; [1 screen]. Available from: URL: http://www.henriettes-herb.com/galleries/photos/r/rh/rheum-tanguticum-2.hhtml.
4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์ . คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 5 คณาเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์; 2547. หน้า 106-9.
5. WHO monograph on selected medicinal plants Vol. 1 Geneva: World Health Organization; 1999. P. 231-40
6. สุธิดา ไชยราช. ข้อมูลทั่วไปของพืชที่เป็นส่วนประกอบ. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง และอังคณา หิรัญสาลี , คณะบรรณาธิการ.ยาธรณีสันฑะฆาต : คุณภาพวัตถุดิบและความปลอดภัยของตำรับ. นนทบุรี : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2555.หน้า 56-7.
7. ราชบัณฑิตยสถาน. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์; 2546. หน้า 410-1.
8. Leng-Peschlow E. Dual effect of orally administered sennosides on large intestine transit and fluid absorption in the rat. J Pharm Pharmacol 1986; 38(8): 606-10.
9. De Witte P. Metabolism and pharmacokinetics of anthranoids. Pharmacology 1993; 47(Suppl 1):86-97.
10. สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556.[ออนไลน์]. 2556; [สืบค้น 10 ส.ค. 2558]; [22 หน้า]. เข้าถึงได้ที่ : URL: http://drug.fda.moph.go.th/zone_law/law043.asp.
11. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “โกฐน้ำเต้า“. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 108.
12. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โกฐน้ำเต้า“. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 79-80.
13. เมชฌ สอดส่องกฤษ . ข้อมูลสมุนไพรจีน . พิมพ์ครั้งที่ 1 .โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.2558.หน้า 44
14. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
15. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
16. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
17. Reynolds JEF (ed.). Martindale: The extra pharmacopoeia. 30th ed.. London: Pharmaceutical Press, 1993.
18. Blumenthal M, Busse WR, Goldberg A, Gruenwald J, Hall T, Riggins CW, Rister RS (eds.) The complete German Commission E monographs, Therapeutic guide to herbal medicine. Austin (TX): American Botanical Council, 1988.
19. Li R, Wang BX. Radix et Rhizomarbei: da huang. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.