กีบแรด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กีบแรด งานวิจัยและสรรพคุณ 22ข้อ
ชื่อสมุนไพร ว่านกีบแรด
ชื่ออื่นๆ กีบม้าลม(เหนือ) , ดูกู(มาเลเซีย/มลายู) , ว่านกีบม้า (กลาง) , ปากูปี , ปากูดาฆิง (ใต้) ,เฟิร์นกีบแรด ฝักกูดยักษ์ เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Angiopteris evecta (G. Forst.) Hoffm.
ชื่อสามัญ Giant Fern, King Fern
วงศ์ MARATTIACEAE
ถิ่นกำเนิดกีบแรด
ว่านกีบแรดเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ไต้หวัน , มาเลเซีย ,ออสเตรเลีย นิวกินี และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบขึ้นเองตามสภาพของเขา ตามป่าชื้น ป่าดิบเขาที่มีร่มเงาและมีความชื้นสูง ใกล้แหล่งน้ำ ตามที่รกร้างทั่วไป โดยเฉพาะตามห้วยต่าง ๆ
ประโยชน์และสรรพคุณกีบแรด
- เป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ
- เป็นยาลดบวม
- ขับปัสสาวะ
- แก้ปวดเมื่อย
- รักษาแผลในปากและคอ
- บำรุงเลือดและบำรุงกำลัง
- ใช้เป็นยาลดความดัน
- ยาแก้กำเดา
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ
- ช่วยแก้ตาเจ็บ
- ช่วยแก้น้ำลายเหนียว
- แก้อาเจียน
- ขับปัสสาวะ
- แก้ท้องร่วง
- ใช้เป็นยาแก้ฝีหัวคว่ำ
- รักษาพิษตานซางของเด็ก
- แก้ท้องอืด
- รักษาโรคมะเร็ง
- โรคหัวใจ
- เป็นยาบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส
- รากเป็นยาห้ามเลือด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้กีบแรด
ยอดอ่อน ทุบแล้วนำไปต้ม เอามาประคบหัวเข่า แก้อาการปวด (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) นำมาสับแล้วตากให้แห้ง นำมาบดผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า ดีปลี และพริกไทย ปั่นเป็นลูกกลอน กินเป็นยาบำรุงกำลัง ตำรับยาแก้อาการนอนไม่หลับ ระบุให้ใช้ว่านกีบแรด รากหญ้าคา รากหญ้านาง และเนระพูสี อย่างละพอสมควร นำมาต้มให้เดือด ใช้ดื่มก่อนนอน 1 แก้ว จะช่วยทำให้หลับสบายดี หัวกีบแรดใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬหัวกีบแรดใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้แผลในปากและในคอ ด้วยการใช้หัวว่านกีบแรด นำมาฝนกับน้ำหรือต้มเคี่ยว ใช้เป็นยาทาหรืออมไว้ให้ตัวยาสัมผัสกับแผล ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้โคนก้านใบที่อยู่ใต้ดินนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการตัวบวม หัวนำมาหั่นตากดองกับเหล้าหรือต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดหลัง ปวดเอว ว่านกีบแรดจัดอยู่ในตำรับยา “ยาเขียวหอม”ซึ่งเป็นตำรับยามีส่วนประกอบของว่านกีบแรดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับโดยมีสรรถคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส
ลักษณะทั่วไปกีบแรด
เฟินกีบแรด เป็นเฟินดิน ชอบร่มเงา และต้องการความชื้นในอากาศสูง ในประเทศไทยพบทั่วไปตามป่าดิบเขาที่มีร่มเงาและความชื้นสูง มีข้อสันนิษฐานว่า เฟินกีบแรดต้องอาศัยอยู่ร่วมกับเชื้อราที่ระบบรากของกีบแรด เพื่อให้เชื้อราช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ให้กลายเป็นธาตุอาหารให้กับรากของกีบแรดดูดซึมเข้าไป โดยลำพังมันไม่สามารถดูดซับเองได้ และกีบแรดแลกเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กับเชื้อราคืนด้วย หากไม่มีเชื้อรา กีบแรดอาจจะไม่เจริญเติบโตได้
ลักษณะต้นกีบแรด เป็นเฟินที่มีขนาดใหญ่ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ฝังที่ระดับผิวดิน เป็นเนื้ออวบอ้วน ที่หัวมีร่องรอยบุ๋มรอบหัว ซึ่งเกิดจากขั้วของก้านใบที่หลุดออก เหลือไว้เป็นร่อง มองดูคล้ายกีบเท้าแรด สมชื่อที่เรียกว่า กีบแรด เคยมีคนบอกว่า เห็นที่เชียงใหม่ ขนาดของหัวใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 ม.
ใบว่านกีบแรด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบรวมทั้งหมดยาวประมาณ 1.8-4.5 เมตร และกว้างได้ถึง 2 เมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนไม่เท่ากันหรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ และเบี้ยว ส่วนขอบใบจักมน จักเป็นฟันเลื่อย หรือจักถี่ ๆ ตลอดทั้งขอบใบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา อวบน้ำ มีเมล็ดสีน้ำตาล หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบอิสระแยกสาขาเป็นคู่ จำนวนมาก ก้านใบย่อยบวม ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ก้านใบร่วมมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบกลม ตามใบแก่จะมีอับสปอร์สีน้ำตาล เรียงติดกันเป็นแถวอยู่ใกล้กับขอบใบตรงด้านท้องใบ กลุ่มอับสปอร์จะอยู่ห่างจากขอบใบประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรี ประกอบด้วย 7-12 อับสปอร์ ผนังเชื่อมติดกัน ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
หัวกีบแรด จะมีลักษณะคล้ายกับกีบเท้าของแรดหรือกระบือ หัวนั้นจะเป็นสีน้ำตาลแก่ แต่ถ้าหักหัวดูภายในเป็นสีเหลืองเหมือนขมิ้น และมีรสเย็นฝาด
การขยายพันธุ์กีบแรด
ใช้สปอร์ หรือ ใช้กีบด้านข้างลำต้น นำไปชำในที่ร่มและชื้น แต่ใช้ระยะเวลานานมากกว่าจะแตกตาต้นใหม่
การปลูกเลี้ยงกีบแรด : ฝังหัวเหง้าลงตื้นๆ ให้หัวโผล่อยู่ที่ผิวเครื่องปลูก สำหรับวัสดุปลูก ชอบสภาพเป็นกรดเล็กน้อย มีใบไม้ผุมากๆ และโปร่ง ผสมทรายหยาบบ้าง เพื่อให้ระบายน้ำและระบบรากถ่ายเทอากาศดี ชอบแสงรำไรและอากาศชุ่มชื้น เหมาะปลูกเป็นสวนป่า หรือปลูกลงกระถางก็สวยงามดี หากปลูกในกระถาง ควรเลือกกระถางให้ใหญ่กว่าหัวมากหน่อย แต่หากปลูกลงดิน จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า ปกติให้ใบใหม่ช้า แต่เมื่อใบอ่อนเริ่มงอก จะโตได้รวดเร็ว และไม่ทิ้งใบบ่อย ต้นที่ปลูกอยู่บ้าน แต่ละใบอยู่ให้เห็น 1-2 ปี ในช่วงที่ออกใบอ่อนใหม่ หากมีช่วงขาดน้ำ เมื่อได้รับน้ำอีกครั้ง มันจะเกิดเป็นปุ่มตาที่ก้านใบ ที่ดูเหมือนเป็นข้อที่ก้านใบ
องค์ประกอบทางเคมีของกีบแรด
เมื่อนำเหง้าของว่านกีบแรด Angiopteris evecta Hoffm. ที่สดและบดละเอียด มาสกัดด้วยตัวทำละลายสารอินทรีย์ ประกอบด้วย เมทานอล เฮกเซน และเอธิลแอซิเตต ตามลำดับ นำสารสกัดหยาบแต่ละชนิด ไปทำการแยกด้วยเทคนิคทางคอลัมน์โครมาโตกราฟีแยกสารได้ 4 ชนิด ทำการหาสูตรโครงสร้างของสารที่แยกได้ทั้ง 4 ชนิดโดยอาศัยสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี ข้อมูลทางสเปกโตรสโคปี และการวิเคราะห์ทางเอ็กซ์เรย์ คริสตอลโลกราฟี สามารถพิสูจน์โครงสร้างได้ คือ Succinic acid (1) Angiopteroside (4-o-beta-D-Glucopyranosyl-L-threo-2-hexen-5-olide) monohydrate (2) D-(+)-glucose (3) และของผสมของสเตอร์รอยด์ 2 ชนิด ได้แก่ beta-sitosterol และ Stigmasterol (4) จากการวิจัยพบว่าสารประกอบเหล่านี้พบครั้งแรกในเหง้าว่านกีบแรด นำสาร 2 ไปทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบว่า สาร 2 มีฤทธิ์น้อย นอกจากนี้ยังพบว่าสาร 2 มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์เอชไอวี-1 รีเวอร์ทรานสคริปเทสได้
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกีบแรด
Angiopteroside |
Succinic acid |
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
กูดกีบม้าก็เหมือนกับสมุนไพรพื้นบ้านไทยอื่นๆ ที่มีการศึกษาวิจัยน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานการศึกษาในห้องทดลองพบว่า สารในกูดกีบม้ามีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง แต่เป็นฤทธิ์อ่อน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล การศึกษาทางพิษวิทยาในว่านกีบแรด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
การใช้ว่านกีบแรด โดยเฉพาะส่วนหัวนั้นส่วนมากจะนิยม ใช้คู่กับว่านร่อนทอง (Globba malaccen sis Ridl.) เพราะเสริมฤทธิ์กันได้ดี
เอกสารอ้างอิง
1. ว่านกีบแรด ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
2. เต็ม สมิตตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
3. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2548. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 , รวมสาส์น (1977) จำกัด. กรุงเทพฯ.
4. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านกีบแรด (Wan Kip Raet)”. หน้า 273.
5. Chemical constituents and biological activity of Argiopteris evecta Hoffm. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.researchgate.net/publication/27806336_Chemical_constituents_and_biological_activity_of_evecta_Hoffm
6. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านกีบแรด”. หน้า 51.
7. ว่านกีบแรด.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/w/wndex.php?title=ว่านกีบแรด&oldid=636121
8. ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล.2541.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขม ชาวลั๊วะและชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่านวิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่242หน้า
9. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ว่านกลีบแรด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [25 ต.ค. 2014].
10. กูดกีบม้า...ยาม้าปนแรด.กลุ่มรักเขาใหญ่.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.rakkhaoyai.com/jungle-path/1958