ส้มป่อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ส้มป่อย งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ส้มป่อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มขอน, ส้มคอน (ไทยใหญ่, แม่ฮ่องสอน), ส้มพอดี (อีสาน), ผ่อชิละ, ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia rugata (Lam.) Merr., Mimosa concinna (Willd.) DC.
วงศ์ FABACEAE
ถิ่นกำเนิดส้มป่อย
ส้มป่อย เป็นพืชที่เป็นที่รู้จักดันดีในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือที่ถือว่าส้มป่อย เป็นไม้มงคล โดยมีความเชื่อว่าหากบ้านใดมีต้นส้มป่อยในบ้าน จะช่วยป้องกันเพศภัย และเคราะห์ต่างๆ ให้ปล่อยออกไปจากบ้านดังชื่อของส้มป่อย และฝักของส้มป่อยก็ใช้แช่น้ำเชื่อว่าจะทำให้เป็นน้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้ ซึ่งส้มป่อยนี้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ประเทศไทย, พม่า, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย และประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เป็นต้น ส้มป่อย เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณส้มป่อย
- ช่วยให้อาหารมีรสเปรี้ยว
- ช่วยดับกลิ่น คาวปลา ในอาหาร
- ใช้ขัดเครื่องเงิน เครื่องทองให้เงางามได้
- ใช้สระผมแก้รังแค
- แก้อาการคันศีรษะ
- ช้วยบำรุงเส้นผม
- เป็นยาปลูกผม และป้องกันผมหงอกก่อนวัย
- แก้โรคตา
- ชำระเมือกมันในลำไส้
- เป็นยาถ่ายเสมหะ
- ถ่ายระดูขาว
- แก้บิด
- ช่วยฟอกล้างโลหิตระดู
- บำรุงผิวพรรณ
- แก้หวัด
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้โรคผิวหนัง
- ช่วยลดความดัน
- แก้ไข้จับสั่น
- แก้ซางในเด็ก
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ไอ
- ทำให้คันจมูก และทำให้จาม
- แก้ฝี แก้พิษฝี
- แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก
- ช่วยทำให้สตรีมีครรภ์คลอดได้ง่าย
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้ใบและฝักส้มป่อย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ เป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ตำรับ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” ประกอบด้วย ดีเกลือฝรั่ง ยาดำ ใบมะกา ใบมะขาม ใบส้มป่อย ฝักคูน รากขี้กาแดง รากขี้กาขาว รากตองแตก ฝักส้มป่อย สมอไทย สมอดีงู เถาวัลย์เปรียง ขี้เหล็ก หัวหอม หญ้าไทร ใบไผ่ป่า สรรพคุณ แก้อาการท้องผูก กรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้ไอ ด้วยการใช้ฝักนำมาปิ้งให้เหลืองแล้วชงกับน้ำจิบกินเป็นยา หรือ จะใช้เปลือกนำมาแช่กับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอแก้ไอได้ เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วบดให้ละเอียด ใช้เป่าจมูก ทำให้คันจมูก และทำให้จามได้ ยอดอ่อน หรือ ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งใช้ดื่มกินเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ ยอดอ่อนนำมาตำผสมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น แล้วนำไปพอกจะช่วยแก้ฝี แก้พิษฝี ทำให้ฝีแตกเร็ว หรือ ยุบไป ส่วนอีกวิธีใช้รากส้มป่อยนำมาฝนใส่น้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็นฝี ใบใช้ตำประคบ หรือ ตำห่อผ้าประคบเส้นช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อน แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก ช่วยทำให้สตรีมีครรภ์คลอดได้ง่าย ด้วยการใช้ฝักส้มป่อย ประมาณ 3-7 ข้อ นำมาต้มกับน้ำอาบตอนเย็น โดยให้อาบก่อนกำหนดคลอด 2-3 วัน แต่ห้ามอาบมากเพราะจะทำให้รู้สึกร้อน
ลักษณะทั่วไปของส้มป่อย
ส้มป่อย จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยซึ่งจะ พาดพันต้นไม้อื่นได้ประมาณ สูง 3-6 เมตร เถามีเนื้อแข็ง ผิวเรียบสีน้ำตาล ขนาดใหญ่ มีหนามเล็กแหลมตามลำต้น กิ่งก้าน และใบ ไม่มีมือเกาะจะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถาอ่อนสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่ หรือ ขนสั้นหนานุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ช่อใบย่อย 5-10 คู่ ใบย่อย 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ออกเรียงตรงข้าม ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบตัด ขอบใบหนาเรียบ แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาว 3.6-5.0 ซม. มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนก้านใบ แกนกลางยาว 6.6-8.5 ซม. ก้านใบย่อยสั้นมาก ยาว 0.5 มม. หรือ น้อยกว่า เกลี้ยง และมีขนนุ่มหนาแน่น ดอกเป็นช่อกระจุกกลม ออกตามซอกใบข้างลำต้น 1-3 ช่อดอกต่อข้อ ขนาด 0.7-1.3 ซม. มี 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาว 2.5-3.2 มม. มีขนนุ่มหนาแน่น ใบประดับดอก 1 อัน รูปแถบ ยาวไม่เกิน 1 มม. โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายทั่วไป ดอกขนาดเล็กอัดแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอด สีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม.ยาว 2.5-3.0 ซม. ปลายแหลม สีแดง อาจมีสีขาวปนเล็กน้อย กลีบดอก หลอดกลีบกว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 3.5-4.0 มม. มีขนเล็กน้อยที่ปลายกลีบ เกสรเพศผู้ 200-250 อัน ยาว 4-6 มม. เกสรเพศเมีย รังไข่ยาว 1 มม. มี 10-12 ออวุล มีก้านรังไข่ยาว 1 มม. ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาว 2.5-3.5 มม. สีขาวอมเหลือง หรือ สีเขียวอมเหลือง ผลเป็นฝักรูปขอบขนาน แบนยาว หนา ขนาด กว้าง 1.3-1.4 ซม. ยาว 7.0-9.3 ซม. ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้ม ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวย่นมากเมื่อแห้ง ก้านผลยาว 2.8-3.0 ซม. แต่ละผลมี 5-12 เมล็ด เมล็ดสีดำ แบนรี ผิวมัน กว้าง 4-5 มม. ยาว 7-8 มม. ออกดอกราวเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ติดผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม
การขยายพันธุ์ส้มป่อย
ส้มป่อยมักจะพบได้ในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้วบริเวณที่ราบเชิงเขาส่วนการขยายพันธุ์ส้มป่อย นั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมกันมาก คือ การปักชำ โดยตัดกิ่งแก่ให้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร มาปักชำในกระถาง หรือ ในบริเวณที่ต้องการจะเพาะชำ ซึ่งในกระถางหรือบริเวณดังกล่าต้องมีความชื้นมาก และรดน้ำทุกวันจนกิ่งที่ชำเกิดรากแล้วจึงย้ายลงหลุมที่จะปลูกต่อไป สำหรับการปลูกส้มป่อยนั้นควรปลูกในที่โล่ง หรือ ที่ๆ มีแสงมาก สามารถปลูกได้ในดิน ทุกประเภทที่มีการระบายน้ำได้ดี เพราะส้มป่อย ชอบความชื้นปานกลางถึงน้อย และชอบแสงแดดมาก ส่วนการดูแลรักษานั้น ส้มป่อยไม่ค่อยมีโรคและศัตรูพืชมาก แต่ควรตัดแต่งกิ่งหรือทำค้างให้ลำต้นของส้มป่อยพันเลื้อยขึ้นไปเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตของส้มป่อย
องค์ประกอบทางเคมี
ฝักมีสารซาโปนิน 20.8% ได้แก่ A, B, C, D และ E azepin, tannin, malic acid, concinnamide, lupeol, machaerinic acid, menthiafolic, sonuside, sitosterol ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของส้มป่อย มีดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการ ส้มป่อย 100 กรัม ประกอบด้วย
- น้ำ 85.6 กรัม
- แคลเซียม 95 มิลลิกรัม
- ไทอะมีน 0.04 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 1.1 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน 6568 ไมโครกรัม
- วิตามินเอรวม 1095 RE
- วิตามินซี 6 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 6.7 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของส้มป่อย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของส้มป่อย
- ฤทธิ์ต้านเชื้อราสารสกัดน้ำจากผล ความเข้มข้น 20 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Epidermophyton floccosum ในหลอดทดลอง แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Trichophyton rubrum และ Microsporum gypseum เช่นเดียวกับสารสกัดอัลกอฮอล์จากผล ความเข้มข้น 100 มก./มล. ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา T. rubrum, M. gypseum และ E. floccosum
- ฤทธิ์ต้านเชื้อยีสต์สารสกัดน้ำ และสารสกัดอัลกอฮอล์จากผล ความเข้มข้น 100 และ 200 มก./มล. ตามลำดับ และสารสกัดน้ำจากส้มป่อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และความเข้มข้น) ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อยีสต์ Candida albicans
- ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสารสกัดน้ำและสารสกัดอัลกอฮอล์จากผล ความเข้มข้น 100 และ 200 มก./มล. ตามลำดับ และสารสกัดน้ำจากส้มป่อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และความเข้มข้น) ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus
- เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองสารสกัดจากดอกส้มป่อยกับหนูเพศผู้ โดยการให้สารสกัดในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยใช้ระยะเวลาการทดลองนาน 3 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูทดลองลดลง ไตรกลีเซอไรด์ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสารสกัดจากส้มป่อย ยังมีผลลดอสุจิและ endometrial glands ในมดลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชั้นเซลล์ในมดลูก สรุปว่าสมุนไพรส้มป่อยสามารถใช้เป็นยาคุมกำเนิดได้ด้วย
- สารสกัดซาโปนินจากเปลือกส้มป่อย และสารสกัดเอทานอล และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 มีฤทธิ์ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก โดยค่าดัชนีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเท่ากับ 1,350
การศึกษาทางพิษวิทยาของส้มป่อย
หลักฐานความเป็นพิษ และการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้สารสกัดจากใบและลำต้น (ไม่ระบุสารสกัดที่ใช้) และสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากใบและลำต้น ขนาด 10 ก./กก. ทางสายยางให้อาหารหนูถีบจักร ไม่พบพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากใบและลำต้น (ไม่ระบุสารสกัดที่ใช้) ขนาด 10 ก./กก. เข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ไม่พบพิษเช่นกัน และเมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากส่วนเหนือดินเข้าช่องท้องหนูถีบจักร มีค่า LD50เท่ากับ 125 มก./กก.
ส่วนสกัดซาโปนินจากเปลือก (ไม่ระบุความเข้มข้น) และสารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) มีฤทธิ์ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก ค่าดัชนีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเท่ากับ 1,350
สาร acacic acid จากเปลือก (ไม่ระบุความเข้มข้น) มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์ม และส่วนสกัดซาโปนินจากเปลือก ความเข้มข้น 0.004% มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์มในคนเพศชาย
สารสกัดเอทานอล:น้ำ (1:1) จากส่วนเหนือดิน ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ CA-9KB ขนาดของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่ง มากกว่า 20 มคก./มล. สารสกัดเมทานอล 75% จากผลเป็นพิษต่อเซลล์ Fibrosarcoma HT-1080 ความเข้มข้นของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งเท่ากับ 2.1 มคก./มล. โดยมีสารที่ออกฤทธิ์คือ Kinmoonosides A, B และ C มีขนาดของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งเท่ากับ 4.89, 1.43 และ 1.87 มคก./มล. ตามลำดับ ส่วนสารสกัดเมทานอล ส่วนสกัดที่ละลายน้ำ สารสกัดเมทานอล:เอทานอล (1:1) จากผล เป็นพิษต่อเซลล์ Fibrosarcoma HT-1080 อย่างอ่อน ความเข้มข้นของสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ครึ่งหนึ่งเท่ากับ 10, 17.9 และ 21.5 มคก./มล. ตามลำดับ สารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัดอะซีโตน ส่วนสกัดที่ละลายน้ำ สารสกัดเมทานอล และสารสกัดเมทานอล:เอทานอล (1:1) จากผล เป็นพิษต่อเซลล์ CA-Colon-26-L5 อย่างอ่อน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
แม้ในปัจจุบันไม่มีข้อมูลในด้านข้อควรระวังในการใช้ส้มป่อย แต่ถึงอย่างไรก็ตามส้มป่อยก็ยังเป็นเหมือนสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ควรมีการระมัดระวังในการรับประทานหากรับประทานเป็นอาหาร หรือ ส่วนประกอบของอาหารคงไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากจะใช้เพื่อสรรพคุณทางยานั้นควรใช้แต่พอดี ไม่ใช้ในปริมาณที่มากและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
เอกสารอ้างอิง ส้มป่อย
- มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2514;13:36-66.
- ส้มป่อย. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpege&pid=285
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ส้มป่อย (Som Poi)”. หน้า 282.
- วันดี อวิรุทธ์นันท์, แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของพืชสมุนไพร. วารสารเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล 2536;10(3):87-9.
- Banerji R, Prakash D, Misra G, et al. Cardiovascular and hemolytic activity of saponins. Indian Drugs 1981;18(4):121-4.
- วไลพร พงวิรุฬห์, วีณา ถือวิเศษสิน, วีณา จิรัจฉริยากูล และคณะ. ดัชนีการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงในมาตรฐานสมุนไพรไทย. โครงการพิเศษ ม.มหิดล, 2531-2532.
- ส้มป่อย. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=129
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ส้มป่อย”. หน้า 33.
- Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci 1983;10(3):81-6.
- ส้มป่อย. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ส้มป่อย” หน้า 178.
- Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
- Banerji R, Nigam SK. Chemistry of Acacia concinna and a Cassia bark. J Indian Chem Soc 1980;57:1043-4.
- Ikegami F, Sekine T, Hjima O, Fujii Y, Okonogi S, Murakoshi I. Anti-dermatophyte activities of “tea seed cake” and “pegu – catechu”. Thai J Pharm Sci 1993;17(2):57-9.
- ส้มป่อย.ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- Tezuka Y, Honda K, Banskota AH, Thet MM, Kadota S. Kinmoonosides A-C, three new cytotoxic saponins from the fruits of Acacia concinna, a medicinal plant collected in Myanmar. J Nat Prod 2000;63:1658-64.
- Banergi R, Srivastava AK, Misra G, Nigam SK, Singh S, Nigam SC, Saxena RC. Steroid and triterpenoid saponins as spermicidal agents. Indian Drugs 1979;17(1):6-8.
- Bhakuni DS, Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Gupta B, Srimali RC. Screening of Indian plants for biological activity. Part III. Indian J Exp Biol 1971;9:91.