เหงือกปลาหมอ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เหงือกปลาหมอ งานวิจัยและสรรพคุณ 38 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เหงือกปลาหมอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แก้มหมอ (สตูล), อีเกร็ง (ภาคกลาง), แก้มหมอเล (กระบี่), นางเกร็ง, จะเกร็ง ฯลฯ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ebracteatus Vahl. (เหงือกปลาหมอดอกสีขาว) Acanthus ilicifolius L. var. ilicifolius (เหงือกปลาหมอดอกสีม่วง)
ชื่อสามัญ Sea Holly.
วงศ์ ACANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดเหงือกปลาหมอ
เหงือกปลาหมอ นับว่าเป็นสมุนไพรพื้นถิ่นของไทยเราเพราะมีประวัติในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่โบราณแล้ว ซึ่งเหงือกปลาหมอนี้เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นกลางแจ้ง และมักจะพบมากในบริเวณป่าชายเลน หรือ ตามพื้นที่ชายน้ำริมฝั่งคลอง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม และมีความชื้นสูง หรือ ในแถบที่ดินเค็มและไม่ชอบที่ดอน แถบภาคอีสารก็มีรายงายว่าปลูกได้เช่นกัน เหงือกปลาหมอ พบอยู่ 2 พันธุ์ คือ ชนิดดอกสีขาว Acanthus ebracteatus Vahl พบมากในภาคกลางและภาคตะวันออก ชนิดดอกสีม่วง Acanthus ilicifolius L. พบทางภาคใต้ อีกทั้งเหงือกปลาหมอยังเป็นพันธุ์ไม่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณเหงือกปลาหมอ
- แก้น้ำเหลืองเสีย
- ช่วยบำรุงรักษารากผม
- แก้ประดง
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- รักษาตกขาว
- ช่วยระดูขาวของสตรี
- แก้ไข้ แก้ไข้หนาวสั่น
- แก้ลมพิษฝี
- แก้ฝี แก้ฝีทราง
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ
- เป็นยาแก้ไอ
- รักษาโรคผิวหนังจำพวกพุพอง น้ำเหลืองเสีย
- เป็นยาแก้โรคงูสวัด
- ช่วยบำรุงประสาท
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้มะเร็ง
- ช่วยในการเจริญอาหาร
- ช่วยให้เลือดลมปกติ
- รักษาปอดบวม
- ช่วยรักษาวัณโรค
- ช่วยแก้โรคกระเพาะ
- ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี
- ช่วยรักษานิ่วในไต
- ใช้รักษาแผลฝีหนอง
- แก้ผื่นคัน
- แก้ผิวแตกทั้งตัว
- แก้หืด
- แก้ไขข้ออักเสบ
- แก้ปวดต่างๆ
- บำรุงผิวพรรณ
- ช่วยแก้โรคกระษัย
- แก้อาการซูบผอมเหลืองทั้งตัว
- แก้อาการร้อนทั้งตัว เจ็บระบบทั้งตัว
- แก้ตัวแห้ง
- แก้เวียนศีรษะ
- แก้หน้ามืดตามัว
- แก้มือตายตีนตาย
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ยับยั้งโรคมะเร็งต้านมะเร็ง นำเหงือกปลาหมอ ทั้ง 5 ส่วน (ราก, ต้น, ใบ, ผล, เมล็ด) มาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาประจำเดือนมาผิดปกติ นำทั้งต้นมาตำผสมกับน้ำมันงา และน้ำผึ้งนำมารับประทาน
- แก้ผื่นคัน นำใบและต้นสดประมาณ 3-4 กำมือนำมาสับต้นน้ำอาบเป็นประจำ 3-4 ครั้ง
- แก้ไข้หนาวสั่น นำทั้งต้นมาตำผสมกับขิง
- แก้ผิวแตกทั้งตัว นำทั้งต้นของเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน และดีปลี 1 ส่วน ใช้ผสมกันบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อนดื่มแก้อาการ
- ขับเสมหะ บำรุงประสาท แก้ไอ แก้หืด รักษามุตกิดระดูขาว นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาโรคผิวหนัง ขับน้ำเหลืองเสียแก้แผลผุพอง เป็นฝีบ่อยๆ นำต้น ใบ และเมล็ดต้มกับน้ำอาบ
- แก้ไขข้ออักเสบ แก้ปวดต่างๆ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้อายุยืน ร่างกายแข็งแรง เลือดลมไหลเวียนดี เส้นเลือดไม่อุดตัน บำรุงผิวพรรณ ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอนำมาตำผสมกับพริกไทยในอัตราส่วน 2:1 แล้วคลุกเคล้าผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนไว้รับประทาน
- ช่วยแก้โรคกระษัย อาการซูบผอมเหลืองทั้งตัว ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอนำมาตำเป็นผงกินทุกวัน
- แก้อาการร้อนทั้งตัว เจ็บระบบทั้งตัว ตัวแห้ง เวียนศีรษะ หน้ามืดตามัว มือตายตีนตาย ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอและเปลือกมะรุม อย่างละเท่ากัน ใส่หม้อต้มผสมกับเกลือเล็กน้อย หมาก 3 คำ เบี้ย 3 ตัว วางบนปากหม้อ แล้วใช้ฟืน 30 ดุ้น ต้มกับน้ำเดือดจนงวดแล้วยกลง เมื่อเสร็จให้กลั้นใจกินขณะอุ่นๆ จนหมด อาการก็จะดีขึ้น
- รากช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ หรือ จะใช้เมล็ดนำมาต้มดื่มแก้อาการไอก็ได้เช่นกัน
- แก้อาการไอ เมล็ดใช้ผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย น้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้ไอ
- ช่วยแก้โรคกระเพาะ ด้วยการใช้ทั้งต้น และพริกไทย (10:5 ส่วน) ตำผสมปั้นเป็นยาลูกกลอน
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นเหงือกปลาหมอกับขมิ้นอ้อย นำมาตำละลายกับน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นริดสีดวง หรือ จะใช้ปรุงกับฟ้าทะลายโจร ใช้รมหัวริดสีดวงก็ได้
ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ใช้ ใบ ต้มกับน้ำดื่ม แก้นิ่วในไต ทั้งต้น 10 ส่วน เข้ากับพริกไทย 5 ส่วน ทำเป็นยาลูกกลอน แก้โรคกระเพาะ ขับเลือด เป็นยาอายุวัฒนะ ทั้งต้น ใช้รักษาแผลฝีหนอง ใช้ ใบและต้น แก้ตกขาว โดยตำเป็นผงละลายน้ำผึ้ง หรือ น้ำมันงา ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทาน
ในปัจจุบันเหงือกปลาหมอ มีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาแคปซูลสมุนไพรเหงือกปลาหมอ ยาชงสมุนไพรและยาเม็ด มีสรรพคุณใช้รักษาโรคผิวหนังอีกทั้งเหงือกปลาหมอยังเป็นสมุนไพรที่ใช้ในการอบตัว คือ การอบตัวด้วยไอน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพร และการอบเปียกแบบเข้ากระโจม โดยเหงือกปลาหมอมีสรรพคุณสำหรับรักษาโรคผิวหนัง นอกจากนี้เหงือกปลาหมอยังเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมและสบู่สมุนไพร เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของเหงือกปลาหมอ
- ต้นเหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็ง มีหนามอยู่ตามข้อของลำต้น ข้อละ 4 หนาม ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง มีสีขาวอมเขียว ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร
- ใบเหงือกปลาหมอ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบมีหนามคมอยู่ริมขอบใบ และปลายใบ ขอบใบเว้าเป็นระยะๆ ผิวใบเรียบเป็นมันลื่น แผ่นใบสีเขียว เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา เนื้อใบแข็งและเหนียว ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ก้านใบสั้น
- ดอกเหงือกปลาหมอ ออกดอกเป็นช่อตั้งตามปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ทั้งนี้สีของดอกขึ้นอยู่กับพันธุ์ของต้นเหงือกปลาหมอ คือ ดอกมีทั้งพันธุ์ดอกสีม่วง หรือสีฟ้า และพันธุ์ดอกสีขาว แต่ลักษณะอื่นๆเหมือกัน คือ ที่ดอกมีกลีบรองดอกมี 4 กลีบ กลีบแยกจากกัน ส่วนกลีบดอกเป็นท่อปลายบานโต ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร บริเวณกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่
- ผลเหงือกปลาหมอ ลักษณะของผลเป็นฝักสีน้ำตาล ลักษณะของฝักเป็นทรงกระบอกกลมรี รูปไข่ ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เปลือกฝักมีสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ข้างในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด
การขยายพันธุ์เหงือกปลาหมอ
เหงือกปลาหมอ สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้กิ่งปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมและได้ผลผลิตที่ดี คือ การใช้กิ่งปักชำ นำกิ่งที่ไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป อายุ 1-2 ปี มาชำลงในดินโคลน คอยรดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 2 เดือน จะงอกราก จึงทำการย้ายปลูก ก่อนปลูกควรเตรียมแปลงปลูก ระยะปลูก 80x80 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ใส่ปุ๋ยคอกหว่านรอบโคนต้นปีละ 2 ครั้งๆ ละ 1 กก./ต้น ใส่ปุ๋ยบ่อยขึ้นในกรณีที่เก็บเกี่ยวผลผลิตบ่อย ทำให้ต้นโทรม ใบเป็นสีเหลือง กำจัดวัชพืชดูแลรักษาแปลงให้สะอาด
หลังปลูก 1 ปี จึงจะเก็บผลผลิต โดยตัดกิ่งให้หมอทั้งต้น (ตอ) ให้เหลือความยาวครึ่งหนึ่ง เพื่อแตกใหม่ในปีต่อไป กิ่งที่ได้นำมาสับเป็นท่อนๆ ละ 6 นิ้ว นำไปตากแดดจนแห้งดี หรือ อบแห้ง กิ่งและใบสด 3 กก. จะตากแห้งได้ 1 กก. และผลผลิตจากต้นอายุ 1 ปี จำนวน 4 ต้น (กอ) จะมีน้ำหนักสด 1 กก.
องค์ประกอบทางเคมี
ในใบพบสาร : alpha-amyrin, beta-amyrin, ursolic acid apigenin-7-O-beta-D-glucuronide, methyl apigenin-7-O-beta-glucuronate campesterol, 28-isofucosterol, beta-sitosterol ในรากพบสาร : benzoxazoline-2-one, daucosterol, octacosan-1-ol, stigmasterol ทั้งต้นพบสาร : acanthicifoline, lupeol, oleanolic acid, quercetin, isoquercetin, trigonelline, dimeric oxazolinone
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเหงือกปลาหมอ
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเหงือกปลาหมอ
ฤทธิ์ลดการอักเสบ ทดสอบน้ำสกัดจากใบแห้ง ความเข้มข้น 500 มคก./มล. กับหนูขาว พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยไปยับยั้งการสร้าง leukotriene B-4 แต่สารสกัดนี้ไม่มีฤทธิ์เป็น serotonin antagonist เมื่อเร็วๆ นี้ มีงานวิจัยว่าสารสกัดด้วยเอทานอลจากทั้งต้น ขนาด 500 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้ง 5-lipoxygenase activity ด้วยกลไกในการลดการสร้าง leukotriene B-4 ถึง 64% และสารสกัดด้วยน้ำ ขนาด 500 มคก./มล. ลดได้ 44% มีการวิเคราะห์สารสำคัญของเหงือกปลาหมอดอกม่วงที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ พบว่าสารนั้นเป็นพวก dimeric oxazolinone ที่มีสูตรโครงสร้างเป็น 5,5¢-bis-benzoxazoline-2,2¢-dione
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียมีการทดสอบสารสกัดเอทานอล (90%) จากทั้งต้นแห้ง (ไม่ทราบความเข้มข้น) กับ Staphylococcus aureus พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีฤทธิ์ แต่การทดสอบเมล็ดเหงือกปลาหมอ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus
ฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชั่น มีการทดสอบสารสกัดอัลกอฮอล์จากใบของเหงือกปลาหมอ ดอกม่วง พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น superoxide radical, hydroxyl radical, nitric oxide radical และ lipid peroxide เป็นต้น นอกจากนี้สารสกัดจากส่วนผลด้วยเมทานอล เมื่อทดสอบในหนูถีบจักร พบฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ โดยมีขนาดที่ยับยั้งได้ 50% (IC50) คือ 79.67 มคล./มล. และพบฤทธิ์ยับยั้งการเกิด lipid peroxide โดยขนาดที่ยับยั้งได้ 50% (IC50) คือ 38.4 มคล./มล.
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับการเพิ่มภูมิต้านทาน มีการนำสารสกัดน้ำอย่างหยาบจากรากของเหงือกปลาหมอมาทำให้กึ่งบริสุทธิ์ โดยวิธี gel filtration (Sephadex G-25) เพื่อศึกษาฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันที่มีต่อ mononuclear cell (PMBC) ของคนปกติ 20 ราย โดยวัดผลการศึกษาจาก H3-thymidine uptake พบว่าสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ของเหงือกปลาหมอ ดอกม่วง ที่ความเข้มข้นต่ำ (10 มคก./มล.) สามารถกระตุ้นการแบ่งตัวของ lymphocytes ได้สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05)
การศึกษาทางพิษวิทยาของเหงือกปลาหมอ
หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อให้สารสกัดลำต้นแห้งด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ขนาดความเข้มข้น 5 ซีซี/จานเพาะเชื้อ ไม่ทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ ใน Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 แต่เมื่อให้สารสกัดด้วยน้ำจากส่วนรากกับหนูเพศเมียขนาด 2.7 และ 13.5 ก./กก. เป็นเวลา 12 เดือน พบความเป็นพิษต่อตับในหนูทดลอง หลักฐานความเป็นพิษและยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยววกับการทดสอบความเป็นพิษของเหงือกปลาหมอ อีกหลายชิ้นระบุว่า เมื่อฉีดสารสกัดพืชทั้งต้นด้วยเอทานอล (90%) เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 1 ก./กก. ส่วนสารสกัดใบด้วยเมทานอลและน้ำ (1:1) ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้ ค่า LD50 มีค่ามากกว่า 1 ก./กก. และสารสกัดจากใบร่วมกับต้นด้วยเมทานอลและน้ำ (1:1) ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้เช่นเดียวกัน ค่า LD50 เท่ากับ 750 มก./กก. สารสกัดจากต้นด้วยเมทานอลและน้ำ (1:1) ค่า LD50 มีค่ามากกว่า 1 ก./กก. เมื่อกรอกสารสกัดใบร่วมกับก้านใบ ลำต้น รากแห้ง ด้วยน้ำ หรือ น้ำร้อน หรือ ฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร (ไม่ระบุขนาด) ไม่ทำให้เกิดพิษ และเมื่อกรอกสารสกัดรากแห้งด้วยน้ำให้หนูถีบจักร ในขนาด 0.013 มก./สัตว์ทดลอง ไม่พบพิษ อีกทั้งมีการศึกษาถึงพิษของเหงือกปลาหมอดอกม่วงแบบเฉียบพลัน และแบบกึ่งเฉียบพลันในหนูพันธุ์สวิส โดยใช้ส่วนสกัดจากใบและรากแยกกัน ในขนาดความเข้มข้นต่างๆ พบว่า สารสกัดดังกล่าวไม่มีพิษอย่างเฉียบพลัน แต่การใช้เหงือกปลาหมอในขนาดสูงๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินปัสสาวะได้ รวมถึงมีการทดสอบนำสารสกัดจากรากเหงือกปลาหมอกับ mononuclear cell (PMBC) ของคนในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดอย่างหยาบ พบว่าสารสกัดดังกล่าว ขนาด 100 มคก./มล. เป็นพิษต่อ PBMC (P< 0.05) แต่เมื่อนำสารสกัดหยาบมาทำให้กึ่งบริสุทธิ์โดยวิธี gel filtration (Sephadex G-25) พบว่าสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ที่ได้ไม่เป็นพิษต่อ PMBC ที่เลี้ยงไว้ในหลอดทดลองถึงแม้จะใช้ในความเข้มข้น 1,000 มคก./มล.การต้านการฝังตัวของตัวอ่อนให้สารสกัดเอทานอล (90%) ขนาด 100 มก./กก. กับหนูขาวที่ท้อง พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
แม้ในการศึกษาทางด้านพิษวิทยา และการทดสอบความเป็นพิษของเหงือกปลาหมอ ทั้งชนิดดอกสีม่วงและชนิดดอกสีขาว จะมีผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ไม่มีพิษแต่อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรเหงือกปลาหมอก็คล้ายกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นนั้นก็ คือ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่สูง ใช้เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติ หรือ ผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้
เอกสารอ้างอิง เหงือกปลาหมอ
- เอมอร โสมนะพันธุ์ 2543. สมุนไพรและผักพื้นบ้าน กับ โรคเอดส์และโรคฉวยโอกาส ในโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ด้วยสมุนไพรและผักพื้นบ้าน, 19-21 เมษายน 2543 ณ. ห้องประชุมตะกั่วป่า โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หน้า 1-26.
- Hoult JRS, Houghton PJ, Laupattarakesem P. Investigation of four Thai medicinal plants for inhibition of pro-inflammatory eicosanoid synthesis in activated leukocytes. J Pharm Pharmacol Suppl 1997;49(4):218.
- Ghosh, A. et al. 1985. Phytochemistry, 24(8) : 1725-1727.
- จงรัก วัจนคุปต์. การตรวจหาสมุนไพรที่มีอำนาจทำลายเชื้อแบคทีเรีย. Special Project Chulalongkorn Univ, 2495.
- เหงือกปลาหมอ. ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardon.com/main.php?action=viewpage&pid=130
- Nair, A.G.R. and Pouchaname, V. 1987. J. Indian Chem Soc. 64(4) : 228-229.
- Bhakuni DS, Dhawan BN, Garg HS, Goel AK, Mehrotra BN, Srimal RC, Srivastava MN. Bioactivity of marine organisms:part VI-screening of some marine flora from Indian coasts. Indian J Exp Biol 1992;30(6):512-7.
- Laupattarakesem P, Houghton PJ, Hoult JRS. An evaluation of the activity related to inflammation of four plants used in Thailand to treat arthritis. J Ethnopharmacol 2003;85:207-15
- Bunyapraphatsara N, Srisukh V, Jutiviboonsuk A, et al. Vegetables from the mangrove areas. Thai J Phytopharm 2002;9(1):1-12
- Minocha, P.K. and Tiwari, K.P. 1981. Phytochemistry, 20: 135-137.
- ชุลี มาเสถียร, ผ่องพรรณ ศิริพงษ์, จงรักษ์ เพิ่มมงคล. ฤทธิ์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันของสารสกัดจากรากเหงือกปลาหมอที่มีต่อ lymphocytes ของคนในหลอดทดลอง. Bull Fac Med Tech Mahidol Univ 1991;15(2):104.
- D’Souza L, Wahidulla S, Mishra PD. Bisoxazolinone from the mangrove Acanthus ilicifolius. Indian J Chem, Sect B: Org Chem Incl Med Chem 1997;36B(11):1079-81.
- เหงือกปลาหมอดอกขาว. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Babu BH, Shylesh BS, Padikkala J. Antioxidant and hepatoprotective effect of Acanthus ilicifolius. Fitoterapia 2001;72(3):272-7.
- เหงือกปลาหมอดอกม่วง.สมุนไพร ที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชมหาวิทยาลัยมหิดล.
- Srivatanakul P, Naka L. Effect of Acanthus ilicifolius Linn. in treatment of leukemic mice. Cancer J (Thailand) 1981;27(3):89-93.
- ปิยวรรณ ญาณภิรัต, สุนันทา จริยาเลิศศักดิ์, จงรักษ์ เพิ่มมงคล และคณะ. การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับพิษของสมุนไพรเหงือกปลาหมอในหนูขาว. วารสารโรคมะเร็ง 530;13(1):158-64.
- Piyaviriyakul S, Kupradinun P, Senapeng B, et al. Chronic toxicity of Acanthus ebracteatus Vahl. in rat. Poster Session 6th National Cancer Conference, Bangkok, Dec. 3-4, 2001.
- Nakanishi K, Sasaki SI, Kiang AK, et al. Phytochemical survey of Malaysian plants. Preliminary chemical and pharmacological screening. Chem Pharm Bull 1965;13(7):882-90.
- Jongsuwat Y. Antileukemic activity of Acanthus ilicifolius. Master Thesis, Chulalongkorn University, 1981:151pp.
- Rojanapo W, Tepsuwan A, Siripong P. Mutagenicity and antimutagenicity of Thai medicinal plants. Basic Life Sci 1990;52:447-52.