รางจืด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

 รางจืด งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร รางจืด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กำลังช้างเผือก, ขอยชะนาง, รางเอ็น, เครือชาเขียว (ภาคกลาง), รางจืด, เครือเข้าเย็น, หนามแน้ (ภาคเหนือ), ดุเหว่า (ปัตตานี), น้ำนอง (สระบุรี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), คาย (ยะลา), แอดแอ, ย้ำแย้ (เพชรบูรณ์) จอลอดิเออ, ซั้งถะ, พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ Blue trumphet vine, Laurel clockvine
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia laurifolia Lindl
วงศ์ Acanthaceae

ถิ่นกำเนิดรางจืด

รางจืด เป็นพืชเถาในเขตร้อน และเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศแถบอินเดีย, อินโดจีน, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, มาเลเซีย, อินโนดีเซีย, ฟิลิปปินส์, รวมถึงมณฑลกวางตุ้ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน และไตหวัน ในประเทศไทยพบรางจืด มากตามป่าดงดิบ หรือ ป่าดิบชื้นทั่วไป ในทุกภาคของประเทศ และเป็นพืชที่มักจะเจริญเติบโตได้เร็วมาก แต่ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป เพราะมีการศึกษาวิจัยออกมาว่าสามารถขจัดล้างสารพิษในร่างกายได้ 


ประโยชน์และสรรพคุณรางจืด  

  1. เป็นยาเขียวลดไข้
  2. ใช้ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่นๆ
  3. ใช้แก้ร้อนใน
  4. แก้กระหายน้ำ
  5. รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง
  6. แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ
  7. ใช้แก้พิษเบื่อเมาเนื่องจากเห็ดพิษ สารหนู หรือ ยาฆ่าแมลง
  8. แก้ประจำเดือนไม่ปกติ
  9. แก้ปวดหู
  10. แก้พิษร้อนต่างๆ
  11. แก้เมาค้าง
  12. แก้อาการปวดหัวมึนหัวอันเนื่องมาจากพิษสุรา ถอนพิษสุรา พิษตกค้างในร่างกาย
  13. รักษาโรคอักเสบ
  14. รักษาปอดบวม
  15. แก้มะเร็ง
  16. ช่วยจับสารพิษในตับ หรือ ล้างพิษในตับ
  17. เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้
  18. แก้โรคเบาหวาน
  19. ช่วยลดการเกิดโรคผิวหนัง
  20. แก้ปวดเมื่อย
  21. ช่วยระงับอาการปวด
  22. ช่วยลดอาการบวม
  23. ช่วยกำจัดพิษจากสัตว์ต่อย
  24. รักษาไวรัสเริม
  25. รักษาแผลเป็นหนอง
  26. บรรเทาอาการท้องเสีย หรือ อาหารเป็นพิษ

           ส่วนในทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของรางจืด มานานแล้ว ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัย ดังนี้

  • พ.ศ.2521 นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นกลุ่มแรกที่ทดลองป้อนผงรากรางจืดให้หนูทดลองก่อนให้น้ำยาสตริกนินแต่พบว่าไม่ได้ผล หนูชักและตาย แต่ถ้าผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อน พบว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงว่าผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้
  • พ.ศ.2523 อาจารย์พาณี เตชะเสน และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง “โฟลิดอล” พบว่าแก้พิษได้ ลดอัตราการตายลงจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่วิธีการฉีดกลับไม่ได้ผล
  • พ.ศ.2551 สุชาสินี คงกระพันธ์ ใช้สารสกัดแห้งใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟต ชื่อ มาราไธออนพบว่าช่วยชีวิตได้ 30%
  • พ.ศ.2553 จิตบรรจง ตั้งปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทของหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว จึงสามารถป้องกันสูญเสียการเรียนรู้ และความจำได้อย่างมีนัยสำคัญ

           มีการวิจัยเรื่องใบรางจืดสามารถปกป้องตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้ที่ได้รับสารพิษ พ.ศ.2543 รายงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดแห้งของน้ำใบรางจืดน่าจะมีผลลดความเป็นพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้ พ.ศ.2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่าสารสกัดน้ำรางจืดแสดงฤทธิ์ดังกล่าว ทั้งในหลอดทดลอง และในหนูทดลอง แล้วยังพบว่า สารสกัดน้ำใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากรางจืดอีกเช่น ยอดอ่อน ดอกอ่อนสามารถใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยจะใช้ลวก แกงกิน ก็ทำได้เหมือนกับผักพื้นบ้านทั่วๆ ไป นอกจากนี้เด็กๆ ตามชนบทยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บ้านได้อีกด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม การกินรางจืดในปริมาณติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลหิตวิทยา หรือ เคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้นต่อไปด้วย 

           ชารางจืด ใบรางจืดสามารถนำมาหั่นเป็นฝอย ตากลมให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแทนชาได้ และยังมีกลิ่นหอมรวมถึงยังช่วยล้างพิษในร่างกายได้อีกด้วย ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรรางจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แคปซูลรางจืด หรือ รางจืดแคปซูล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้ประโยชน์ ดอกรางจืด นำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วกรองแยกกาก ก่อนนำน้ำที่ได้ใช้ทำของหวาน ใช้หุงข้าว หรือ ใช้ทำสีผสมอาหารอื่นๆ ซึ่งจะให้สีม่วงอ่อน หรือ สีคราม หรือ สีอื่นตามชนิดสีของดอก

           คนโบราณมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำต้มจากรางจืดสามารถช่วยแก้คุณไสย ยาสั่ง หรือ มนต์ดำที่ผู้อื่นทำแก่ตนได้ ใบรางจืดตากแห้งแล้ว นำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารหมู อาหารไก่ เป็นต้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานต่อโรค และช่วยรักษาให้สัตว์มีอัตราการรอดสูงขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อโรค

รางจืด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้รางจืด

           ในการรักษาพิษ ใช้ใบสด 10 -12 ใบ นำมาตำจนละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวประมาณครึ่งแก้ว ส่วนการใช้ประโยชน์จากรากรางจืดในการรักษาพิษ ใช้ราก 1-20 องคุลี ให้นำมาฝน หรือ นำมาตำเข้ากับน้ำซาวข้าว แล้วนำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องใช้ซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงเช่นเดียวกับการใช้ใบรางจืด หรือ ใช้ใบรางจืดทำเป็นชาแล้วรับประทานครั้งละ 2-3 กรัม โดยชงกันน้ำร้อน 100-200 ซีซี วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร หรือ เมื่อมีอาการ

           รักษาโรคเบาหวาน ให้ใช้ใบรางจืดประมาณ 58 ใบ มาโขลกให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวรับประทานครั้งละ 1 แก้ว 3 เวลา

           แก้อาการแพ้ ผื่นคัน ลดการเกิดโรคผิวหนัง โดยใช้ใบ หรือ เถาสด 10-15 ใบ หรือ เถาขนาดยาว 10 ซม. ต้มในน้ำประมาณ 10 ลิตร อาบทุกวัน ประมาณ 5-7 วัน

           แก้ปวดเมื่อย โดยนำใบ 10-20 ใบ หรือ ใช้เถาตัดเป็นชิ้นๆ ยาว 1-2 นิ้ว ก่อนนำไปแช่สุราดื่มทุกส่วนนำมาตำ หรือ บดผสมน้ำ

           ใช้สำหรับพอกแผล ระงับอาการปวด ลดอาการบวม และกำจัดพิษจากสัตว์ต่อย อาทิ งูกัด แมงป่อง ตะขาบ แมงดาทะเล ทุกส่วนออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ

           เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแผล เช่น รักษาไวรัสเริม ด้วยการบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำไปประคบบริเวณรอยแผลเริม ทุกส่วนนำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาประคบ หรือ ทาแผลสด แผลเป็นหนอง ซึ่งจะช่วยให้แผลแห้งเร็ว ลดการติดเชื้อ ลดอาการบวมของแผล ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่ม หรือ คั้นน้ำดื่มสำหรับใช้เป็นยาแก้ร้อนใน และช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ น้ำต้มจากทุกส่วน นำมาดื่มอุ่นๆ สำหรับรักษา และบรรเทาอาการท้องเสีย หรือ อาหารเป็นพิษ

ลักษณะทั่วไปของต้นรางจืด

เป็นไม้เถาสามารถเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพาดพันขึ้นคลุมต้นไม้ใหญ่ๆ ได้ทั้งต้น เถามีลักษณะกลม เช่น ข้อปล้อง สีเขียว เป็นมัน เมื่อเถาแก่เป็นสีน้ำตาลมากขึ้น และยาวได้มากกว่า 10 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้มออกเป็นคู่ตรงข้ามตรงข้อของลำต้น ใบมีลักษณะคล้ายใบย่านางรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 เซนติเมตร (ซม.) ยาว 8-15 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้าหรือหยักรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือหยักตื้น เส้นใบมี 5 เส้น ออกฐานใบเดียวกัน  ดอก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อละ 3-4  ดอก กลีบดอกแผ่ออกเป็นรูปแตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวราว 1 เซนติเมตร มักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ในหลอด ดอกมีสีม่วงแกมน้ำเงิน ผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1 เซนติเมตร เมื่อผลแห้งแล้ว จะแตก 2 ซีก จากจะงอยส่วนบน มักมีดอกในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-กุมพาพันธ์) ดอกที่โรยแล้วบางดอกอาจติดผล เมื่อแก่เปลือก ผลเป็นสีน้ำตาล แตกออกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีสีน้ำตาลมีปุ่มเล็กๆ คล้ายหนามอยู่บนเปลือกเมล็ด และสามารถนำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อไปได้ 

รางจืด

รางจืด

การขยายพันธุ์รางจืด

สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือ ปักชำ สำหรับการปักชำจะใช้กิ่งพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี หรือ กิ่งพันธุ์แก่ที่สีน้ำตาลอมเขียว ด้วยการตัดกิ่งยาว 20-30 ซม. โดยให้มีตากิ่ง หรือ ข้อกิ่งติดมาอย่างน้อย 1-2 ตา แล้วค่อยนำปักชำในทราย หรือ แกลบที่ไม่มีดินแล้วรดน้ำให้ชุ่มจนรากงอกแล้วจึงนำไปลงถุงเพาะชำเพื่อลงปลูกต่อไป หรือ ปักชำลงดินบริเวณที่ต้องการปลูก และรดน้ำสม่ำเสมอ 1-2 ครั้ง/วัน จนกิ่งเริ่มแทงยอดอ่อนสำหรับการปลูกจากการเพาะเมล็ดนั้น ถือเป็นวิธีที่สามารถได้ต้นที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะจะได้ต้นที่สามารถแตกกิ่งแขนงได้มาก กิ่งแขนงยาวได้หลายเมตร และลำต้นมีอายุนานมากกว่าการปลูกจากต้นเพาะชำ

          แต่การขยายพันธุ์รางจืด ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้วิธีการปักชำมากกว่า เพราะโอกาสในการงอกมีมากกว่า และใช้เวลาน้อยกว่าการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการปลูกรางจืดนั้นมีดังนี้ นำเอากิ่งที่ได้จากการปักชำ หรือ ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด มาปลูกลงดินโดยให้ขุดหลุมปลูกมีความกว้างลึกประมาณ 1x1 ฟุต แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักประมาณ 1 ใน 4 ของหลุม กลบดินเล็กน้อย วางกิ่งปลูก หรือ ต้นกล้าลงกลางหลุมแล้วกลบขอบดินให้แน่น รดน้ำตามให้ชุ่ม ควรปลูกริมรั้ว หรือ กำแพงเพื่อให้เถารางจืดสามารถยึดเกาะ และเลื้อยพาดไปได้ หรือ ไม่ก็ทำค้างให้เถารางจืด เกาะเลื้อย รางจืดเป็นไม้ที่สามารถเจริญได้ดีในดินเกือบทุกชนิด และเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลาง คือ ไม่ต้องการแสงแดดที่จัดมากเกินไป และมีความต้องการน้ำปานกลาง ในระยะแรกปลูกต้องรดน้ำให้ดินมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้นโตแล้วให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า ส่วนการให้ปุ๋ยนั้นใช้ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอก ใส่บริเวณโคนต้นปีละ 2 ครั้ง โดยการพรวนดินโคนต้นให้ร่วนเสียก่อนจึงใส่ปุ๋ย แล้วรดน้ำตาม 

           การเก็บใบรางจืด สำหรับใบรางจืดที่จะเก็บมาใช้ทางยา ควรเก็บจากต้นที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป และให้ทยอยเก็บจากใบล่างบริเวณโคนกิ่งก่อน และค่อยเก็บไปจนถึงกลางกิ่ง ไม่ควรเก็บให้ถึงบริเวณปลายกิ่งหลังจากเก็บมาแล้ว หากไม่ใช้ทันที ให้นำใบมาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนนำไปตากแดด 5-7 แดด เมื่อแห้งแล้วให้เก็บใส่ถุง หรือ กล่องไว้ ระวังอย่าให้โดนน้ำ เพราะอาจเกิดเชื้อราได้


องค์ประกอบทางเคมี

ฟลาโวนอยด์, ฟีนอลิก, apigenin, cosmosin, delphinidin-3,5-di-O-beta-D-glucoside, chlorogenic acid, caffeic acid, lutein-Chlorophyll a Chlorophyll b Pheophorbide a Pheophytin a 

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของรางจืด 

 โครงสร้างรางจืด

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของรางจืด

มีรายงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดน้ำจากใบรางจืด ขนาด 2 และ 3 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 กรัม และขนาด 3.5 ก./กก. มีผลลดพิษจากยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในหนูได้ โดยทำให้อัตราการตายลดลง และยังมีมีงานวิจัยทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการขับยาฆ่าแมลงออกจากร่างกาย พบว่ารางจืดจะถอนพิษได้ดี โดยเฉพาะพิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลง "โฟลิดอล" และพิษออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการทำงานของ Cholinergic system โดยการศึกษาในเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง และตรวจพบระดับสารฆ่าแมลงในร่างกาย จำนวน 49 คน พบว่าเมื่อให้อาสาสมัครรับประทานชารางจืดขนาด 8 ก./วัน หรือยาหลอก นาน 21 วัน พบว่าปริมาณยาฆ่าแมลงในเลือดของอาสามัครที่ได้รับรางจืดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7, 14 และ 21 ของการทดลอง และจากการศึกษาของดวงรัตน์และคณะ พบว่าโดยรางจืดมีผลเพิ่มปริมาณ Cholinesterase ในเลือดของเกษตรกรที่ได้รับยาฆ่าแมลง

           ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวทิยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดรางจืดต่อเซลล์สมอง พบว่ารางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายกับสารเสพติดแอมเฟทามีน และโคเคน โดยทั่วไปเพิ่มการหลั่งโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งมากในขณะที่ผู้ป่วยได้รับสารแอมเฟทามีน รวมทั้งไปเพิ่ม activity ของเซลล์ประสาทในสมองส่วน nucleus accumbens, globus pallidus, amygdala, frontal cortex, caudate putamen and hippocampus ที่เกี่ยวข้องกับ reward and locomotor behaviour ทำให้คาดว่าในผู้ป่วย ที่เข้ารับการรักษา และบำบัดยาเสพติด ที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดรางจืด อาจเกิดความพิงพอใจเช่นเดียวกับการรับยาเสพติด หากนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุรนทรายมาก จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งทีการรักษาด้วยสารสกัดสมุนไพรได้ผล

           คณะเภสัชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืด ในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วย ป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ ทั้งในหลอดทดลอง และในหนูแรตทีได้รับแอลกอฮอล์ โดยทำให้ค่า AST, ALT ในพลาสม่า และไตรกลีเซอร์ไรด์ในตับลดลง และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางจุลพยาธิวิทยาของตับเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับเเอลกอฮอล์อย่างเดียว

            เนื่องจากสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วยลดการเกิด heppatic lipid peroxidation ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด และเพิ่มระดับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase

           ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า พบว่าสารสกัดรางจืดให้ผลลดภาวะซึมเศร้า และทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่มีผลลดความวิตกกังวล โดยสารสกัดรางจืดช่วยลดการถูกทำลายเซลล์ประสาทของหนูเนื่องจากขาดเหล้าในสมองส่วน messolimbic dopaminergic system โดยเฉพาะที่บริเวณ  nucleus accumbens และ ventral tegmental area ในหนูเบาหวานที่ได้รับน้ำต้มใบรางจืดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนน้ำคั้นใบรางจืดสดในขนาด 50 มก./มล. ที่ให้หนูเบาหวานดื่มแทนน้ำนาน 12 วัน ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

           นอกจากนี้ ยังมีการทดลองพบว่าการให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้บีต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์ ในเรื่องของฤทธิ์ลดความดันนั้นพบว่าสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูแรตลดลง โดยกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจผ่าน Cholinergic receptor และทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว

           การใช้สมุนไพรในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันนี้พึงระลึกว่าต้องมีการรักษาร่วมไปกับแผนปัจจุบัน มีการวัดระดับน้ำตาล และระดับความดันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการศึกษายังอยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลองเท่านั้น รวมทั้งต้องระมัดระวังการเกิดการเสริมฤทธิ์กันของตัวยาดังกล่าว

           มีการศึกษาว่ารางจืดมีฤทธิ์ต้านการอับเสบสูงกว่ามังคุดประมาณ 2 เท่า (ทดสอบด้วยวิธี Carrageenan induced paw edema) ในหนูถีบจักรและยังมีความปลอดภัยสูงกว่าอีกด้วย นอกจากนั้นยังพบว่า สารสกัดรางจืดในรูปแบบของครีมสามารถลดการอักเสบได้ดีเท่ากับสตีรอยด์ครีม

           ฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ กล่าว คือ สารใดๆ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์มีศักยภาพสูงสามารถก่อมะเร็งได้ แต่รางจืดมีฤทธิ์ต้านไม่ให้สารนั้นออกฤทธิ์ มีการศึกษาโดยให้หนูกินสารสกัดของกวาวเครือซึ่งกวาวเครือจะไปมีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวและการสร้างนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดง กล่าว คือ นิวเคลียสของเม็ดเลือดแดงจะเป็นก้อน ใหญ่ขึ้น และมีการแบ่งตัว นั่นคือกวาวเครือขาว ไปทำให้การเกิด micronuclei ของเม็ดเลือดแดงเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าให้สัตว์ทดลองกินรางจืดร่วมด้วย พบว่าสามารถลดการเกิด micronuclei ได้ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสด และแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน นับเป็นข้อดีอีกข้อหนึ่งของรางจืด โดยพบว่าสารออกฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b, pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

           สารสกัดน้ำ เอทานอล และอะซิโทน มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ โดยยับยั้งการเกิดมะเร็ง เนื่องจากสาร 2-aminoanthracene ได้ร้อยละ 87 เมื่อวิเคราะห์ด้วยแบคทีเรีย Salmonella typhimurium TA 98 และสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ควิโนนรีดักเทส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการกำจัดเซลล์มะเร็งระยะเริ่มต้น ได้ตั้งแต่ 1.35-2.8 เท่า อีกทั้งยังมีรายงานการรักษาผู้ป่วยพิษแมงดาทะเล เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 โดยมีรายงานว่ามี  ผู้ป่วย 4 ราย กินยำไข่แมงดาทะเล อาการขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ ทุกรายมีอาการชารอบปาก และคลื่นไส้อาเจียน อาการชาจะลามไปกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่เป็นอันตราย คือ ทำให้หายใจไม่ได้ ผู้ป่วย 2 รายหมดสติ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ระยะที่เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 40 นาที จนถึง 4 ชั่วโมง หลังรับประทาน เนื่องจากพิษของแมงดาทะเล คือ เทโทรโดทอกซิน (Tetrodotoxin) ไม่มียาแก้พิษต้องรักษาตามอาการ หลังจากได้น้ำสมุนไพรรางจืด 50 มล. ทางหลอดสวนจมูก-กระเพาะอาหาร ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว และอาการดีขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากได้รับน้ำสมุนไพร 40 นาที ผู้ป่วยอีกรายได้รับการกรอกน้ำรางจืดเช่นกัน ในขนาด 50 มล. ทุก 1 ชม. 5 ครั้ง ภายหลังจากได้รับน้ำสมุนไพร 5 ชม. ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว และอาการดีขึ้นตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของรางจืด

การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใดๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วัน ขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และ AST สูงขึ้น

          การศึกษาพิษเรื้อรังของสารสกัดน้ำจากใบ โดยป้อนหนูแรทขนาด 20  200 1,000  2,000 มก./กก./วัน หรือ คิดเป็น 1, 10, 50 และ 100 เท่า ของขนาดที่ใช้ในคนเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว การกินอาหาร พฤติกรรม และสุขภาพทั่วไปของหนู อวัยวะภายในทั้งระดับมหพยาธิวิทยาและจุลพยาธิยังคงปกติ และไม่ทำให้เกิดพิษสะสม ไม่ทำให้หนูตาย มีการศึกษาความเป็นพิษของรางจืด ต่อการกลายพันธุ์ของแบคทีเรีย พบว่า สารสกัดจากรางจืด ไม่มีผลทำให้แบคทีเรียกลายพันธุ์แต่อย่างใด อีกทั้งยังพบว่า สารสกัดจากรางจืดสามารถต้านการกลายพันธุ์ได้ด้วย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. การศึกษาระบุว่า รากของรางจืดนั้นจะมีสรรพคุณ ทางยามากกว่าที่ใบถึง 4-7 เท่า
  2. ควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรใช้ติดกันเป็นเวลานานเกิน 30 วัน
  3. ควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  4. ไม่ควรใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเป็นระยะเวลานานเนื่องจากอาจขับสารเคมี หรือ ตัวยาในร่างกายออก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง
  5. รางจืด อาจให้ผลข้างเคียง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดได้โดยเมื่อเกิดอาการแพ้รางจืดก็อาจจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ามีระดับอาการแพ้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากมีอาการแพ้ไม่มากก็อาจจะเป็นแค่ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง 

เอกสารอ้างอิง รางจืด
  1. ปัญญา อิทธิธรรม และคณะ 1999 การใช้สมุนไพรรางจืดขับสารฆ่าแมลงในร่างกายของเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงในตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
  2. วิสาตรี คงเจริญสุนทร และปิยรัตน์ พิมพ์ สวัสดิ์,2552. ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบฉวยโอกาสบางสายพันธุ์ของสารสกัดเมทานอลจากรางจืด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา.
  3. ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร.รางจืด ราชาของยาแก้พิษ. คอลัมน์. เรื่องเด่นจากปก.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 385. มกราคม. 2554
  4. รางจืด. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thicrudedrug.com/main.php.?action=viewpaye&pid=115
  5. รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์. รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. รางจืดสมุนไพรล้างพิษ. คู่มือสมุนไพรล้างพิษสำหรับประชาชน. สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา.พิมพ์ครั้งที่ 2.มีนาคม 2554. 20 หน้า
  7. รางจืดสรรพคุณรางจืด สมุนไพรลดและกำจัดสารพิษ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://peuchkaset.com
  8. Toxicity รางจืดและข่อยดำ. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์, กำไร กฤตศิลป์, เชิดพงษ์ น้อยภู่, 2545. การใช้สมุนไพรรางจืดเพิ่มปริมาณเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสในซีรั่มของเกษตรกรที่พบพิษสารกำจัดศัตรูพืชในร่างกาย
  10. ข้อมูลสรรพคุณของรางจืดในการข้อยาฆ่าแมลงออกจากร่างกายเกษตรกร. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. กนกวรรณ สุขมาก ; นงนุช คุ้มทอง ; สมยศ เหลืองศรีสกุล ; อภันตรี โอชะกุล ; เตือนใจ ทองสุข, 2547. การศึกษาประสิทธิผลของสมุนไพรรางจืดในการป้องกันการสะสมของสารเคมีกำจัดแมลงในกระแสโลหิตของเกษตรกร ตำบลไผ่ทำโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร.