ตะไคร้ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะไคร้ งานวิจัยและสรรพคุณ 24 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะไคร้
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จักไคร (ภาคเหนือ), คาหอม (ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน), ไคร (ภาคใต้), สิงไคร, หัวสิงไคร (อีสาน), ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เชิดเกรย, เหลอะเกรย (เขมร)
ชื่อสามัญ Lemongrass, West Indian lemongrass, Sweet rush
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
วงศ์ GRAMINEAE


ถิ่นกำเนิดตะไคร้

ตะไคร้ เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยเรามาตั้งแต่อดีตแล้ว ทั้งนี้เพราะตะไคร้ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ไทย, พม่า, ลาว, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดียว, ศรีลังกา เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถพบได้ในประเทศเขตร้อนบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว ตะไคร้ จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า และสามารถแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม, ตะไคร้กอ, ตะไคร้ต้นตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค และตะไคร้หางสิงห์

 

ประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้

  1. ช่วยขับลม
  2. ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด
  3. แก้อาการเกร็ง
  4. ช่วยขับเหงื่อ
  5. แก้โรคทางเดินปัสสาวะ
  6. แก้อาการขัดเบา
  7. แก้นิ่ว
  8. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  9. แก้เบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหาร
  10. ช่วยย่อยอาหาร
  11. ลดความดันโลหิต
  12. แก้กษัย
  13. เป็นยารักษาเกลื้อน
  14. แก้ไข้หวัด
  15. ช่วยขับประจำเดือน
  16. ช่วยขับระดูขาว
  17. ใช้ภายนอกทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ
  18. ช่วยขับเหงื่อ
  19. แก้กระหายน้ำ
  20. ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  21. บรรเทาอาการหวัด อาการไอ มีเสมหะ
  22. ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ
  23. ช่วยในการรักษาอหิวาตกโรค
  24. ใช้รักษาอาการเมาค้าง

           ใช้ส่วนของเหง้า ลำต้นและใบของตะไคร้ เป็นส่วนประกอบของอาหารที่สำคัญหลายชนิดเช่น ต้มยำ และอาหารไทยหลายชนิด อีกทั้งใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารสำหรับดับกลิ่นคาวเช่นเดียวกับ ขิง ข่า ใบมะกรูด ให้อาหารมีกลิ่นหอม และปรับปรุงรสให้น่ารับประทานมากขึ้น สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำตะไคร้ น้ำตะไคร้ใบเตย ช่วยดับร้อน แก้กระหายได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น เครื่องปรุงอบแห้ง ตะไคร้แห้งสำหรับชงดื่ม นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น

ตะไคร้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้รักษาอาการขัดเบา เหง้า และลำต้นสด หรือ แห้ง 1 กำมือ หรือ น้ำหนักสด 40-60 กรัม แห้ง 20-30 กรัม ทุบต้มกับน้ำพอควร แบ่งดื่ม 3 ครั้งๆ ละ 1 ถ้วยชา (75  มิลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือ จะหั่นตะไคร้ คั่วด้วยไฟอ่อนๆ พอเหลือง ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้  5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร ใช้รักษาท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด ใช้เหง้าและลำต้นสด 1 กำมือ น้ำหนัก 40-60 กรัม ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เดือด 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ ครั้งละ 1/2 แก้ว วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร

          การใช้ตะไคร้ รักษาอาการแน่นจุกเสียด ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

  • นำตะไคร้ทั้งต้นรวมทั้งรากจำนวน 5 ต้น สับเป็นท่อน ต้มกับเกลือ เติมน้ำต้ม 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ติดต่อกัน 3 วัน จะหายปวดท้อง
  • นำลำต้นแก่สดๆ ทุบพอแหลกประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม 

            ใช้รักษาอาการเมาค้าง ใช้ต้นสดโขลกคั้นเอาน้ำดื่มแก้อาการเมาในกรณีผู้ที่เมามากๆ ช่วยให้สร่างเร็ว
 

สรรพคุณทางการแพทย์แผนปัจจุบัน 

ที่ได้มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกผลปรากฏว่า น้ำยาบ้วนปากจากตะไคร้สามารถช่วยลดกลิ่นปากที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิดลงได้ และพบว่ามีความปลอดภัยจากการใช้งานในกลุ่มผู้ถูกทดลอง แม้ยังคงต้องมีการปรับปรุงกลิ่นฉุน และรสชาติจากตะไคร้เพิ่มเติมต่อไป อีกทั้งในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากตะไคร้มีอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคเกลื้อนอยู่ที่ประมาณ 60% ในขณะที่ตัวยาคีโตโคนาโซลมีประสิทธิผลทางการรักษาสูงกว่า คือ อยู่ที่ 80% มีการทดลองประสิทธิภาพของตะไคร้ด้วยการทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันตะไคร้ลงบนแขนของผู้อาสาสมัครทดลอง แล้วให้ผู้ทดลองอยู่ในบริเวณที่มีตัวริ้นชนิด Culicoides Pachymerus อยู่อย่างชุกชุม โดยทดลองซ้ำๆ 10 ครั้ง เพื่อทดสอบประสิทธิผลทางการป้องกันภายใน 3-6 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่า โลชั่นที่มีส่วนผสมของตะไคร้ มีประสิทธิผลทางการป้องกันตัวริ้นชนิดนี้ได้สูงสุดถึงประมาณ 5 ชั่วโมง ส่วนการทดลองถึงประสิทธิภาพของตะไคร้ในการป้องกันยุงก้นปล่องสายพันธุ์ Anopheles Arabiensis ในอาสาสมัครทดลองเพศชาย 3 คน พบว่ายากันยุงที่มีส่วนผสมของตะไคร้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้ยาวนานที่ประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนในเรื่องการกำจัดรังแคนั้น มีงานทดลองหนึ่งในไทยที่นำเอาน้ำมันสกัดจากตะไคร้มาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์น้ำมันบำรุงเส้นผมแต่งกลิ่น 5, 10 และ 15% โดยมีอาสาสมัครทดลองเป็นคนไทยในวัย 20-60 ปี จำนวน 30 คน ผลการทดลองพบว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันบำรุงเส้นผมแต่งกลิ่นตะไคร้มีประสิทธิผลต่อการลดปริมาณรังแคลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตะไคร้ 10%


ลักษณะทั่วไปของตะไคร้

ตะไคร้ เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับหญ้า มักมีอายุมากกว่า 1 ปี (ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพแวดล้อม) ลำต้นตะไคร้ มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง รูปทรงกระบอก มีความสูงได้ถึง 1 เมตร (รวมทั้งใบ) ส่วนของลำต้นที่เรามองเห็นจะเป็นส่วนของกาบใบที่ออกเรียงช้อนกันแน่น โคนต้นมีลักษณะกาบใบหุ้มหนา ผิวเรียบ และมีขนอ่อนปกคลุม ส่วนโคนมีรูปร่างอ้วน มีสีม่วงอ่อนเล็กน้อย และค่อยๆ เรียวเล็กลงกลายเป็นส่วนของใบ แกนกลางเป็นปล้องแข็ง ส่วนนี้สูงประมาณ 20-30 ซม. ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และพันธุ์ ที่เป็นส่วนที่นำมาใช้สำหรับประกอบอาหาร

          ใบตะไคร้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ก้านใบ (ส่วนลำต้นที่กล่าวข้างต้น) หูใบ (ส่วนต่อระหว่างกาบใบ และใบ) ใบ ใบตะไคร้ เป็นใบเดี่ยว มีสีเขียว มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบโค้งลู่ลงดิน โคนใบเชื่อมต่อกับหูใบ ใบมีรูปขอบขนาน ผิวใบสากมือ และมีขนปกคลุม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แต่คม กลางใบมีเส้นกลางใบแข็ง สีขาวอมเทา มองเห็นต่างกับแผ่นใบชัดเจน ใบกว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 60-80 เซนติเมตร ตะไคร้เป็นพืชที่ออกดอกยาก จึงไม่ค่อยพบเห็น

           ดอกตะไคร้ดอกจะออกดอกเป็นช่อกระจาย มีก้านช่อดอกยาว และมีก้านช่อดอกย่อยเรียงเป็นคู่ๆ ในแต่ละคู่จะมีใบประดับรองรับ มีกลิ่นหอม ดอกมีขนาดใหญ่คล้ายดอกอ้อ

ตะไคร์

ตะไคร้

การขยายพันธุ์ตะไคร้

ตะไคร้สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วย การปักชำต้นเหง้า โดยตัดใบออกให้เหลือตอนโคนประมาณหนึ่งคืบ นำมาปักชำไว้สักหนึ่งสัปดาห์ก็จะมีรากงอกออกมา แล้วนำไปลงแปลงดินที่เตรียมไว้  สำหรับวิธีการปลูกตะไคร้ มีดังนี้

  1. การเตรียมดิน ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย ให้ไถพลิกดิน และไถพรวนลึกประมาณ 0.5 เมตร แล้วทำหลุม แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 0.5 เมตร
  2. ลงต้นพันธุ์หลุมละ 3 ต้น กลบดินให้พอมิดรากตะไคร้ประมาณ 10 เซนติเมตร
  3. ช่วงแรกรดน้ำทุกวัน แต่ระวังอย่าให้น้ำเข้าไส้ตะไคร้เวลารดน้ำให้รดทีโคนต้นตะไคร้เท่านั้น มิฉะนั้นต้นตะไคร้จะเน่าห้ามใช้สปริงเกอร์เป็นอันขาดต้องให้น้ำที่โคนเท่านั้น
  4. ในช่วง 3 วันแรก ที่ปลูกให้พรางแสงแดดให้ตะไคร้ด้วย หลังจากตะไคร้ปรับตัวได้แล้วให้เอาวัสดุพรางแสงออกเพราะธรรมชาติของตะไคร้ชอบแดด และเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีแสงจ้า
  5. เมื่อผ่านไป 1 เดือน ตะไคร้ จะเริ่มตั้งกอ ให้สังเกตที่ต้น ถ้าต้นเจริญเติบโตดี ลำต้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ก็สามารถตัดไปใช้หรือขายได้ การตัดตะไคร้ให้ตัดติดกก แต่อย่าให้สะเทือนรากที่อยู่ในดินเพราะตะไคร้สามารถแตกขึ้นมาตั้งกอได้อีก ไม่ต้องหาต้นพันธุ์มาปลูกใหม่แทน
  6. เมื่อตัดควรตัดให้หมดกอ เพื่อต้นตะไคร้ที่แตกใหม่จะได้เติบโตได้เต็มที่
  7. หลัง จากตัดแล้วตะไคร้จะตั้งกอใหม่ภายในเวลา 1-2 เดือน เมื่อตะไคร้โตเต็มที่แล้วก็สามารถตัดได้อีกเรื่อยไปจนกว่าต้นจะโทรม หรือ ตะไคร้ไม่แตกขึ้นมาอีก

           ตะไคร้ชอบดินร่วนซุย แต่ก็สามารถเจริญได้ในดินแทบทุกชนิดเป็นพืชที่ดูแลง่ายชอบน้ำชอบแดดจ้า เป็นพืชทนแล้งได้ดี และเป็นพืชที่มีโรคน้อย ศัตรูพืชก็ไม่ค่อยมี (น่าจะเกิดจากการที่ตะไคร้มีน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ในทุกๆส่วนจึงสามารถป้องกันจากแมลงต่างๆ ได้)


องค์ประกอบทางเคมี

พบสาร citral 80% นอกจากนี้ยังพบ trans-isocitral, geranial, nerol, geraniol, myrcene, limonene, eugenol, linalool, menthol, nerolidol, camphor, farnesol, citronellol, citronellal, farnesol, caryophyllene oxide ส่วนในน้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ คือ menthol, cineole, camphor และ linalool จึงลดอาการแน่นจุกเสียด และช่วยขับลม นอกจากนี้มี citral, citronellol, geraneol และ cineole มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้แก่ E. coli ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้ มีดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้ (100 กรัม) ที่มา: กองโภชนาการ (2544)

  • พลังงาน                      143      กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน                        1.2        กรัม
  • ไขมัน                          2.1        กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต            29.7      กรัม
  • เส้นใย                         4.2        กรัม
  • แคลเซียม                   35         มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                 30         มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                   2.6        มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ                   43         ไมโครกรัม
  • ไทอามีน                     0.05      มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน               0.02      มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน                     2.2        มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                    1           มิลลิกรัม
  • เถ้า                              1.4        กรัม

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตะไคร์

โครงสร้างของตะไคร้

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะไคร้

  • ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารเคมีในน้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ ช่วยขับลม น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้จึงลดอาการแน่นจุกเสียดได้ 
  • ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสาเหตุอาการแน่นจุกเสียด และท้องเสีย เมื่อนำน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ (ความเข้มข้นร้อยละ 0.3) มาทดสอบ พบว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ปานกลาง มีการพัฒนาสูตรตำรับเจล ล้างมือจากน้ำมันตะไคร้ สำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย พบว่าตำรับที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ดีที่สุด คือ ตำรับที่มีความเข้มข้นของน้ำมันตะไคร้ร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก และมีการจดสิทธิบัตรสำหรับสารสกัดตะไคร้ที่เป็นส่วนผสมในยา อาหาร หรือ เครื่องสำอาง โดยระบุว่าสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย E. coli ได้
  • ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดด้วยเอทานอล และน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ สามารถต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ได้ โดยน้ำมันตะไคร้ที่มีสาร citral และ myrcene เป็นส่วนประกอบหลักจะมีฤทธ์ยับยั้งเชื้อราดังกล่าว เมื่อนำน้ำมันตะไคร้ไปพัฒนาเป็นครีมต้านเชื้อราพบว่าที่ความเข้มข้นร้อยละ 2.5 และ 3.0 จะให้ผลต้านเชื้อราได้ดีที่สุด และเหมาะที่จะพัฒนาเป็นตำรับยาต่อไป

           เมื่อนำน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดด้วยเฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, เอทานอล และน้ำ มาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรา พบว่าน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดตะไคร้ด้วยเฮกเซนสามารถต้านเชื้อราได้ทุกชนิด ส่วนสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้น้อย ในขณะที่สารสกัดด้วยเอทานอล และน้ำไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา จากผลการทดลองยังพบว่าสารประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย และในสารสกัดด้วยเฮกเซนที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดี คือ สาร citral

             มีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ตะไคร้ ในรูปของ emulsion และ nanocapsule ที่ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา E. floccosum, Microsporum canis และ T. rubrum โดยไปยับยั้งการเจริญเติบโตหรือฆ่าเซลล์ของเชื้อราดังกล่าว

  • ฤทธิ์ต้านยีสต์ สารสกัดด้วยเอทานอล และน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้สามารถต้านยีสต์ Candida albicans ได้
  • ฤทธิ์แก้ปวด พบว่าน้ำมันหอมระเหยสามารถบรรเทาอาการปวดได้ เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเจ็บปวดด้วยความร้อน หรือ หากป้อนน้ำมันหอมระเหยในขนาดเท่าเดิมทางปากจะสามารถบรรเทาอาการปวดได้เมื่อเทียบกับยา meperidine 

           ชาชงตะไคร้ เมื่อป้อนให้หนูเม้าส์กินเป็นเวลา 30 นาที ก่อนที่จะเหนี่ยวนำหนูให้ปวดอุ้งเท้าด้วยสารคาราจีแนน 100 ไมโครกรัม/อุ้งเท้า หรือ ด้วยสาร prostaglandin E2 และ dibutyryl cyclic AMP พบว่าสามารถยับยั้งอาการปวดจากการที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารคาราจีแนน และ prostaglandin E2 ได้ แต่ไม่ได้ผลหากเหนี่ยวนำให้ปวดด้วย dibutyryl cyclic AMP นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยตะไคร้ และสาร myrcene เมื่อป้อนให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วย prostaglandin E2 พบว่าสามารถยับยั้งอาการปวดได้

  • ฤทธิ์ลดไข้ เมื่อให้สารสกัดน้ำร้อนจากใบของตะไคร้ ทางสายยางแก่หนูขาวในขนาด 20 มล./กก. ไม่มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิของหนูขาว แต่เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวในขนาด 40.0 มล./กก. พบว่าลดอุณหภูมิของหนูขาวได้อย่างมีนัยสำคัญ (p< 0.05) (2) เมื่อให้สารสกัดน้ำร้อนจากใบของตะไคร้ ทางสายยางแก่หนูขาวในขนาด 20-40 มล./กก. ทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าไม่มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิกายของหนูขาว
  • ฤทธิ์ขับน้ำดี ตะไคร้มีสารช่วยในการขับน้ำดีมาช่วยย่อย คือ borneol, fenchone และ cineole
  • ฤทธิ์ขับลม ยาชงตะไคร้เมื่อให้รับประทานไม่มีผลขับลม แต่ถ้าให้โดยฉีดทางช่องท้องจะให้ผลดี

           เมื่อกรอกน้ำมันหอมระเหยจากใบเข้ากระเพาะอาหาร หรือ ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้ ขนาด 10, 50, 100 มก./กก. พบว่าสามารถบรรเทาอาการปวดได้ และเมื่อกรอก น้ำมันหอมระเหยจากใบ เข้าภายในกระเพาะอาหารหนูขาว ขนาด 20% พบว่ามีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดที่เหนี่ยวนำด้วย carageenan หรือ PGE2 แต่ไม่ได้ผลในหนูที่ทำให้ปวดด้วย dibutyryl cyclic AMP ซึ่งสารออกฤทธิ์ คือ myrcene (1) นอกจากนี้เมื่อกรอกสารสกัดเอทานอล 95% จากใบสด เข้ากระเพาะอาหารหนูถีบจักร ขนาด 1 ก./กก. พบว่าไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของตะไคร้

หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ

           เมื่อให้น้ำมันหอมระเหยเข้าทางกระเพาะอาหารกระต่าย พบว่ามีค่า LD50 มากกว่า 5 ก./กก. ส่วนพิษในหนูขาวไม่ชัดเจน เมื่อป้อนสารสกัดใบด้วยอัลกอฮอล์ และน้ำ (1:1) ขนาด 460 มก./กก. เข้ากระเพาะอาหารหนูถีบจักร พบว่ามีพิษ แต่สารสกัดใบด้วยน้ำ ขนาด 20-40 ซีซี/กก. เมื่อให้ทางปากไม่พบพิษ ไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน และไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวของหนูขาว มีผู้ศึกษาพิษของน้ำมันหอมระเหย พบว่าอัตราส่วน LD50/TD เท่ากับ 6.9 การป้อนยาชงตะไคร้ให้หนูขาวในขนาด 20 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลา 2 เดือน ไม่พบความเป็นพิษ

           การศึกษาพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ขนาด 1,500 ppm เป็นเวลา 60 วัน พบว่าหนูขาวกลุ่มที่ได้ตะไคร้ โตเร็วกว่ากลุ่มควบคุม แต่ค่าเคมีเลือดไม่เปลี่ยนแปลง

          สารสกัดตะไคร้ ด้วยเอทานอล (80%) ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน Staphylococcus typhimurium TA98 และ TA100 มีผู้ทดลองฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน mammalian cells ของ b-myrcene ซึ่งเป็นสารสำคัญในตะไคร้ พบว่าไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีผู้ทดลองใช้ตะไคร้แห้ง ขนาด 400 มคก./จานเพาะเชื้อ มาทดสอบกับ S. typhimurium TA98 และเมื่อนำน้ำต้มใบตะไคร้ กับเนื้อ (วัว ไก่ หมู) ขนาด 4, 8 และ 16 มก./จานเพาะเชื้อ ทดสอบกับ S. typhimurium TA98 และ TA100 ไม่พบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และสารสกัดด้วยน้ำขนาด 0.5 ซีซี/จานเพาะเชื้อ ไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ใน Bacillus subtilis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) ตะไคร้สดในขนาด 1.23 มก./ซีซี ไม่มีพิษต่อยีน (16) และ b-myrcene ซึ่งเป็นสารสำคัญก็ไม่พบพิษเช่นกัน

           สาร citral ซึ่งเป็นสารที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยจากใบ เป็นพิษต่อเซลล์ P388 mouse leukemia และน้ำมันหอมระเหย เป็นพิษต่อเซลล์ P388 leukemia โดยมีค่า IC50 5.7 มคก./มล. แต่เมื่อผสมน้ำมันหอมระเหยตะไคร้กับโหระพาช้าง (1:1 vol./vol.) มีค่า IC50 10.2 มคก./มล. ส่วนสกัด (partial purified fraction) ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ PS (murine lymphocytic leukemia P388), FA  (murine ascites mammary carcinoma FM3A ) แต่สารสกัดหยาบแสดงฤทธิ์อย่างอ่อนต่อเซลล์ FA สารสกัดใบด้วยเมทานอล ในขนาด 50 มคก./ มล. ออกฤทธิ์ไม่แน่นอนต่อเซลล์มะเร็ง CA-9KB แต่ในขนาด 20 มคก./ มล. ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ RAJI

           มีผู้ทดสอบพิษของชาที่เตรียมจากตะไคร้พบว่าเมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานชาตะไคร้ 1 ครั้ง หรือ รับประทานวันละครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเลือด เม็ดเลือด และปัสสาวะ มีบางรายเท่านั้นที่มีปริมาณบิลลิรูบิน และ amylase สูงขึ้น จึงนับว่าปลอดภัย ส่วนน้ำมันตะไคร้เมื่อผสมในน้ำหอม โดยผสมน้ำมันตะไคร้ร้อยละ 0.8 พบว่ามีอาการแพ้ อย่างไรก็ตามการแพ้นี้อาจเกิดจากสารอื่นได้ และมีรายงานความเป็นพิษต่อถุงลมปอดเมื่อสูดดมน้ำมันตะไคร้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • การบริโภคตะไคร้ หรือ การใช้ตะไคร้ทาบนผิวหนังเพื่อจุดประสงค์ทางการรักษาโรค อาจจะปลอดภัยหากใช้ตะไคร้ในช่วงเวลาสั้นๆ ภายใต้การดูแล และคำแนะนำจากแพทย์
  • การสูดดมสารที่มีส่วนประกอบของตะไคร้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย และเป็นพิษต่อร่างกายได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพปอด
  • ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และศึกษาข้อมูลบนฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีสารสกัดมาจากตะไคร้ก่อนเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลังการบริโภค
  • ระวังการใช้ตะไคร้และผลิตภัณฑ์จากตะไคร้ในคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) เนื่องจาก citral จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง ตะไคร้
  1. ตะไคร้. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. ฉบับประชาชนทั่วไป. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ตะไคร้แกง. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedruy.com/main.php?action=viewpage&pid=60
  3. Puatanachokchai R, Vinitketkumnuen U, Picha P.  Antimutagenic and cytotoxic effects of lemon grass.  The 11th   Asia Pacific Cancer Conference, Bangkok Thailand, 16-19 Nov. 1993.
  4. คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.2544.
  5. Carlini EA, Contar JDDP, Silva-Filho AR, Solveira-Filho NG, Frochtengarten ML, Bueno,OFA. Pharmacology of lemongrass (Cymbopogon citratus Stapf). I. Effects of teas prepared from the leaves on laboratory animals. J  Ethnopharmacol 1986;17(1):37-64.
  6. ตะไคร้สรรพคุณประโยชน์กับบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์. พบแพทย์ดอทคอม. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.podoad.com
  7. Anon. Lemongrass oil West Indian. Food Cosmet Toxicol 1976;14:457.
  8. กาญจนา ขยัน, การอบแห้งตะไคร้ด้วยเทคนิคการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกโดยใช้เครื่องอบไมโครเวฟที่ควบคุมอุณหภูมิได้.
  9. Vinitketkumnuen U, Puatanachokchai R, Kongtawelert P, Lertprasertsuke N, Matsushima T. Antimutagenicity of lemon grass (Cymbopogon citratus Stapf) to various known mutagens in Salmonella mutation assay. Mutat Res 1994;341(1):71-5.
  10. ตะไคร้ใบตะไคร้ประโยชน์และสรรพคุณตะไคร้. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อเกษตรไทย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  11. Souza Formigoni MLO, Lodder HM, Filho OG, Ferreira TMS, Carlini EA. Pharmacology of lemongrass (Cymbopogon citratus Stapf). II. Effects of daily two month administration in male and female rats and in offspring exposed "in utero". J Ethnopharmacol 1986;17(1):65-74.
  12. Parra AL, Yhebra RS, Sardinas IG, Buela LI. Comparative study of the assay of Artemia salina L. and the estimate of the medium lethal dose (LD50 value) in mice, to determine oral acute toxicity of plant extracts. Phytomedicine 2001;8(5):395-400.
  13. ตะไคร้. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  14. Kauderer B, Zamith H, Paumgartten FJ, Speit G. Evaluation of the mutagenicity of b-myrcene in mammalian cells in vitro. Environ Mol Mutagen 1991;18(1):28-34.
  15. Lorenzetti BB, Souza GEP, Sarti SJ, et al. Myrcene mimics the peripheral analgesic activity of lemongrass tea. J  Ethnopharmacol 1991;34(1):43-8.    
  16. Skramlik EV. Toxicity and toleration of volatile oils. Pharmazie 1959;14:435-45.
  17. Ostraff M, Anitoni K, Nicholson A, Booth GM. Traditional Tongan cures for morning sickness and their mutagenic/toxicological evaluations. J Ethnopharmacol 2000;71(1/2):201-19.
  18. Wohrl S, Hemmer W, Focke W, Gotz M, Jarisch R. The significance of fragrance mix, balsam of Peru, colophony and propolis as screening tools in the detection of fragrance allergy.  Br J Dermatol 2001;145(2):268-73.
  19. Onbunma S, Kangsadalampai K, Butryee B, Linna T.  Mutagenicity of different juices of meat boiled with herbs   treated with nitrite.  Ann Res Abst, Mahidol Univ (Jan 1 – Dec 31, 2001) 2002;29:350. 
  20. Costa M, Di Stasi LC, Kirizawa M, et al. Screening in mice of some medicinal plants used for analgesic purposes in the state of Sao Paulo. J Ethnopharmacol 1989;27(1/2):25-33.
  21. Mishra AK, Kishore N, Dubey NK, Chansouria JPN. An evaluation of the toxicity of the oils of Cymbopogon citratus and Citrus medica in rats. Phytother Res 1992;6:279-81.
  22. Ruiz AR, De La Torre RA, Alonso N, Villaescusa A, Betancourt J, Vizoso A. Screening of medicinal plants for induction of somatic segregation activity in Aspergillus nidulans. J Ethnopharmacol 1996;52(3):123-7.
  23. Dubey NK, Kishore N, Varma J, Lee SY. Cytoxicity of the essential oil of Cymbopogon citratus and Ocimum gratissimum. Indian J Phar Sci 1997;59(5):263-4. 
  24. Zamith HP, Vidal MN, Speit G, Paumgartten FJ. Absence of genotoxic activity of b-myrcene in the in vivo cytogenetic bone marrow assay. Braz J Med Biol Res 1993;26(1):93-8.